สุนทรียบริบาล : สื่อสาร เสริมสร้างสุขภาวะผู้สูงวัยและผู้ป่วย ด้วยพลังจากด้านใน


เรื่องผู้สูงอายุ เป็นเสมือนปริมณฑลอีกด้านที่คนทั่วไปน้อยคนจะเข้าถึง และเข้าใจในมุมมองของคนสูงอายุเหล่านั้น

ถ้าเราไม่เคยเป็นคนแก่ ไม่เคยนั่งรถเข็น พิการนอนติดเตียง หรือคลุกคลีตีโมงกับคนแก่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคนแก่มากๆ วิสัยปุถุชนคนอย่างเราก็มักเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง  มุมมอง วิธีพูด วิธีทำความเข้าใจ เราก็มักใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง

Empathy ที่แปลเป็นไทยว่า ความเมตตาเห็นอกเห็นใจ โดยมีฐานมาจากการเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนพิการกับตัวเรา จะให้เป็น Empathy ที่แท้ เป็นเมตตาที่กอปรด้วยปัญญา ก็ยากจะเกิด

จุดอ่อนสำคัญของงานพัฒนาผู้สูงอายุจึงอยู่ที่วิธีคิด และทักษะเหล่านี้

--------------------------------------------------------------------------------------------------
จึงเป็นที่มาของ Workshop ประชุมเชิงปฏิบัติการ “ศึกษาถอดบทเรียนพัฒนารูปแบบ ทักษะสุนทรียปัญญากร ชุมชนสุนทรียพลานามัยบริบาล เพื่อสุขภาวะชุมชน สังคมสูงวัยแม่ฮ่องสอน บูรณาการและมุ่งมรรคผลองค์รวม” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 27พฤศจิกายน 2565 ที่เดอะร็อค อินน์เลิฟรีสอร์ท อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

หลายคนบ่นว่า คนเฒ่าคนแก่ นี่ดื้อ ลูกหลาน หมอ พยาบาล บอกด้วยความหวังดี ก็ไม่ยอมทำ
แต่ถ้าปรากฏการณ์ดื้อแพ่งแบบนี้มีอยู่ทั่วไป แสดงว่าที่มีปัญหานี่อาจไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่อาจจะมาจากวิธีคิดของเราต่างหากที่ห่างไกล

โจทย์ : ที่คนเฒ่าคนแก่ หลายคนไม่ไปหาหมอ รวมถึงไม่ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมโน่นนี่นั่นตามคำแนะนำ แต่กลับอยู่ติดบ้าน รักษาข้าวของไว้อย่างเดิมๆ ถามว่าทำไม

ก, เพราะรู้ว่ายังไงก็ต้องตาย จะคาดหวังอะไรมากมายจากระบบการแพทย์ สู้รับความตายอย่างอบอุ่นกว่า คือนอนตายที่บ้าน ได้เห็นญาติพี่น้อง สภพแวดล้อมที่คุ้นเคยและเต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ดีกว่านอนตายอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาล

ข. ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก ไม่อยากให้เสียเงินทองมากมายไปกว่านี้
ค. เป็นห่วงข้าวของต่างๆ ที่บ้าน อันนั้นลูกก็ซื้อมาให้ อันนี้หลานก็เคยเอามาฝาก เป็นสิ่งชุ่มชูใจ คนไม่เข้าใจก็มองว่าเกะกะ จะย้าย จะขว้างทิ้ง ครั้นจะพูดไป หมอ พยาบาล หน่วยงานเจ้าหน้าที่ก็อาจจะเคืองว่า ดื้อ หรือไม่พยายามเข้าใจ

ง. ถูกทุกข้อ

ใครๆก็รู้ว่ากำลังใจของผู้ป่วย มีผลอย่างยิ่งต่อการรักษาความป่วยไข้
กำลังใจของผู้สูงอายุ จึงมีผลสำคัญต่อการสร้างสุขภาวะ
แต่จะทำให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจได้ เราต้องเข้าใจสภาพจิตใจ มุมมองวิธีคิดของท่าน ตรงนี้เรียกรวมๆว่า “ชีวิตด้านใน” เราจึงจะบริบาล หรือ ดูแลรักษา ท่านให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาวะ “องค์รวม” ได้จริง

เราเรียกการบริบาลด้วยกำลังชีวิตด้านในนี้ว่า “สุนทรียบริบาล”

--------------------------------------------------------------------------------------------------
ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ หรือที่เราเรียกกันคุ้นเคยว่า “อาจารย์ม่อย” ดูเผินๆท่านเหมือนศิลปินผมยาวมากกว่า ด้วยผมสีดอกเลากับเสื้อผ้าชุดลำลองสบายๆ ออกแนวกลิ่นไอลูกทุ่ง แต่เรื่องการนำเอาศิลปะมาสอดแทรกอยู่ในงานพัฒนาผู้คนและชุมชนของท่านนับว่าลึกซึ้งยิ่ง

ท่านได้บอกเล่า พัฒนาการของสุนทรียศาสตร์ อันเป็นเสมือนต้นธารของศาสนาและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรามักจะลืมเลือนไป โดยไปติดกับดักการเรียนรู้และปรับใช้อย่างแยกส่วน

แม้กระทั่ง “การมีส่วนร่วม” ที่ดูเหมือนว่าง่าย คือ เอาคนมาร่วมกันแล้วนับจำนวน แต่จริงๆจะให้ถ่องแท้ ต้องให้เหมือนกับการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง

การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่เรียนแล้วรู้ ได้ความรู้ นั่นไม่ใช่ แต่สำคัญต้องนำไปปฏิบัติ จากนั้นเอา “กระบวนการภายใน” สกัดออกมา

“สุนทรียบริบาล” เป็นกระบวนการที่มจากการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง การก่อเกิดสุนทรียบริบาล จึงต้องเริ่มจากการฝึกตนเองก่อน ฝึกเรียนรู้ ปฏิบัติ และทำงานกับตัวเอง คือ ใคร่ครวญอย่างมีสติ สกัด เจียระไนความรู้ออกมาให้  “จริง-ดี-งาม”

จะทำอย่างนี้ได้ ต้องหันกลับมาโฟกัสที่ตัวเองก่อน โอเค แม้ใจเราอยากทำเพื่อส่วนรวม แต่ก็กลายเป็นมุ่งข้างนอกมากเกินไป ทำให้พลาดพื้นฐานอันสำคัญยิ่งจุดนี้

โฟกัสตนเองในที่นี้ ไม่ใช่เพื่อหล่อเลี้ยงอัตตา แต่เป็นการพัฒนาสหวิทยาการให้เกิดขึ้นในตัวเอง เรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามสาขาบูรณาการเอาไว้ในตัวเรา แล้วคุย”วาระของโลก” ในนามของตัวเองอย่างเมตตาและกล้าหาญ

เห็นตัวเองชัด ไปพร้อมๆกับเห็นระบบ โครงสร้าง และบริบทที่แวดล้อมอันไหลเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
--------------------------------------------------------------------------------------------------

หากแต่แม้เราจะเจนจบในศาสตร์ต่างๆ เป็นพหูสูต เป็นพหุวิทยาการอย่างไร ก็ไม่พอ เงื่อนไขของ”สุนทรียบริบาล” ก็ดี การสร้างผู้นำ หรือ “ปฏิบัติการทางสังคม” ก็ดี ล้วนต้องมีภาคี หรือจะให้ลึก คือ มีกัลยาณมิตรที่จะช่วยเสริม และสะท้อนภาพตัวเรา หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือ  “อ่าน” สิ่งที่เรานำเสนอ แล้วนำไปจัดตัวตนและชีวิตของเขา จะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่การที่เขาจะรับไป

เหมือนกับภาพเขียนมากมาย ที่อาจารย์นำมาจัดแสดงให้เราชมโดยรอบห้องประชุมวันนี้

 


 

รวมถึงการที่อาจารย์ให้ฝึกให้พวกเรา วาดภาพและเล่าเรื่องผ่านภาพ “ฐานชีวิต”
เป็นการนำเสนอหลักคิดในการดำเนินชีวิต ความเข้าใจชีวิตและสังคมผ่านภาพวาด สี ลายเส้น สัญลักษณ์ที่แต่ละคนเสกสรรค์ขึ้นจากภายในสู่ภายนอก

 

เป็นสุนทรียบริบาล ที่ทั้งผู้เขียน เล่า รวมถึงผู้ชม ไม่รู้สึกว่ากำลังอยู่ในสนามพลังแห่งการบริบาล

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ท่ามกลางขุนเขา และชุมชนอันห่างไกล
หลากหลายเผ่าชาติพันธุ์ภาษา
ขัดจำกัดมากมายในการพัฒนา
ปัญญาปฏิบัติผ่าน สุนทรียบริบาล
น่าจะเป็นสะพานให้เราทั้งผองก้าวไปอย่าง
“ดี-จริง-’งาม”


 

หมายเลขบันทึก: 710935เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2022 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2022 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท