แบบสรุปการจัดการความรู้ ด้านงานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีการศึกษา 2564


คู่มือสรุปการจัดการความรู้เรื่อง เทคนิคในการบริหารจัดการโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งทุนภายนอกอย่างต่อเนื่อง

เทคนิคในการบริหารจัดการโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งทุนภายนอกอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนที่สัมพันธ์กันดังนี้

ขั้นตอนที่ 1การเสาะหาแหล่งทุนวิจัยจากภายนอก

การเสาะหาแหล่งทุนวิจัยจากภายนอกในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธี เช่น 

1.1 การติดตามข่าวสารจากเว็บไซด์ของแหล่งทุนโดยตรง เช่น 

- เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

- เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

- เว็บไซด์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

- เว็บไซด์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

- เว็บไซด์มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (Thailand Toray Science Foundation) ฯลฯ

- เว็บไซด์ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) 

- เว็บไซด์สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี (สวพ.) ที่จะเป็นแหล่งรวมข่าวสารจากแหล่งทุนต่าง ๆ 

1.2 สามารถติดตามจากกลุ่มไลน์ของสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี (IRD-RT เครือข่ายวิจัย) 

1.3 โจทย์วิจัยจากสถานประกอบการ/ชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในปัจจุบันทุนวิจัยส่วนใหญ่เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น ความร่วมมือจากสถานประกอบการ/ชุมชน หรือการนำงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงจึงมีส่วนสำคัญค่อนข้างมาก เทคนิคการหาโจทย์วิจัยจากสถานประกอบการอาจใช้

- สหกิจศึกษาของนักศึกษาที่ได้เข้าไปในสถานประกอบการนั้น ๆ เป็นตัวนำ 

- การติดต่อไปยังสถานประกอบการ/ชุมชน โดยตรง 

- การสร้างตัวตนทางด้านงานวิจัย เช่น เว็บเพจส่วนตัวที่มีความเชี่ยวชาญหรืองานวิจัยที่นักวิจัยกำลังดำเนินการ และประชาสัมพันธ์ออกไปจะเป็นตัวช่วยให้สถานประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรม/ชุมชน ได้เห็นความเชี่ยวชาญของนักวิจัยมากยิ่งขึ้น จะสามารถทำให้โจทย์วิจัยมาถึงตัวนักวิจัยได้ง่ายขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 2 แนวทางที่จะทำให้ข้อเสนอโครงการวิจัยได้รับการพิจารณา

2.1 ในการร่างข้อเสนอโครงการวิจัย ควรศึกษารายละเอียดของขอบเขตการให้ทุนของแหล่งทุนต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแหล่งทุน 

2.2 หาโจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการของภาคเอกชน (สถานประกอบการ/ชุมชน) ในข้อเสนอโครงการวิจัยต้องแสดงให้เห็นถึงความต้องการ ความร่วมมือ การสนับสนุน และความเป็นไปได้ในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไปของภาคเอกชน 

2.3 ในข้อเสนอโครงการวิจัยควรแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีเดิมที่ผู้วิจัยและทีมวิจัยมีอยู่ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในโครงการวิจัยนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่จะแสดงให้เห็นว่า นักวิจัยจะสามารถดำเนินงานวิจัยได้สำเร็จและเกิดผลกระทบสูงอย่างแน่นอน

2.4 สำหรับงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่เป็นการวิจัยเพื่อขยายพรมแดนความรู้นำไปสู่การค้นพบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เกิดองค์ความรู้ใหม่และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ งานที่ขอทุนก็จะต้องเน้นเรื่องความใหม่ ความน่าสนใจ ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เคยทำแล้ว และเกิดผลกระทบในแวดวงวิชาการ

 

ขั้นตอนที่ 3การปิดโครงการวิจัยให้ได้ทันตามกำหนดเวลา

เมื่อข้อเสนอโครงการวิจัยได้รับการพิจารณาแล้ว การดำเนินโครงการให้เสร็จทันเวลาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ 

3.1 ในข้อเสนอโครงการวิจัยควรเขียนขอบเขตงานวิจัยให้กระชับ วางแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถทำงานได้เสร็จในช่วงเวลาที่เสนอขอทุน 

3.2 ก่อนยื่นข้อเสนอโครงการวิจัย ควรจะมีการทดลองเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการหรือเพื่อดูแนวโน้มว่า สามารถดำเนินการวิจัยได้ตามที่เสนอไปหรือไม่ หรืออาจจะมีการดำเนินงานวิจัยล่วงหน้าก่อนทำสัญญารับทุน 

3.3 ควรมีการติดตามการดำเนินงาน ความก้าวหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอ ควรมีการพูดคุยรายงานผล ปรึกษากันกับผู้ช่วยนักวิจัย/นักวิจัยผู้ร่วมโครงการ/สถานประกอบการ ที่ทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกันผลักดันให้งานวิจัยเสร็จสิ้นทันตามแผนที่ได้กำหนดไว้ 

3.4 ระหว่างที่ดำเนินโครงการ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องระยะเวลากับปริมาณของงาน งานบางส่วน ถ้าสามารถส่งวิเคราะห์ได้ ก็ควรส่งวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว งานบางส่วนอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยท่านอื่น เพื่อไม่ให้ใช้เวลากับงานบางส่วนมากเกินไป 

3.5 ในระหว่างการดำเนินงาน ควรเริ่มเขียนรายงานและบทความวิจัยไปด้วยพร้อม ๆ กัน

 

ขั้นตอนที่ 4 การดำเนินโครงการวิจัยให้ได้ผลผลิตและผลลัพธ์เป็นไปตามข้อเสนอและสัญญาโครงการวิจัย

นอกจากการปิดโครงการได้ทันเวลาแล้ว ผลผลิตและผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยก็ควรเป็นไปตามข้อเสนอและสัญญานั้น 

4.1 ในการเขียนข้อเสนอโครงการ ต้องกำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการภายในระยะเวลาที่ได้รับทุน

4.2 จ้างผู้ช่วยนักวิจัยที่มีศักยภาพ ไว้วางใจได้ เพื่อให้สามารถดำเนินงานวิจัยได้ตามแผน 

4.3 ถึงแม้จะยังไม่ได้รับทุนวิจัยตามกำหนดเวลาแต่การดำเนินงานวิจัยจะต้องเริ่มไปก่อน

4.4 ควรเร่งทำวิจัยให้เร็วกว่าแผนในโครงการที่เขียนข้อเสนอไป เพราะต้องเผื่อเวลาไว้เมื่อเจอปัญหา จะได้แก้ไขปัญหาระหว่างการดำเนินงานวิจัยได้ทันเวลา

4.5 นักวิจัยและสถานประกอบการผู้ร่วมทุนต้องติดตามผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานหรือวิธีการดำเนินงานให้เหมาะสมตามผลการวิจัยที่ได้ เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลลัพธ์เป็นไปตามที่กำหนด 

4.6 ควรวางแผนการรายงานผลผลิตให้เหมาะสม เช่น เมื่อดำเนินการวิจัย และได้ผลการวิจัยที่ดีส่วนหนึ่งแล้ว ควรเริ่มเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ หรือเขียนขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไปด้วยพร้อม ๆ กัน

 

ขั้นตอนที่ 5 การทำให้ได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกเดิมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเทคนิคที่จะทำให้ได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกเดิมแบบต่อเนื่อง คือ 

5.1 การสร้างประวัติที่ดีในการดำเนินโครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นไปตามสัญญาหรือมากกว่า ทั้งผลผลิตและผลลัพธ์ภายในหรือก่อนเวลาที่แหล่งทุนกำหนดในทุก ๆ โครงการ

5.2 พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสถานประกอบการที่ให้การสนับสนุนและร่วมโครงการวิจัย

5.3 สร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจให้กับสถานประกอบการในการพัฒนางานวิจัยให้เป็นไปตามโจทย์ต่าง ๆ ของสถานประกอบการ เพื่อการสร้างข้อเสนอโครงการวิจัยต่อเนื่องจากโครงการวิจัยที่ผ่านมา เนื่องจากทุนวิจัยภายนอกในปัจจุบัน การมีสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอนุมัติทุน

ภาพกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

https://www.sci.rmutt.ac.th/km-research/

 

หมายเลขบันทึก: 710912เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2022 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2022 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท