*เปิดข้อมูลลับ "ศึกร่มเกล้า" 2531 "พล.อ. เปรม" ผู้ปิดทองหลังพระ


*เปิดข้อมูลลับ "ศึกร่มเกล้า" 2531 "พล.อ. เปรม" ผู้ปิดทองหลังพระ

เปิดข้อมูลลับ"ศึกร่มเกล้า"สมัยป๋าเปรม | เต็มข่าวค่ำ | 28 พ.ค.62 - YouTube
Dr.Winai Dahlan - ผลงานลับของพลเอกเปรมในศึกบ้านร่มเกล้า... | Facebook
เปิดข้อมูลลับ "ศึกร่มเกล้า" 2531 "พล.อ. เปรม" ผู้ปิดทองหลังพระ

 "ศึกร่มเกล้า” ซึ่งเราต่างรับรู้กันมาตลอดว่า เป็นการพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศลาว แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูลอีกด้านออกมาว่า การต่อสู้ครั้งนั้น มีเบื้องหลังของกองทัพผสม 3 ชาติ ที่หวังจะรุกคืบยึดอธิปไตยของไทย พลเอกเปรม คือผู้ที่วางเกมในการต่อสู้ ทำให้ไทยไม่เสียดินแดน

   -ในช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยได้เผชิญกับสงครามครั้งสำคัญ ที่เรียกกันว่า “ศึกร่มเกล้า” ซึ่งเราต่างรับรู้กันมาตลอดว่า เป็นการพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศลาว แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูลอีกด้านออกมาว่า การต่อสู้ครั้งนั้น มีเบื้องหลังของกองทัพผสม 3 ชาติ

-ที่หวังจะรุกคืบยึดอธิปไตยของไทย หากพลเอกเปรมและคณะ ไม่ใช้กลยุทธ์เดินเกมต่อสู้ในทางลับ ป่านนี้ประเทศไทยอาจเสียดินแดนไปแล้ว

  -สมรภูมิบ้านร่มเกล้า หรือ ยุทธการบ้านร่มเกล้า เป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 จากการสู้รบอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งฝ่ายไทยและลาว และนับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา

  -การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังมีการสูญเสียอย่างมากทั้ง 2 ฝ่าย และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร

*เปิดข้อมูลลับ"ศึกร่มเกล้า"สมัยป๋าเปรม

“การรบระหว่าง ไทย-ลาว ที่บ้านร่มเกล้า”
 

    -ต่างมุมมองของไทย-ลาวบน “สมรภูมิร่มเกล้า” สงครามที่ไทยใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท

    “สมรภูมิร่มเกล้า” คือเหตุการณ์ความขัดแย้งเขตแดนไทย-ลาว ที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ อุบัติขึ้นบริเวณหมู่บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

  -ปมปัญหาความขัดแย้งพื้นที่พิพาทต้องสืบย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสและสยามได้มีการเจรจาปักปันเขตแดนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ในพื้นที่เขตแดนระหว่างสยามและลาว (ขณะนั้นลาวเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) การเจรจาได้กระทำเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) มีการทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนขึ้น โดยได้กำหนดเขตแดนไว้ว่า

   -“เขตแดนเมืองหลวงพระบางนั้นตั้งแต่ทิศใต้ในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเหือง แล้วต่อไปตามลำน้ำเหืองนี้ จนถึงที่แรกเกิดน้ำนี้ที่เรียกชื่อว่าภูเมี่ยง ต่อนี้เขตรแดนไปตามเขาบันน้ำตกแม่น้ำโขงฝ่ายหนึ่งกับตกแม่น้ำเจ้าพระยาอิกฝ่ายหนึ่ง จนถึงที่ในลำแม่น้ำโขงที่เรียกว่า แก่งผาใด ตามเส้นพรมแดนที่กรรมการปักปันเขตรแดนได้ตกลงกันไว้แต่ วันที่ 16 มกราคม รัตนโกสินทรศก 124 คฤสตศักราช 1906”

  -ทว่า ในยุคต่อมาไทยกับลาวได้ตีความสนธิสัญญาต่างกัน เนื่องจากมีแม่น้ำเหืองสองสายคือ

-แม่น้ำเหืองป่าหมัน ต้นกำเนิดที่ภูสอยดาว (ลำน้ำด้านทิศตะวันตก)            -แม่น้ำเหืองงา ต้นกำเนิดที่ภูเมี่ยง (ลำน้ำด้านทิศตะวันออก)

  -ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ…..

     -ลาวยึดเอาแม่น้ำเหืองป่าหมันเป็นเส้นเขตแดน

     -ไทยยึดเอาแม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน 

  -บริเวณระหว่างแม่น้ำสองสายซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านร่มเกล้าจึงกลายเป็นพื้นที่พิพาทที่ต่างฝ่ายต่างอ้างเป็นของตน ซึ่งพื้นที่พิพาทมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร โดยลาวระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองตาแสง นาบ่อน้อย เมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี

(แผนที่พิพาทบ้านร่มเกล้า (ภาพจาก วิศวมาศ ปาลสาร. “ความขัดแย้งระหว่างลาว-ไทย ที่บ้านร่มเกล้า ในทรรศนะหนังสือพิมพ์ลาว ช่วง ค.ศ. 1987-1988”. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2552.)

*"บ้านร่มเกล้า"

  -บริเวณบ้านร่มเกล้าตั้งอยู่บนภูเขาสูง แต่เดิมเป็นฐานของคอมมิวนิสต์ หลังจากที่รัฐบาลไทยมีนโยบายนำคอมมิวนิสต์ออกจากป่าด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และผลักดันให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐบาลไทยจึงจัดสรรพื้นที่บริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลกกับจังหวัดเลยให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวม้ง เมื่อราว พ.ศ. 2526 ให้ชื่อว่า “บ้านร่มเกล้า”

  -บ้านร่มเกล้ามีประชากรประมาณ 100 ครอบครัว กว่า 680 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง แต่ในช่วงนั้นยังไม่ได้รับการจัดตั้งจากทางราชการอย่างเป็นทางการตามพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ จึงยังใช้การปกครองหมู่บ้านตามแบบชนเผ่าอยู่ โดยมีกองทัพภาคที่ 3 เข้ากำกับดูแลพื้นที่เพื่อความมั่นคง

  -ต่อมา พ.ศ. 2528 รัฐบาลไทยให้สัมปทานเปิดป่าในพื้นที่บ้านร่มเกล้าเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย โดยเป็นโครงการเปิดป่าของกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ผู้ได้รับสัมปทานคือ บริษัทอุตรดิตถ์มอเตอร์เวิร์ค และบริษัทรุ่งตระการทำไม้

   -ในบริเวณที่มีการเปิดป่าทำไม้ ทางการไทยได้มอบหมายให้ทหารพรานคอยคุ้มกันดูแลความมั่นคงในพื้นที่ ต่อมา กองทัพภาคที่ 3 ถอนกำลังออกจากบ้านร่มเกล้า ส่งมอบให้กรมทหารพรานที่ 34 รับผิดชอบพื้นที่นี้ต่อ โดยกรมทหารพรานที่ 34 ได้จัดกองร้อยทหารพรานที่ 3405 เป็นหน่วยหลักในการตั้งฐานปฏิบัติการดูแลบ้านร่มเกล้านับแต่นั้น

  -ความขัดแย้งระหว่างไทยกับลาวเริ่มตึงเครียดหนัก เมื่อฝ่ายไทยได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งทำให้ลาวไม่พอใจ เนื่ิองจากขณะนั้นมีการพบว่าแม่น้ำเหืองมีสองสายทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาการปักปันเขตแดนของสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2450 ที่ระบุให้ใช้แม่น้ำเหืองเป็นเส้นเขตแดน โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณบ้านร่มเกล้าเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นสำคัญ

*สมรภูมิร่มเกล้า

   -ก่อนหน้าที่จะเกิดสมรภูมิร่มเกล้า ไทยและลาวเคยขัดแย้งกันเรื่องการอ้างเขตแดนของ 3 หมู่บ้านบริเวณชายแดนที่อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2527 จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันทางทหารขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ลงเอยด้วยการเจราจาหยุดยิง แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝ่ายใด ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวเลวร้าย

  -และด้วยเหตุที่ไทยเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ทับซ้อนบ้านร่มเกล้า ทหารลาวจึงคิดว่าไทยล่วงล้ำเขตแดนลาว กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ทหารลาวได้เข้าโจมตีแคมป์คนงานบริษัททำไม้ ทำให้คนงานเสียชีวิต 1 คน รถแทรกเตอร์เสียหาย 3 คัน รถจิ๊บเสียหาย 1 คัน กองร้อยทหารพรานที่ 3405 จึงได้จัดกำลังเข้าช่วยเหลือ ทหารไทยปะทะกับทหารลาว ผลการปะทะทำให้ทหารไทยบาดเจ็บ 3 นาย ขณะที่ทหารลาวไม่มีรายงานการสูญเสีย

   -ต่อมาความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น เมื่อชาวบ้านในอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านร่มเกล้า เข้าไปทำเกษตรกรรมบริเวณชายแดนซึ่งลาวอ้างว่ารุกล้ำเขตแดนลาว ทหารลาวจับตัวชาวบ้านไทยไป 7 คน โดยทว่าสามารถหนีรอดมาได้ 1 คน ถูกยิงเสียชีวิต 1 คน นายอำเภอนาแห้วพยายามเจรจากับทางการลาว โดยลาวยื่นข้อเสนอให้คนไทยเซ็นยอมรับการรุกล้ำเขตแดนลาว แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม จึงถูกจับกุมตัวที่ประเทศลาว

  -8 สิงหาคม พ.ศ. 2530 กองร้อยทหารพรานที่ 3405 ปะทะกับทหารลาวประมาณ 200-300 คน บริเวณฐานปฏิบัติการบ้านร่มเกล้า ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ ส่วนทหารลาวเสียชีวิต 11 คน สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจจึงเริ่มเสริมกำลังมากขึ้น โดยกองทัพภาคที่ 3 ส่งกองพันทหารม้าที่ 7 มาเป็นกำลังเสริมเพิ่มเติม ก่อนจะส่งมอบภารกิจให้กำลังทหารพรานจู่โจม ค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 กองร้อย เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ และนับแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคม ทหารพรานจู่โจมได้ลาดตระเวนและมีการยิงปะทะกันมาโดยตลอด

   -การปะทะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อทหารไทยลาดตระเวนพบทหารลาวเข้ามาตั้งกองกำลังในเขตแดนไทย จึงเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการสอยดาว 01” เพื่อพยายามผลักดันทหารลาว ด้วยการเสริมกำลังจากกองร้อยทหารปืนใหญ่ แต่ทหารลาวอยู่ในจุดได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า ปฏิบัติการนี้จึงไม่สำเร็จเท่าใดนัก ได้เพียงตรึงกำลังเผชิญหน้ากันอยู่

  -และนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 ยังไม่สามารถผลักดันทหารลาวได้ อีกทั้งยังลาดตระเวนพบว่า ทหารลาวได้ตั้งฐานที่มั่นบนเนิน 1428, 1182, 1370 และ 905 อย่างเข้มแข็ง ฝ่ายไทยจึงเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการสอยดาว 02” ด้วยการสนับสนุนกำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 18 อีกหนึ่งกองพัน และมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการผลักดันทหารลาวออกไป

   -เข้าสู่เดือนมกราคม พ.ศ. 2531 การปะทะกันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทหารไทยพยายามผลักดันทหารลาวอย่างหนัก แต่เนื่องจากทหารลาวปฏิบัติการบนจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่าทหารไทย และได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่ 3 การปะทะจึงเป็นไปอย่างดุเดือด

  -ต่อมา ทหารไทยได้ยึดพื้นที่ได้กว่า 70% เหลือเพียงบริเวณเนิน 1428 และ 1182 และเนินใกล้เคียง 3-4 เนิน ทหารไทยพยายามบุกยึดเนินที่เหลือโดยได้รับการสนับสนุนการโจมตีจากเครื่องบิน เอฟ 5 อี แต่ก็ไม่สามารถยึดได้เพราะเสียเปรียบด้านภูมิประเทศและทหารลาวได้วางกับดักระเบิดจำนวนมาก

  -พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก จึงได้อนุมัติให้กองทัพทำการรุกออกนอกประเทศไทยได้ และประกาศว่าจะทำทุกวิธีให้ข้าศึกออกจากพื้นที่ โดยจะใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม นั่นคือไม่สนใจขอบเขตของการรบและยุทธวิธี โดยกล่าวว่า

 -“เป็นที่ประจักษ์โดยแน่ชัดแล้วนะครับว่า ประเทศลาวก็ตาม ประเทศที่สนับสนุนก็ตาม ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติทุกหนทาง หนทางที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการแทรกซึมเข้ามาเป็นจำนวนมาก เข้ามาในพื้นที่ของเราแล้วสร้างปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่วไป…เราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้เนิ่นนานไปไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม ก็คือไม่คำนึงถึงขอบเขตและวิธีการทั้งสิ้น ซึ่งกองทัพบกจะเริ่มดำเนินการในลักษณะเต็มที่ในระยะเวลาที่จะถึงนี้”

  -กองทัพภาคที่ 3 มีคำสั่งให้กองพลทหารราบที่ 4 จัดกำลัง 1 กองพันทหารราบ เข้าเสริมกำลังในพื้นที่ กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 กองทัพบกไทยได้ตัดสินใจเพิ่มความรุนแรงของปฏิบัติการ โดยทุ่มกำลังโจมตีที่มั่นทหารลาวอย่างหนัก พร้อมด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากกองทัพอากาศ ต่อมากองทัพบกแถลงการณ์ว่า ได้ยึดเนิน 1370 และ 1146 ไว้ได้ แต่เนิน 1428 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญนั้นยึดได้เพียงบางส่วน และกำลังระดมกำลังเข้าโจมตีอย่างหนักเพื่อจะยึดครองให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

  -เนิน 1428 ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรบที่บ้านร่มเกล้า เพราะทหารลาวสามารถใช้ปืนทุกชนิดยิงลงมาได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็น ปืนกล อาร์พีจี ระเบิดมือ ในขณะที่ทหารไทยต้องไต่เนินบุกขึ้นไป จึงเสียเปรียบอย่างมาก

  -การปะทะกันจากนั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายไทยส่งทหารราบ ทหารปืนใหญ่ และทหารพราน และกองทัพภาคที่ 3 เสริมกองพันทหารม้าอีก 1 กองพันรุกเพื่อยึดเนิน 1428 แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ แต่ทหารลาวใช้ปืนต่อต้านอากาศยานและจรวดแซมยิง เครื่องบิน เอฟ-5 อี และโอวี 10 ของไทยร่วงอย่างละ 1 ลำ

  -สถานการณ์ดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายวงศ์ พลนิกร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประเทศลาวอย่างเงียบ ๆ เข้าพบนายไกรสอน พรหมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาว เพื่อปูทางเจรจาหยุดยิง

    -ต่อมา วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายได้แก่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก และพลเอกสีสะหวาด แก้วบุนพัน ประธานคณะเสนาธิการทหารสูงสุด กองทัพประชาชนลาว เปิดเจรจากันที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ และได้ข้อตกลงให้หยุดยิงเวลา 08.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531

สมรภูมิร่มเกล้า (ภาพจากหนังสือ นักรบเลือดไทย)

  *สมรภูมิร่มเกล้าในมุมมองลาว

  -เหตุการณ์ที่บ้านร่มเกล้า ฝ่ายลาวเรียกว่า “สถานการณ์บ่อแตน” สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าคือการถือแผนที่และตีความสนธิสัญญากันคนละแบบ ไทยยึดเอาแม่น้ำเหืองที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาเมี่ยงว่าเป็นแม่น้ำเหืองงานั้นเป็นเส้นเขตแดน แต่ขณะที่ลาวมองว่าแม่น้ำเหืองงาสายนั้นเป็นเพียงลำน้ำสาขาของแม่น้ำเหืองที่ลาวใช้เป็นเส้นเขตแดน

โดยหนังสือพิมพ์ “เวียงจันใหม่” ของลาวมองว่า การที่ไทยเอาแม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดนนั้น “เป็นการเสกสันปั้นแต่งขึ้นมาของคนกุ่มหนึ่งในวงกานกำอำนาดไท ที่เดินตามแนวคิดไทใหญ่” ซึ่งแม่น้ำเหืองงานั้นอยู่ห่างจากเส้นเขตแดนของลาวเข้ามาในดินแดนลาว 8-10 กิโลเมตร ซึ่งลาวยืนยันว่าไม่มีเอกสารตามสนธิสัญญาใดที่ระบุว่าใช้แม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน

สำหรับการทำสัมปทานป่าไม้นั้น แน่นอนว่าลาวต้องถือว่าไทยเข้ามาทำป่าไม้ในพื้นที่ของตนและเป็นการรุกล้ำหาประโยชน์โดยผิดกฎหมายลาว เช่นหนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ของลาวได้กล่าวว่า

  -“ตามข่าวจากท้องถิ่น ผู้บันชากานกองทัพพากสามของไทย ได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกพ่อค้าไม้เถื่อนลักเข้ามาลอบตัดไม้ในดินแดนลาว ขนเข้าไปในดินแดนไท เพื่อป้องกันพวกขะบวนการลักลอบตัดไม้กองทัพพากที่สามของไท จึงจัดตั้งค่ายทะหานเสือป่า (คงหมายถึงฐานปฏิบัติการของทหารพราน 3405 ที่บ้านร่มเกล้า -วิศวมาศ ปาลสาร, 2552) ขึ้นเพื่อปกปักรักษาผนปะโหยด ของพ่อค้าไม้เถื่อนดังกล่าว”

   -ส่วนการตั้งบ้านร่มเกล้าที่มีชาวม้งเป็นส่วนใหญ่นั้น ลาวมองว่าชาวม้งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยต่อต้านรัฐบาลลาว เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ จึงถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อลาว อีกทั้งการที่ไทยทำถนนสาย 1268 เลียบชายแดนและตัดผ่านบ้านร่มเกล้า ยิ่งทำให้ลาวให้ความสนใจกับบ้านร่มเกล้าอย่างยิ่ง ดังที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาวแถลงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2531 ความว่า

“กองทัพภาคที่ 3 ของไทย ได้นำเอาพวกม้งที่เป็นอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาอยู่ในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ และเสริมด้วยค่ายทหารพรานในปี 1986 ก็ได้ตัดถนนจากไทย ข้ามน้ำเหืองเข้ามาในเขตนั้นเพื่อสมทบกับพ่อค้าไทยลักลอบตัดเอาไม้ค่าของลาว คณะปกครองเมืองบ่อแตนได้เตือนเจ้าหน้าที่ไทยหลายครั้ง แต่ฝ่ายไทยไม่ทำตาม จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ในปี 1987 ฝ่ายไทยยิ่งเพิ่มทวีการลักลอบตัดไม้ขนาดใหญ่ โดยมีทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ให้ความคุ้มครอง อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้นอีก กับกองกำลังท้องถิ่นลาว”

  -ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ไทยอ้างว่าทหารลาวบุกโจมตีแคมป์คนงานบริษัททำไม้และได้ปะทะกับทหารไทยนั้น หนังสือพิมพ์ประชาชนของลาวรายงานว่า ไทยเป็นฝ่ายกล่าวหาลาวในการปฏิบัติการครั้งนี้ โดยยืนยันว่า “ข่าวดังก่าวแม่นการเสกสันปั้นเลื่องอย่างบ่อมีมูนความจริง” และ

  -“เมื่อวันที่ 31 พืดสะพานี้ พวกปะติการขวาจัดไท ได้ปั้นเลื่องขึ้น และตู่หาสาทาละนะลัดปะชาทิปะไตปะชาชนลาวว่ามีทะหานลาวจำนวนหนึ่งได้ไปปิดล้อมบ้านร่มเก้า ในแขวงนานของไท และได้ยิงปืนใส่บ้านดังกล่าว เฮ็ดให้ทะหานพานของไท บาดเจ็บสามคน และปะชาชนบ้านดังก่าวตายผู้หนึ่ง”

   -ต่อมาหนังสือพิมพ์ลาวได้รายงานข่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทหารลาวต้องดำเนินปฏิบัติการทางทหารในการปกป้องดินแดนและทรัพยากรของลาว ซึ่งมองว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ละเมิดอำนาจอธิปไตยของลาว

แน่นอนว่า เมื่อการปะทะกันเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็นำเสนอข้อมูลคนละด้าน เช่น ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 ลาวแถลงว่า ฝ่ายไทยสร้างเหตุการณ์ร้ายแรงตามแนวชายแดนตั้งแต่กรณี 3 หมู่บ้าน การลักลอบตัดไม้ มาจนถึงเหตุการณ์ปะทะหลังวันที่ 31 พฤษภาคมเป็นต้นมานั้น ทหารไทยได้โจมตีบริเวณดังกล่าวขนานใหญ่ รวมถึงไทยได้ใช้อาวุธเคมียิงใส่ทหารลาว ซึ่งฝ่ายไทยปฏิเสธเรื่องนี้เช่นกัน

  -ในการปะทะกันอย่างหนักหน่วงช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 นั้น กระทรวงการต่างประเทศลาวแถลงว่า ทหารไทยได้โจมตีขนานใหญ่ด้วยการสนับสนุนจากปืนใหญ่และเครื่องบินรบ โดยเครื่องบิน เอฟ 5 ได้บินลึกเข้าไปในเขตแดนลาวลึกกว่า 30 กิโลเมตร ได้กล่าวประนามต่อการบุกครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลไทยต้องเจรจาโดยเร็วเพื่อยุติการปะทะ

  -กระทั่งในช่วงที่เริ่มมีการเจรจาระหว่างกัน หนังสือพิมพ์ลาวก็รายงานในลักษณะคล้ายคลึงกับฝ่ายไทย และยังมีการรายการสถานการณ์การปะทะกันตามชายแดนอยู่ ภายหลังการหยุดยิง มีการเจรจาหลายครั้ง ลาวก็รายงานข่าวความคืบหน้าไม่ต่างจากฝ่ายไทย ซึ่งปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะมีจุดยืนคนละทาง

  -ความขัดแย้งที่บ้านร่มเกล้าจากหนังสือพิมพ์ลาวจะเห็นมุมมองของฝ่ายลาวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดมาจากทหารไทยได้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนลาว ฝ่ายลาวจึงต้องผลักดันทหารไทยออกจากพื้นที่จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ตลอดการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ลาวนำเสนอไปในทางที่ว่า ทหารไทยรุกล้ำไปในเขตแดนลาวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ลาวได้นำเอาหลักฐานพวกแผนที่มานำเสนอให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตแดนลาว และไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนลาว

(เนิน 1428 ที่เคยเกิดปัญหากรณีพิพาทระหว่างไทยและลาวในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นของฝ่ายใด ภาพถ่ายจากจุดชมวิวอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ By เทวประภาส มากคล้าย, Via Wikimedia Commons)

  *บทสรุป

   -ตลอดการปะทะกับบนสมรภูมิร่มเกล้า ทหารไทยเสียชีวิต 147 คน บาดเจ็บ 166 คน ขณะที่กองทัพภาคที่ 3 รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บต่างออกไปคือ บาดเจ็บสาหัส 167 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 550 คน และทุพพลภาพ 55 คน ไทยใช้งบประมาณในสมรภูมิร่มเกล้าไปราว 3,000 ล้านบาท

   -ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียของลาวนั้นไม่แน่ชัด ประมาณว่าทหารลาวเสียชีวิตประมาณ 300-400 คน บาดเจ็บประมาณ 200-300 คน และเชื่อว่ามีทหารต่างชาติของโซเวียต เวียดนาม และคิวบา รวมอยู่ด้วย (ไทยเชื่อว่าฝ่ายลาวมีทหารต่างชาติมาช่วยรบและสนับสนุนแต่ลาวปฏิเสธเรื่องนี้)

  -แม้สมรภูมิร่มเกล้าจะผ่านมานานนับ 30 กว่าปีแล้ว แต่ข้อยุติเรื่องเขตแดนยังคงหาข้อสรุปไม่ได้


 

คำสำคัญ (Tags): #"ร่มเกล้า
หมายเลขบันทึก: 710713เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2022 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2022 04:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท