สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน

          เนื้อหาในบทความนี้ เป็นการศึกษา “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วย การวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน ตามลำดับดังนี้ 

 

ก. วิเคราะห์สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสังคมแห่งการให้ด้วยใจที่รู้จักพอ เป็นการให้ที่ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ คือ พอมีพอกิน ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเป็นระดับพื้นฐาน ส่วนในระดับการพัฒนา ได้แก่ เกิดความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน ด้วยความรู้รักสามัคคี เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน 

          สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวางอยู่บนพื้นฐานปรัชญาจริยะ โดยถือว่าเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงของกายและจิต ในเชิงของกาย ได้แก่ การแบ่งปัน (sharing) สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ในเชิงของจิต ได้แก่ ความใส่ใจ (caring) ความมีน้ำใจ ความเมตตา การดูแลบนพื้นฐานของใจที่รู้จักพอ ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “จาคะ” ในคุณธรรมสากล เรียกว่า “Dikiosune” หรือ “การให้ตามความเหมาะสม” ทรรศนะนี้อยู่บนหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลางที่จะต้องห่วงใยดูแลผู้อื่น หรือที่เรียกว่า จริยธรรมดูแล เป็นไปเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขบนพื้นฐานของความไม่เบียดเบียน เป็นการให้เพื่อผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ทั้งจากภายในและภายนอก คำนึงถึงความเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ ด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน สภาวะของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีผลต่อการขัดเกลาจิตใจตนเองและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความสมดุลระหว่างผู้ให้และผู้รับ สร้างความมั่นคง และความยั่งยืนที่เกิดจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งจากภายนอกและภายใน ส่วนการขัดเกลาทางสังคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการขัดเกลาจิตใจ เสริมสร้างสติปัญญา โดยใช้ฐานความรอบรู้และฐานคุณธรรมที่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมสากลมาปรับประยุกต์ใช้ผ่านการฝึกฝนอบรมในวิถีชีวิต ซึ่งสามารถนำหลักการนี้ไปขับเคลื่อนเชิงกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันในมิติต่าง ๆ ได้ด้วย สิ่งสำคัญของการขัดเกลาทางสังคม ก็เพื่อลดทุกข์ เพิ่มสุข ให้แก่คนในสังคมจนสามารถทำให้เกิดความสมดุล พอดี และมั่นคงจากภายในสู่ภายนอก หรือสร้างสิ่งแวดล้อมจากภายนอกเพื่อเป็นอุปการะหรือส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของภายใน นอกจากนี้ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังช่วยปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้กับสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบที่เน้นปันแต่ไม่เน้นแบ่งในระบบราชูปถัมภ์ สังคมเน้นการแบ่งภายใต้ระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม โดยต้องวางอยู่บนเงื่อนไขของความรอบรู้และคุณธรรม ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองเป็นพื้นฐาน และพัฒนาให้ก้าวหน้าด้วยการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกอาชีพ ทุกช่วงวัย ด้วยความรู้รักสามัคคี

 

ข. วิจักษ์สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          วิจักษ์ แปลว่า การแยกแยะเพื่อประเมินค่าของสิ่งต่างๆ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นต่อสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมแห่งการให้ด้วยน้ำใจเป็นพื้นฐาน การที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้นั้น จำเป็นต้องมีการวิจักษ์เพื่อประเมินคุณค่าของการแบ่งปันให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการตระหนักและใส่ใจ ก่อนที่จะแบ่งปันออกไปจึงจะได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ คือ ความสุขบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้น เก็บเอาคุณค่าหรือส่วนดีจากทุกทางมาประยุกต์ใช้โดยเล็งผลอันเลิศ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

          เป้าหมายหลักของการแบ่งปัน คือ ความสุข เป็นความสุขบนพื้นฐานของสติปัญญาหรือสติสัมปชัญญะ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) เมื่อมีสติปัญญาก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความมั่นคงจากภายใน เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือสิ่งแวดล้อม สามารถแก้ปัญหาได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ทั้งโดยส่วนตนและส่วนรวม

          ดังนั้น การพึ่งพาตนเองได้ แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความสุข บนพื้นฐานของความรอบรู้หรือตระหนักรู้ คู่ คุณธรรม

          ความตระหนักรู้ ได้แก่ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง 

          ความรอบรู้ คือ การมีปัญญา สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงมีทัศคติที่ตรงต่อธรรม (สัมมาทิฏฐิ) มีเจตนาหรือการวางใจในทางสร้างสรรค์ คือ แก้ปัญหาได้ พัฒนาได้

          ความรอบคอบ คือ การมีสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ จับ วาง เป็นต้น รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิด ไม่หลงใหลไปตามอารมณ์หรือคติ อันเป็นเหตุให้ขาดสติ

          ความระมัดระวัง คือ การมีสติ ระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือมีความตระหนักรู้ ดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท

          ฉะนั้น รูปแบบต่าง ๆ ของการแบ่งปันที่เกิดขึ้น อาทิ การแบ่งปันทรัพย์สิน/ทรัพยากร  การแบ่งปันแรงงาน การแบ่งปันเครื่องมือ การแบ่งปันพื้นที่ การแบ่งปันเวลา การแบ่งปันโอกาส  การแบ่งปันความรู้ ทักษะ ความสามารถ การแบ่งปันมิตรภาพหรือความเป็นกัลยาณมิตร ฯลฯ  ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบเพื่อให้เกิดสติปัญญาและคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงเป็นความสำเร็จอันเกิดจากการที่บุคคลสามารถพึ่งพาตนเองได้ แก้ปัญหาได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตได้ บนพื้นฐานของสติปัญญา ไม่ใช่ความสำเร็จอันเกิดจากความไม่ผิดพลาด ไม่ขาดทุน เพราะการที่มนุษย์จะเกิดสติปัญญาได้นั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ ในกระบวนการเรียนรู้ย่อมต้องมีโอกาสผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น หากมองว่าความผิดพลาดคือขาดทุน แต่ก็เป็นการ “ขาดทุนคือกำไร” กำไรที่ได้ คือ ได้เรียนรู้ ได้รู้ว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือข้อผิดพลาด นำไปสู่ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ต่อไปได้ สิ่งสำคัญในทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปเพื่อการเสริมสร้างและต่อยอดสติปัญญาควบคู่ไปกับคุณธรรมทั้งสิ้น ดังนั้น การวางใจให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ)  จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาด้านสติปัญญาอันจะนำไปสู่ความสุขที่มั่นคง สมดุล และยั่งยืน ส่วนความมั่งคั่งนั้นเป็นผลพลอยได้จากการรู้จักกิน รู้จักใช้ มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม รู้จักทำมาหากินด้วยความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง 

            สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม เพราะการแบ่งปันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย หากมนุษย์ขาดการแบ่งปัน ชีวิต ครอบครัว และสังคมไม่อาจตั้งอยู่ได้ด้วยความปกติสุข เพราะพื้นฐานของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับความจริงของชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของความสุขและความทุกข์ เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการความสุข ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นก็เพื่อเป้าหมายนี้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” การที่พระองค์วางเป้าหมายตามท้ายปฐมบรมราชโองการว่า “เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” นั่นก็เพราะโดยสัจธรรมแล้ว มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความทุกข์ มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์นี้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย คุณค่าในเชิงจริยธรรมจึงได้แก่ “เราจะมีชีวิตที่ดีหรือมีความสุขได้อย่างไร (how to live well)” ชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ชีวิตที่พอดี ซึ่งความพอดีของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งของใครก็ตามมาตัดสินความพอดีของอีกคนได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพอดีของแต่ละคนจึงเป็นคุณค่าที่แต่ละคนรับรู้ การจะรับรู้ได้อย่างซื่อตรงตามความเป็นจริง (สัจจะ) มนุษย์จำเป็นต้องผ่านการขัดเกลาทางสังคมและฝึกฝนตนเอง (ทมะ) ให้เกิดสติปัญญา (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ด้วยความอดทน จนเกิดความมั่นคงจากภายใน ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์หรือความอยากที่เกินพอดี (ขันติ) นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะสละออกซึ่งความโลภหรือความเห็นแก่ตัว (จาคะ) โดยเริ่มตั้งแต่การลดไปสู่การละ และเลิก ตามลำดับ ซึ่งการสละออกซึ่งความเห็นแก่ตัว (อัตตา) นี้ก็เป็นคุณค่าของการแบ่งปันจากภายในที่มีผลต่อทัศนคติ (ทิฏฐิ) เป็นการชำระความคิดเห็นให้ตรงต่อธรรม (สัมมาทิฏฐิ) เป็นจุดเริ่มต้นของทางสายกลางที่สร้างภูมิคุ้มกันจากภายในไม่ให้ไหลหลงไปกับความสุขหรือจมกับความทุกข์จนเกินพอดี เกิดการระเบิดจากข้างใน พร้อมที่จะดำรงชีวิตตามฐานความรอบรู้และฐานคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          คุณค่าของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคุณค่าแห่งปรัชญาจริยะ เมื่อนำไปใช้กับเศรษฐกิจก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน เมื่อนำไปใช้กับสังคมก็จะเกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน หัวใจหลักแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นจากการระเบิดจากภายใน เกิดจากใจที่รู้จักพอ บนพื้นฐานของสติปัญญา ตลอดถึงความมั่นคงและมั่งคั่งด้านคุณธรรมจริยธรรมและเครือข่ายกัลยาณมิตรที่ช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วยความชอบธรรม เป็นการแบ่งปันเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันและกันจากกลุ่มเครือข่ายเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อสำรอง และเพื่อแบ่งปัน ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับนโยบายของรัฐ เพราะสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยอุดรอยรั่วกับทุกนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ที่คาดไม่ถึง และทางรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ผู้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว)  จะออกมาแสดงน้ำใจด้วยการแบ่งปัน บริจาค สงเคราะห์ ให้โอกาส ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จนวิกฤติต่าง ๆ เหล่านั้นเบาบางและคลี่คลายลง ส่วนในด้านความมีเหตุผลและความพอประมาณ สามารถแบ่งความต้องการที่จำเป็นออกจากความต้องการที่ไม่จำเป็น สามารถจัดลำดับความสำคัญในการจัดสันปันส่วนสิ่งต่าง ๆ และตัดสินใจเลือกให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเทศะ รู้ชุมชน (ภูมิสังคม) รู้บุคคล (ความเชื่อ/ทัศนคติในการดำรงชีวิต)  

          จากข้อสรุปดังกล่าวทำให้เห็นว่า สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณค่าทั้งในเชิงวิชาการและวิถีปฏิบัติ ในส่วนของวิชาการนั้น ยกตัวอย่างเช่น

          ด้านจิตวิทยา : เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่สร้างแรงจูงใจทางจิตวิทยาเพื่อนำไปสู่การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ส่งเสริมการแบ่งปันเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในระดับบุคคลและชุมชนบนพื้นฐานของภูมิสังคม (ตามหลักการระเบิดจากข้างใน)

          ด้านมนุษยศาสตร์ : สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชี้ให้เห็นถึง การให้ที่คำนึงถึงความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ ได้แก่ ระบบสาธารณสุขพื้นฐานและปัจจัย ๔ ไปจนถึงความสุขในระดับที่เต็มอิ่มจากภายใน สู่การแบ่งปันด้วยใจที่รู้จักพอ บนพื้นฐานคุณธรรมสากล (cardinals virtue)

          ด้านเศรษฐศาสตร์ : เศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน โดยเริ่มต้นจากการแบ่งปันโอกาสเพื่อให้ตนเองและผู้อื่นสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพอกิน พอใช้ พอเหลือสำรอง พร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้แก่กันและกันได้ในทางธุรกิจ เช่น การแบ่งปันความรู้ ทัศนคติ เครือข่าย แรงงาน พื้นที่ว่าง เครื่องมือ - อุปกรณ์ ทรัพยากร เทคโนโลยี ทุนทรัพย์ เป็นต้น การแบ่งปันโอกาสให้กันและกันนำไปสู่หลักการพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันและกันด้วยความรู้รักสามัคคี ส่วนในด้านเศรษฐกิจชุมชนจะเกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อสำรอง เพื่อแบ่งปัน เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านอาชีพ เกิดการรวมตัวเพื่อผลิตและแปรรูปสินค้าและบริการ และเน้นการกระจายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชุมชน ตลอดถึงชุมชนใกล้เคียง เพื่อประหยัดค่าขนส่ง ตลอดถึงการหาพื้นที่กระจายสินค้าในจุดที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศโดยใช้ระบบขนส่งและระบบออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ในส่วนอาชีพอื่น ๆ ก็สามารถดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้บนพื้นฐานความไม่เบียดเบียน     มีความซื่อสัตย์ รู้จักแบ่งปัน สงเคราะห์ เกื้อกูล

          ด้านรัฐศาสตร์ : เศรษฐกิจพอเพียงช่วย “อุดรอยรั่ว” นโยบายต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุม เศรษฐกิจพอเพียงจะเข้าไปเป็นส่วนเสริมเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดให้กับทุกนโยบาย ทุกรัฐบาล ในเชิงของการแบ่งปัน โดยไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่การแบ่งปันดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม ยกตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์โควิด-๑๙ เป็นเหตุให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง แต่ละครอบครัวมีรายได้น้อยลง หลายคนต้องตกงาน มีเยาวชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเรียนต่อในระบบปกติได้ หากเกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ขึ้น และสมมุติว่ารัฐบาลไม่สามารถเก็บตกเยาวชนเหล่านี้ได้ทั้งหมด กลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้าไป “อุดรอยรั่ว” ด้วยการดำเนินการบางอย่างเพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีพื้นที่ของโอกาส เช่น การจัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพควบคู่กับการส่งเสริมทัศนคติเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ในขั้นต่อไปอาจมีการดำเนินการกับทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้กระบวนการเรียนรู้นี้สามารถเก็บหน่วยกิตสะสม หรือ Credit Bank ที่สามารถนำไปใช้ได้ในระบบการเรียนภาคปกติ เพื่อให้ผู้เข้าเรียนได้รับสิทธิและประโยชน์ให้มากที่สุด อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม ชมรมต่าง ๆ อาจมีการเปิดรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายคนตกงาน เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในช่วงสถานการณ์นี้ ซึ่งรัฐบาลเองไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง แม้แต่ภาคประชาชนทั่วไปที่มีใจพอเพียงก็ยังมีการตั้งตู้ปันสุข แจกข้าวกล่องในสถานที่ต่าง ๆ ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้เศรษฐกิจพอเพียงยังส่งเสริมด้านธรรมาภิบาลอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความพอเพียงแก่คนทั้งประเทศ

          ในส่วนของวิถีปฏิบัตินั้น สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีจุดเริ่มต้นจากใจที่รู้จักพอ โดยต้องเริ่มจากฐานความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง คือ มีสติหรือความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน มีปัญญาในการรับรู้และแยกแยะความต้องการที่จำเป็นออกจากความต้องการที่ไม่จำเป็นได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วความพอเพียงของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เมื่อแต่ละคนมีครอบครัว ความพอเพียง  ในแต่ละครอบครัวก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น เกณฑ์ความพอเพียงจึงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสุขหรือลดทุกข์ ในชีวิตของแต่ละคนบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียน สูงไปกว่านั้น เมื่อแต่ละคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ พออยู่พอกิน พอมีสำรองแล้ว ก็ควรแสดงน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยการแบ่งปันเกื้อกูลต่อไป ซึ่งสามารถทำได้ทั้งโดยส่วนตัวหรือรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ก็จะสามารถสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันได้ทั้งในแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป้าหมายก็เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และสร้างสังคมแห่งความพอเพียงที่ช่วยให้เกิดความสงบสุขในสังคมร่วมกัน 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้นำหรือบุคคลชั้นนำของประเทศ เพราะหากบุคคลเหล่านี้ขาดสติ ถูกอคติครอบงำ จิตใจไม่เที่ยงตรงต่อธรรม ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนอย่างกว้างขวาง รุนแรงกว่าคนทั่วไป จึงทรงมีพระบรมราโชวาท ความว่า

“...สติ คือความรู้สึกระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้นสำคัญมากที่จะช่วยให้บุคคลหยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะพูด จะทำหรือแม้จะคิดอ่านในเรื่องใด ๆ อีกข้อหนึ่งที่จะช่วยให้ระลึกได้ คิดอ่านได้ถูกจุดถูกต้อง ก็คือจิตใจที่ตั้งมั่นและหนักแน่นเป็นกลางเพราะไม่มีอคติ สองสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดของการศึกษาดี มีหน้าที่สูง ที่จะต้องเป็นบุคคลชั้นนำในวงงานต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต...”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สามัคคีสมาคม

ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสามัญประจำปี

ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ เมษายน ๒๕๒๗

 

          จากการวิจักษ์สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสรุปได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีคุณค่าทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงสังคม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ชีวิตเกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนได้ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณค่าทั้งในเชิงวิชาการและวิถีปฏิบัติ ในส่วนของวิชาการนั้นเชื่อมโยงทั้งในส่วนของจิตวิทยา มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ เป็นปรัชญาแห่งความสุขที่เกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ และได้แบ่งปันด้วยใจที่รู้จักพอ เป็นปรัชญาแห่งการแบ่งปันที่สามารถสร้างเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้ ส่วนคุณค่าของสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงวิถีปฏิบัตินั้นมีจุดเริ่มต้นจากใจที่รู้จักพอ มีความรอบรู้และคุณธรรมเป็นวิถีขับเคลื่อน มีความสุขจากการพึ่งพาตนเองได้และแบ่งปันได้เป็นเป้าหมาย คุณค่าเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการขับเคลื่อนให้คนในสังคมเกิดความรู้รักสามัคคี เกิดการเข้าใจเข้าถึงและพัฒนา ด้วยความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน

 

ค. วิธานสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          การวิธาน หมายถึง การประยุกต์ใช้โดยเล็งผลอันเลิศ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะศูนย์กลางของการพัฒนาที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญก็คือชีวิตมนุษย์ หรือ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” ชีวิตมนุษย์ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดคุณภาพ มีศักยภาพในการดำรงตนด้วยความรอบรู้และมีคุณธรรม มีความสร้างสรรค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมและเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          แนวทางการประยุกต์ใช้สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความสุขให้แก่ตนเองและผู้อื่นนั้น ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ จึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับธุรกิจ จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง

          ดังนั้น การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันให้ทุกองค์ประกอบของรัฐมีคุณสมบัติตามหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประชากรหรือคนตามช่วงวัยต่าง ๆ การพัฒนาประเทศตามหลักภูมิสังคมที่แบ่งออกได้เป็นลุ่มน้ำ การพัฒนาการบริหารประเทศของภาครัฐ จะส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้ประเทศชาติพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

         การขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เป็นการขับเคลื่อนด้วยภาวะอำนาจหรือผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นตัวตั้ง แต่เป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันของคนทั้งชาติที่ปรารถนาให้เกิดประโยชน์สุขต่อสังคมส่วนรวม เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ที่สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว ธรรมที่พระองค์ทรงถ่ายทอดผ่านพระราชดำรัส หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน ตลอดจนพระราชกรณียกิจและข้อประพฤติที่พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างตลอดพระชนม์ชีพ จึงเป็นเสมือนธรรมนูญให้พสกนิกรน้อมนำธรรมเหล่านี้มาประพฤติปฏิบัติตามเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ประโยชน์สุขส่วนรวม นั่นเอง 

          “ประโยชน์สุข” ในที่นี้ คือ “เป้าหมาย” การขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นประโยชน์สุขส่วนรวมอันเกิดจากการพัฒนาคุณภาพชีวิต พออยู่พอกิน และมีความรู้รักสามัคคี (oneness)

          ความสามัคคี คือ พลังขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ ได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

          เพราะ “รู้” จึง “เข้าใจ”

          เพราะ “รัก” จึง “เข้าถึง”

          เพราะ “สามัคคี” จึง “พัฒนา”

          “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คือ ยุทธศาสตร์พระราชทานที่สามารถนำมาขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันที่ยั่งยืนได้ นั่นก็เพราะ

          เพราะ “เข้าใจ” จึง “ตระหนัก”

          เพราะ “เข้าถึง” จึง “ใส่ใจ”

          เพราะ “พัฒนา” จึง “แบ่งปัน” 

          เมื่อบุคคลเข้าใจหรือตื่นรู้ (awake) ด้วยการระเบิดจากข้างใน ความ “ตระหนัก” (aware) จึงเกิดขึ้น 

          เมื่อแต่ละคนเกิดความตระหนัก จึงเชื่อมต่อ (connect) ด้วยความรักความเข้าใจ ความ “ใส่ใจ” (caring) จึงเกิดขึ้น

          เมื่อกลุ่มคนใส่ใจกันและกันด้วยความรักความเข้าใจ การแบ่งปัน (sharing) จึงเกิดขึ้น  

          ดังนั้น “หลักการสร้างวงจรจิตอาสาอย่างยั่งยืน” จึงควรทำให้เกิดการตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน เพราะเมื่อบุคคลเกิดความ “ตระหนัก” ถึงคุณค่าในตนเอง ผู้อื่น และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยทัศนคติที่ตรงกับความเป็นจริงแล้ว ก็จะเกิดความใส่ใจถึงความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดการระเบิดจากข้างใน (inside - out blasting) เป็นเหตุให้เกิดการ “แบ่งปัน” ด้วยน้ำใจที่รู้จักพอและซาบซึ้งถึงคุณค่าของการแบ่งปันที่ช่วยเกื้อกูลให้สังคมมีความสุข สุขจากการแบ่งปันคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขอันเกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ พออยู่พอกิน พอร่มเย็น จนมีเหลือสำรอง พร้อมที่จะแบ่งปันต่อไปด้วยความรู้รักสามัคคี การแบ่งปันที่เกิดจากความตระหนักและใส่ใจ ส่งผลให้ผู้รับนั้นเกิดความตระหนัก (เข้าใจ) และใส่ใจ (เข้าถึง) มีใจที่แบ่งปัน (พัฒนา) คุณค่าและความหมายบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ส่งต่อไปอย่างไม่รู้จบ 

          ในปัจจุบัน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานของรัฐทุกหน่วยงานเป็นแกนกลางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเข็มทิศนำทางในการร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ทำไมคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง จึงยังคงเป็นเพียงทฤษฎีบนหน้ากระดาษ  แต่ขาดการนำมาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะแนวคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมาชวนให้เกิดข้อสงสัยหรือตั้งข้อสมมติฐานได้ว่า

          - อาจเป็นเพราะประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวทฤษฎี แต่อยู่ที่การนำไปใช้

          - อาจเป็นเพราะการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้นั้นยังคงอยู่กับภาคเกษตรเป็นหลัก ยังไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับคนเมืองให้แพร่หลาย

          - อาจเป็นเพราะนโยบายรัฐเองที่ไม่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมีจำนวนคนจนและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          - อาจเป็นเพราะโครงการหรือนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่มีกระบวนการและการวัดผลที่ชัดเจน เพราะส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้จะเน้นเรื่องการอบรม สนับสนุนครัวเรือนต้นแบบหรือปราชญ์ชาวบ้านในภาคการเกษตรและการจัดการท่องเที่ยวชมวิถีพอเพียงที่ต่างจังหวัด การวัดผลสำเร็จเป็นเพียงตัวเลขของผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ไม่มีผลลัพธ์ว่าโครงการเหล่านั้นได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมอย่างไร และมีความต่อเนื่องที่ทำให้เกิดความยั่งยืนหรือไม่

          หากมองตามความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่สามารถขยายผลจากระดับปัจเจกชนให้เป็นระดับธุรกิจเอกชนหรือระดับนโยบายรัฐได้นั่นเอง ส่วนวิธีการที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้กับสังคมทุกระดับนั้นอาจต้องพึ่งพากระบวนการ ๓ อย่าง คือ 

            - การสอนหลักวิชาการที่ครอบคลุมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ

            - การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย และ

            - การประชาสัมพันธ์อย่างถูกวิธี

          โดยอาศัยการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคม การสร้างเครือข่ายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มให้กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีภาคประชาชนเป็นหลักและมีภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนให้การช่วยเหลือ ตลอดถึงการสร้างพื้นที่ การมีส่วนร่วมให้กับประชาชนคนไทยในแต่ละช่วงวัย ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามกระบวนการดังกล่าวได้ดังนี้

          องค์กรด้านวิชาการ

          ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายเรื่อง “การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้” ไม่ได้เป็นเพียงการใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะที่ต้องหลีกหนีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี หรือมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของคนจน คนรากหญ้า ที่ผ่านมาความพอเพียงของภาคเกษตรกรรมนั้นเป็นเพียงตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แก่นแท้ของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ใช่ทฤษฎีด้านเกษตรกรรม เพราะแท้จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดความสุข ความพอดี การรู้จักตนเองและความสมดุลในชีวิต ไปจนถึงการประกอบอาชีพต่าง ๆ การดำเนินธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น การจัดตั้งองค์กรด้านวิชาการหรือสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่อง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขว่าเป็นความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่การดำเนินชีวิตไปจนถึงการประกอบอาชีพ สามารถนำไปใช้ได้ทุกระดับตั้งแต่คนพอเพียง ครอบครัวพอเพียง ชุมชนพอเพียง สังคมพอเพียง ไปจนถึงธุรกิจพอเพียง ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์

          อนึ่ง การส่งเสริมด้านวิชาการควรมีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติ เช่น ควรส่งเสริมการวิจัยหรือบทความที่สามารถนำไปปฏิบัติได้และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในทั้งมิติของนามธรรมและรูปธรรม

          ในมิติของนามธรรม ได้แก่ สามารถสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก ปลุกและปลูกจิตสำนึกในใจคนให้เกิดความพอเพียงและสมดุลได้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรส่งเสริมวิชาการที่สร้างความ “ตระหนักรู้” (awareness) มากกว่า “ความรู้” (knowledge) เป็นการรับรู้ รู้สึก แล้วจึงนำกระบวนการความคิดมาช่วยแยกแยะ ประเมินค่า หรือวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และอธิบาย วิชาการที่สร้างความตระหนักรู้มากกว่าความรู้เป็นวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดทัศนคติที่ตรงต่อความเป็นจริง (สัจจะ) เป็นประโยชน์ต่อการขัดเกลาจิตใจ ส่งเสริมสติปัญญา (ทมะ) จนเกิดความมั่นคง เข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก (ขันติ) เป็นวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก ความเห็นแก่ตัว (จาคะ) เพื่อลดอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม เป็นวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้รักสามัคคีแก่คนในชาติ ส่งเสริมทัศนะแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน ส่งเสริมความร่วมมือมากกว่าการแบ่งแยกแข่งขัน ส่งเสริมความไม่ยึดมั่นถือมั่นอันเป็นเหตุให้เกิดทัศนะที่กว้างขึ้น ทำให้เกิดการเปิดใจ เกิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น เพราะขนาดของใจ มีผลต่อความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน

          ในมิติของรูปธรรม ได้แก่ สามารถนำผลการวิจัยไปต่อยอดเพื่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในส่วน “ฐานความรอบรู้” และส่วนฐาน “คุณธรรม” ได้ โดยเป็นหลักวิชาการที่สอดคล้องกับหลักการทรงงาน ที่ให้การเสนอแนะทั้งในส่วนของหลักการ ทัศนคติหรือการวางใจ เทคนิคหรือวิธีการ ผลลัพธ์และเป้าหมาย ตลอดถึงตัวชี้วัดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ สามารถสร้างโมเดลหรือต้นแบบเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง เกิดความรู้รักสามัคคี ส่งเสริมยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการวิจัยเพื่อถอดบทเรียนต้นแบบการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำมาเรียนรู้ร่วมกันของภาคประชาชน และเป็นประโยชน์สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

          อีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมด้านวิชาการก็คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนวิชาการด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยกตัวอย่างเช่น การเชิญชวนคณาจารย์ที่เคยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนให้วิจัยเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากหน่วยงาน กอ.รมน. มาร่วมมือกันในทางวิชาการ โดยให้มีการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding) มีการจัดประชุมเสวนาทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัย และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นจึงขยายงานไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ประจำมหาวิทยาลัย โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้เหล่านั้นเป็นศูนย์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ

          - เครือข่ายด้านผู้นำทางความคิด

          - เครือข่ายด้านประชาสังคม

          - เครือข่ายด้านสื่อมวลชนและประชาชน

          - เครือข่ายด้านสถาบันการศึกษาและเยาวชน

          - เครือข่ายด้านองค์กรธุรกิจเอกชน

          - เครือข่ายองค์กรภาครัฐ

          - เครือข่ายด้านวิชาการ

          - เครือข่ายด้านสถาบันการเมืองหรือความมั่นคงของชาติ

          - เครือข่ายสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการตระหนักรู้สู่หนึ่งเดียวกัน

          - เครือข่ายด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

          องค์กรด้านกระบวนการเรียนรู้

          หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักการง่าย ๆ เพียงแค่ ๓ ข้อ กับอีก ๒ เงื่อนไข แต่ปัญหาหลักของการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกลับมีการยกตัวอย่างเฉพาะภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการจัดการเรียนรู้หรือการลงมือปฏิบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจหรือคนเมือง หรือแม้แต่คนในช่วงอายุวัยรุ่น วัยทำงานได้

          เศรษฐกิจพอเพียงภาคเกษตรมี “ปราชญ์ชาวบ้าน” เป็นผู้ให้ความรู้ เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับ คนเมืองก็ควรมี “บัณฑิตชาวเมือง” ซึ่งเป็นผู้ต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวเมือง ให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน เพราะการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนและนอกชุมชน หรือการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรวมกลุ่มกันดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม จะช่วยสร้างองค์กรด้านกระบวนการเรียนรู้ ก่อให้เกิดตัวอย่างและนำไปสู่การประยุกต์ใช้จนท้ายที่สุดจะเกิดเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง

          กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความ “เข้าใจ” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

          - รูปแบบของ problem base คือ ใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้

          - รูปแบบของ project base คือ ใช้โครงการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นฐานการเรียนรู้)

          - รูปแบบของ area base คือ ใช้สถานที่หรือพื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้ทั้งในระบบ online และ onsite

          และหากต้องการให้เกิดการ “เข้าถึง” จำเป็นที่ตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการฝึกฝนอบรมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนคุ้นเคย จึงจะเกิดความซาบซึ้งและศรัทธา เข้าถึงแก่นแท้ของตัวปรัชญาได้ลึกขึ้น หรือลึกกว่าขั้นเข้าใจที่ยังใช้กระบวนการคิดเป็นพื้นฐาน เนื่องจากพื้นฐานปรัชญา หลักการทรงงาน ตลอดถึงโครงการต่าง ๆ ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้วนเกิดจาก “ปัญญาปฏิบัติ” ทั้งสิ้น ดังนั้น การจะเข้าถึงสิ่งนี้จึงต้องมีใจรัก ตระหนักถึงคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตตนเองและสังคมให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงกระบวนการขัดเกลาและฝึกฝนสิ่งนี้ได้อย่างต่อเนื่องจนเกิดผลลัพธ์คือ การ “พัฒนา” ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ คือ มีความสมดุลทั้งภายในและภายนอก บนฐานของความรอบรู้และคุณธรรม

          หัวใจของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็คือ ทำให้เกิดการระเบิดจากข้างใน คือ การเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว กล่าวโดยรวมก็คือ เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงนั่นเอง การที่จะเกิดกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ได้จะต้องมีกลุ่มคนที่มีความตระหนักรู้ มีความใส่ใจ พร้อมที่จะแบ่งปัน ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ทัศนคติอันนำไปสู่ความสุขที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างองค์กร เน้นการบูรณาการให้เกิดสหวิชาการระหว่างวิชาชีพต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Oneness Academy เป็นโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรการเรียนออนไลน์ ระหว่าง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมูลนิธิสหธรรมิกชน (SHDM Foundation) 

          การ MOU ครั้งนี้ ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและพัฒนาสาขาต่าง ๆ กับ นักสื่อสารมวลชน ที่มีวิชาชีพต่างกัน แต่นำเอาศักยภาพและความสามารถของแต่ละฝ่ายมาเสริมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาร่วมกันบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่ายนักวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะช่วยกันรวบรวมข้อมูลสัมภาษณ์ Focus group คน ๕ ช่วงวัย โดยแบ่งออกเป็น Generations ต่าง ๆ ได้แก่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha โดยสืบค้นข้อมูลของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากนั้นทำการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (stratified random sampling) ตามสัดส่วนประชากรทั้งหมดตามช่วงวัย และจำแนกตามเพศ ข้อมูลที่สัมภาษณ์จะเกี่ยวข้องกับข้อคำถามด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  เช่น รู้ รัก สามัคคี เป็นต้น จากนั้นจะนำข้อมูลไปเรียบเรียงและวิเคราะห์ถึง ๓ ชั้น ก่อนที่จะส่งข้อมูลให้กับทีมนักสื่อสารมวลชนที่ชำนาญด้านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ (creative) ช่วยย่อยให้เป็น content ง่าย ๆ แต่ไม่ผิดหลักวิชาการ และออกแบบสื่อให้น่าสนใจ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ ๔ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเข้ามาฝึกงานร่วมด้วยในทุกขั้นตอน ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการถ่ายทำ Production กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และการทำระบบ log in เพื่อออกแบบและประชาสัมพันธ์หลักสูตรผ่านเว็บไซต์ของ ALTV สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (https://learning.altv.tv/) ในชื่อหลักสูตร “วิชาความสุขของคนทุกวัย” ซึ่งเนื้อหาของวิชามาจากรายการ “โต๊ะ GEN” ที่ออกแพร่ภาพให้ประชาชนทั่วไปได้รับชม 

          องค์กรด้านการประชาสัมพันธ์

          เมื่อหลักวิชาการและกระบวนการเรียนรู้สามารถทำให้หลักเศรษฐกิจพอเพียงแทรกผ่านเข้าไปในกระบวนการคิด ทัศนคติ และการใช้ชีวิตของประชาชนได้แล้ว การสร้างเครือข่ายอย่างสร้างสรรค์เพื่อขยายต่อความสำเร็จก็นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

          การหยิบยกเฉพาะตัวเลขของผู้เข้าร่วมโครงการหรือการประชาสัมพันธ์เชิงท่องเที่ยวภาคเกษตรอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการนำเสนอแง่มุมของคนต้นแบบที่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างร่วมสมัย หรือธุรกิจต้นแบบที่สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ เป็นต้น

          นอกจากนี้ภาครัฐหรือสถาบันใด ๆ ที่อ้างถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ควรเลิกหยิบหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตำหนิประชาชนจำนวนมากที่ยังมีกินมีใช้ไม่พอเพียง แล้วลองหันมาพัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ทุกคนดำรงชีพได้อย่างพอดี ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป ตัดสินใจเรื่องส่วนงบประมาณอย่างมีเหตุมีผล รวมถึงผลักดันภูมิคุ้มกันด้านความยากจน การศึกษา และสุขภาพให้ได้มากขึ้นจะดีกว่า

          การประชาสัมพันธ์ นอกจากจะช่วยขยายความสำเร็จของงานวิชาการ หรือส่งเสริมกิจกรรมด้านกระบวนการเรียนรู้ได้แล้ว ประโยชน์ของการประชาสัมพันธ์ยังช่วยสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนได้ด้วย หากมีแพลตฟอร์ม (platform) ที่สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในสังคมได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อเป็นการอุดรอยรั่วในส่วนที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง ยกตัวอย่างเช่น การประชาสัมพันธ์  เพื่อขอรับบริจาคเงินสำหรับช่วยเกษตรกรผู้เปราะบางและผู้พิการ ในโครงการกัลปนา (kalpana) ของมูลนิธิสหธรรมิกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการร่วมกันให้แบ่งปันกันอย่างเกื้อกูล เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับข้าวในปัจจุบัน ดังนี้

          ๑) ชาวนาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างครบวงจร ชาวนาปลูกข้าวแล้วจำเป็นขายผลผลิตข้าวในรูปแบบข้าวเปลือกให้แก่โรงสีอย่างไม่มีทางเลือก ทั้งที่การนำข้าวไปขายในรูปแบบข้าวเปลือกนั้นมีรายได้น้อยกว่าการขายในแบบข้าวขาว (ข้าวสาร) มาก ที่เป็นแบบนี้เนื่องมาจากชาวนาไม่มีทุนทรัพย์ในการมีโรงสีเป็นของตนเอง และถึงแม้จะมีโรงสีเป็นของตนเองชาวนาส่วนใหญ่  ก็ไม่รู้ว่าจะนำข้าวที่สีแล้วไปจัดจำหน่ายที่ใด ไม่พร้อมที่จะแบกรับความเสี่ยงที่จะตามมาในกรณีขายข้าวไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวชาวนาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในทุกวงจรของการประกอบอาชีพชาวนา

          ๒) ข้าวราคาตก แต่ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ราคาค่อนข้างคงที่หรือตกต่ำลง ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีมานานและหาทางแก้ไขยาก อีกทั้งต้นทุนในการผลิตข้าวในส่วนต่าง ๆ สูงขึ้นมาตลอด เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเช่าที่นา ค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่ ค่าจ้าง ฯลฯ

          ๓) ไม่มีการประกันรายได้ชาวนา ชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่สามารถคาดการณ์รายได้ เพราะต้นทุนและรายรับที่ผันผวนจากหลายเหตุปัจจัย จะมีชาวนาส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถคาดการณ์รายได้ของตนเองได้

          ๔) คนไทยยังมีคนขาดแคลนข้าว ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนข้าว ทั้งที่ประเทศไทยสามารถปลูกข้าวได้เป็นจำนวนมาก

(ตัวอย่าง) รูปแบบขั้นตอนการแบ่งปันอย่างยั่งยืนของมูลนิธิสหธรรมิกชน 

          ๑) รับเงินบริจาคเพื่อการบริหารจัดการโครงการอย่างยั่งยืนไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท

          ๒) บริหารจัดการในการทำนาจนเกิดผลผลิตเป็นข้าวสารพร้อมบริโภค

          ๓) แบ่งปันผลผลิตให้แก่ชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการอย่างพอเพียงต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          ๔) แบ่งปันผลผลิตให้แก่ผู้ขาดแคลน และองค์กรที่ดูแลกลุ่มคนเปราะบางต่าง ๆ เช่น สมาคมคนพิการจังหวัดอุทัยธานี มูลนิธิเพื่อเด็กกำพร้า โรงเรียน สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เป็นต้น

          ๕) ข้าวสารส่วนหนึ่งถูกจัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาบริหารจัดการเพื่อการทำนาในรอบถัดไป เพื่อให้การทำนาในรอบถัดไปไม่ต้องรับเงินบริจาคเพิ่ม

          ผลที่ตามมา ก็คือ ประโยชน์สุขที่ชาวนาและผู้พิการได้รับ ดังนี้

          ก. ประโยชน์ที่ชาวนาได้รับ

              ๑) ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระหนี้

              ๒) มีทรัพยากรหมุนเวียนสำหรับการทำนาอย่างยั่งยืน

              ๓) เพิ่มศักยภาพในการพึ่งตนเองของชาวนา ลดการพึ่งพานายทุนและพ่อค้าคนกลาง

          ข. ประโยชน์ที่สมาคมคนพิการจังหวัดอุทัยธานีได้รับ

              ๑) มีข้าวไว้สำหรับบริโภคตลอดปี

              ๒) เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน (ไม่ต้องนำเงินไปซื้อข้าว)

              ๓) สนับสนุนกลุ่มคนพิการให้พึ่งพาตัวเองได้

              ๔) นำข้าวสารไปช่วยเหลือเจือจุนคนพิการและกลุ่มคนเปราะบางอื่น ๆ ที่ขาดแคลนอาหาร

          ค. ประโยชน์ที่มูลนิธิได้รับ

              ๑) บรรลุวัตถุประสงค์มูลนิธิในการนำหลักการพึ่งพาตนเองและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาคุณภาพชีวิต

              ๒) เกิดพื้นที่ต้นแบบในการทำโครงการกัลปนา โดยเริ่มจากพื้นที่นาของเครือข่ายชาวนาในจังหวัดอุทัยธานี 1 พันไร่ 

          ง. ประโยชน์ที่ผู้บริจาคได้รับ

              ๑) ความสุขจากการให้ สละออก สู่การเกื้อกูล

              ๒) เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสังคมต้นแบบแห่งการให้อย่างเกื้อกูล

          จากตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ข้างต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของมูลนิธิ ซึ่งจัดอยู่ในภาคประชาสังคม โดยการนำแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตมาทำการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของโครงการที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

          โดยสรุปแล้ว สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม เพราะการแบ่งปันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย หากมนุษย์ขาดซึ่งการแบ่งปันแล้ว ชีวิต ครอบครัว และสังคมไม่อาจตั้งอยู่ได้ด้วยความปกติสุข เพราะพื้นฐานของการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับความจริงของชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของความสุขและความทุกข์ เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการความสุข ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นก็เพื่อเป้าหมายนี้ การขับเคลื่อนขยายผลเรื่องสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องปลูกฝังความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนทุกคนสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และปลูกฝังปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ควรจะดำเนินการด้วยลักษณะเครือข่ายและร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดถึงประชาชนทั่วไป ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัย (generations) ผ่านการสร้างองค์กรด้านวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง การสร้างองค์กรด้านกระบวนการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง และองค์กรด้านการประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเชิงนโยบายทั้งด้านการศึกษา รายได้พื้นฐาน และสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุขในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มากที่สุด อนึ่ง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีคุณค่าทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงสังคม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ชีวิตเกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนได้ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณค่าทั้งในเชิงวิชาการและวิถีปฏิบัติ ในส่วนของวิชาการนั้นเชื่อมโยงทั้งในส่วนของจิตวิทยา มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ เป็นปรัชญาแห่งความสุขที่เกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ และได้แบ่งปันด้วยใจที่รู้จักพอ เป็นปรัชญา แห่งการแบ่งปันที่สามารถสร้างเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้ ส่วนคุณค่าของสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงวิถีปฏิบัตินั้นมีจุดเริ่มต้นจากใจที่รู้จักพอ มีความรอบรู้และคุณธรรมเป็นวิถีขับเคลื่อน มีความสุขจากการพึ่งพาตนเองได้และแบ่งปันได้ เป็นเป้าหมาย คุณค่าเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการขับเคลื่อนให้คนในสังคมเกิดความรู้รักสามัคคี เกิดการเข้าใจเข้าถึงและพัฒนา ด้วยความตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันทั้งในส่วนองค์กรด้านวิชาการ องค์กรด้านกระบวนการเรียนรู้ และองค์กรด้านการประชาสัมพันธ์ โดยใช้หลักการทรงงานเป็นส่วนขับเคลื่อนให้เกิดวงจรจิตอาสาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การตระหนัก ใส่ใจ และแบ่งปัน เพื่อส่งต่อสังคมแห่งการแบ่งปันบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่รู้จบ นอกจากนี้ การขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปัน จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางด้วยความรู้รักสามัคคี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันผ่านช่องทางหรือพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในระบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อสร้างความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นำพาประเทศชาติให้เกิดประโยชน์สุข สมดังพระราชปณิทานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม” 

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๓๔ - ๑๕๓.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท