วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”


วิเคราะห์เปรียบเทียบ “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

………………………………………………..

 

ก. สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม

          สังคมไม่เน้นการแบ่งปัน คือ สังคมปกติที่พบได้ทั่วไปในปัจจุบัน เป็นสังคมที่วางรากฐานอยู่บนระบบเงิน โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ ระบบทุนนิยม ระบบทุนนิยมที่นำเสนอโดยอดัม สมิธ เน้นสร้างรัฐที่มั่งคั่ง จึงส่งเสริมให้แต่ละปัจเจกมีเสรีในการกระทำ นั่นคือ ใครจะทำอะไรก็ได้หากได้เป็นประโยชน์แก่ตน และเมื่อผลประโยชน์นั้นโดยภาพรวมเป็นความมั่งคั่งของรัฐ สังคมภายใต้ระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะแบ่งแยก แข่งขัน ต้องการความได้เปรียบ ส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ส่งเสริมการสะสมทุน และแสวงหากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย

          โดยทั่วไปแล้ว ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามความสามารถและโอกาสของตนโดยอาศัยตลาดและราคาในการเลือก โดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมีบทบาทเกี่ยวข้องน้อยมาก โดยถือว่าความก้าวหน้าอยู่ที่ศักยภาพของแต่ละบุคคล แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากความสามารถและโอกาสพื้นฐานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทำให้เกิดเป็นชนชั้นที่บุคคลระดับรายได้แตกต่างกัน นำไปสู่ปัญหาการมีคนรวยและคนจน แม้จะเกิดชนชั้นกลาง แต่การกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นก็ยังทำให้เกิดภาพรวม คือ เป็นลักษณะรวยกระจุกจนกระจาย และคนรวยยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อย ๆ คนจนยิ่งจน มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะแข่งขันที่สูง ทำให้เกิดการใช้กฎแห่งป่า และปลาใหญ่กินปลาเล็ก การผลิตในระบบทุนนิยมขึ้นกับตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันกันผลิตเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด การลดต้นทุนนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาในภาพรวมของโลกในปัจจุบัน

          ยิ่งไปกว่านั้น ระบบทุนนิยมยังขยายตัวไปสู่ ภาวะทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐ (state monopoly capitalism) เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงระหว่างระบบทุนและรัฐที่นายทุนผูกขาดเข้ามาครอบครองอำนาจรัฐและใช้อำนาจและกลไกรัฐในการกำหนดนโยบาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ของรัฐ สาระสำคัญก็คือ การหลอมรวม (fusion) พลังการผูกขาดของนายทุนผูกขาดเข้ากับรัฐเพื่อสร้างกลไกหนึ่งเดียวในการขูดรีดทางเศรษฐกิจและการครอบงำทางการเมือง เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของนายทุนผูกขาดและรักษาระบบทุนนิยมทั้งระบบ

          ตัวอย่างงานวิจัยของ วรวลัญช์ โรจนพล (๒๕๕๘) เรื่อง “ทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐ” ชี้ให้เห็นถึงระบบหรือโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและรัฐในระบบทุนนิยม เมื่อภาวะนี้เกิดขึ้นในสังคม ผลที่ตามมาคือสิ่งตรงกันข้ามกับการแข่งขันเสรี นั่นคือ การผูกขาด คุณลักษณะที่สำคัญของทุนนิยมผูกขาดก็คือ การที่ทุนและการผลิตกระจุกตัวและรวมศูนย์ (concentration and centralization) อยู่ในกำมือของบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท (วิทยากร เชียงกูล, ๒๕๔๕) I.V. Lenin ได้นิยามขั้นทุนนิยมผูกขาดว่าเป็น “จักรวรรดินิยม” (imperialism) ซึ่งเป็นขั้นสูงที่สุดของระบบทุนนิยม (the highest stage of capitalism) ที่มีลักษณะพื้นฐานคือ ๑) การกระจุกตัวของการผลิตและทุน ได้พัฒนาไปสู่การสร้างบริษัทผูกขาดขึ้นมาซึ่งมีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ ๒) เกิดการรวมตัวของทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรม และเกิดการสร้างพื้นฐาน ของ “ทุนการเงิน” (finance capital) ขึ้นมา ๓) มีการส่งออกทุนในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากการส่งออกสินค้า ๔) มีการก่อรูปของสมาคมหรือการรวมกลุ่มของนายทุนผูกขาดระหว่างประเทศ และ ๕) มีการแบ่งเขตแดนของโลกท่ามกลางนายทุนใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุด ดังนั้น ส่วนแบ่งผลกำไรทั้งหมดในด้านเศรษฐกิจจึงตกอยู่กับนายทุนใหญ่ไม่กี่ราย เกิดอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นระบบที่ห่างไกลจากเรื่องของการแบ่งปัน เพราะเน้นในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์อย่างเข้มข้น เพียงเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด จึงเกิดการแบ่งแยกและแข่งขันกันอย่างชัดเจน   

          ระบบทุนนิยมเน้นการแข่งขัน บนฐานที่ว่า เมื่อมีการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมได้ของดีในราคาที่ถูกลง แต่ในทางกลับกัน บริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาในระบบการแข่งขันต่างก็เน้นการแข่งขันในการขายสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร การมุ่งไปที่การได้มาซึ่งกำไรมากที่สุด จึงเป็นการแข่งขันกันในด้านการลดต้นทุนการผลิต โดยวิธีการลดต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ การขยายขนาดการผลิตให้มาก ๆ ต้นทุนที่ผลิตจึงจะต่ำ และการพัฒนาพลังการผลิต (production forces) ผ่านการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสองสิ่งนี้เกิดควบคู่กับการขยายขนาดการผลิตเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (economies of scale) นั่นหมายความว่า ต้องมีการลงทุนที่สูงมากในส่วนของทุนคงที่ (เครื่องจักร อุปกรณ์ การสร้างตัวอาคาร และการซื้อวัตถุดิบ) สิ่งที่ตามมาก็คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า จึงเกิดการโยกย้ายทุน ทำให้ไม่เกิดการสร้างอาชีพในประเทศ อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเงินทุนไม่มากพอก็ต้องออกจากการแข่งขันไป  ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาทำกิจการรายใหม่ก็เข้ามาได้ยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงินที่ใช้ในการลงทุน

          รูปแบบหลักของการผูกขาด (monopoly) คือ การครอบงำของบริษัทผูกขาดเหนือการครอบครองส่วนแบ่งตลาด โดยการครอบงำส่วนแบ่งตลาดในสายการผลิตนั้น ๆ มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสร้างการควบคุมและการครอบงำ ให้ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ได้รับกำไรที่สูงกว่าผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก และขนาดกลาง จากความสามารถของบริษัทผูกขาดต่อการขายสินค้าและบริการ ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตและซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดเล็กในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด

          ภายใต้บริบทนี้ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างนายทุนผูกขาดกับรัฐในลักษณะที่รัฐยอมเชื่อฟังบริษัทผูกขาด (the submission of the state to monopolies) ผ่านการเชื่อมโยงบุคคล (personal links) ระหว่างบุคคลที่อยู่ในระดับสูงของรัฐและบุคคลที่เป็นหัวหน้าในบริษัทผูกขาดที่มีขนาดใหญ่

          ระบบสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม เน้นที่ทุกคนมีเสรีภาพในการทำอาชีพ และได้ผลประโยชน์จากงานของตน รัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผ่านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนมีเศรษฐานะตามแต่ศักยภาพของตน ทั้งนี้ ประชาชนเสียภาษีแก่รัฐ และรัฐนำภาษีมาจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประเทศ จึงเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ แต่การกระจายความเจริญก็จัดสรรไปตามจำนวนผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดสังคมเมืองและสังคมชนบท และพื้นที่ชายขอบ จะเห็นได้ว่า สังคมเช่นนี้จึงเป็นสังคมที่ไม่เน้น “การแบ่งปัน” ผู้คนในสังคมมีทัศนะแบบแยกส่วน ขับเคลื่อนด้วยอำนาจและผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยม นำไปสู่ปัญหาสังคมต่าง ๆ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นหรือส่งเสริมการมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการแบ่งปันในระดับสังคมอีกครั้ง

 

ข. วิเคราะห์เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างของ “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

          “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” เน้นการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ไม่เน้นการแบ่งปันเพื่อให้ได้ความสุขอันเกิดจากการพึ่งพาตนเองได้ แต่ต้องการคนในสังคมต้องพึ่งพาระบบนายทุน อยู่ในกฎระเบียบหรือกติกาที่นายทุนวางเอาไว้ ใครปฏิบัติถูกต้องก็ได้รางวัลเป็นแรงจูงใจ เช่น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการพิเศษ ตำแหน่ง เกียรติยศ เป็นต้น ใครปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจถูกลงโทษหรือลดโอกาสเป็นไปตามที่ระบบได้ตั้งเอาไว้ เช่น ถูกตัดเงินเดือน ถูกโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานที่ต่ำลงไป ไม่ได้รับเงินโบนัสพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจด้านลบเพื่อให้คนทำงานตามระบบของนายทุน

          ตามปกติในระบบทุนนิยมนั้นใครจะทำอะไรก็ได้หากเกิดผลประโยชน์แก่ตนและเมื่อผลประโยชน์นั้นโดยภาพรวมเป็นความมั่งคั่งของรัฐในรูปแบบของความมั่งคั่งหรือความเจริญด้านวัตถุ ในขณะที่ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้ความสำคัญต่อความมั่งคั่งจากภายใน คือ มั่งคั่งด้วยสติปัญญาและคุณธรรม อันเกิดจากการสั่งสมบารมีธรรม ได้แก่ ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ความซื่อสัตย์สุจริต อดทน ความเพียร มีสติปัญญา และแบ่งปัน ส่วนความมั่งคั่งภายนอกเป็นผลพลอยได้อันเกิดจากการสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีความพอมีพอกิน หรือความกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพื้นฐาน ส่วนคุณภาพทางวัตถุนั้นเป็นไปเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การผลิตในระบบทุนนิยมขึ้นกับตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันกันผลิตเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด การลดต้นทุนนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดเป็นปัญหาในภาพรวมของโลกในปัจจุบัน

          “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” มีลักษณะแข่งขัน แบ่งแยก ส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ส่งเสริมการสะสมทุน และแสวงหากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย ในขณะที่ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นความร่วมมือ ความรู้รักสามัคคีของประชาชนเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อสำรอง และเพื่อแบ่งปัน เน้นความสุขเป็นกำไร เน้นความพอเพียงเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้สมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

          ในเชิงจิตวิทยา ทุนนิยมส่งเสริมให้คนเกิดความอยาก ความคาดหวัง ความอยากมีอยากเป็น หรือกระตุ้นให้เกิดตัณหา เกิดความโลภในทุกรูปแบบเพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อขายผ่านการโฆษณา สื่อในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมให้คนในสังคมมีสติสัมปชัญญะหรือมีสติปัญญา รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกตามความเป็นจริง คือ สามารถแยกความจริงออกจากสิ่งลวงได้ มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งภายนอกและภายใน เน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและทรัพยากร เน้นความพร้อมในการพออยู่พอกินเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้คนมีความโลภน้อยลง เพราะยิ่งมีความโลภน้อยก็ยิ่งเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้น้อยลงตามลำดับ มีการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท อยู่บนพื้นฐานของความรักความเมตตา 

          แม้ว่าระบบทุนนิยมจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้คนในสังคมมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามความสามารถและโอกาสของตนโดยอาศัยตลาดและราคาในการเลือก โดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมีบทบาทเกี่ยวข้องน้อยมาก โดยถือว่าความก้าวหน้าอยู่ที่ศักยภาพของแต่ละบุคคล แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากความสามารถและโอกาสพื้นฐานของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ทำให้เกิดเป็นชนชั้นที่บุคคลระดับรายได้แตกต่างกัน นำไปสู่ปัญหาการมีคนรวยและคนจน แม้จะเกิดชนชั้นกลาง แต่การกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นก็ยังทำให้เกิดภาพรวม คือ เป็นลักษณะรวยกระจุกจนกระจาย และคนรวยยิ่งรวยขึ้นไปเรื่อย ๆ คนจนจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะแข่งขันที่สูง ทำให้เกิดการใช้กฎแห่งป่า และปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยิ่งไปกว่านั้น ระบบทุนนิยมยังขยายตัวไปสู่ ภาวะทุนนิยมผูกขาดครอบครองอำนาจรัฐ (state monopoly capitalism) เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงระหว่างระบบทุนและรัฐที่นายทุนผูกขาดเข้ามาครอบครองอำนาจรัฐและใช้อำนาจและกลไกรัฐในการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ของรัฐ สาระสำคัญก็คือ การหลอมรวม (fusion) พลังการผูกขาดของนายทุนผูกขาดเข้ากับรัฐเพื่อสร้างกลไกหนึ่งเดียวในการขูดรีดทางเศรษฐกิจและการครอบงำทางการเมือง  เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของนายทุนผูกขาดและรักษาระบบทุนนิยมทั้งระบบ ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเน้นสังคมแห่งการแบ่งปันเพื่อการผลิตอาหารและสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการกินดีอยู่ดีเป็นพื้นฐาน เช่น การผลิตแหล่งอาหารที่ปราศจากอันตรายจากสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถรวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์เพื่อให้เกิดกองทุนสำหรับนำไปซื้อทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างคน สร้างงานหรืออาชีพ โดยไม่ถูกนายทุนบีบคั้นในเรื่องของปริมาณของราคาที่ต่ำจนเกินไปนัก เพราะเป็นระบบที่เน้นความร่วมมือ หรือความรู้รักสามัคคี เพื่อสร้างพื้นที่ของโอกาสในการพึ่งพาตนเองให้พออยู่พอกิน มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีโอกาสสร้างฐานะให้ดีขึ้น และเมื่อมีสำรองพร้อมที่จะแบ่งปันก็สามารถแบ่งปันหรือร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายสังคมแห่งการแบ่งปันในส่วนที่ตนสามารถแบ่งปันได้โดยไม่สร้างความเบียดเบียนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น แบ่งปันความรู้ แบ่งปันทักษะความสามารถ แบ่งปันแรงงาน แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันเครื่องมือ แบ่งปันรอยยิ้มและกำลังใจ เป็นต้น   ซึ่งเป็นการแบ่งปันที่เกิดจากใจที่รู้จักพอ เป็นการให้ด้วยใจไม่ใช่การถูกบังคับด้วยหน้าที่หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ หรือที่ปัจจุบัน เรียกว่า จิตอาสา นั่นเอง

          นอกจากนี้ สังคมแบบไม่แบ่งปันในระบบทุนนิยม กับสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่างมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการให้แก่สังคม อย่างเช่น ในระบบทุนนิยมมีการทำ CSR (corporate social responsibility) ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมหรือรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การบริจาคสิ่งของ การปลูกป่า เป็นต้น ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็มีการให้เพื่อให้สังคมมีความสุข เช่น การทำตู้ปันสุขในช่วงโควิด การบริจาคทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีหรือมีความประพฤติดี เป็นต้น การให้เพื่อสังคมในระบบทุนนิยมเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่สร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดจากการตระหนักเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมสามารถพึ่งพาตนเองได้ และขาดการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะธุรกิจในระบบทุนนิยมจะเน้นการสร้างกำไรสูงสุด ยิ่งต้องการกำไรมาก ก็ยิ่งเบียดเบียนมาก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นจำนวนมาก ความมั่งคั่งในธุรกิจที่ยั่งยืนที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งทางทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล นอกเสียจากธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการแบ่งผลกำไรให้พออยู่ได้ เพื่อนำกำไรอีกส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือสังคมอย่างมีสติปัญญา คือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด มีการแบ่งสันปันส่วนที่พอเหมาะพอดี เพื่อสร้างความร่วมมือหรือความรู้รักสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความสุขอันเกิดจากใจที่รู้จักพอ

          ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบการแบ่งปันของ “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พบว่า มีทั้งส่วนของความคล้ายคลึงและความแตกต่างดังต่อไปนี้

 

ตาราง : เปรียบเทียบความคล้ายคลึงและแตกต่างในเรื่องการแบ่งปันของ “สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยม” กับ “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ความคล้ายคลึง ความแตกต่าง
สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยมกับสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการให้สิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกที่จะประกอบอาชีพที่สุจริต ถูกกฎหมาย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านความรู้ ทัศนคติ ความคิด ทักษะ ความสามารถเพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนางานเพื่อให้ประสบผลสำเร็จดังที่ได้ตั้งใจไว้ เป็นระบบที่ส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีอาชีพ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติในสังคม แม้ว่าสังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยมจะเน้นการให้อาชีพ หรือการสร้างงานให้กับคนในสังคม แต่การให้ดังกล่าวไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้คนทำงานสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบของนายทุน และนายทุนเองก็อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านความรู้ ทัศนคติ ความคิด ทักษะ ความสามารถจึงเป็นไปเพื่อการรับใช้ระบบทุน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็เป็นความสำเร็จที่อิงทุนหรือวัตถุเป็นสำคัญ ทำให้เกิดการสร้างค่านิยมรูปแบบความสำเร็จเชิงวัตถุนิยม เช่น คนที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต คือ คนที่ร่ำรวย มีบ้านหรือมีคอนโดหรูหรา มีรถยนต์ราคาแพง เป็นต้น ในขณะที่ สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการสร้างอาชีพบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง แม้ว่าจะอยู่ในระบบทุนนิยม แต่เมื่อนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข การพัฒนาตนเองทั้งทางด้านความรู้ ทัศนคติ ความคิด ทักษะ ความสามารถจะมีทิศทางเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างค่านิยมที่ประกอบด้วยสติปัญญา เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ปลอดภัย มากกว่าจะรับประทานอาหารที่โก้หรู ราคาแพง แต่ไร้ซึ่งคุณประโยชน์ด้านโภชนา เป็นต้น ส่วนค่านิยมด้านเกียรติและศักดิ์ศรีนั้นเกิดจากความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้และรู้จักแบ่งปันให้กับสังคมส่วนรวม ดังนั้น ไม่มีอาชีพใดที่ต้อยต่ำ เว้นเสียว่าทัศนคติเหล่านั้นเป็นทัศนคติที่ต้อยต่ำ ค่าของคนหรือความสำเร็จไม่ได้วัดที่ผลของงานหรือความสำเร็จด้านผลประโยชน์เสมอไป ความสำเร็จตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือ ความสุข เป็นสุขอันเกิดจากใจที่รู้จักพอ เป็นความพอดีในชีวิต ซึ่งความพอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงยากที่จะตัดสินชี้ขาดได้ว่าใครสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ที่สำคัญ ขอให้อย่าเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงก็เพียงพอแล้วในขั้นพื้นฐาน
สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยมกับสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่างมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการให้แก่สังคม อย่างเช่น ในระบบทุนนิยมมีการทำ CSR ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมหรือรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การบริจาคสิ่งของ การปลูกป่า เป็นต้น ในขณะที่สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็มีการให้เพื่อให้สังคมมีความสุข เช่น การทำตู้ปันสุขในช่วงโควิด การบริจาคทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีหรือมีความประพฤติดี เป็นต้น  การให้เพื่อสังคมในระบบทุนนิยมเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่สร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรธุรกิจให้เป็นไปตามกฎระเบียบเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดจากการตระหนักเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมสามารถพึ่งพาตนเองได้ และขาดการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะธุรกิจในระบบทุนนิยมจะเน้นการสร้างกำไรสูงสุด ยิ่งต้องการกำไรมากก็ยิ่งเบียดเบียนมาก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นจำนวนมาก ความมั่งคั่งในธุรกิจที่ยั่งยืนที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งทางทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล นอกเสียจากธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการแบ่งผลกำไรให้พออยู่ได้ เพื่อนำกำไรอีกส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือสังคมอย่างมีสติปัญญา คือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด มีการแบ่งสันปันส่วนที่พอเหมาะพอดี เพื่อสร้างความร่วมมือหรือความรู้รักสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความสุขอันเกิดจากใจที่รู้จักพอ

 

          แม้ว่า สังคมไม่เน้นการแบ่งปันภายใต้ระบบทุนนิยมจะมีจุดแข็งในเรื่องของความคล่องตัวในการปรับตัวของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้มาก สร้างแรงจูงใจให้ทางเอกชนทำงานอย่างเต็มที่หากต้องการมีรายได้เพิ่ม ให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพได้ตามต้องการ แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นก็คือ ความไม่แน่นอนของทรัพยากรที่มีความผันผวน ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างใจคิดเสมอไป ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนรอนมากกว่าก็มีอำนาจต่อรองสูงกว่าในด้านการแสวงหาปัจจัยการผลิตและการขยายผลิตผลสำเร็จรูป ก่อให้เกิดระบบผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่คนส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากรอาจไม่สมดุล ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากความสามารถในการผลิต แหล่งทุน และเทคนิคใหม่ ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นพื้นฐาน ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ ทำให้การหารายได้ไม่เท่ากัน เกิดความไม่เสมอภาค เพราะระบบนี้ยอมให้มีการเป็นเจ้าของและการสืบทอดทรัพย์สมบัติ ผู้ที่มีอยู่แล้วก็มั่งมียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ที่ยากจนก็ยิ่งยากจนลง การพัฒนาส่วนใหญ่ในประเทศเสรีจะเน้นทางด้านวัตถุนิยมมากกว่าศีลธรรมของประชาชน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ประเทศก้าวหน้าและประชาชนได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่อาจรุนแรงและก่อความไม่สงบสุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น เรื่องโจรผู้ร้าย การยอมขายตัวหรือขายยาเสพติดเพื่อเอาเงินไปซื้อวัตถุที่ต้องการ การข่มเหงรังแก การคดโกงซึ่งกันและกันเพื่อชัยชนะและความได้เปรียบ การพัฒนาทางทำให้เจริญในทางวัตถุ แต่ไม่ได้พัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นสังคมที่มีโอกาสปล่อยปละละทิ้งกลุ่มคนเปราะบาง คนพิการ คนด้อยโอกาส ให้อยู่ข้างหลัง จนกลายเป็นปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในปัจจุบัน สภาพคล่องเศรษฐกิจลดลงไปมาก กลุ่มคนเปราะบาง คนพิการ คนด้อยโอกาส หลายคนใช้ชีวิตลำบากมากกว่าคนทั่วไป หากมีการนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันทั้งในทิศทางจากบนลงล่าง คือ เครือข่ายใดที่มีความเข้มแข็งก็ให้ความช่วยเหลือเครือข่ายที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยประสานการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างสมดุลหรือเติมส่วนที่ขาดแคลนของระบบทุนนิยมดังกล่าว หากแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้ ผลดีจะเกิดขึ้นกับรัฐ เพราะเมื่อประชาชนกินดีอยู่ดี มีรายได้มากขึ้น รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก และภาษีที่เก็บมาก็นำพัฒนาประเทศชาติและส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการที่ดีขึ้นแก่คนส่วนรวม สมดังพระราชดำรัสที่ว่า 

          “...จะเห็นว่าถ้าราษฎรอยู่ดีกินดี มีรายได้ รัฐบาลเก็บภาษีได้สะดวก ไม่มีการหนีภาษี เพราะเมื่อมีรายได้ดีขึ้น เขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

 

          ความกินดีอยู่ดี (well-being) หรือความอยู่ดีมีสุขนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (๒๕๔๙) ได้อธิบายถึง องค์ประกอบของความอยู่ดีมีสุขตามกรอบแนวคิดของศาสตราจารย์นานัค คัควานี ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของการดำรงชีวิตที่เชื่อมโยมกันอย่างเป็นองค์รวม โดยจำแนกออกเป็น ๗ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านสุขภาพอนามัย ๒) ด้านความรู้ ๓) ด้านชีวิตการทำงาน ๔) รายได้และการกระจายรายได้ ๕) ชีวิตครอบครัว ๖) สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต ๗) การบริหารจัดการที่ดีของรัฐ 

          ปัจจุบันในสังคมไทยถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม (mixed economy) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบันก็เป็นระบบนี้ เพียงแต่ต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ เศรษฐกิจไทยเป็นระบบที่ยอมรับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ภาคเอกชนสามารถประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยเสรี มีการแข่งขันที่ค่อนข้างเสรี หน่วยธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เป็นหน่วยธุรกิจของภาคเอกชน ส่วนหน่วยธุรกิจที่เป็นของรัฐก็มีอยู่บ้าง เช่น รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคและสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่ค่อนข้างไปทางทุนนิยม เพราะรัฐได้ลดบทบาทในกิจกรรมการผลิตลงมาก เช่น ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ให้สัมปทานเอกชนลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคบางอย่าง เช่น โทรศัพท์ รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะให้เสรีภาพแก่เอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ  โดยผ่านระบบกลไกราคา แต่บางครั้งก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมกับประชาชนบางกลุ่ม เช่นนั้นรัฐก็จะเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ เช่น ทำการประกันราคาพืชผลเกษตรกรรม การควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค จึงถือว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจเป็นแบบผสมในปัจจุบัน (คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๘)

          หากประเทศไทยมีการขับเคลื่อนสังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มที่ ก็เชื่อว่าจะสามารถปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมของไทยดีขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยความจริงใจของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกอาชีพ ทุกช่วงวัย ที่อยากจะเห็นสังคมไทยมีความสุขที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๒๖ - ๑๓๓.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท