หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็นทั้งส่วนของหลักการและส่วนของปรัชญา และหลักการทรงงาน เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นหลักการนั้น มีหน้าที่ในการปรับสมดุลให้เกิดการดำเนินงานเป็นไปตามความพอเหมาะ พอดี ดำเนินบนทางสายกลาง กล่าวคือ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ประการหนึ่ง และช่วงสงเคราะห์เกื้อกูลส่วนรวมอีกประการหนึ่ง มีความรู้คู่คุณธรรม มีความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และมีภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข

          ในด้านขับเคลื่อนงานเพื่อการพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางานให้บรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการทรงงานข้ออื่น ๆ เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน (driver) ประสานเชื่อมโยง บูรณาการอย่างเป็นองค์รวม

          หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ ประกอบด้วย 

๑) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ๒) ระเบิดจากข้างใน
๓) แก้ปัญหาที่จุดเล็ก ๔) ทำตามลำดับขั้น
๕) ภูมิสังคม ๖) องค์รวม
๗) ไม่ยึดติดตำรา ๘) ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด 
๙) ทำให้ง่าย ๑๐) ความร่วมมือ
๑๑) ประโยชน์ส่วนรวม ๑๒) บริการรวมที่จุดเดียว
๑๓) ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ๑๔) ใช้อธรรมปราบอธรรม
๑๕) ปลูกป่าในใจคน ๑๖) ขาดทุนคือกำไร
๑๗) การพึ่งตนเอง ๑๘) พออยู่พอกิน
๑๙) เศรษฐกิจพอเพียง ๒๐) ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
๒๑) ทำงานอย่างมีความสุข ๒๒) ความเพียร 
๒๓) รู้ รัก สามัคคี  

 

                เมื่อมองหลักการทรงงานผ่านวิธีคิดเชิงระบบ อันประกอบด้วยส่วนที่เป็นโครงสร้าง (structure) ส่วนที่เป็นรูปแบบ (pattern) และส่วนที่เป็นโครงการหรือกิจกรรม (event) แสดงเป็นแผนภาพโครงสร้างตามหลักวิชาการได้ดังนี้

แผนภาพ : มองหลักการทรงงานผ่านวิธีคิดเชิงระบบ ได้แก่ ส่วนที่เป็นโครงสร้าง (structure) ส่วนที่เป็นรูปแบบ (pattern) และส่วนที่เป็นโครงการหรือกิจกรรม (event)

 

          จากแผนภาพ แสดงให้เห็นถึงระบบคิดเชิงวิชาการที่ว่า หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อนั้นวางอยู่บนรากฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจัดเป็นปรัชญาจริยะ เพราะเป็นปรัชญาที่นำไปสู่ความสุขที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน หลักการเหล่านี้นอกจากจะมีปรากฏในพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทแล้ว ยังปรากฏผลให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปแบบของโครงการต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๔,๘๗๗ โครงการ 

          หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีทั้งส่วนของการวางใจ (เจตนา/เป้าหมาย) ส่วนของวิธีคิด และส่วนของการปฏิบัติ นำไปสู่การบริหารตน บริหารคน และบริหารงานอย่างมีคุณภาพ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้องในการทำงาน เสริมสร้างศักยภาพให้เป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยสติปัญญา โดยทาง สำนักงาน กปร. ได้มีการรวบรวมและอธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการทรงงานทั้ง ๒๓ ข้อไว้ ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ๒๕๖๐)

          ๑) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ 

          ก่อนที่พระองค์ท่านจะทรงดำเนินการโครงการพระราชดำริโครงการใดก็ตาม พระองค์จะทรงศึกษาหาความรู้และทรงค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างละเอียด พร้อมกันนั้นยังเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ทรงงานเพื่อทำการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการจากหน้างาน และทรงพบปะประชาชนในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริง อันจะนำมาซึ่งการเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ สามารถตัดสินใจและวางแผนการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจึงพระราชทานหลักการและนโยบายในการปฏิบัติงานนั้นลงไปสู่ผู้ปฏิบัติงาน 

          ๒) ระเบิดจากข้างใน 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาคนก่อนจะทำอย่างอื่นเพื่อให้ได้ทีมงานที่ดีมีคุณภาพ พร้อมที่จะรับการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต่อไป โดยพระองค์ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” ซึ่งหมายความว่า หากท่านจะทำงานอะไรก็ตาม ท่านต้องพัฒนาบุคลากรของท่านเองก่อน โดยให้บุคลากรของท่านมีความพร้อม เชื่อมั่นและศรัทธา รวมทั้งมีความเข้มแข็งเสียก่อน เมื่อ “ข้างใน” ของแต่ละคนในทีมมีความพร้อม จากนั้นจึงมาสร้างทีมให้เป็นทีมที่มีความเข้มแข็ง เมื่อคนพร้อม ทีมพร้อม ต่อมาท่านก็พัฒนาโดยใส่เครื่องมือและวิธีการที่ท่านมีและต้องการลงไป

          ๓) แก้ปัญหาที่จุดเล็ก 

          พระองค์ทรงใช้หลักการในการที่พระองค์จะทรงมองปัญหาใหญ่ในภาพรวม (macro) ให้ชัดเจนก่อนเสมอ เพราะพระองค์จะต้องมีข้อมูลเพื่อทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมใหญ่ รวมทั้งเห็นถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะมีหรือเกิดขึ้นตามมาจากการแก้ปัญหา แต่เมื่อจะลงมือแก้ปัญหา พระองค์จะทรงเริ่มต้นด้วยการแก้ไขปัญหาในจุดเล็ก ๆ (micro) ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่คนอื่นมักมองข้ามก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงค่อย ๆ ขยับขยายแก้ไปเรื่อย ๆ ทีละจุด เพราะคนทั่วไป (ข้าราชการ)มักชอบมองและทำอะไรใหญ่ ๆ ก่อนเลยทีเดียว แต่การทำใหญ่ก่อนมักทำไม่สำเร็จและเสียค่าใช้จ่ายเยอะ อีกทั้งเมื่อทำไม่สำเร็จก็หยุดทำ ความเสียหายมากมายก็เกิดตามมา ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ ต่างกับการทรงงานของพระองค์ท่านที่เมื่อพระองค์ทรงเข้าไปดำเนินการก็แก้ได้ตรงจุดเสมอ อย่างรวดเร็วและทันเวลา มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ได้ผลสำเร็จสูง ทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขให้ผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ จนกระทั่งเกิดการแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น 

          ๔) ทำตามลำดับขั้น 

          พระองค์ท่านทรงใช้หลักการทรงงาน ในข้อนี้ด้วยการเริ่มต้นทำในสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับประชาชนก่อน เมื่อสำเร็จแล้วก็เริ่มลงมือสิ่งที่จำเป็นรองลงมาลำดับต่อไป (โดยพิจารณาความจำเป็นจากการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์) เช่น การพัฒนาและการดูแลในเรื่องสาธารณสุข เพราะเมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง ก็จะสามารถทำการพัฒนาในเรื่องอื่น ๆ ได้สำเร็จต่อไป ตัวอย่างเช่น การสร้างถนน การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้ทำการเกษตรและการบริโภคในหน้าแล้ง เมื่อมีถนนที่ดี พอผลผลิตในการเพาะปลูกออกมา ประชาชนก็สามารถนำผลผลิตใส่รถเพื่อเดินทางไปจำหน่ายได้ ทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ดีขึ้นตามรายได้ เมื่อความเป็นอยู่ดี ประชาชนก็ไม่เข้าไปบุกรุกแผ้วถางป่าหรือทำลายธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเพาะปลูกก็สัมฤทธิ์ผล ต่อมาก็มีการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ประชาชนมีการจัดทำการเกษตรแบบผสมผสาน (ทฤษฎีใหม่) ได้ผลสำเร็จ ความเป็นอยู่ของประชาชนก็เจริญและมั่นคงขึ้นตามไป จนทำให้เกษตรกรทุกครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขกันตลอดไป

          ๕) ภูมิสังคม 

          ก่อนจะทำการพัฒนาเรื่องใดในองค์การหรือหน่วยงาน ท่านต้องคำนึงถึงภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ของพื้นที่ที่ท่านจะทำการพัฒนาก่อน โดยต้องทำการศึกษาลงไปในรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงหลักการทางสังคมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอุปนิสัยของคนหรือพนักงาน/ลูกค้าว่ามีอุปนิสัยเป็นเช่นไร วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมที่มีอยู่เดิมของบุคคลในแต่ละกลุ่มในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง และในแต่ละพื้นที่ที่จะทำการพัฒนานั้นมีความเหมือน คล้ายคลึง หรือแตกต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นจึงนำทั้งข้อดีและข้อเสียของข้อมูลที่ได้มาจากสภาพโดยรอบมาทำการวิเคราะห์/สังเคราะห์ แยกแยะเอาสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีออกมา เพื่อนำหลักการและวิธีการใหม่ที่ดีเข้าไปพัฒนาและแก้ไขปรับปรุง

          ๖) องค์รวม 

          ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะทรงจัดทำโครงการใด ๆ พระองค์จะทรงมองภาพโครงการของพระองค์แบบองค์รวมอย่างรอบด้านว่า โครงการของพระองค์มีความเกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกับอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำโครงการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ที่พระองค์ทรงมองภาพในองค์รวมว่าประชาชนของพระองค์ถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐-๑๕ ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งการบริหารจัดการที่ดินเหล่านั้นจะต้องมีแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการทำการเกษตร หากในที่ดินไม่มีแหล่งน้ำก็จะไม่สามารถทำประโยชน์ทางการเกษตรได้เต็มที่ ดังนั้น เมื่อประชาชนของพระองค์มีที่ดินแล้ว พระองค์จึงจำเป็นต้องสร้างหรือจัดทำแหล่งน้ำในที่ดินเหล่านั้นขึ้นมาด้วย เพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ จึงเห็นได้ว่าในทุกโครงการของพระองค์จะมีการสำรวจและจัดทำแหล่งน้ำควบคู่กันไปด้วยเสมอ ทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ (ที่ต้องเข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำ) และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเองในที่ดิน (ไร่นาสวนผสม) เมื่อที่ดินมีแหล่งน้ำ การทำการเกษตรก็จะได้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร หลังจากนั้น เมื่อเกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตแล้ว เกษตรกรก็จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการตลาดและการจัดการการผลิตของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างรายได้และพัฒนารายได้ให้เพิ่มมากขึ้นในแบบยั่งยืน รวมถึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องอำนาจการต่อรองทางการตลาด เพื่อที่จะทำให้มีอำนาจในการควบคุม และต่อรองตลาดของตนเองได้อีกด้วย จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกษตรกรเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่าง ๆ จนกลายมาเป็น “สหกรณ์การเกษตร” ซึ่งช่วยสร้างพลังอำนาจให้แก่เกษตรกรในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและต่อสู้กับกลไกตลาดตามหลักการดำเนินธุรกิจ

          ๗) ไม่ยึดติดตำรา 

          หลักการทรงงานข้อที่ ๗ นี้หมายความว่า ในการดำเนินงานทุกโครงการพระราชดำริของพระองค์ พระองค์จะทรงอนุโลมตามปัจจัยสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติในแต่ละแห่งที่พระองค์ทรงทำโครงการ ทรงออมชอมกับธรรมชาติตามสภาพที่โครงการสามารถดำเนินงานอยู่ได้ โดยไม่ทรงยึดติดในหลักการหรือทฤษฎีจากตำราทางวิชาการมากจนเกินไป แต่ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่หน้างาน และปรับไปตามปัญหาที่ทรงพบระหว่างดำเนินงาน เพื่อให้โครงการพระราชดำริของพระองค์ประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์สูงสุด ได้รับการยอมรับจากชุมชนและสามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยชุมชนเอง ตามความเหมาะสมบนพื้นฐานปัจจัยของทรัพยากรต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ในพื้นที่นั้น และตามวิถีชีวิตของประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนั้น

          ๘) ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด 

          หลักการทรงงานข้อนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทำให้ประชาชนของพระองค์ดูเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องยาสีพระทนต์ของพระองค์ที่ทรงใช้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนเรื่องฉลองพระองค์และของใช้ส่วนพระองค์ต่าง ๆ ที่พระองค์จะทรงใช้งานจนคุ้มค่าที่สุด ด้วยความประหยัด เรียบง่าย ทั้งนี้ในการทำโครงการพระราชดำริของพระองค์หรือการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของประชาชน ทรงนำหลักการ “ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด” เข้ามาใช้ ด้วยการจัดหาวัสดุ สิ่งของ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นของภูมิภาคนั้นมาประยุกต์ใช้ โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือต้องไปซื้อหามาจากต่างประเทศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีก็จะไม่ทรงเลือกใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่จะทรงเลือกใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย สะดวก เหมาะสมกับการนำมาใช้งานในท้องถิ่นนั้น ๆ 

          ๙) ทำให้ง่าย 

            จากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงทำการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาประเทศด้วยโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาปากท้องของประชาชนในถิ่นทุรกันดารนั้น พระองค์จะทรงดำเนินการในรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศที่มีอยู่

          ๑๐) ความร่วมมือ 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย โดยพระองค์จะทรงนำหลักการ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหารงาน/บริหารโครงการของพระองค์เสมอ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ และสาธารณชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการขับเคลื่อนแต่ละโครงการ ซึ่งพระองค์จะทรงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและความต้องการของสาธารณชน ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ของพระองค์ ล้วนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและตอบโจทย์ของปัญหาที่ทำให้ประชาชนของพระองค์ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุดและตรงความต้องการอยู่เสมอ

          ๑๑) ประโยชน์ส่วนรวม 

          การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในแต่ละครั้งและการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ความช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความยากลำบากและเดือดร้อนนั้น พระองค์จะทรงคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ในการทรงงานแต่ละครั้งพระองค์จะทรงพิจารณาและเลือกการปฏิบัติภารกิจในการแปรพระราชฐานในแต่ละครั้ง แต่ละปี เพื่อทรงเยี่ยมเยือนราษฎร พร้อมทั้งบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้การช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความยากจน ความยากลำบากในการประกอบอาชีพของประชาชนของพระองค์ให้มีการอยู่ดีกินดี โดยการจัดทำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งล้วนจัดทำเพื่อยังประโยชน์และแก้ไขปัญหาของส่วนรวมแบบยั่งยืนตลอดไป

          ๑๒) บริการรวมที่จุดเดียว 

          บริการรวมที่จุดเดียว หรือ One Stop Service คือการรวมบริการมาไว้ที่จุดเดียวเป็นรูปแบบเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในระบบการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นต้นแบบในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวเพื่อประโยชน์ของราษฎร เมื่อมาขอใช้บริการจากภาครัฐในเรื่องต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการเรียบร้อยได้เสร็จสิ้นในที่เดียว ซึ่งเป็นการประหยัดเงิน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของทั้งประชาชนและหน่วยงานของรัฐในการทำงาน ทำให้มีการประสานงานกันได้อย่างรวดเร็ว ภารกิจและการดูแลช่วยเหลือประชาชนก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็วทันเวลานั่นเอง

          ๑๓) ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ 

          การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความเข้าใจธรรมชาติ ในส่วนนี้พระองค์จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์ มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยเช่นกัน เพราะหากประชาชนมีความเข้าใจธรรมชาติและมองธรรมชาติได้อย่างละเอียดแล้ว จะทำให้สามารถนำธรรมชาติมาใช้แก้ไขปัญหาจากธรรมชาติด้วยกันได้ เช่น ในการแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูธรรมชาติกันเอง เช่น โครงการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง เป็นต้น 

          ๑๔) ใช้อธรรมปราบอธรรม 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มาเป็นหลักการและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบสภาวะปกติ เช่น โครงการนำน้ำดีมาขับไล่น้ำเสียหรือมาเจือจางน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำดีตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ และการบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวาซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้มาดูดซึมซับสิ่งสกปรกและปนเปื้อนในน้ำออกไป ตามพระราชดำรัสที่ว่า ใช้อธรรมปราบอธรรม 

          ๑๕) ปลูกป่าในใจคน 

          เป็นการทำการปลูกป่าลงบนผืนแผ่นดินด้วยความต้องการของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า ไม่สิ้นเปลือง เพราะในอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองโดยขาดจิตสำนึกเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจนเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติขาดความสมดุลจึงทำให้เกิดอุบัติภัยต่าง ๆ ตามมา เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า ดินถล่ม เป็นต้น ในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมานั้น จะต้องมีการปลูกจิตสำนึกในการรักษ์ผืนป่าในใจคนให้ได้เสียก่อน การปลูกป่าในใจคนจึงจะเกิดขึ้นมา และทำให้มนุษย์มีความเข้าใจและความร่วมมือในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบรู้คุณค่าให้มากที่สุด

          ๑๖) ขาดทุนคือกำไร 

            หลักการนี้ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์ ด้วยการให้และการเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลที่เป็น “กำไร” คือ การอยู่ดีมีความสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนจากการที่ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

          ๑๗) การพึ่งตนเอง 

          เป็นการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาโดยตนเองก่อนในเบื้องต้นแบบการแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อให้ตนเองมีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นตอนต่อไป ก็ทำการพัฒนาให้ประชาชนมีความสามารถที่จะอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

          ๑๘) พออยู่พอกิน 

          หลักการทรงงานในข้อนี้ก็เพื่อพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายของพระองค์ประสบความสุขสมบูรณ์ในชีวิต อันเริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรของพระองค์ทุกหมู่เหล่า ในทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จนทรงเข้าพระทัยในสภาพปัญหาต่าง ๆ ของราษฎรอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นในการพัฒนาของพระองค์จะทรงมองในภาพรวมของประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีว่าไม่ใช่งานเล็กน้อย แต่เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดและกำลังของคนทั้งชาติเข้ามาดำเนินการร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการพัฒนา ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ในการทรงงาน ทำให้คนไทยทั้งหลายได้ประจักษ์แล้วว่าแนวพระราชดำริและโครงการพระราชดำรินั้น เป็นโครงการที่เรียบง่ายปฏิบัติแล้วได้ผล จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เพราะโครงการพระราชดำริจะเป็นโครงการที่ทำให้ราษฎรของพระองค์มีรายได้พออยู่พอกินบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงสืบไป

          ๑๙) เศรษฐกิจพอเพียง 

            เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังวิกฤต พระองค์ยังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ราษฎรของพระองค์สามารถรอดพ้นและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกที่เข้ามาสู่ประเทศไทย

          ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์พระราชทานไว้นั้น มีความหมายดังนี้ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อผลกระทบที่จะเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ที่ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของแผนที่วางไว้ เช่น แผนรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน แผนการทำไร่นาสวนผสม เป็นต้น 

          ๒๐) ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน 

          หลักการในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระเมตตาสั่งสอนให้ข้าราชการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ในองค์การระดับสูงให้มีความเข้าใจในเรื่องความซื่อสัตย์ เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าหากคนเราทำงานแล้วไม่มีความซื่อสัตย์จริงใจทั้งต่อตนเอง องค์การ และประเทศชาติแล้ว ความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ คงเกิดขึ้นได้ยาก สาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์การและประเทศชาติต้องประสบปัญหาในการพัฒนาไม่เจริญก้าวหน้า ก็เพราะมีการทุจริตเกิดขึ้น การทุจริตจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายล้างองค์การและประเทศชาติให้เสื่อมสลายไปได้ ดังนั้น เราท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันขจัดการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น แม้แต่ในตัวเราเองและองค์การ เมื่อไม่เกิดการทุจริตขึ้นในตัวเราเองหรือในองค์การแล้ว ประเทศชาติ ก็จะเจริญรุ่งเรืองสืบไป 

          ๒๑) ทำงานอย่างมีความสุข 

          พระองค์ทรงมีพระเกษมสำราญและทรงงานอย่างมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือประชาชน โดยพระองค์ทรงเคยรับสั่งครั้งหนึ่งว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น…”

          ๒๒) ความเพียร 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ความเพียรเป็นอย่างมากในการทำงานในโครงการพระราชดำริ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของแต่ละโครงการที่มีอุปสรรคและความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ มากมาย มีโครงการจำนวนมากที่พระองค์ต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดทำ แต่พระองค์ก็มิเคยท้อพระทัย และทรงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาเพื่อให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จ อันจะช่วยให้ราษฎรของพระองค์และบ้านเมืองบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

          ๒๓) รู้ รัก สามัคคี 

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องรู้ รัก สามัคคี ต่อข้าราชการและประชาชนของพระองค์มาโดยตลอด ซึ่งคำ ๓ คำนี้ มีค่าและมีความหมายลึกซึ้ง สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย รู้ - การที่เราท่านจะลงมือทำสิ่งใด จะต้องรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหานั้น รัก - เมื่อเรารู้ ครบด้วยกระบวนการที่เราจะทำแล้ว เราจะต้องใช้ความรักในการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติและแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ สามัคคี - การที่คนเราจะลงมือปฏิบัติงาน เราควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจกับคนอื่น เป็นองค์การหรือเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังในการช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี 

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๔๔ - ๕๓.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (๒๕๖๐). แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : หจก.อรุณการพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 710681เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท