วิธีตีความคัมภีร์ 5 แบบ


วิธีตีความคัมภีร์ 5 แบบ

 

              1. ตีความโดยพยัญชนะ (Literal Interpretation) คือ คัมภีร์ว่าอย่างไรก็เข้าใจตรงความหมายของคำอย่างนั้น เช่น “พระเจ้าสร้างโลก 6 วัน” ก็เข้าใจว่า 6 วัน วันละ 24 ชั่วโมง กลางวัน 12 ชั่วโมง กลางคืน 12 ชั่วโมง มีเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น อย่างที่ชาวคริสต์ส่วนหนึ่งเข้าใจกันทุกวันนี้ “พระอินทร์มีบริวาร 84,000” ก็เข้าใจว่ามีตามจำนวนนั้นจริง ๆ เป็นต้น การตีความเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนทรรศน์ที่ 1 ซึ่งต้องการเอาใจเบื้องบนเป็นที่ตั้ง เมื่อคิดว่าอะไรมาจากเบื้องบนก็ต้องให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ เกินไว้ดีกว่าขาด

              2. ตีความโดยสัญลักษณ์ (Symbolical Interpretation) ถือว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ต้องการจะสอนเท่านั้น ใครสามารถเข้าใจสัญลักษณ์ได้แค่ไหนก็ปฏิบัติไปตามที่เข้าใจ เช่น การที่ชาวคริสต์บางคนตีความว่า “พระเจ้าสร้างโลก 6 วัน” หมายถึงข้อความที่ว่ามนุษย์เราพึงทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันสุดสัปดาห์ต้องพักผ่อนและอุทิศให้แก่ศาสนา หรือชาวฮินดูตีความว่า ศิวลึงค์ หมายถึง พลังสร้างสรรค์ในเอกภพ หรือที่ชาวพุทธบางคนตีความว่า มาร ที่ไปขัดขวางพระพุทธเจ้าในคราวที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณนั้น หมายถึง กิเลสตัณหาในตัวมนุษย์นี่เอง เป็นต้น การตีความเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนทรรศน์ที่ 2 ของนักปราชญ์โบราณที่ค้นพบกฎเกณฑ์ แต่ไม่มีคำศัพท์จะแสดงออกได้อย่างน่าพอใจ จึงใช้สัญลักษณ์เข้าช่วย

              3. ตีความโดยอรรถ (Idiomatic Interpretation) คือ เข้าใจตามสำนวนภาษา เช่น “พระเจ้าสร้างโลก 6 วัน” ก็เข้าใจว่า 6 วาระ วาระหนึ่ง ๆ นานเท่าไรก็ได้ อาจจะเป็นล้าน ๆ ปีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงวันละ 24 ชั่วโมงอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป คัมภีร์ไบเบิล กล่าวว่า

              พันปีดีดัก ต่อเบื้องพระพักตร์ มิยักเยื้องนาน

              ราวกับวันวาร ผ่านปานลมกรด ไม่ปรากฏเปลี่ยนแปลง (สุดดี 90 : 4)

              “พระอินทร์มีบริวาร 84,000” ก็แปลว่า จำนวนมีมากมายเหลือเกินเท่านั้น จำนวนอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 84,000 ก็ได้ “ตลอดกาลนิรันดร” อาจจะหมายความเพียงแต่ว่าเป็นเวลานานมากเหลือเกินเท่านั้นก็ได้ “ในนิรันดรภาพ” ยังหมายถึง ภาวะนอกกาลเวลาได้ด้วย การตีความเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนทรรศน์ที่ 3 ที่มุ่งสละโลกนี้เพื่อโลกหน้าเป็นสำคัญ จึงพยายามตะล่อมทุกอย่างให้เข้าเป้า คือ พยายามให้เข้าใจโลกหน้ามากกว่ามีความแตกต่างด้านวัตถุและเวลาที่มีความแตกต่างจากโลกนี้มาก และเป็นอจินไตย

              4. ตีความตามเหตุผล (Rational Interpretation) ทุกตอนต้องถามว่า ทำไม... ทำไม... ในศาสนาคริสต์ เช่น ทำไมพระเจ้าจึงสร้างโลก ทำไมจึงใช้เวลา 6 วัน ทำไมจึงสร้างมนุษย์ให้ตกนรก ทำไมพระเจ้าไม่ให้มนุษย์สบายกว่านี้ ฯลฯ ในพุทธศาสนา เช่น ทำไมพระพุทธเจ้าสมัยครั้งประสูติกาลจึงทรงเดินได้ 7 ก้าว (เดินมากหรือน้อยก้าวกว่านั้นไม่ได้หรือ) ทำไมเวลาเดินถึงมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ (เป็นดอกไม้พันธุ์อื่นไม่ได้หรือ) เป็นต้น ยิ่งใช้เหตุผลก็ยิ่งแตกแยกจากกัน ทะเลาะกันให้เหินห่างจากเจตนารมณ์ของศาสนาเข้าทุกที การตีความเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนทรรศน์ที่ 4 ซึ่งเทิดทูนเหตุผลวิทยาศาสตร์ อะไรที่อธิบายตามวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ถือว่าไม่ได้มาตรฐานวิชาการ

              5. ตีความตามประเภทวรรณกรรม (Literary - form Interpretation) วิธีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนทรรศน์ที่ 5 คือ วิจารณญาณ โดยวิเคราะห์และประเมินค่า จึงไม่กำหนดตายตัว ต้องวิเคราะห์และประเมินค่าดูเป็นคัมภีร์ ๆ เป็นเรื่อง ๆ เป็นตอน ๆ ไป คือแล้วแต่ว่าตอนใดผู้นิพนธ์ใช้ประเภทวรรณกรรมใด ก็ให้ตีความตามประเภทของวรรณกรรมประเภทนั้น โดยพยายามเข้าถึงเจตนา สิ่งแวดล้อม สภาพจิตใจ และข้อมูลเกี่ยวข้องอื่น ๆ เท่าที่จะทราบได้หรือสันนิษฐานได้ วิธีนี้ยากและต้องค้นคว้าไปเรื่อย ๆ แต่ก็เหมาะสมสำหรับเข้าใจอย่างนักวิชาการ

              ดังนั้น เรื่องใดเป็นตำนานปรัมปราก็ต้องตีความแบบปรัมปรา เรื่องใดเป็นมหากาพย์ก็ต้องตีความแบบมหากาพย์ เรื่องใดเป็นบทประพันธ์จินตนิยมก็ต้องตีความแบบนั้น บางเรื่องอาจเป็นเรื่องพงศาวดาร เป็นจดหมายเหตุ เป็นบันทึกส่วนตัว เป็นบทเทศน์ เป็นบทสนทนา เป็นบทเรียงความ เป็นคำชี้แจงเกี่ยวกับประสบการณ์ในฌาน หรือประสบการณ์เหนือธรรมชาติ รวมเรียกว่า ประสบการณ์ทางศาสนา (religious experience) ฯลฯ บางเรื่องอาจจะมีหลายประเภทร่วมกันก็ได้ เช่น อาจจะเป็นเรื่องปรัมปรา มหากาพย์ ร้อยกรอง และจินตนาการร่วมกันในตอนเดียวกัน ก็ต้องตระหนักถึงข้อมูลต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านเท่าที่จะรู้ได้ เพื่อค้นให้ได้ความหมายตามเจตนาของผู้นิพนธ์ด้วย และถ้าเป็นคัมภีร์ที่ถือว่าพระเจ้าเป็นผู้นิพนธ์ด้วย ก็ต้องค้นต่อไปถึงเจตนาของพระเจ้า ผู้เป็นต้นเรื่องอีกต่อหนึ่ง เป็นต้น

              รวมความว่าวิธีที่ 5 นี้ ไม่ปฏิเสธวิธีใดเลยที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 4 วิธี หากแต่ต้องเลือกใช้ตามบริบทของแต่ละตอนแต่ละเรื่องเท่านั้นเอง

              เราจะพยายามเข้าใจด้วยวิธีนี้เท่าที่จะทำได้ และจะช่วยกันเข้าใจดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปด้วยเจตนารมณ์แห่งนักวิชาการ อย่างไรก็ตามสำนวนวรรณกรรมที่ตีความยากที่สุดและมีปัญหามากที่สุด เห็นจะได้แก่คำบรรยายประสบการณ์ทางศาสนา ซึ่งนักวิชาศาสนาถึงสังเกตและให้ความสนใจเป็นพิเศษ

              จากการวิเคราะห์ข้างต้นเราอาจจะประเมินค่าได้ว่า วิธีที่ 5 ส่งเสริมการสร้างสรรค์ได้กว้างขวางที่สุด เหมาะสำหรับผู้มีกระบวนทรรศน์ 5 อยู่ในใจ และอันที่จริงวิธีที่ 5 นี้ก็เกิดจากปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 5 นั่นเอง ส่วนวิธีที่ 1 ก็เป็นผลสืบเนื่องจากปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 3 และวิธีที่ 4 ก็สืบเนื่องจากกระบวนทรรศน์ที่ 4

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, ผศ. (2565). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาจริยศาสตร์ (PHE 8002). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

หมายเลขบันทึก: 710673เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 08:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท