รูปแบบการนับถือศาสนา 5 กระบวนทรรศน์


การนับถือศาสนา 5 แบบ

……………………………………………………………..

ศาสนาเป็นปรากฏการณ์ในสังคมที่นักวิชาการจะมองข้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ก็ตาม เพราะพลังแสวงหาศาสนาของมนุษย์เข้มข้นมาก หากใช้ถูกทางจะมีคุณมากมายอย่างจะหาสิ่งใดมาทดแทนให้ทัดเทียมกันไม่ได้ แต่หากให้อย่างไม่ถูกต้อง จะเกิดโทษมหันต์เช่นกัน เพราะสงครามศาสนาย่อมร้ายแรงกว่าสงครามการเมือง และสงครามเศรษฐกิจตามลำดับ สงครามระหว่างนิกายต่าง ๆ ของศาสนาเดียวกันจะร้ายแรงกว่าสงครามระหว่าง 2 ศาสนา

ปรัชญา 5 กระบวนทรรศน์ เพื่อจะวิเคราะห์รูปแบบการนับถือศาสนาให้ชัดเจน ควรทราบเป็นพื้นฐานก่อนว่า มนุษย์มีความเชื่อส่วนลึกอยู่ 5 แบบ ตามการวิเคราะห์เชิงกระบวนทรรศน์ที่จะนำมาเปรียบเทียบร่วมกับวิธีการต่าง ๆ ทางศาสนาต่อไป

              1) กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์       เชื่อน้ำพระทัยเบื้องบน

              2) กระบวนทรรศน์โบราณ             เชื่อกฎธรรมชาติ

              3) กระบวนทรรศน์ยุคกลาง           เชื่อโลกหน้า

              4) กระบวนทรรศน์นวยุค               เชื่อเหตุผลวิทยาศาสตร์

              5) กระบวนทรรศน์หลังนวยุค        เชื่อวิจารณญาณ ยึดเหนี่ยวโดยไม่ยึดติด

              ข. วิธีนับถือศาสนา 5 แบบ

              1) แบบดึกดำบรรพ์ ยึดน้ำพระทัยเบื้องบนเป็นหลักในการปฏิบัติ เพราะเชื่อว่าหากปฏิบัติถูกน้ำพระทัยของเบื้องบน เป็นที่พอพระทัยของเบื้องบน ก็จะได้ดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ใครได้ดีในโลกนี้ (ไม่ว่าจะรูปสวย รวยทรัพย์ ประดับยศ) ก็หมายความว่า เอาใจเบื้องบนได้ถูกต้อง เบื้องบนจะโปรดปรานทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงถือคติว่า “มุ่งโลกนี้ให้ดีไว้ โลกหน้าจะดีเอง”  ผู้มีความคิดแบบนี้จึงเอาใจเบื้องบนเพื่อหวังผลประโยชน์ในโลกนี้ให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่า ผู้ได้เปรียบในโลกนี้เป็นผู้เอาใจเบื้องบนได้ถูกต้อง โลกหน้าก็จะดีตามไปด้วย การนับถือศาสนาจึงอยู่ในระดับศาสนาแห่งผลประโยชน์ในโลกนี้เป็นหลัก เพราะหวังว่าประโยชน์ในโลกหน้าจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ 

              ผู้นับถือศาสนาแบบดึกดำบรรพ์จึงอาจแปรพักตร์ได้ง่าย ถ้าฝ่ายใหม่สามารถให้ผลประโยชน์มากกว่าและสามารถคุ้มครองภัยจากฝ่ายตรงข้ามได้ก็ยินดีจะเข้าร่วมด้วย และมีแนวโน้มจะนับถือเทพหลายองค์ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติหรือเป็นพวกพ้องกัน เพราะในทำนองนี้เชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าเทพเป็นอริต่อกัน ผู้นับถือก็ต้องวางตัวเป็นอริตามด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเอาใจเทพฝ่ายที่เชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์มากกว่านั่นเอง (กีรติ  บุญเจือ, 2546)

              2) แบบโบราณ ยึดเอากฎของโลกเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าความสำเร็จอยู่ที่การทำตามกฎของโลกเท่านั้น จึงต้องพยายามค้นคว้าให้รู้กฎของโลกและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่เข้าใจเหตุผล แต่ถ้าทำแล้วให้ผลก็ให้ปฏิบัติตามนั้นเถิด ในการนับถือศาสนาก็เช่นกัน เชื่อว่าเทพเจ้าทั้งหลายต้องเดินตามกฎ และช่วยมนุษย์ตามกฎของโลกและรู้มากน้อยตามระดับความยิ่งใหญ่ของเทพแต่ละองค์ เพื่อความสะดวกในการจดจำ พวกเขาจึงนิยมเรียกชื่อเทพตามพลังที่ปรากฏในธรรมชาติ เช่น สุริยเทพ วายุเทพ หรือสถานที่แสดงกฎ เช่น เทพฟ้า เทพสมุทร เทพบาดาล เป็นต้น บางกลุ่มเชื่อว่าเทพมิได้เป็นผู้สร้างโลกแต่เป็นผลผลิตของโลกเช่นเดียวกับมนุษย์ ผิดกันแต่ว่าเทพเป็นผู้รู้กฎของโลก และเนื่องจากมิใช่ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้กับโลก จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือยกเว้น กฎของโลกได้ หากเทพไม่ปฏิบัติตามกฎของโลกก็จะมีแต่เสียผลประโยชน์ของเทพเองเท่านั้น แต่ถ้าหากมนุษย์ปฏิบัติตามกฎของโลกอย่างสมบูรณ์แล้วไซร้ เทพก็ไม่อาจทัดทาน ผลที่เกิดขึ้นโดยจำเป็นนั้นได้

              บางกลุ่มเชื่อว่าพระเป็นเจ้าเป็นผู้สร้างโลก (ซึ่งควรเข้าใจว่าได้แก่ เอกภพทั้งหมด) พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างและเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ทุกอย่างให้กับโลก พระองค์จึงอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือยกเว้น ก็เฉพาะในกรณีสำคัญจริง ๆ เท่านั้น มิฉะนั้น จะไม่สมศักดิ์ศรีของพระองค์ผู้เป็นใหญ่เหนือสากลจักรวาล ในกรณีนี้ก็เช่นกัน พระเป็นเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ตามกฎเกณฑ์เป็นส่วนมาก และมนุษย์จะได้ประสิทธิผล ก็โดยปฏิบัติจามกฎบัญญัติที่พระเป็นเจ้าทรงกำหนดไว้

              ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดในสองกรณีข้างต้น การนับถือศาสนาก็ยังเป็นศาสนาแห่งผลประโยชน์เช่นเดียวกับในกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ การเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนในโลกนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการเสียผลประโยชน์ในโลกนี้เท่ากับเสียผลประโยชน์ในโลกหน้าด้วย ทุกคนต้องพยายามตะเกียกตะกายแสวงหาผลประโยชน์ในโลกนี้ไว้อย่างสูงสุด แล้วโลกหน้าจะดีเองโดยอัตโนมัติตามโลกนี้ (กีรติ  บุญเจือ, 2549)

              3) แบบยุคกลาง ยึดเอาความสุขในโลกหน้าเป็นหลัก เพราะเห็นความอนิจจังของโลกนี้ว่า แม้จะรู้กฎทุกกฎของโลกและปฏิบัติตามอย่างไม่บกพร่อง ความสุขในโลกนี้ที่ได้ก็ไม่สมบูรณ์แบบและไม่ถาวร ความสุขแท้และถาวรมีอยู่ในโลกหน้าเท่านั้น จึงต้องใช้ชีวิตอันจำกัดและสั้นในโลกนี้เพื่อแสวงหาความสุขแท้ถาวรในโลกหน้า ผู้ที่ยึดมั่นในความคิดเช่นนี้ จะพร้อมสละโลกไปบำเพ็ญพรตกันมาก พบได้ในทุกศาสนาในยุคกลาง เช่น นักบุญในศาสนาคริสต์เน้นในวินัยก็คือวิถีชีวิตที่ตรงข้ามกับชีวิตฟุ้งเฟ้อ ไม่ข้องแวะกับกามสุขในทุกรูปแบบ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ทุกอย่างเป็นของศาสนา เป็นต้น (กีรติ  บุญเจือ, 2546)

              ศาสนสถานในช่วงนี้จึงสร้างกันใหญ่โต โดยไม่หวังผลประโยชน์ในโลกนี้ แม้แต่ชื่อผู้บริจาค ก็ไม่อยากบันทึกไว้ให้รู้ เพราะกลัวจะได้ลาภยศสรรเสริญ ซึ่งเชื่อว่าบั่นทอนผลประโยชน์ในโลกหน้า ส่วนที่อยู่อาศัยของตนเองทำเพียงเล็ก ๆ พออยู่ได้ สถานบันเทิงเป็นอันงดเว้นหมด ผิดกับชาวกรีกและชาวโรมันในยุคโบราณ ซึ่งสร้างศาสนสถานไว้สักแต่เอาใจเทพ ทำอย่างไรให้เทพพอพระทัยได้อย่างที่สุดอันเป็นเพียงพอ ประหยัดได้ก็ประหยัดเพื่อเก็บไว้สร้างสิ่งเอื้อประโยชน์ในโลกนี้ พวกเขาจึงไม่ทุ่มเทถึงขนาดสละโลกออกบวชตลอดชีวิต (กีรติ  บุญเจือ, 2546) จะสร้างโบสถ์ก็สร้างพอประมาณ แต่ถ้าเป็นที่อยู่อาศัย สถานบันเทิงอย่างเช่นโรงละคร สนามกีฬา สถานอาบน้ำร้อน ฯลฯ จะทุ่มเทอย่างเต็มที่

                    ผลจากการเชื่อแบบยุคกลาง เราได้ระเบียบวิธีบำเพ็ญพรตของศาสนาต่าง ๆ อาสนวิหารในยุโรป พุทธคยาในอินเดีย บูโรโดในอินโดนีเซีย ฯลฯ (กีรติ  บุญเจือ, 2551)

              4) แบบนวยุค ยึดวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพราะเชื่อว่าโลกมีกฎเกณฑ์ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นทางพบกฎของโลก จึงเกิดการสนับสนุนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ โดยหวังว่าวิทยาศาสตร์จะแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ (John Stuart Mill, 1967) 

              ในทางศาสนา มีบางคนใช้เหตุผลวิทยาศาสตร์เพื่อวิจารณ์ศาสนาว่างมงายไร้สาระ ทำให้เสียเวลาพัฒนาวิทยาศาสตร์ บางคนที่หัวรุนแรงอาจวางนโยบายทำลายความเชื่อและความหวังความสุขในโลกหน้าทุกรูปแบบด้วย (W.T. Jones, 1969) แต่ก็มีบางคนที่ทนไม่ไหว เลยใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ คือ มุ่งใช้เหตุผลพิสูจน์ว่าคำสอนของศาสนาทุกข้อมีเหตุผล ผลก็คือ การแตกแยกกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้เอาจริงเอาจังกับวิธีการนี้ในศาสนา ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างนักการศาสนาที่นับถือศาสนาต่างกัน ระหว่างผู้นับถือศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายกัน และระหว่างผู้นับถือนิกายเดียวกันแต่ต่างสำนักกันและแตกแยกแม้กระทั่งในสำนักเดียวกัน แต่ต่างทฤษฎีกัน เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าเหตุผลของตนถูกต้อง ใครคิดเห็นแบบอื่นก็ประณามว่าไร้เหตุผล (กีรติ บุญเจือ, 2545)

              ความแตกต่างระหว่างผู้นับถือศาสนายังมีผลสืบต่อมาจนทุกวันนี้

              5) แบบหลังนวยุค หลังจากได้พบวิจารณญาณแล้วก็ได้มีการวิเคราะห์และประเมินค่าเรื่องราวต่าง ๆ ของศาสนา ทำให้ผู้นับถือศาสนาต่างกันหันหน้าเข้าหากัน ต่างลัทธิกันหันหน้าเข้าหากัน ต่างสำนักก็หันหน้าเข้าหากัน ต่างทฤษฎีก็หันหน้าเข้าหากัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์แก่กัน หวังความร่วมมือกันโดยไม่ต้องเชื่อเหมือนกัน สร้างบรรยากาศแห่งเอกภาพบนความหลากหลาย สร้างความหวังให้แก่สันติภาพอย่างกว้างขวาง

              กล่าวโดยสรุป หลังจากที่วิเคราะห์วิธีนับถือศาสนาทั้ง 5 แบบมาแล้ว หากวิจักษ์เอาส่วนดีมาแสวงหาความร่วมมือทางศาสนา อาจจะปฏิบัติได้เป็นขั้น ๆ ตามลำดับดังนี้

              (1) ไม่รังเกียจกัน

              (2) เคารพกัน

              (3) ช่วยเหลือกันตามมารยาทสังคม

              (4) หวังดีต่อกันด้วยความจริงใจ

              (5) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์แก่กัน เพื่อพัฒนาไปด้วยกัน

 

แหล่งอ้างอิง

กีรติ บุญเจือ, ศ. (2545). ปรัชญาหลังนวยุค แนวคิดเพื่อการศึกษาแผนใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ดวงกมล. 

______. (2546). ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น เล่มแปด ประวัติปรัชญาไทยฉบับบุกเบิก. กรุงเทพฯ : ฐานบัณฑิต.

______. (2549). อรรถปริวรรต คู่เวรคู่กรรม ปรัชญาหลังนวยุค. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

______. (2551). คู่มือจริยศาสตร์ตามหลักวิชาการสากล. กรุงเทพฯ : เชน ปริ้นติ้ง. 

John Stuart Mill, (1967). “Utilitarianism” in Ethical theories. A Book of Readings. ed. A. I. Melden. New Jersey : Prentice - Hall.

Jones. W.T. (1969). A History of Western Philosophy. New York : Harcourt Brace. 

เมธา หริมเทพาธิป, ผศ. (2565). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาจริยศาสตร์ (PHE 8002). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

หมายเลขบันทึก: 710670เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2022 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท