ความหมายและองค์ประกอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


ความหมายและองค์ประกอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          ภายหลังจากที่มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็เป็นปีที่จะต้องมีการเตรียมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ โดยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิสัยทัศน์ (vision) ของการวางแผนพัฒนาฉบับที่ ๙ (๒๕๔๕ - ๒๕๔๙) โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ให้เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนดังกล่าว ซึ่งมี ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ มีความเห็นว่า ถ้าจะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นวิสัยทัศน์ในการวางแผน จำเป็นจะต้องมีคำจำกัดความของคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียว จึงร่วมกับ สศช. ร่างคำจำกัดความของเศรษฐกิจพอเพียง นำเสนอผ่านองคมนตรี เชาว์  ณ ศีลวันต์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพิจารณาและได้ทรงปรับแก้แล้ว จึงได้พระราชทานกลับคืนมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ โดยหม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี  ราชเลขาธิการเป็นผู้ลงนามในขณะนั้น (สศช., ๒๕๖๐) ซึ่งเป็นความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

เศรษฐกิจพอเพียง

          “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ   ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร  มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

          ความหมายดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกภาคส่วนและประชาชนทั่วไป

          จากคำจำกัดความอย่างเป็นทางการที่ได้นำเสนอนี้ มีประเด็นที่น่าสังเกตบางประการ คือ ก่อนถึงคำจำกัดความของ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีคำโปรยในบรรทัดก่อนสุดท้าย ก่อนที่จะอธิบายคำจำกัดความ มีใจความว่า เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่าง มั่นคง ยั่งยืน โดยที่   คำทั้งสองมิได้ปรากฏอยู่ในความหมายของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่อยู่ในคำโปรยเท่านั้น ส่วนในความหมายของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีเพียงคำสำคัญเพียงคำเดียว คือคำว่า สมดุล

          ขอให้สังเกตว่าส่วนสำคัญที่ควรสังเกตเป็นอย่างยิ่งก็คือ ในส่วนหนึ่งของนิยามดังกล่าวที่ได้กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต จะเห็นได้ว่า ได้ทรงเน้นย้ำการมีคุณธรรม คือ ความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจทุกระดับ เพราะบุคคลเหล่านี้จะมีผลทั้งบวกและลบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญ เนื่องจากเป็นชนชั้นนำในสังคม ดังนั้น การกล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ให้คนยากจนใช้เพื่อให้ยอมรับการอยู่อย่างพอเพียง จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะพระองค์ประสงค์จะให้ชนชั้นนำในสังคม เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นผู้มีคุณธรรมและความพอเพียง ซึ่งพระราชดำรัสส่วนนี้มักจะได้รับการเน้นย้ำ จากบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเท่าที่ควร เพราะสังคมจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นผู้มีคุณธรรมเป็นสำคัญ แล้วตรงนี้คืออุปสรรคที่สำคัญส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

          คำสำคัญ ที่ปรากฏอยู่ในคำจำกัดความดังกล่าว นอกจากคำว่า ทางสายกลางและความพอเพียง ยังมีคำอื่น ๆ ถูกนำมาใช้เป็นกรอบเพื่อแสดงเป็นแผนภาพเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นดังต่อไปนี้คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร สติ ปัญญา สมดุล วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ สำนักกรรมาธิการ ๑, ๒๕๖๐)

          ช่วงเริ่มต้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๗ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ปวงชนชาวไทย โดยพระราชทานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปขับเคลื่อนในกระบวนการพัฒนาประเทศ ในช่วงเริ่มต้นเป็นช่วงเวลาที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจในความหมายของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          กลุ่มผู้นำทางความคิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ มีการรวมกลุ่มกันในระดับประเทศ เพื่อวิเคราะห์ปรัชญาจากบทความที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตอย่างละเอียดและเชื่อมโยงกับแนวความคิดและทฤษฎีอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ได้สรุปสาระหลักและทำให้เข้าใจง่ายเป็นภาพ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ซึ่งได้นำไปใช้เผยแพร่ควบคู่ไปกับบทความที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถจดจำและมีความเข้าใจ ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้่

          ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีต่อความจำเป็น และเหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

          ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักศีลธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบรู้และรอบคอบ

          ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที

          เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การตัดสินใจ และการกระทำเป็นไปพอเพียง จะต้องอาศัยทั้งคุณธรรมและความรู้ ดังนี้

          เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องสร้างเสริมให้เป็นพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ประกอบด้วยด้านจิตใจ คือการตระหนักในคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี ซื่อสัตย์สุจริต ใช้สติปัญญาอย่างถูกต้องและเหมาะสมในการดำเนินชีวิต และด้านการกระทำ คือ มีความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ รู้จักแบ่งปัน และรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

          เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยการฝึกตนให้มีความรอบรู้ (มีปัญญา) รอบคอบ (มีสติ) และระมัดระวัง (มีสัมปชัญญะ) เช่น ความรู้ทางวิชาการ ต้องศึกษาให้รอบรู้จากข้อมูลรอบด้าน มีความรอบคอบ ไม่ด่วนตัดสินใจสรุปด้วยอคติหรืออารมณ์ แต่คำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุและผล มีความระมัดระวังในการนำความรู้ไปใช้ทุกขั้นตอน พิจารณาให้เห็นความเชื่อมโยงเพื่อประกอบการวางแผนและการปฏิบัติ 

การนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ต้องคำนึงถึง ๔ มิติ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย/เพิ่มรายได้/ใช้ชีวิตอย่างพอควร/คิดและวางแผนอย่างรอบคอบ/มีภูมิคุ้มกัน/ไม่เสี่ยงเกินไป/การเผื่อทางเลือกสำรอง
ด้านสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูล/รู้รักสามัคคี/สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ/เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้ค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด/ฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด
ด้านวัฒนธรรม รักและเห็นคุณค่าในความเป็นไทย เอกลักษณ์ไทย/เห็นประโยชน์และคุ้มค่าของภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น/รู้จักแยกแยะและเลือกรับวัฒนธรรมอื่น ๆ 

          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การที่ประเทศชาติและประชาชนจะเกิดความสมดุล ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีภูมิคุ้มกันทั้งในด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินทางสายกลางด้วยความพอเพียง คือ มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนพื้นฐานของความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ซึ่ง “ความรอบรู้” เป็นเรื่องของปัญญา “ความรอบคอบ”  ส่วน “ความระมัดระวัง” ในการดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นเรื่องของสัมปชัญญะ ซึ่งสรุปได้ว่า  การดำเนินชีวิตบนทางสายกลางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็คือ การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีสติปัญญา หรือ มีสติสัมปชัญญะ นั่นเอง นอกจากนี้ การดำเนินทางสายกลางจำเป็นต้องวางอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมด้วย ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และแบ่งปัน

          หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถจำแนกได้เป็น ๒ ระดับ คือ 

          ๑. ระดับพื้นฐาน หมายถึง ความพอเพียงในระดับบุคคลหรือครอบครัว เช่น การพัฒนาตามแนวทางทฤษฎีใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรอันเกิดจากความแห้งแล้งหรือมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครัวเรือนก็คือการขุดสระน้ำเพื่อไว้ใช้ในการเพาะปลูก พร้อม ๆ กับลดการพึ่งพิงตลาดลงโดยเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาสู่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หลาย ๆ อย่าง เพื่อการบริโภคในครัวเรือน

          ๒. ระดับก้าวหน้า หมายถึง ความพอเพียงในระดับชุมชน องค์กร จังหวัด และประเทศ โดยการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์เครือข่ายธุรกิจ (networking for business) กลุ่มธุรกิจ (cluster) และวิสาหกิจชุมชน (community business) เป็นต้น สมาชิกร่วมมือกันเสียสละ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มในการอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียง ไม่อยู่บนความประมาทและสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกัน บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียน การแบ่งปัน และการช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง มีการสืบทอดภูมิปัญญาแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนาร่วมกัน (สมศักดิ์ สามัคคีธรรม และคณะ, ๒๕๕๐)

          ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาจริยะ อยู่ในประเภทของปรัชญาประยุกต์ที่สอดคล้องกับปรัชญาหลังนวยุคสายกลางเพราะเน้นการมองอย่างเป็นองค์รวม เน้นจริยธรรมดูแล ได้แก่ การส่งเสริมพลังสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมพลังปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต การส่งเสริมพลังความร่วมมือด้วยความรู้รักสามัคคี การส่งเสริมพลังแสวงหาโดยธรรมเพื่อนำไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). "สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน". รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๒๑ - ๒๖.

หมายเลขบันทึก: 710657เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท