จริยธรรมในปรัชญาหน้าที่นิยมของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant)


จริยธรรมในปรัชญาหน้าที่นิยมของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant)

 

            อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มจริยธรรมแบบหน้าที่นิยม (deontologism) เขาเกิดในเมืองโคนิกส์เบิร์ก ทางตะวันออกของอาณาจักรปรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1724 และเสียชีวิตที่เมืองนี้ในช่วงเกือบแปดสิบปีให้หลัง บิดาเป็นช่างทำบังเหียน (อานม้า) ครอบครัวของเขาเป็นชาวคริสต์นิกายภักดีนิยม (Pietism) ซึ่งเน้นชีวิตในด้านการหมั่นประกอบคุณงามความดี (Immanuel Kant, 1997) โดยให้เชื่อและปฏิบัติเคร่งครัด

            คานท์ (Kant) เป็นนักปรัชญาชาวตะวันตกคนสุดท้ายที่มีแนวคิดทรงพลังที่สุด เป็นผู้ปิดฉากกระบวนทรรศน์ที่ 4 (กระบวนทรรศน์นวยุค) ลงอย่างสวยงาม และในขณะเดียวกันก็เป็นคนจุดประกายความคิดที่ทรงอิทธิพลไปสู่กระบวนทรรศน์ที่ 5 (กระบวนทรรศน์หลังนวยุค) ซึ่งเป็นกระบวนทรรศน์ในยุคปัจจุบัน แนวคิดของคานท์ได้ถูกนำไปพัฒนาและเสนอทางออกที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์

            ในทางจริยศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน หนังสือแทบทุกเล่มที่เขียนในเชิงจริยธรรม (ethic) มักจะต้องมีการอ้างถึงแนวคิดของคานท์อยู่เสมอเพราะส่งผลต่อแนวคิดร่วมสมัยมากมายเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรม ต่อให้เราไม่รู้ตัวเลยก็ตาม ดังนั้น ถึงแม้ว่าปรัชญาของคานท์จะเข้าใจยากมากแต่ก็คุ้มที่จะพยายามเข้าใจ เพราะแนวคิดของคานท์ไม่ได้เป็นแค่การฝึกสมองทางปรัชญา แต่เป็นวิธีพินิจพิจารณาสมมติฐานสำคัญบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา

            คานท์ปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาประโยชน์นิยม โดยโต้แย้งว่า การที่ปรัชญาประโยชน์นิยมวางสิทธิไว้บนการคำนวณว่าอะไรจะสร้างความสุขสูงสุดนั้นทำให้สิทธิอ่อนแอ ปัญหาที่ลึกกว่านั้นคือ ความพยายามที่จะดึงหลักศีลธรรมออกมาจากความปรารถนาที่เรามีเป็นวิธีคิดที่ผิดเกี่ยวกับศีลธรรม ลำพังการที่อะไรบางอย่างทำให้คนจำนวนมากเพลิดเพลินไม่ได้แปลว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน หรือการที่เราชอบกฎหมายบางฉบับ ไม่ว่าจะชื่นชอบแค่ไหน ไม่ได้ทำให้กฎหมายนั้นมีความยุติธรรม

            คานท์เสนอว่าศีลธรรมไม่อาจตั้งอยู่บนปัจจัยเชิงปฏิบัติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ ความจำเป็น ความปรารถนา หรือรสนิยมของผู้คน ณ จุดใดจุดหนึ่ง เขาชี้ว่าปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้และไม่แน่นอน ทำให้ไม่อาจใช้เป็นรากฐานของหลักศีลธรรมสากลใด ๆ อย่างเช่น สิทธิมนุษยชนสากลได้ แต่ประเด็นของคานท์ซึ่งเป็นรากฐานกว่านั้นคือ การวางหลักศีลธรรมไว้บนรสนิยมและความปรารถนา แม้แต่ความปรารถนาอยากมีความสุข ล้วนเข้าใจผิดว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของอะไร หลักความสุขสูงสุดของนักปรัชญาประโยชน์นิยม “ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการวางกรอบศีลธรรม ในเมื่อการทำให้คนมีความสุขเป็นคนละเรื่องกับการทำให้เขาเป็นคนดี และการทำให้เขาเป็นคนรอบคอบหรือเฉลียวฉลาดในการแสวงหาความได้เปรียบของตัวเองก็เป็นคนละเรื่องกันกับการทำให้เขามีคุณธรรม” (Immanuel Kant, 1964) การวางศีลธรรมไว้บนผลประโยชน์และรสนิยมทำลายศักดิ์ศรีของศีลธรรม มันไม่ได้สอนว่าเราจะแยกแยะระหว่างความดีกับความเลวอย่างไร เพียงแต่ทำให้เราคำนวณเก่งขึ้นเท่านั้น

          1. ความเชื่อพื้นฐานทางจริยธรรม

          คานท์มีความเชื่อพื้นฐานว่า จริยธรรมต้องมาจากเหตุผลปฏิบัติ (practical reason) เท่านั้น เขาได้ตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า เหตุผลบริสุทธิ์ (pure reason) ไม่สามารถเข้าถึงหลักจริยธรรมได้ 

            ในหนังสือ “Critical of Pure Reason” (บทวิจารณ์เหตุผลบริสุทธิ์) ที่คานท์ตีพิมพ์เป็นเล่มแรกในวัย 57 ปี ได้แถลงว่า ความเป็นจริงในขั้นนูเมอเนอ (noumena or reality) เราไม่มีทางจะรู้ได้ 

            ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ “Critique of Practical Reason” (วิจารณ์เหตุผลปฏิบัติ) แถลงว่าเราต้องรู้ความเป็นจริงในขั้นปรากฏการณ์ (phemomena) ตามที่สมองบอกแก่เรา เพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น ความจริงที่เรารู้จึงเป็นเพียงความจริงที่เป็นปรากฏการณ์ในสมองเท่านั้น แต่ความเป็นจริง (reality) นั้นเป็นอย่างไร เราไม่อาจรู้ได้ 

            เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นนี้ให้ละเอียดลึกซึ้ง จำเป็นต้องศึกษาถึงแบบของความรู้ (form of knowledge) ที่คานท์ได้อธิบายไว้ว่ามีอยู่ 3 ระดับ ดังนี้

            1) ความรู้ระดับประสบการณ์ (experiential knowledge) ผ่านกลไกขั้นแรกที่เรียกว่า “แบบบริสุทธิ์แห่งความรู้สึก” (pure form of sensibility) ความรู้ที่ออกมาเป็นความรู้ทางผัสสะ เป็นประสบการณ์เฉพาะหน่วยหรือรู้เป็นหน่วย ๆ เช่น สุนัขตัวนี้ ดอกกุหลาบช่อนั้น 

Space (อวกาศ) ได้แก่ รูปร่างและขนาดของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามีผัสสะ รวมทั้งความนานและความเร็วของ Time (เวลา) ที่เรารู้สึก เป็นเพียงการสร้างขึ้นในปัญญาของเราเพื่อปรับปรุง Noumena (ความเป็นจริง) ที่ปัญญารับเข้ามาแปรสภาพให้เป็นประสบการณ์เป็นหน่วย ๆ ที่มีปริมาตร 3 มิติ (กว้าง ยาว ลึก) และการดำรงอยู่เป็น 3 กาละ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) เราจึงรู้ได้เป็นหน่วย ๆ แต่ความเป็นจริงภายนอกเป็นหน่วย ๆ หรือไม่ มีขนาดและเวลาหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะรู้ได้ ถ้ามีก็น่าจะไม่เหมือนอย่างที่เรามีเป็นประสบการณ์ของเรา เพราะความรู้ทางผัสสะของเราต้องผ่านกลไกจึงถูกแปรสภาพไปแล้ว ดังที่คานท์กล่าวว่า

อวกาศและเวลาเป็นรูปแบบเพียงประการเดียวของอัชฌัตติกญาณทางผัสสะและเป็นเงื่อนไขเพียงประการเดียวของสิ่งที่มีอยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่ปรากฏ นอกจากที่กล่าวมานี้เราไม่มีมโนภาพแห่งความเข้าใจ และในที่สุดก็ไม่มีข้อมูลรากฐานสำหรับความรู้เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลาย นอกเสียจากว่าอัชฌัตติกญาณจะถูกนำมาสอดคล้องกับมโนภาพเหล่านี้ และดังนั้นเราจึงไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งบางสิ่งได้เลย เช่น สิ่งที่อยู่ได้ด้วยตนเอง (Immanuel Kant, 1970a)

ความรู้ทางผัสสะที่ผ่านกลไกในขั้นแรกนี้ เป็นความรู้ที่ถูกแปรสภาพไปจากความเป็นจริง และเป็นสิ่งเฉพาะหน่วยที่ต้องผ่านกลไกในขั้นที่ 2 ต่อไป จึงจะเป็นความรู้ระดับวิชาการ ที่มีความเป็นสากล หรือเป็นความรู้ภาคทฤษฎี

 

                  2) ความรู้ระดับวิชาการ (scientific knowledge) เป็นความรู้สากล ผ่าน 12 แบบบริสุทธิ์แห่งความเข้าใจ (pure form of understanding) ซึ่งมีอยู่ 4 ชั้น ชั้นละ 3 ช่อง รวมเป็น 12 ช่อง รวมเรียกว่า 12 วิภาค (12 categories) เพื่อให้ได้ความรู้ระดับนี้ นูเมอเนอต้องผ่านแบบแห่งความรู้สึกมาแล้ว การผ่านนั้นจะต้องผ่านชั้นละ 1 ช่องเท่านั้น แต่ต้องผ่านครบทั้ง 4 ชั้น

            ความรู้ต่างประเภทกันจะผ่านช่องต่าง ๆ กันไป มีกลไกเรียกว่า สคีมาตา (Schemata) คอยป้อนให้เข้าถูกช่อง ดังตารางต่อไปนี้

Quantity Quality Relation Modality
1. Universal 4. Affirmative 7. Categorical 10. Problematic
2. Particular 5. Negative 8. Hypothetical 11. Assertoric
3. Singular 6. Infinite 9. Disjunctive 12. Apodictic

            เช่น เรามีความรู้สึกว่า “ดอกกุหลาบบางดอกสีค่อนข้างแดง” ข้อความนี้ย่อมต้องผ่านช่องกลาง (Particular แปลว่า บางหน่วย) ของขั้นที่ 1 (ชั้น Quantity แปลว่า ปริมาณ) ไม่ผ่านช่อง Universal แปลว่า สากล และไม่ผ่านช่อง Singular ซึ่งแปลว่า หน่วยเดียว

            ต่อไปผ่านช่องล่าง (Infinite แปลว่า เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง) ของชั้น 2 (ชั้น Quality ซึ่งแปลว่า คุณภาพ) ไม่ผ่านช่อง Affirmative ซึ่งแปลว่า เป็น และไม่ผ่านช่อง Negative ซึ่งแปลว่า ไม่เป็น

            ต่อไปผ่านช่องบน (Categorical แปลว่า มีความหมายเด็ดขาด) ของชั้นที่ 3 (ชั้น Relation ซึ่งแปลว่า ความสัมพันธ์) ไม่ผ่านช่อง Hypothetical ซึ่งแปลว่า มีการสมมติ และ ไม่ผ่านช่อง Disjunctive ซึ่งแปลว่า มีการเลือก

            ต่อไปผ่านช่องกลาง (Assertoric แปลว่า บอกเล่า) ของชั้นที่ 4 (ชั้น Modality ซึ่งแปลว่า มาลาของข้อความ มาจากคำว่า Mood = มาลา) ไม่ผ่านช่อง Problematic ซึ่งแปลว่า ถาม (question) และไม่ผ่านช่อง Apodictic ซึ่งแปลว่า สั่งหรือห้าม (imperative)

            จะเห็นได้ว่าข้อความใดข้อความหนึ่ง ย่อมแถลงให้ทราบว่ากล่าวถึงกี่หน่วย ซึ่งรู้ได้ ที่ปริมาณของประธานในประโยค (Quantity) กล่าวเป็นเชิงรับ ปฏิเสธ หรือแบ่งรับแบ่งสู้ ซึ่งรู้ได้ ที่คุณภาพของภาคแสดงในประโยค (Quality) ความสัมพันธ์ของประโยคกับสิ่งแวดล้อม (Relation) และท่าทีของผู้แถลงข้อความ (Modality)

            เมื่อผ่านครบ 4 ชั้นดังกล่าว เราจึงได้ความรู้ว่า “กุหลาบบางดอกสีค่อนข้างแดง” ซึ่งแสดงว่าได้ผ่านช่องต่อไปนี้คือ บางดอก (ช่อง 2) ค่อนข้าง (ช่อง 6) สี (ช่อง 7) แดง (ช่อง 11) (กีรติ บุญเจือ, 2545)

            ความรู้ทางวิชาการถูกจำกัดอยู่ภายในขอบเขตของวัตถุแห่งประสบการณ์ที่เป็นความรู้เฉพาะหน่วยเท่านั้น (Immanuel Kant, 1970a) ทั้งความรู้เฉพาะหน่วยและความรู้วิชาการต่างก็เป็นความรู้เท่าที่ปรากฏแก่จิต (mind) ของเรา ความรู้วิชาการ ได้แก่ คณิตศาสตร์/เรื่องกฎตายตัว (ช่อง 3) วิทยาศาสตร์/เรื่องความเป็นสาเหตุ (ช่อง 8) และตรรกศาสตร์/เรื่องเหตุผล (ช่อง 12) ไม่สามารถให้ความจริงแก่เราได้ (Immanuel Kant, 1960) เพราะต้องผ่านกรรมวิธีหรือกลไกตามโครงสร้างของปัญญาของเราออกมาเป็นความรู้เท่าที่ปรากฏแก่จิต (mind) ของเรา จะพัฒนาความรู้ให้มากมายแค่ไหนก็เป็นได้เพียงสมมติฐานเท่านั้น เพราะการที่เหตุผลมีกลไก 2 แบบ คือ “แบบบริสุทธิ์แห่งความรู้สึก” กับ “แบบบริสุทธิ์แห่งความเข้าใจ” ที่ตรงข้ามกัน ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ขัดแย้งกัน

“ในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งปรากฏการณ์ ฉะนั้น มนุษย์จึงขาดเสรีภาพ ในหนังสือวิจารณ์เหตุผลบริสุทธิ์แสดงให้เห็นว่าเหตุผลภาคทฤษฎีเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ในรูปของโลกแห่งปรากฏการณ์โดยเป็นพื้นฐานที่ไม่ขึ้นกับอวกาศและกาลเวลาของโลกแห่งปรากฏการณ์ และชี้ให้เห็นว่ามนุษย์อาจมีธรรมชาติ 2 แบบร่วมกัน คือ ธรรมชาติแห่งประสาทสัมผัสและความเข้าใจ ดังนั้น มนุษย์จึงถูกผลักดันให้เข้าไปมีส่วนร่วมในอาณาจักรทั้งสองและพยายามบรรลุเสรีภาพทางความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ยังคงอยู่ภายใต้ข้อบังคับทางประสาทสัมผัส ไม่ว่าเหตุผลภาคทฤษฎีจะพัฒนาอะไรก็เป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น” (Immanuel Kant, 1964, p. Iiv)

            แม้ว่าเหตุผลบริสุทธิ์จะมีสมรรถภาพสูงและทำให้มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นสากล แต่ก็มีปัญหาอยู่หลายข้อเช่นกันที่เหตุผลเหล่านี้ให้คำตอบไม่ได้ คานท์ได้กล่าวถึงจุดอ่อนของเหตุผลในโครงสร้างสมองมนุษย์ไว้ว่า "เหตุผลของมนุษย์มีชะตากรรมอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ในความรู้ประเภทหนึ่งของมันไม่สามารถจะเพิกเฉยได้ ซึ่งทั้งนี้เป็นเพราะธรรมชาติของมันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น แต่ปัญหาเหล่านั้นก็เป็นปัญหาซึ่งอยู่เหนือความสามารถของมัน และมันก็ไม่สามารถจะหาคำตอบได้" (Immanuel Kant, 1964)

            จะเห็นได้ว่า ธรรมชาติการรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการคิดของมนุษย์ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องมีความสัมพันธ์ของวัตถุอย่างหนึ่งกับตัวผู้รู้ การรับรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการรับรู้คุณสมบัติภายในของวัตถุที่เป็นตัวของมันเอง (Immanuel Kant, 1970a) แต่เป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นจากผัสสะและโครงสร้างสมองของเราเอง สิ่งที่มีอยู่ในตัวของมันเอง (Noumena) จึงเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ ทำได้แค่เพียงนำมาคิดในสมองเท่านั้น ซึ่งคานท์อธิบายไว้ว่า “แม้ว่าเราจะไม่สามารถรู้จักวัตถุต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังคงอยู่ในฐานะที่ต้องคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง หรือมิฉะนั้นเราก็ต้องสรุปอย่างไร้เหตุผลว่า มีสิ่งปรากฏโดยไม่มีอะไรปรากฏขึ้นเลย” (Immanuel Kant, 1970a)

            เป็นอันว่า แนวคิดของคานท์ได้ทำลายความเชื่อมั่นในระบบความรู้ของชาวนวยุค (modernist) ลงไปอย่างราบคาบ เพราะวิทยาศาสตร์ (ช่อง 8) ที่ใช้คณิตศาสตร์ (ช่อง 3) และตรรกศาสตร์ (12) เป็นเครื่องมือนั้น เป็นเพียงเรื่องของสมมติฐานหรือสถิติเท่านั้น คือ ยอมรับแบบสมมติไปก่อนว่าจริงในปัจจุบัน หรือจริงตามข้อมูลที่มีในขณะแถลงความจริง แต่วันข้างหน้าไม่แน่ หากข้อมูลเปลี่ยนไป ความจริงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นก็จะเปลี่ยนตามไป (เมธา หริมเทพาธิป, 2556) จึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะเป็นเพียงเรื่องของสถิติ เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สมองสร้างขึ้นมาเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องของศีลธรรม วิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะทรงพลังและมีความรู้ลึกซึ้งปานใดก็ไม่สามารถเข้าถึงคำถามทางศีลธรรมได้ เพราะมันทำงานอยู่ในโลกสัมผัส คานท์เขียนว่า “ไม่ว่าจะใช้ปรัชญาที่ซับซ้อนที่สุด หรือเหตุผลของมนุษย์ที่ธรรมดาที่สุด การเถียงว่าอิสรภาพไม่มีจริง... แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” (Immanuel Kant, 1964) คานท์อาจเสริมว่าเป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่ประสาทวิทยาด้านการรับรู้จะเถียงเรื่องนี้ ไม่ว่ามันจะก้าวหน้าไปเพียงใด วิทยาศาสตร์สามารถสืบสวนธรรมชาติและเจาะลึกโลกกายภาพ แต่ไม่อาจตอบคำถามทางศีลธรรมหรือหักล้างเจตจำนงเสรี เพราะศีลธรรมและเสรีภาพไม่ใช่แนวคิดเชิงประจักษ์ เราพิสูจน์ไม่ได้ว่ามันมีอยู่จริง แต่เราก็เข้าใจชีวิตทางศีลธรรมของเราไม่ได้เช่นกันถ้าไม่คิดว่ามันมีจริง (Michael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 2554)

            3) ความรู้ด้วยญาณหยั่งรู้โดยตรง (intuitive knowledge) เป็นความรู้ด้วยญาณหยั่งรู้พิเศษที่เข้าถึงนูเมอเนอตรง ๆ ไม่มีกลไกมาบิดเบือน เพราะเป็นเหตุผลปฏิบัติ คานท์เชื่อว่า เหตุผลปฏิบัติใช้กับสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตของประสาทสัมผัสได้ เช่น เรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม

“อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นเช่นนั้น เราย่อมมั่นใจได้ทันทีว่า มีการใช้เหตุผลปฏิบัติที่จำเป็นอย่างปรมัตถ์ เช่น ในเรื่องศีลธรรม ซึ่งเหตุผลปฏิบัติต้องก้าวผลขอบเขตของประสาทสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (Immanuel Kant, 1970a)

            จากทรรศนะดังกล่าวจะเห็นว่า เหตุผลภาคปฏิบัติเท่านั้นที่ยืนยันความแน่นอนทางศีลธรรม (Immanuel Kant, 1964)

            จะเห็นได้ว่า เรื่องของจริยธรรมไม่อาจวางไว้บนพื้นฐานของความรู้ภาคทฤษฎี ซึ่งเป็นเรื่องของกลไกในสมอง เพราะเป็นเรื่องของการแสวงผลประโยชน์ มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น วิทยาศาสตร์มิได้ให้ความจริง ให้เพียงแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ (เมธา หริมเทพาธิป, 2554) หลักจริยธรรมต้องมาจากการหยั่งรู้โดยตรงจากเหตุผลปฏิบัติ หรือที่คานท์เรียกว่า มโนธรรมสำนึก (conscience) แม้จะเฉียบคมมากน้อยต่างกันแต่ก็ให้ความมั่นใจได้เพราะมาจากเจตนาดี (good will) และเป็นคำสั่งเด็ดขาด คานท์ได้กล่าวไว้ว่า “การตัดสินใจในเรื่องทางศีลธรรมแต่ละครั้ง จำเป็นต้องอาศัยการใช้เหตุผลอย่างมีพลัง ในที่นี้เหตุผลจะกลายเป็น “ภาคปฏิบัติ” ในขณะที่เหตุผล “ภาคทฤษฎี” มุ่งอยู่แต่ความรู้เพื่อความรู้ “เหตุผลปฏิบัติ” จะต่อสู้กับอารมณ์โน้มเอียงในขณะที่กำหนดเจตจำนงของมนุษย์และชี้นำความประพฤติของเขา” (Immanuel Kant, 1960)

            จากการศึกษาแบบของความรู้ 3 ระดับ จะเห็นว่า ความรู้ระดับประสบการณ์ และความรู้ระดับวิชาการตามทรรศนะของคานท์แล้ว ไม่สามารถนำมาเป็นพื้นฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมได้ เพราะความรู้เชิงประจักษ์ให้เพียงประสบการณ์เฉพาะหน่วย ส่วนความรู้เชิงวิชาการให้เพียงความรู้ที่เป็นประโยชน์แต่ไม่ได้ให้ความจริงแก่เราเลย และไม่สามารถนำมาพิสูจน์เพื่อรับรองหรือหักล้างเรื่องศีลธรรมได้ เพราะเป็นเรื่องของเหตุผลปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลบริสุทธิ์เชิงวิชาการที่ใช้คณิตศาสตร์และตรรกศาสตร์เป็นเครื่องมือ เรื่องศีลธรรมนั้นต้องใช้ญาณหยั่งรู้โดยตรง ตั้งแต่ระดับมโนธรรมสำนึกแบบธรรมดาสามัญขึ้นไปจนถึงระดับอัชฌัติกญาณขั้นสูง และด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญในทางจริยธรรมที่ต้องมีอยู่เพื่อเติมเต็มความหวังให้กับมนุษย์ที่ต้องการความสุขในโลกหน้า คานท์ให้เหตุผลว่า คุณธรรมเป็นความดีสูงสุด คุณธรรมและความสุขรวมกัน 2 อย่างช่วยกันสร้างความดีให้สมบูรณ์ ถ้าคนดีมีศีลธรรมไม่สามารถมีความสุขได้ในโลกนี้ เขาก็ควรได้รับความสุขเป็นรางวัลในโลกหน้าโดยพระเจ้าเป็นผู้มอบให้ เพราะพระเจ้าเป็นผู้ควบคุมสากลจักรวาลทั้งหมด (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์, 2534)

            กล่าวโดยสรุป พื้นฐานทางจริยธรรมของคานท์ได้แก่ เหตุผลปฏิบัติ คานท์เชื่อว่าเหตุผลปฏิบัติเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงศีลธรรมและจริยธรรมได้ คานท์จึงเน้นเรื่องมโนธรรมสำนึก โดยให้ถือการสำนึกในหน้าที่เป็นสำคัญโดยไม่ต้องรีรอที่จะวัดหรือชั่งน้ำหนักเพื่อดูผลได้ผลเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับหลักจริยธรรมเหล่านี้เป็นลำดับต่อไป

          2. หลักจริยธรรมของคานท์

          ก. เจตนาดี

            จอห์น ฮอสเปอรส์ (John Hospers, 1961) อธิบายว่า มโนทรรศน์ที่สำคัญในจริยศาสตร์ของคานท์คือ เรื่องหน้าที่หรือพันธะทางศีลธรรม “ความถูกต้องของการกระทำไม่ได้ขึ้นกับผลของการกระทำ แต่ความถูกต้องอยู่ในธรรมชาติภายในของการกระทำนั้นเอง ดังนั้น จริยศาสตร์ของคานท์จึงมีลักษณะเป็นแบบแผนนิยม (formalistic) กล่าวคือ ความถูกต้องของการกระทำไม่ขึ้นกับผลของการกระทำ

            ลัทธิแบบแผนนิยม (Harold H. Titus, 1957) เห็นว่า มาตรฐานความประพฤติอยู่ในกฎศีลธรรม ซึ่งความถูกต้องหรือความผิดอยู่ในตัวมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับผลของการกระทำ คุณค่าทางศีลธรรมจึงมีรูปแบบที่แน่นอนโดยตัวมันเองของการกระทำซึ่งเกิดจากการใช้หลักการที่ตายตัว เช่นเดียวกับคณิตศาสตร์หรือตรรกวิทยา

            ลัทธินี้ไม่เชื่อว่าความถูกต้องและความผิดของการกระทำขึ้นอยู่กับผลของการกระทำ ถึงแม้จะเชื่อว่าผลดีเกิดจากการกระทำดี และผลชั่วเกิดจากการกระทำชั่ว แต่ความถูกต้องและความผิดอยู่ในธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าดีและชั่ว

            ความดีในทรรศนะของคานท์แตกต่างจากความหมายของคนทั่วไป สำหรับคานท์มีเพียงสิ่งเดียวที่ดีโดยปราศจากเงื่อนไข คือ การมีเจตนาดี (good will) 

            แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเจตนาดีเป็นสิ่งที่ดีเพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งอื่น ๆ ดี เช่น สติปัญญา ไหวพริบ การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ การมีพรสวรรค์ ความกล้าหาญ ความบากบั่น เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดี และน่าพึงปรารถนาในหลาย ๆ แง่ แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดีในทุกสถานการณ์ โดยที่มันอาจจะเลวก็ได้ เมื่อมันเกิดจากเจตนาชั่ว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งดีที่มีเงื่อนไข ความดีตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ดีอย่างสมบูรณ์หรือดีในตัวมันเอง... การที่เจตนาดีเป็นสิ่งดีนั้นไม่ใช่เพราะผลที่มันเกิดจากเจตนานั้น หรือเพราะเจตนานั้นทำให้เราบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง แต่ดีเพราะมีเจตนาอย่างนั้น คือดีในตัวเอง ดีโดยตัวเอง เราจะต้องถือว่ามีค่าสูงกว่าสิ่งใด ๆ หรือแม้แต่แรงโน้มทั้งสิ้นรวมกัน แม้ผลออกมาไม่ดี หรือมีข้อจำกัดทางธรรมชาติอื่นทำให้เจตนาที่ดีนั้นไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์และแม้จะใช้ความพยายามที่สุดแล้วก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่เจตนาดีก็ยังมีค่าในตัวเองเสมอ (Immanuel Kant, 1785)

            แต่คานท์ก็ไม่ได้กล่าวว่า ผลไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ หรือผลเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่คานท์กล่าวว่าคุณสมบัติทางศีลธรรมของการกระทำจะต้องไม่อาศัยผลเป็นเครื่องกำหนด เพราะเงื่อนไขทางศีลธรรมที่จำเป็นต่อชีวิตคือเจตนา

            ตัวอย่างนี้จะที่ช่วยอธิบายเจตนาดีของคานท์ได้ชัดเจนขึ้น

            นายขาว ช่วยคนที่กำลังตกน้ำให้รอดชีวิต เพราะมีเจตนาดีช่วยเหลือเพื่อมนุษย์โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดจากการกระทำนี้ นายขาวทำไปโดยปราศจากแรงกระตุ้นใด ๆ นอกจากมีเจตนาดี

            นายดำ ช่วยคนที่กำลังตกน้ำให้รอดชีวิต เพราะหวังว่าหลังจากช่วยเหลือตนจะได้รับการชื่นชม หรืออาจได้รางวัลจากการช่วยเหลือในครั้งนี้ นายดำกระทำไปเพราะมีจุดมุ่งหมายอยู่ในใจ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาช่วยเหลือผู้อื่น

            จากตัวอย่างการกระทำของนายขาวและนายดำ ถ้าพิจารณาว่าการกระทำของใครถูกต้องกว่ากัน คนทั่วไปอาจตอบว่าการกระทำของทั้งสองคนถูกต้องเหมือนกันเพราะมองที่ผลของการกระทำว่า คนจมน้ำต่างรอดชีวิต และการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนย่อมถูกต้องเสมอ แต่คานท์จะมองว่า การกระทำของนายขาวถูกต้อง น่าสรรเสริญ และมีค่าทางศีลธรรม ส่วนการกระทำของนายดำถูกและน่าชื่นชม แต่ปราศจากคุณค่าทางศีลธรรม เพราะคานท์ตัดสินการกระทำที่มีค่าทางศีลธรรมโดยดูที่เจตนาของผู้กระทำไม่ใช่มองที่ผลเพียงประการเดียว

          ข. เจตนากับหน้าที่

          ในการพิจารณาค่าทั้งหมดของการกระทำใด ๆ เจตนาซึ่งดีในตัวเองโดยปราศจากคุณสมบัติใด ๆ เป็นเงื่อนไขของการทำดี

            ค่าทางศีลธรรมของการกระทำหนึ่ง ๆ ขึ้นอยู่กับเจตนาของปัจเจกชนซึ่งแสดงออกมาและจะมีค่าทางศีลธรรมได้ก็ต้องเป็นการกระทำที่ทำมาจากหน้าที่

            ในทรรศนะของคานท์ เมื่อมีการกระทำหนึ่ง ๆ เกิดขึ้น แรงกระตุ้นของการกระทำมี 2 ประเภทคือ 

            1. การกระทำที่เกิดจากเจตนาแห่งแรงโน้ม (motive of inclination) ทั้งที่เป็นฝ่ายบวก เช่น ความเมตตา ความสงสาร และฝ่ายลบ เช่น ความอิจฉาริษยา และที่เกิดจากเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวต่าง ๆ

            2. การกระทำที่เกิดจากเจตนาแห่งหน้าที่ (motive of duty) เป็นการกระทำที่เกิดจากการสำนึกในหน้าที่ ผู้กระทำไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ของตนหรือไม่คำนึงถึงผลใด ๆ ทั้งสิ้น

            เขายืนยันว่ามีเพียงการกระทำที่ทำจากเจตนาแห่งหน้าที่เท่านั้นที่มีคุณค่าทางศีลธรรม ดังที่ปรากฏในหนังสือ Foundations of the metaphysics of morals ที่เขียนว่า

การกระทำที่จะมีค่าทางศีลธรรมจะต้องเกิดจากหน้าที่ ค่าทางศีลธรรมของการกระทำที่เกิดจากหน้าที่นั้น มิได้อยู่ที่จุดหมายที่ต้องการจะบรรลุถึง แต่อยู่ในหลักปฏิบัติส่วนตัว (maxim) ที่ได้ก่อให้เกิดการกระทำนั้น ค่าทางศีลธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เป้าหมายบรรลุผลเป็นจริง แต่อยู่ที่หลักการของเจตนาที่ได้ก่อให้เกิดการกระทำขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่ต้องการหรือกล่าวโดยสรุปว่า “การกระทำของมนุษย์ดีในแง่มีศีลธรรมได้ไม่ใช่เพราะการกระทำจากแรงกระตุ้นของอารมณ์หรือเพราะการกระทำเพื่อหวังในประโยชน์ส่วนตัว แต่เพราะเป็นการกระทำที่ปฏิบัติโดยหน้าที่” (Immanuel Kant, 1969)

            คานท์แบ่งการกระทำของมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภท

            (1) การกระทำที่ขัดแย้งกับหน้าที่ เช่น การโกงต่อผู้ไม่รู้ การขโมย เป็นต้น

            (2) การกระทำที่บังเอิญตรงกับหน้าที่ หรือสอดคล้องกับหน้าที่ โดยผู้กระทำเล็งการณ์ไกลต่อผลการกระทำนั้น เช่น พ่อค้าซื่อสัตย์เพราะหวังกำไรระยะยาว

            (3) การกระทำที่ขัดแย้งกับหน้าที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน

            การกระทำที่เกิดจากเจตนาแห่งหน้าที่ (motive of duty) ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ตามความหมายของคานท์แล้วตรงกับการกระทำประเภทที่ (3) เท่านั้น

            ค. การทำตามหน้าที่คือการทำตามเหตุผล

          การกระทำตามหน้าที่คือการกระทำที่ไม่ได้คาดหวังผลอันใดอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าผลนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ และไม่ว่าผลนั้นจะตกแก่ตัวเองหรือตกแก่ผู้อื่น หรือกล่าวว่ามิใช่เป็นการกระทำที่ทำเพื่อประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น คานท์เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล (rational being) ที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด และเหตุผลมีหน้าที่ควบคุมการกระทำของมนุษย์ เหตุผลในทรรศนะของคานท์ทำหน้าที่ 2 ประการคือ

            1. เหตุผลเชิงทฤษฎี (theoretical reason) มีหน้าที่แสวงหาความรู้ที่เป็นความจริง (truth) เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

            2. เหตุผลเชิงปฏิบัติ (practical reason) มีหน้าที่สร้างความรู้ทางจริยธรรม เป็นตัวตัดสินว่ามนุษย์ควรทำหรือไม่ควรทำ มีหน้าที่แยกพิจารณาความเป็นไปได้ให้แก่มนุษย์โดยมาจากการมีเสรีภาพของเจตจำนง

            เหตุผลที่ทำให้เราทำตามหน้าที่คือ เหตุผลเชิงปฏิบัติ ซึ่งมิใช่เป็นตัวที่นำมนุษย์ไปสู่ประโยชน์สุข แต่เป็นตัวสร้างเจตจำนงที่ดีในตัวเอง ดังที่คานท์กล่าวไว้ว่า

หน้าที่ของเหตุผลคือ เหตุผลไม่สามารถนำเจตจำนงไปสู่เป้าหมายและทำให้เราประสบความพอใจในเป้าหมายได้ ซึ่งหน้าที่นี้อัชฌัติกญาณ (intuition) ทำได้ดีกว่า แต่เหตุผลเป็นอยู่ในฐานะของสมรรถนะทางปฏิบัติ (practical faculty) นั่นคือ เป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเจตจำนงของเรา ธรรมชาติได้สร้างให้อวัยวะต่าง ๆ มีหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกัน หน้าที่ที่เหมาะสมของเหตุผลคือ ต้องสร้างเจตจำนงที่ดีในตัวเอง ไม่ใช่ดีในฐานะที่เป็นวิถีทางนำไปสู่ผลแห่งความสำเร็จ (Immanuel Kant, 1969)

            เพราะฉะนั้น ถ้ามนุษย์ทุกคนใช้เหตุผลหรือปัญญาพิจารณาในการกระทำ การกระทำของเขาจะถูกต้องตามหลักจริยธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทุกคนจะเห็นกฎศีลธรรมเหมือนกันหมด จะไม่มีใครที่ทำตามหลักที่เขาไม่สามารถจงใจให้เป็นกฎสากล เพราะการทำอย่างนั้นเป็นการขัดแย้งกับเหตุผลโดยตรง แต่ถ้าเขายังติดอยู่กับกระแสของแรงโน้มต่าง ๆ เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ผลประโยชน์ ค่านิยม สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้การกระทำในแง่ศีลธรรมของแต่ละคนแตกต่างกัน

            คานท์เห็นว่าสิ่งที่มีค่าในชีวิต คือ การทำหน้าที่ทางศีลธรรมมิใช่การแสวงหาความสุข ความสุขจะมีได้ก็ต่อเมื่อเราได้สิ่งที่เราต้องการกลับมา เพราะฉะนั้น ความสุขจึงเป็นเงื่อนไขให้มนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา การที่มนุษย์ทำตามกฎศีลธรรมเป็นเพราะมนุษย์ทำจากเจตจำนงภายในของตนเอง เขาจะทำถูกต้องตามหลักจริยธรรม ดังนั้น เหตุผลซึ่งเป็นตัวผูกพันมนุษย์กับกฎศีลธรรมจึงทำให้มนุษย์มีมาตรการความประพฤติที่มีกฎเกณฑ์ของตัวเอง นั่นคือ ทำให้มนุษย์เข้าใจและรู้จักการกระทำตามหน้าที่

          ง. กฎศีลธรรม 

          การกระทำที่ตั้งอยู่บนเหตุผลคือ การกระทำที่เกิดจากกฎศีลธรรม (The moral law) กฎศีลธรรมเป็นเหมือนหัวใจของการเสนอจริยศาสตร์ของคานท์ ซึ่งเป็นกฎที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินความดีมีลักษณะเป็นสากลที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน เป็นกฎเดียวที่บอกถึงกฎศีลธรรมทั้งหมดที่ปรากฏในโลกแห่งประสบการณ์ ในการตัดสินการกระทำว่าดีหรือชั่วโดยการนำกฎศีลธรรมไปใช้กับเหตุการณ์เฉพาะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ กฎศีลธรรมปรากฏในลักษณะของคำสั่งที่ปราศจากเงื่อนไขเพื่อให้เข้าใจกฎศีลธรรมชัดเจนขึ้น จำเป็นต้องอธิบายคำสั่งในทรรศนะของคานท์ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

            1) คำสั่งแบบมีเงื่อนไข (hypothetical imperative) 

            เป็นหลักความประพฤติที่กระทำเพื่อนำไปสู่จุดประสงค์โดยผู้กระทำตั้งเป้าหมายในผลของการกระทำนั้นจึงมิใช่เป็นหลักการที่ทำเพื่อความดี ดังที่คานท์กล่าวว่า “ถ้าหากการกระทำจะดีก็ต่อเมื่อมันเป็นวิถีทางสู่สิ่งอื่น... คำสั่ง (ของเหตุผล) ก็เป็นคำสั่งแบบมีเงื่อนไข” (Immanuel Kant, 1964)

            คำสั่งแบบมีเงื่อนไข ปรากฏในรูปประโยคที่ว่า

            ถ้าคุณอยากได้ A ก็จงทำ B 

            ถ้าภิกษุรูปใดอยากให้โยมถวายลาภสักการะมาก ๆ ก็จงรักษาศีลให้ครบ 227 ข้อ 

            จริงอยู่ การที่ภิกษุมีความสำรวมระวังในศีล 227 ข้อ ย่อมทำให้ญาติโยมหรือสาธุชนทั้งหลายเกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะถวายลาภสักการะให้ มีปัจจัย 4 เป็นต้น แต่คานท์ถือว่า การกระทำดีนั้นต้องไม่กระทำเพราะมันนำผลดีมาให้ แต่กระทำเพราะการรักษาศีลนั้นเป็นสิ่งดี ถ้าภิกษุรูปใดพยายามรักษาศีลให้ครบ 227 ข้อเพียงเพื่อหวังลาภสักการะของญาติโยม ในทางตรงกันข้าม หากภิกษุรูปดังกล่าวนี้ไม่ต้องการลาภสักการะก็จะไม่รักษาศีลตามหน้าที่ของบรรพชิตใช่หรือไม่

            ดังนั้น การทำตามคำสั่งแบบมีเงื่อนไขจึงเป็นเสมือน “คำสั่ง” ที่สั่งให้เรากระทำสิ่งซึ่งดีในฐานะที่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งเจตนาไว้

            2) คำสั่งแบบเด็ดขาด (categorical imperative) 

            คือ คำสั่งที่ปราศจากเงื่อนไขใด ๆ เราทำตามคำสั่งเพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เราไม่มีเป้าหมายใด ๆ ในการกระทำนั้น ๆ ดังที่คานท์กล่าวว่า “ถ้าหากการกระทำนั้นดีในตัวเอง และจำเป็นสำหรับเจตนาที่สอดคล้องกับเหตุผล คำสั่งนั้นก็เป็นคำสั่งแบบเด็ดขาด” (Immanuel Kant, 1964)

            การทำตามคำสั่งเด็ดขาดจึงไม่ใช่วิถีทางที่นำไปสู่ความสำเร็จของสิ่งใด ๆ และไม่สัมพันธ์กับความต้องการของใคร คำสั่งเด็ดขาดไม่ได้ให้เรากระทำในสิ่งที่คาดหวังไว้แล้วว่าจะนำไปสู่ความก้าวหน้าเพราะสำหรับคานท์ ความสุขและความทุกข์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อจริยธรรม คำสั่งนี้ไม่ใช่คำสั่งให้เรากระทำตามแรงกระตุ้นใด จึงเป็นคำสั่งที่ปราศจากเงื่อนไข เป็นเรื่องของหน้าที่ สิ่งที่ควรจะทำซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีความคิดทางศีลธรรมจึงปรากฏในรูปประโยคที่ว่า

            จงทำอย่างนี้ เพราะอย่างนี้ถูก

            จงรักษาศีล เพราะการรักษาศีลเป็นสิ่งดี

            กฎศีลธรรมมีลักษณะเป็นคำสั่งเด็ดขาด คำสั่งเด็ดขาดจะกำชับให้กระทำภายใต้หลักการต่อไปนี้

            1. จงกระทำโดยความสำนึกว่าเป็นกฎสากล (Immanuel Kant, 1969)

            2. จงกระทำโดยความสำนึกว่า บุคคลเป็นจุดหมาย ไม่ใช่วิถีไปสู่จุดหมายอื่น (Immanuel Kant, 1969)

            3. จงกระทำโดยความสำนึกว่า ตนมีเสรีภาพ และมนุษย์ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ (Immanuel Kant, 1969)

            กฎศีลธรรมทั้ง 3 ข้อข้างต้น สามารถอธิบายได้ดังนี้

          1) หลักความเป็นสากล (The Principle of Universality)

          ค้านเรียกรูปแบบของกฎศีลธรรมข้อแรกว่า สมการกฎสากล คือ “การทำตัวตามหลักปฏิบัติเฉพาะแต่ที่คุณตั้งใจให้เป็นกฎสากลได้” (Immanuel Kant, 1969) 

            ไมเคิล แซนเดล (Michael J. Sandel) อธิบายว่า “หลักปฏิบัติ” ในความหมายของคานท์คือ หลักปฏิบัติส่วนตัว (maxim) หมายถึง กฎหรือหลักการที่มอบเหตุผลให้กับการกระทำของคุณ เขากำลังบอกว่า เราควรทำตัวตามหลักการเฉพาะแต่ที่ประกาศเป็นสากลได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคานท์ที่ว่า “ในการกระทำนี้เราสามารถจงใจได้ในเวลาเดียวกันที่จะทำให้หลักปฏิบัติส่วนตัวของเรากลายเป็นกฎสากล” (Immanuel Kant, 1785) 

            ยกตัวอย่างในเชิงรูปธรรมได้จากคำถามที่ว่า เป็นความถูกต้องหรือไม่ที่จะให้สัญญาทั้งที่รู้ตัวว่าไม่อาจรักษาสัญญาได้

            สมมติว่า นายดำร้อนเงินมากจนขอยืมเงินจากนายขาว ทั้งที่รู้ดีว่าไม่มีทางใช้หนี้นายขาวได้ในระยะเวลาอันสั้น ผิดศีลธรรมหรือไม่ที่จะสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะใช้หนี้คืนทันที

            “การให้สัญญาจอมปลอมนี้สอดคล้องกับคำสั่งแบบเด็ดขาดหรือไม่ คานท์ตอบว่าไม่ วิธีที่เราจะมองออกว่าสัญญาจอมปลอมของนายดำนี้ขัดกับคำสั่งแบบเด็ดขาดหรือไม่ คือ พยายามทำให้หลักปฏิบัติที่นายดำกำลังจะทำนี้ให้กลายเป็นหลักความเป็นสากล” (Immanuel Kant, 1969)

            หลักความเป็นสากลในกรณีนี้คือ เมื่อใดก็ตามที่คนร้อนเงินจัด เขาควรขอกู้เงินและสัญญาว่าจะใช้หนี้ ถึงแม้จะรู้ตัวว่าใช้หนี้ไม่ได้ คานท์บอกว่า ถ้าคุณพยายามทำหลักปฏิบัตินี้ให้เป็นสากลและทำตามมันจริง ๆ คุณก็จะพบข้อขัดแย้ง เพราะหากทุกคนให้สัญญาจอมปลอมเวลาที่ร้อนเงิน ก็จะไม่มีใครเชื่อในสัญญานี้เลย และที่จริงก็จะไม่มีสัญญาอะไรด้วยซ้ำ เพราะการทำสัญญาจอมปลอมเป็นสากลจะบั่นทอนสถาบัน “การรักษาสัญญา” ตั้งแต่ต้น ทำให้เปล่าประโยชน์และไร้เหตุผลที่ใครจะพยายามหาเงินด้วยการให้คำมั่นสัญญา ข้อขัดแย้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การให้สัญญาจอมปลอมนั้นผิดศีลธรรม เนื่องจากมันขัดกับคำสั่งแบบเด็ดขาด

“เนื่องจากความเป็นสากลของกฎที่เขาตั้งขึ้นหมายความว่า ใครก็ตามที่เชื่อว่าตัวเองจำเป็นต้องทำสัญญาเนื่องจากเงื่อนไขส่วนตัว คือ การจงใจที่จะไม่รักษาสัญญาและคาดหวังผลของการกระทำ กฎของเขาย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อถือที่จะทำสัญญากับเขา แต่จะหัวเราะเยาะกับการยืนยันที่ไร้สาระของเขา” (Immanuel Kant, 1785)

            จากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าการจงใจที่จะให้หลักของตนเป็นสากลนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำ ตัวอย่างนี้จะเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ถ้านำมาเปรียบเทียบกับลัทธิประโยชน์นิยม ซึ่งถือเอาผลของการกระทำอันได้แก่ประโยชน์สุขมาเป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำ

            กรณีที่นายดำร้อนเงินมากจนขอยืมเงินจากนายขาว และจำเป็นต้องโกหกนายขาวเพื่อให้ได้ทำสัญญายืมเงิน เป้าหมายก็เพื่อนำเงินไปช่วยครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก โดยที่เขาเห็นว่าเงินก้อนนี้ไม่ได้ทำให้เพื่อนของเขาได้รับความเดือดร้อน สำหรับประโยชน์นิยมเห็นว่า การโกหกขงชายคนนี้ไม่ผิดเพราะเขาจะเป็นต้องโกหกเพื่อความสุขแก่คนจำนวนมากกว่า เกณฑ์ตัดสินความถูกผิดของการกระทำลัทธิประโยชน์นิยมถือเอาปริมาณของความสุขเป็นตัวตัดสิน

            ส่วนหลักความเป็นสากลของคานท์ ถ้าหลักการส่วนตัวของบุคคลไม่สามารถจงใจให้เป็นกฎสากลได้ หลักการนั้นก็ผิดโดยไม่สนใจเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

            บางคนอาจคิดเห็นว่าคำสั่งแบบเด็ดขาดรูปแบบนี้ฟังไม่ค่อยขึ้น สมการกฎสากลดูคล้ายกับยาชาทางศีลธรรมที่ผู้ใหญ่ใช้ตำหนิเด็กที่ลัดคิวหรือพูดแซงคนอื่น ลองคิดดูว่า “ถ้าทุกคนโกหก” ก็จะไม่มีใครเชื่อคำพูดของกันและกันได้ แล้วเราทุกคนก็จะแย่ ถ้าหากคานท์หมายความอย่างนี้ เขาก็กำลังใช้ข้อถกเถียงแบบผลพวงนิยม (consequentialism) อยู่ดี กล่าวคือ ไม่ได้ปฏิเสธสัญญาจอมปลอมบนหลักการ แต่ปฏิเสธเพราะมันมีผลกระทบหรือผลพวงที่ก่อความเสียหาย

            จอห์น สจ๊วต มิลล์ ยกข้อแย้งที่ว่านี้มาต่อต้านคานท์ แต่มิลล์เข้าใจประเด็นของคานท์ผิด สำหรับคานท์ การมองเห็นว่าผมจะทำหลักปฏิบัติให้เป็นสากลและทำตัวตามหลักปฏิบัตินั้นต่อไปหรือไม่นั้น ไม่ใช่วิธีคาดคะเนว่าน่าจะเกิดผลพวงอะไรบ้าง หากเป็นการทดสอบดูว่าหลักปฏิบัติของเราสอดคล้องกับกฎคำสั่งแบบเด็ดขาดหรือไม่ สัญญาจอมปลอมไม่ได้ผิดทางศีลธรรมเพราะบั่นทอนความไว้วางใจในสังคม (ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ) แต่มันผิดเพราะเรายกความจำเป็นและความปรารถนาของตัวเอง (ในกรณีนี้คือความต้องการเงิน) ไว้เหนือความจำเป็นและความปรารถนาของผู้อื่น แบบทดสอบให้ปรับเป็นสากลนี้ชี้ให้เห็นข้ออ้างทางศีลธรรมที่ทรงพลัง มันเป็นวิธีตรวจสอบดูว่าการกระทำที่เราจะลงมือทำนั้นยกประโยชน์ส่วนตัวของเราให้อยู่เหนือประโยชน์ของผู้อื่นหรือไม่ (Michael J. Sandel, แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 2554)

          2) หลักของมนุษย์ในฐานะที่มีเป้าหมายในตัวเอง (The Principle of humanity as an end-in-itself)

            ในกฎศีลธรรมข้อนี้คานท์ได้เน้นย้ำว่า “จงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับปฏิบัติต่อตนเอง และอย่าทำคนอื่นให้เป็นเครื่องมือ แต่จงคำนึงถึงจุดหมายร่วมกัน” (Immanuel Kant, 1969)

            สิ่งที่เน้นย้ำนี้คือเรื่องความมีคุณค่าในตัวเองของบุคคล โดยถือว่ามนุษย์ที่มีเหตุผลควรปฏิบัติต่อตนเองและบุคคลอื่นในฐานะที่มีจุดหมายในตัวเอง มิใช่ใช้ตนเองและบุคคลอื่นเป็นเครื่องมือไปสู่จุดมุ่งหมายใด ๆ 

            เราเห็นพลังศีลธรรมของกฎคำสั่งแบบเด็ดขาดชัดขึ้นกว่าเดิมในสมการข้อนี้ของคานท์ สมการซึ่งมองว่ามนุษย์เป็นจุดหมายในตัวเอง คานท์แนะนำรูปแบบที่สองของคำสั่งแบบเด็ดขาดดังต่อไปนี้ เราไม่อาจตั้งกฎศีลธรรมอยู่บนผลประโยชน์ เป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายใดโดยเฉพาะได้ เนื่องจากมันจะขึ้นอยู่กับคนที่เป็นเจ้าของผลประโยชน์หรือจุดหมายดังกล่าว “แต่สมมติว่ามีอะไรสักอย่างซึ่งการดำรงอยู่ของมันมีคุณค่าสัมบูรณ์ในตัวเอง” ในแง่ที่มันเป็นจุดหมายในตัวเอง “กรณีเช่นนี้และเช่นนี้เท่านั้นที่เป็นรากฐานให้กฎคำสั่งแบบเด็ดขาดสามารถเกิดขึ้นได้” (Immanuel Kant, 1964)

            อะไรบ้างที่มีคุณค่าสัมบูรณ์ในตัวเอง และเป็นจุดมุ่งหมายในตัวเองได้ คำตอบของคานท์ก็คือ มนุษยชาติ “ผมประกาศว่ามนุษย์ และสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผลโดยทั่วไป ดำรงอยู่ในฐานะจุดหมายในตัวเอง ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใครจะใช้ได้ตามอำเภอใจ” (Immanuel Kant, 1964) คานท์ทวนความจำเราว่านี่คือความแตกต่างระหว่างบุคคลกับสิ่งของ บุคคลเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผล ไม่ได้มีเพียงคุณค่าเชิงเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น แต่มีคุณค่าสัมบูรณ์ คุณค่าในเนื้อแท้ของตัวเอง นั่นคือ สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผลล้วนมีศักดิ์ศรี

            การใช้เหตุผลแนวนี้นำคานท์ไปสู่สมการที่สองของกฎคำสั่งแบบเด็ดขาด “จงทำตัวในทางที่คุณจะไม่ปฏิบัติต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะตัวคุณเองหรือคนอื่นในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่จงปฏิบัติในฐานะที่เป็นจุดหมายในตัวเองพร้อมกันเสมอ” (Immanuel Kant, 1964) นี่คือสมการที่บอกว่ามนุษยชาติคือจุดหมาย

            วิลเลียม เค. ไรท์ (William K. Wright, 1929) ได้นำกฎศีลธรรมข้อนี้มาตีความเกี่ยวกับปัญหาสังคม พบว่า “การใช้ทาส” เป็นความผิด เพราะทาสถูกใช้เพื่อประโยชน์ของคนอื่น และไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะที่มีจุดหมายในตัวเอง “กิจกรรมโสเภณี” ก็เป็นความผิด เพราะผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือสนองตัณหาของผู้ชายโดยการลดค่าในความเป็นบุคคลของผู้หญิงลง แม้ผู้หญิงยินยอมที่จะให้ปฏิบัติเช่นนั้น กรยินยอมส่วนตัวของผู้หญิงก็แสดงถึงการลดระดับความเป็นบุคคลของตัวเอง ซึ่งผิดศีลธรรมเพราะไม่เคารพความเป็นบุคคลของตัวเอง

            นอกจากนี้ การฆ่าตัวตาย การพูดปด การดื่มสุรา การเล่นการพนัน เป็นตัวอย่างของการลดระดับความเป็นบุคคลของตัวเองและใช้ตนเองและ/หรือผู้อื่นเป็นเครื่องมือ “ปฏิบัติต่อคนราวกับเป็นสิ่งของ ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ในฐานะจุดมุ่งหมายในตัวเอง” (Immanuel Kant, 1964)

            ดังนั้น การที่มนุษย์มีจุดหมายในตัวเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในตัวเอง มีเหตุผล และมีศีลธรรมซ่อนอยู่ในตัว มนุษย์จึงมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องในสิ่งที่มีค่าและความมีศักดิ์ศรี โดยไม่ก้าวก่ายและเคารพความเป็นบุคคลของผู้อื่นด้วย

          3) กฎแห่งเสรีภาพ (The Principle of autonomy)

          ถ้าเราอยากเข้าใจปรัชญาศีลธรรมของคานท์ เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า คานท์หมายถึงอะไรเวลาพูดถึงเสรีภาพ ตามสามัญสำนึกทั่วไป เรามักจะคิดว่าเสรีภาพหมายถึงภาวะปลอดอุปสรรคของการทำในสิ่งที่เราอยากทำ แต่คานท์ไม่เห็นด้วย เสรีภาพในมุมมองของเขานั้นเคร่งครัดและเรียกร้องเรามากกว่านี้

            กฎแห่งเสรีภาพ กล่าวว่า “จงกระทำในลักษณะที่เจตจำนงของท่านสามารถถือได้ว่าตัวมันเองเป็นผู้สร้างกฎสากลไปด้วยในขณะเดียวกัน โดยผ่านหลักปฏิบัติส่วนตัวของเจตจำนงเอง” (Immanuel Kant, 1969) กล่าวคือ มนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล (rational being) จึงมีเป้าหมายในตัวเอง จึงเป็นผู้สร้างกฎขึ้นมาโดยการจูงใจให้หลักปฏิบัติส่วนตัวของเขาเป็นสากล และเขาเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎนั้นเขาจึงมีเสรีภาพในแง่เป็นผู้กำหนดกฎสากลด้วยตนเองโดยปราศจากคำสั่งของใคร ซึ่งหมายถึง บุคคลอื่น หรือคำสั่งของพระเจ้า แต่เป็นการกำหนดจากความเป็นเหตุผลซึ่งอยู่ภายในตัวของเขาเองไม่ใช่ถูกกำหนดจากเงื่อนไขภายนอก

            ไมเคิล แซนเดล (Michael J. Sandel) ชี้แจงเสรีภาพในทรรศนะของคานท์ว่า เมื่อเราแสวงหาความสุขเพลิดเพลินและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดเหมือนสัตว์เดรัจฉาน เราไม่ได้ทำตัวเป็นอิสระ แต่ทำตัวเป็นทาสของกิเลส ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามตอบสนองต่อกิเลส ทุกสิ่งที่เราทำก็เป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น ฉันไปทางนี้เพื่อระงับความหิว ไปทางนั้นเพื่อระงับความกระหาย (Michael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 2554)

            สมมติว่า นายแดง รู้สึกกระหายน้ำมาก เขากำลังตัดสินใจว่าจะสั่งเครื่องดื่มอะไรดีเพื่อดับความกระหายที่เกิดขึ้น เขาควรเลือกเป๊ปซี่ สไปรท์ หรือแฟนต้าดี เขาอาจคิดว่ากำลังใช้เสรีภาพในการเลือก แต่สิ่งที่ทำจริง ๆ คือ การหาว่ารสอะไรจะตอบสนองต่อรสนิยมของเขาได้ดีที่สุด รสนิยมที่เขาไม่ได้เป็นคนเลือกเอง คานท์ไม่ได้บอกว่าการตอบสนองรสนิยมของเราเป็นสิ่งผิด ประเด็นของคานท์คือ เมื่อเราทำอย่างนั้นเราก็ไม่ได้เป็นอิสระ แต่ทำตัวตามอิทธิพลที่อยู่นอกตัวเรา กล่าวคือ นายแดงไม่ได้เลือกว่าจะชอบเป๊ปซี่ มากกว่าสไปรท์หรือแฟนต้า แต่เขาชอบมันจริง ๆ

            เป๊ปซี่ มีสโลแกนโฆษณาว่า “เป๊ปซี่ดีที่สุด” (Women, 2558) โฆษณานี้มีความหมายลึกซึ้งของคานท์อยู่ในนั้น (แน่นอนว่าโดยบังเอิญ) เวลาที่เขาหยิบขวดเป๊ปซี่ เขากำลังรู้สึกแบบนั้น เพราะเขาเชื่อฟังโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว ไม่ใช่เพราะมีเสรีภาพ เขาได้ตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่มีสิทธิเลือก เขากำลังเชื่อฟังความอยากของตัวเอง

            คนมักจะเถียงว่าธรรมชาติและการเลี้ยงดูมีบทบาทอย่างไรในการปรับสร้างพฤติกรรมมนุษย์ ความอยากดื่มเป๊ปซี่ (หรือน้ำอัดลมยี่ห้ออื่น) ถูกจารึกอยู่ในรหัสพันธุกรรมของเราหรือว่าถูกกระตุ้นด้วยโฆษณา การถกเถียงเรื่องนี้สำหรับคานท์ไม่ใช่ประเด็น เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรมของนายแดงถูกกำหนดด้วยชีววิทยาหรือการปลูกฝังทางสังคม พฤติกรรมนั้นก็ไม่มีเสรีภาพจริง ๆ คานท์บอกว่าการกระทำที่มีเสรีภาพแท้จริงคือ อัตตาณัติ (การกระทำที่เป็นอิสระ/autonomously) และอัตตาณัติคือการกระทำตามกฎที่เราตั้งให้กับตัวเราเอง ไม่ใช่กฎของธรรมชาติหรือธรรมเนียมสังคม

            ทางหนึ่งที่เราจะเข้าใจ “อัตตาณัติ” ในความหมายของคานท์คือการเปรียบเทียบระหว่างอัตตาณัติกับขั้วตรงข้าม คานท์ประดิษฐ์คำว่า “อัญญาณัติ” (heteronomy) ขึ้นมาใช้อธิบายขั้วตรงข้ามนี้โดยเฉพาะ เวลาที่เราทำตัวตามเหตุปัจจัยนอกเหนือจากตัวเอง เช่น เวลาที่คุณปล่อยลูกบิลเลียด มันก็ตกลงสู่พื้น ขณะที่มันตก ลูกบิลเลียดไม่ได้เป็นอิสระ การเคลื่อนไหวของมันถูกกำกับด้วยกฎธรรมชาติ (ในกรณีนี้คือกฎแรงโน้มถ่วง)

            สมมติว่าเราพลัดตก (หรือถูกผลัก) ลงมาจากอาคารของตึกใบหยก ขณะที่เรากำลังตกสู่พื้น ไม่มีใครพูดว่าผมกำลังทำตัวเป็นอิสระ ความเคลื่อนไหวของเราถูกกำกับด้วยแรงโน้มถ่วง เช่นเดียวกับลูกบิลเลียด

            ทีนี้สมมติว่าเราหล่นลงไปทับอีกคนหนึ่งและทำให้เขาตาย เราจะไม่มีความรับผิดชอบทางศีลธรรมใด ๆ ต่อความตายของผู้โชคร้ายเหมือนกับที่ลูกบิลเลียดไม่มีความรับชอบทางศีลธรรมเมื่อมันตกลงจากที่สูงและไปโดนหัวใครคนหนึ่ง ทั้งสองกรณี สิ่งที่ตกลงมา เรากับลูกบิลเลียดต่างไม่ได้ทำตัวเป็นอิสระ แต่ถูกกำกับด้วยกฎแรงโน้มถ่วง ในเมื่อปราศจากความเป็นอิสระ ความรับผิดชอบทางศีลธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้

            จุดนี้เองคือความเชื่อมโยงระหว่างเสรีภาพในฐานะเป็นอัตตาณัติ (ความเป็นอิสระ) กับความคิดเรื่องกฎศีลธรรมของคานท์ อัตตาณัติไม่ใช่การเลือกวิถีทางที่ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ถูกกำหนด แต่เป็นการเลือกเป้าหมายเพื่อตัวของมันเอง การตัดสินใจที่มนุษย์ทำได้แต่ลูกบิลเลียด (และสัตว์ส่วนใหญ่ทำไม่ได้) ทำไม่ได้ (Michael J. Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล, 2554)

            กล่าวโดยสรุป กฎแห่งเสรีภาพเกิดจากการรวมกันของ “หลักความเป็นสากล” (กฎศีลธรรมข้อที่ 1) และ “กฎที่มนุษย์มีเป้าหมายในตัวเอง” (กฎศีลธรรมข้อที่ 2) มีลักษณะเป็นคำสั่งแบบเด็ดขาด เมื่อกล่าวว่า “ฉันควรจะทำสิ่งนี้” ความหมายก็คือ เพราะสิ่งนี้ดีฉันจึงทำสิ่งนี้ ฉันกระทำโดยปราศจากเงื่อนไขของอำนาจหรือผลประโยชน์ใด ๆ หรือจากแรงโน้มจากอารมณ์ตัวเอง แต่ฉันทำเพราะเหตุผลของฉันจงใจให้กระทำ เมื่อเปรียบเทียบกับคำสั่งแบบมีเงื่อนไขซึ่งปรากฏในรูปที่ว่า “ฉันควรทำสิ่งนี้ ถ้าฉันต้องการสิ่งนั้น” ซึ่งแสดงถึงเจตจำนงของฉันต้องอยู่ใต้อำนาจของกฎภายนอก ฉันกระทำเพื่อประโยชน์บางอย่างที่ซ่อนอยู่ ถ้าฉันไม่ต้องการสิ่งนั้นฉันก็จะไม่ทำ เงื่อนไขของความต้องการสิ่งนั้นกำหนดให้ฉันกระทำลงไป การทำตามคำสั่งแบบมีเงื่อนไขจึงไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 118 - 137.

หมายเลขบันทึก: 710648เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท