เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยม


เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยม

            เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยม สังกัดอยู่ในกระบวนทรรศน์นวยุค เนื่องจากมองเกณฑ์ตัดสินการกระทำว่าเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความรู้สึก สิ่งใดจะให้ประโยชน์สุขมากที่สุดนั้นเป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์ สำหรับชาวประโยชน์นิยม คนดีคือคนที่ยังประโยชน์ให้แก่มหาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจะตัดสินได้ถูกต้องเราต้องมีความรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าทำสิ่งนี้ ความรู้สึกและไสยศาสตร์ บอกเราไม่ได้ ไสยศาสตร์อาจทำให้คนรวนเร มีความสุขชั่วครู่ชั่วยาม แต่ในระยะยาววิทยาศาสตร์ย่อมให้ผลได้ดีกว่า แม้บางครั้งวิทยาศาสตร์ อาจคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นผิดพลาดไปบ้างแต่ก็ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่า (วิทย์ วิศทเวทย์, 2547)

            ดังนั้น เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยมจะมุ่งไปที่ผล มากกว่าจะคำนึงถึงเหตุ เพราะเหตุเป็นเพียง “วิถี” ที่จะนำไปสู่จุดหมายเท่านั้น (John Stuart Mill, 1951) เพราะฉะนั้น การกระทำใด ๆ จึงไม่ถือว่าดีหรือชั่วในตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับผลที่เกิดจากการกระทำนั้นเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงความสุขสูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดตามหลัก “หลักมหสุข” ของมิลล์ที่ว่า “การกระทำจะผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า มันจะก่อให้เกิดประโยชน์เพียงใด สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขหรือหลุดพ้นจากกองทุกข์ การกระทำที่พาไปสู่ความสุข     แก่คนจำนวนมาก เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เป็นความดี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ใช้การคำนวณอย่างถี่ถ้วน การกระทำที่ผิดก็คือ ทำให้เกิดผลเป็นทุกข์แก่คนจำนวนมาก” (S.E. Stunpf, 1971)

            นอกจากนี้ การกระทำใด ๆ จะต้องตีค่าความสุขของตนเท่ากับของคนอื่น ๆ ดังที่มิลล์ได้อธิบายไว้ว่า “ความสุขซึ่งใช้เป็นมาตรฐานของลัทธิประโยชน์นิยมที่จะตัดสินว่า การกระทำใดถูก มิใช่ความสุขส่วนตัวของผู้กระทำ แต่ของทุกคนที่เกี่ยวข้องระหว่างความสุขของผู้กระทำกับของผู้อื่น ลัทธิประโยชน์นิยมเรียกร้องให้ผู้กระทำวางตัวเป็นกลางอย่างเข้มงวด โดยทำตัวเป็นเหมือนผู้ดูไม่เข้าข้างใด” (John Stuart Mill, 1975)

            โดยเฉพาะ “ความปลอดภัย” ลัทธิประโยชน์นิยมถือว่าเป็น “ผลประโยชน์พิเศษที่สำคัญที่สุดของมนุษย์” ในฐานะที่เป็นผลประโยชน์คุ้มครองประโยชน์สุขอื่นทั้งสิ้นที่มนุษย์แต่ละคนจะพึงหาได้จากการใช้ชีวิต ดังคำกล่าวของมิลล์ที่ว่า

“สำหรับผลประโยชน์พื้น ๆ อะไรอื่นทั้งสิ้นนั้น บางคนก็ต้องการและบางคนก็ไม่ต้องการและก็มีมากมายในกลุ่มของมันที่ถ้าหากว่าจำเป็นแล้ว ก็สามารถละทิ้งหรือทดแทนด้วยผลประโยชน์อะไรอื่นได้อย่างสบายใจ แต่สำหรับความปลอดภัยแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถอยู่ได้โดยปราศจากมัน ความปลอดพ้นจากความชั่วร้ายทั้งมวล และคุณค่าของสิ่งที่ดีต่อเราทุกอย่างทั้งหมด เหนือจากในขณะเวลาที่กำลังผ่านเลยไปนั้น เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับมัน เพราะไม่มีอะไรนอกจากความพึงพอใจชั่วขณะที่จะมีค่าต่อเรา ถ้าหากว่าเราอาจจะถูกแย่งชิงทุกอย่างไปได้ในเวลาถัดไป โดยใครก็ตามที่ในขณะนั้นมีความแข็งแรงมากกว่าเรา” (John Stuart Mill, 1951)

 

            ในเรื่องของเขตด้านประโยชน์นั้น เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยมมีขอบเขตอยู่เพียงในโลกนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับโลกหน้า ประโยชน์สุขของเบนธัมและมิลล์จึงอยู่ในระดับโลกนี้ ให้ได้รับความพึงพอใจในโลกนี้ วิธีบรรลุถึงคือ พยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์เกิดความสุขแก่คนจำนวนมากที่สุด ตัวเองก็จะได้รับความสุขเป็นผลสะท้อน แตกต่างกันตรงที่เบนธัมเสนอให้แต่ละคนแสวงหาความสุขส่วนตัวให้มากที่สุดแล้วผลประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิดขึ้นมาเอง ส่วนมิลล์เสนอให้แต่ละคนแสวงหาความสุขส่วนรวมให้มากที่สุดแล้วผลประโยชน์ส่วนตัวจะเกิดขึ้นมาเอง

            เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสรุปได้ว่า เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยมก็คือ “ผลประโยชน์และความสุข” ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (พระมหาจรัญ คมฺภีโร, 2547)

            1) จะต้องเป็นสิ่งที่สามารถให้ประโยชน์สุขได้มากที่สุดและยาวนานที่สุด

            2) จะต้องเลือกสิ่งที่เลวน้อยที่สุด ถ้าหากไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เลือก

            3) จะต้องยึดเอาประโยชน์สุขจำนวนมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุดในสังคมนั้น

              4) จะต้องไม่ลดประโยชน์สุขของตนให้น้อยลงไปกว่าประโยชน์ของผู้อื่นหรือ ไม่ลดประโยชน์ของผู้อื่นให้น้อยไปกว่าประโยชน์ของตน นั่นคือ จะต้องให้เกิดความสุข เสมอหน้ากัน

            5) จะต้องไม่คำนึงถึงเจตนาในการกระทำเป็นสำคัญ แต่ให้ถือเอาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นผลสำคัญยิ่งกว่า เพราะหลักประโยชน์นิยมมีไว้สำหรับตัดสินการกระทำ มิใช่ตัดสินคน การประกอบอาชีพโสเภณีไม่แน่ว่าจะผิด หรือการฆ่าคนอาจจะถูก หากนำมาซึ่งประโยชน์สุขของคนส่วนรวม

            6) จะต้องคำนึงถึงตัวผู้กระทำนั้นด้วยว่าเป็นผู้หนึ่งที่จะได้รับผลของการกระทำนั้นเหมือนกับผู้อื่นในสังคม

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 115-117.

หมายเลขบันทึก: 710647เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท