หลักจริยธรรมในปรัชญาของจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill)


หลักจริยธรรมในปรัชญาของจอห์น สจ๊วต มิลล์  (John Stuart Mill)

 

จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, 1806 - 1873) ผู้รับมรดกความคิดจากบิดาและเบนธัม แม้ว่าทั้งสองท่าน คือ เบนธัมกับมิลล์ จะได้ชื่อว่าเป็นก่อตั้งลัทธิประโยชน์นิยม และมีเป้าหมายคือประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด แต่วิถีที่ดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้นยังมีข้อแตกต่างกันอยู่ รวมถึง การให้ความสำคัญกับปริมาณและคุณภาพของความสุข 

ทั้ง 2 ท่านนี้ ยึดหลัก “การแสวงหาความสุขมากที่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด” (Greatest happiness of the greatest number) จะแตกต่างกันก็ตรงที่ มิลล์ไม่เห็นด้วยกับเบนเธิมที่ว่ามากที่สุด ได้แก่ เข้มขันที่สุดและนานที่สุด มิลล์เห็นว่า ความมากทางปริมาณสู้ความมากทางคุณภาพไม่ได้ เช่น ซาคเครอถิส (Socrates) จะไม่อิจฉาสุกรที่มีความพึงพอใจเข้มข้นกว่าคน เพราะรู้ว่าความพึงพอใจของคนมีคุณภาพสูงกว่า รัฐจึงมีหน้าที่จัดการให้พลเมืองได้รับความพึงพอใจที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างกว้างขวางที่สุด ดังนั้น ลัทธิประโยชน์นิยมจึง “ยึดผลการกระทำเป็นเกณฑ์” ต่างกันก็ตรงที่ว่า เบนเธิมยึดที่ผลประโยชน์ส่วนตัว ให้มนุษย์ทกคนแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนกรอบทางกฎหมาย โดยเชื่อว่า เมื่อทุกคนทำเช่นนี้ ทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์ถ้วนหน้า ผลประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิดขึ้นมาเอง ในขณะที่มิลล์ยึดที่ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มุ่งส่งเสริมให้ทุกคนแสวงหาผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเชื่อว่า ผลประโยชน์ส่วนตัวจะตามมาเอง ดังนั้น แม้ว่าลัทธิของเบนเธิมและมิลล์จะได้ชื่อว่าประโยชน์นิยมเช่นกัน แต่เรียกต่างกัน ลัทธิของเบนเธิมเรียกว่า ประโยชน์ส่วนตัวนิยม (egoistic utilitarianism) และของมิลล์ได้ชื่อว่าลัทธิว่า ประโยชน์ส่วนรวมนิยม (altruistic utilitarianism)

          1. ความเชื่อพื้นฐานทางจริยธรรม

            ความเชื่อพื้นฐานทางจริยธรรมของมิลล์อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนกับเบนธัม คือเชื่อในเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น มิลล์ เห็นว่า หลักการทางศีลธรรมนั้นไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ ชาวประโยชน์นิยมจะยึดเอาผลของการกระทำ เพราะลัทธิประโยชน์นิยมจะไม่ได้ตัดสินที่บุคคล เนื่องจากการดูที่แรงจูงใจเป็นการดูอดีตของการกระทำ การดูผลการกระทำก็คือ การดูอนาคตของการกระทำ เพราะฉะนั้น แรงจูงใจจึงไม่เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำแต่อย่างใด (วิทย์ วิศทเวทย์, ม.ป.ป.) ทรรศนะดังกล่าวนี้เป็นการมองเฉพาะในส่วนของจุดหมายที่พิจารณา สิ่งอื่นทั้งหมดในฐานะเป็นวิถีเท่านั้น ดังคำกล่าวของมิลล์ ที่ว่า “ลัทธิประโยชน์นิยมถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาและเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่น่าพึงปรารถนา ในฐานะเป็นจุดหมาย (The Ends) สิ่งอื่นทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาในฐานะเป็นวิถี (means) ที่จะนำไปสู่จุดหมายเพียงเท่านั้น” (John Stuart Mill, 1951)

            นภาเดช กาญจนะ (ม.ป.ป.) อธิบายถึงแรงจูงใจตามความเชื่อของมิลล์ว่า “หากมีเจตนาหรือความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วทำให้ประโยชน์สุขลดน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่ต้องละเว้นเสีย แต่หาก การกระทำนั้นทำไปเพื่อการเป็นผู้ให้ความอบอุ่น ความเห็นใจ ทำให้ประโยชน์สุขเพิ่มขึ้น (โดยไม่เสียไป) ย่อมเป็นไปได้ที่มนุษย์จะกระทำในลักษณะเช่นนั้น ในกรณีนี้ลัทธิประโยชน์นิยม ก็ไม่ห้าม”

          2. หลักจริยธรรมของมิลล์

            ลัทธิประโยชน์นิยมของมิลล์สามารถศึกษาได้จากแนวคิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

          แนวคิดเรื่องหลักมหสุข

          จอห์น สจ๊วต มิลล์ เป็นนักปรัชญาจริยธรรมชาวอังกฤษ ได้อธิบายให้ทราบว่า ลัทธิประโยชน์นิยมประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 2 ประการ คือ หลักการทั่วไปของอรรถประโยชน์ และหลักการทางจิตวิทยาเกี่ยวกับทฤษฎีธรรมชาติมนุษย์

            ทอม เล เบอแชมป์ ได้อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน ดังกล่าวไว้ว่า

            1. หลักการทั่วไปของอรรถประโยชน์ ได้แก่ การกระทำที่ถูกคือ การกระทำที่สนับสนุนความสุข ส่วนการกระทำที่ถือว่าผิด ก็คือ การกระทำที่สวนทางกับความสุข

            2. หลักการทางจิตวิทยาเกี่ยวกับทฤษฎีธรรมชาติมนุษย์ ได้แก่ ความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานอยู่ที่การปรารถนาประโยชน์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ เพื่อนมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเขา (Tom Le Beauchamp, 1982)

            มิลล์ ได้เสนอกรอบแนวคิดของลัทธิประโยชน์นิยมไว้ว่า “เป็นลัทธิซึ่งยอมรับประโยชน์หรือหลักมหสุขเป็นรากฐาน ถือว่า การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความสุข และการกระทำที่ผิดก็คือ การกระทำที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิด สิ่งที่สวนทางกับความสุข ความสุข หมายถึง ความรื่นรมย์และปราศจากความเจ็บปวด ความทุกข์ (อสุข) หมายถึง ความเจ็บปวดและภาวะไร้ความพึงพอใจ” (John Stuart Mill, 1951)

          แม้ว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของมิลล์ ก็คือ ความสุขหรือการหลุดพ้นจาก ความเจ็บปวด (John Stuart Mill, 1967) แต่ความสุขที่มิลล์ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายของชีวิตนั้นกลับแตกต่างจากความสุขตามแนวคิดของเบนธัม

          แนวคิดเรื่องคุณภาพและปริมาณของความสุข

            แนวคิดเรื่องความสุขด้านคุณภาพและปริมาณนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เกิดความแตกต่างระหว่างทรรศนะของ มิลล์ และ เบนธัม โดยที่ มิลล์ ไม่เน้นด้านปริมาณของความสุขเหมือนกับเบนธัมให้ทรรศนะไว้ แต่ มิลล์ เน้นไปในด้านคุณภาพของความสุข 

            ศักดิ์ชัย นิรัญทวี (2525) ได้อธิบายไว้ว่า คุณภาพของความสุข ที่มนุษย์และสัตว์มีความแตกต่างกันอาจวัดได้จาก

              1. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (sense of dignity) ซึ่งมนุษย์มีเหนือกว่าสัตว์ สามารถเลือกบริโภคความสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า ซึ่งต่างจากสัตว์ที่บริโภคความสุขตาม สัญชาตญาณ

            2. มนุษย์มีสติปัญญา ความรู้ ความฉลาดกว่าสัตว์ มีความละเอียดอ่อน ทางความคิดมากกว่าสัตว์ ในข้อนี้แม้มนุษย์ด้วยกันเองก็มีความแตกต่างกัน เช่น ความสุข ของคนโง่ อาจมีคุณภาพต่ำกว่านักปราชญ์ เป็นต้น

            ความสุขสูงสุดและมีปริมาณมากที่สุดนั้นมีความแตกต่างกัน ทางคุณภาพ ความสุขที่เกิดจากการใช้สติปัญญาในทางสร้างสรรค์สูงกว่า ดีกว่า และประเสริฐกว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสถ้าคนเราได้รับความสุขสองอย่างในขณะเดียวกัน คนฉลาดย่อมเลือกเอาความสุขที่สูงกว่า ดีกว่า และประเสริฐกว่า 

            มิลล์มีความคิดเห็นว่า โดยปกติแล้ว มนุษย์พอใจในความสุขเยี่ยงมนุษย์ และแม้ว่ามีความทุกข์ทรมานอย่างมนุษย์เขาก็ยินดีรับความทุกข์นั้นมากกว่าจะยินดีรับความสุข เยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน การคำนึงถึงศักดิ์ศรี (sense of dignity) นั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น มิลล์ จึงกล่าวว่า (Ethel M. Albert, 1980) “ความสุขบางชนิดมีค่าสูงกว่าและ น่าปรารถนามากกว่าบางชนิด การพิจารณา ถึงค่าของสิ่งอื่น ๆ นั้น เราพึงคิดถึงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหล หากเราจะนึกถึงแต่ปริมาณอย่างเดียวในการพิจารณาถึงค่าของความ พึงพอใจ”

            เมื่อพิจารณาจากทรรศนะของมิลล์จะเห็นว่ามีความขัดแย้งกับเบนธัมมาก เหตุผลก็เพราะมิลล์ได้แยกความสุขออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านปริมาณและด้านคุณภาพ ในขณะที่เบนธัมเน้นเฉพาะในด้านปริมาณเท่านั้น ในทรรศนะของมิลล์ถือว่าคุณภาพของความสุขให้ค่าความพึงพอใจแก่มนุษย์ได้มากกว่า เพราะเป็นความสุขที่ยาวนานและถาวร ผิดกับเบนธัมที่ไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางความรู้สึกของแต่ละบุคคล ดังนั้น การตีค่าความสุขแบบรวม ๆ เบนธัม จึงนับได้ว่าเป็นข้อบกพ่องอย่างมาก สาเหตุนี้เองที่ทำให้มิลล์ได้ปรับปรุงแนวคิดเรื่องประโยชน์สุขขึ้นมาใหม่ โดยได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของความสุขของมนุษย์และสัตว์ไว้ว่า (John Stuart Mill, 1951) “คงมีไม่กี่คนที่ยอมลดตัวลงไปมีชีวิตแบบสัตว์ดิรัจฉาน แม้จะ ถูกชักชวนให้เชื่อว่าจะได้มีชีวิตที่มีความสุขเต็มอิ่มแบบเดียวกับสัตว์ และไม่มีมนุษย์คนใด ที่จะยอมเป็นคนโง่ ไม่มีบัณฑิตคนไหนที่จะยอมเป็นคนเขลา ไม่มีคนที่มีความสูงส่งทางจิตใจ (Noble Mind) และผู้มีจิตสำนึกคนใดที่จะยอมกลายเป็นคนสถุลและเห็นแก่ตัว แม้จะยอมรับว่าคนโง่ คนเขลา และคนพาลจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าตน ในการที่จะได้รับความสุข ผู้ที่สามารถมีความสุขได้สูงกว่าย่อมต้องการอะไร ๆ มากกว่าด้วย แม้ว่าเขาจะอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ เขาก็ไม่ยอมลดตัวลงมาอยู่ในสภาพที่ต่ำกว่า เป็นมนุษย์ที่หิวโหยยังดีกว่าเป็นสุกรที่อิ่มเอม เป็นซาเครอทีสที่ไม่มีความสุข ก็ยังดีกว่าเป็นเจ้างั่งที่สุขสำราญ”

            จะเห็นได้ว่า นอกจากความสุขของมนุษย์และสัตว์จะแตกต่างกันแล้ว มิลล์ยังได้ย้ำเข้าไปอีกว่า แม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองก็ยังมีคุณภาพของความสุขที่แตกต่างกัน ดังวลี ที่เขากล่าวไว้ว่า “เป็นซาเครอทีสที่ไม่มีความสุข ก็ยังดีกว่าเป็นเจ้างั่งที่สุขสำราญ” ซึ่งหมายถึง การที่มนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกบริโภคความสุขได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่ามนุษย์รู้จักคุณภาพของความสุข เพราะคุณภาพของความสุขที่ดีกว่าย่อมให้ค่าความสุขที่ยาวนานกว่าด้วยและการกระทำเช่นนั้นก็เป็นการกระทำเยี่ยงมนุษย์ที่คำนึงถึงศักดิ์ศรี ไม่ใช่การแสวงหาความสุข ตามแรงผลักดันของความต้องการหรือสัญชาติญาณแบบสัตว์ (น้อย พงษ์สนิท, 2527) ดังนั้น มิลล์ จึงกล่าวว่า ความสุขที่พวกเอพิคิวเรียนและเบนธัมได้เสนอไว้นั้นเป็นทรรศนะที่มองมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ เพราะการให้ค่าความสุขระหว่างมนุษย์กับสัตว์เท่าเทียมกัน ดังนั้น เขาจึงกล่าวหาลัทธิของเบนธัมว่าเป็น “ลัทธิสุกร” (John Stuart Mill, 1967)

            หากกล่าวโดยสรุปแล้ว มิลล์พยายามชี้ให้เห็นว่า ความสุขทั่วไปมีอยู่ หลายประเภท คือ 1) ความสุขที่สัตว์มีได้ และ 2) ความสุขที่มนุษย์มีได้

            ในส่วนคุณภาพของความสุขของมนุษย์เองก็มีความแตกต่างกัน คือ 1) ความสุขที่คนฉลาดมีได้ และ 2) ความสุขที่คนโง่มีได้

            และความสุขแต่ละอย่างนั้นก็ให้ค่าความพอใจแก่ผู้ที่ชอบแตกต่างกัน เช่น คุณภาพความสุขของคนฉลาดก็ย่อมมีมากกว่าของคนโง่ ส่วนคุณภาพความสุขของคนโง่ย่อมมีมากกว่าสัตว์ เป็นต้น

          ความเป็นกลางของลัทธิประโยชน์นิยม

            มิลล์ ได้ชี้แจงถึงการวางตัวอย่างเป็นกลางหรือความเป็นกลางของลัทธิของเขาว่า ไม่ใช่ลัทธิที่สนับสนุนประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องเท่านั้น แต่เป็นลัทธิที่สนับสนุนความสุขที่ให้ประโยชน์แก่คนจำนวนมากที่สุด โดยที่มิลล์ยอมรับว่า “หลักตัดสิน การกระทำของลัทธิประโยชน์นิยมไม่ใช่ความสุขที่มากที่สุดของผู้กระทำ แต่เป็นความสุข ที่มากที่สุดของคนทั้งหมด” จากคำแถลงที่ว่า 

            “ข้าพเจ้าได้พูดถึงประเด็นนี้ในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เข้าใจความคิดเรื่องประโยชน์หรือเรื่องความสุข ซึ่งทั้ง 2 นี้เป็นหลักที่ชี้นำการกระทำของมนุษย์ แต่มันมิได้เป็นเงื่อนไขจำเป็นของการที่จะยอมรับหลักตัดสิน (ศีลธรรม) ของลัทธิประโยชน์นิยม เพราะหลักตัดสินของเรามิใช่ความสุขที่มากที่สุดของผู้กระทำ แต่เป็นความสุขที่มากที่สุด ของทั้งหมด เราอาจสงสัยได้ว่า คนที่สูงส่งมีความสุขกับความสูงส่งของเขาหรือไม่ แต่ข้อที่สงสัยไม่ได้ ก็คือ เขาได้ทำให้คนอื่น ๆ มีความสุขมากขึ้น และโลกโดยส่วนรวมก็ได้รับประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น ลัทธิประโยชน์นิยมจะบรรลุเป้าหมายได้ก็โดยปลูกฝังบุคลิกที่สูงส่งให้เกิดขึ้นโดยทั่วไป ตามหลักมหสุขที่ได้กล่าวมาข้างต้น จุดหมายสุดท้ายอันเป็นหลักตัดสินว่าสิ่งอื่น ๆ น่าพึงปรารถนาหรือไม่ ไม่ว่าจะพิจารณาเรื่องสิ่งมีค่าของตนหรือของผู้อื่น ก็คือ การดำรงชีวิตที่ห่างจากความเจ็บปวดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และถึงพร้อมด้วยความสุขสำราญทั้งในทางคุณภาพและปริมาณ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลักนี้ซึ่งตามคติของลัทธิประโยชน์นิยมเป็นจุดมุ่งหมายในการกระทำของมนุษย์จึงจำเป็นต้องเป็นหลักศีลธรรมซึ่งนิยามกันว่า หลักและระเบียบของความประพฤติมนุษย์ การยึดหลักนี้จะทำให้ชีวิตในสภาพที่เราได้เอ่ยมานั้นเป็นชีวิตของมนุษย์จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่เพียงมนุษย์เท่านั้น แต่รวมทั้งสัตว์โลกอื่น ๆ ด้วย ถ้าธรรมชาติอำนวยให้”(John Stuart Mill, 1951)

            ลัทธิประโยชน์นิยมเรียกร้องให้ผู้กระทำวางตัวเป็นกลางอย่างเข้มงวด โดยทำตัวเหมือน ผู้ดูไม่เข้าข้างใด (วิทย์ วิศทเวทย์, ม.ป.ป.) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางระหว่างความสุขของตนเองกับความสุขของส่วนรวมที่ผู้กระทำต้องให้ความสนใจกับประโยชน์ส่วนรวมให้มาก จึงจะเห็นได้ว่าแนวคิดประโยชน์นิยมนั้นไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว แต่สอนให้เล็งเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด

            ในเรื่องความเป็นกลางของลัทธิประโยชน์นิยมนี้ พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน (2543) ได้ให้ทรรศนะว่า “อยู่ตรงกลางระหว่างแนวคิด 2 ลัทธิ คือ แนวคิดแบบอัตนิยม (egoism) ที่ถือว่าประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นที่บุคคลพึงแสวงหา และความคิดแบบปรัตถนิยม (altruism) ที่สอนให้เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น เพราะแนวคิดทั้ง 2 แบบนั้นเป็นลัทธิแบบสุดโต่ง ถือข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป แต่ลัทธิประโยชน์นิยมจะพยายามประนีประนอม 2 แนวคิด ให้เข้ากันได้และไม่ขัดแย้งระหว่างความรู้สึกเกี่ยวกับประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น ลัทธิประโยชน์นิยมจะอยู่ตรงกลาง คือ อย่าลดค่าตัวลงให้น้อยกว่าคนอื่น และอย่าลดค่าคนอื่น ให้น้อยกว่าตน” เพราะฉะนั้น การให้ค่าเท่าเทียมกันของความสุขทั้งของตนเองและผู้อื่นจึงเป็น สิ่งที่มิลล์ถือว่าเป็นความเป็นกลางของลัทธิตนเอง

          แรงจูงใจกับลัทธิประโยชน์นิยม

            ปัญหาเรื่องแรงจูงใจนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งของลัทธิประโยชน์นิยม เนื่องจากมิลล์ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า แรงจูงใจไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำเพียงนิดเดียว (เนื่องน้อย บุณยเนตร, 2539, หน้า 90) แม้จะเกี่ยวข้องกับผู้กระทำก็ตาม แต่ผลการกระทำนั้นไม่ได้ตีค่าของแรงจูงใจใด ๆ เข้าด้วย เช่น คนที่ได้ช่วยเหลือคนที่ตกน้ำให้รอดชีวิตจากการจมน้ำตาย ไม่ว่าแรงจูงใจที่จะช่วยของเขาจะเกิดจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ลัทธิประโยชน์นิยมจะนับที่ผล ของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ ถ้าผลของการกระทำนั้นให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่า ก็ตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นถูกต้อง แต่ถ้าผลของการกระทำใดก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แก่ส่วนรวมก็ตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นผิด 

          ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ต้องทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น

            ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ต้องทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น มิลล์ ตอบว่า เพราะมีเหตุจูงใจ 2 ประการ คือ

            1. ปัจจัยผลักดันภายนอก (external sanction) หมายถึง พลังสนับสนุนให้ ทำตาม ได้แก่ ความคาดหวังที่จะได้รับสิ่งตอบแทนจากธรรมชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม และศาสนา และความกลัวต่อความไม่พอใจของเพื่อนมนุษย์ หรือความกลัวต่อพระเจ้า 

            2. ปัจจัยผลักดันภายใน (internal sanction) หมายถึง พลังสนับสนุนให้ ทำตามหน้าที่ ได้แก่ ความรู้สึกแบบอัตนัยในจิตใจของเรา (Being Subjective in our mind) เป็นความรู้สึกที่อยู่ลึก ๆ ในจิตใจของเรา ที่แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันอันสืบเนื่องมาจาก ความแตกต่างทางด้านสังคม สติปัญญาที่ได้รับการอบรมขัดเกลามาแตกต่างกัน มิลล์เรียกปัจจัยอันเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของมนุษย์นี้ว่า “มโนธรรม” (conscience) ที่ประกอบด้วยความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) ความรัก (love) และความกลัว (fear) อันเป็นสิ่งที่ได้รับการสั่งสมมาจากอดีต มิลล์เรียกว่าเป็น “ลักษณะลึกลับ” ที่เกิดขึ้นและเป็นพันธะที่ทำให้เราต้องทำตามหน้าที่ ดังที่เขา อธิบายไว้ว่า “พลังลึกลับนี่เองที่เป็นตัวห้าม เมื่อเวลาเราจะละเมิดหน้าที่ และถ้าเรา หลงทำผิดไป คือ การละเมิดต่อหน้าที่ เราก็จะเผชิญกับความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกผิดและเสียใจที่ทำอะไรลงไป” (John Stuart Mill, 1951)

            จะเห็นได้ว่า ปัจจัยผลักดันภายนอกและภายในเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึก มีพันธะที่จะต้องทำตามและทำหน้าที่ร่วมกันในสังคม เมื่อมีความเข้าใจและมุ่งประสานประโยชน์ร่วมกันแล้วก็กลายเป็นพันธะสังคมจนกลายเป็นรากฐานความรู้สึกทางสังคมในที่สุด ซึ่งจะเอื้อต่อระบบศีลธรรมแบบประโยชน์นิยมเป็นอย่างยิ่ง

          พื้นฐานทางจิตวิทยากับการยอมรับหลักมหสุข

            มิลล์ ได้กล่าวถึง หลักการด้านจิตวิทยาว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่อาจจะอยู่โดยลำพังได้ เพราะฉะนั้น การก้าวออกมาจากการอยู่อย่างโดดเดี่ยวจึงทำให้มนุษย์จำต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ หลักจิตวิทยาดังกล่าวนี้เองที่ มิลล์ ยอมรับว่า เป็นความรู้สึกที่รุนแรงอยู่แล้ว    ในธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น รากฐานทางจิตวิทยาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของลัทธิประโยชน์นิยมได้ถูกวางไว้อย่างเหมาะสมกับธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์ มิลล์ เน้นว่า “เงื่อนไขสำคัญที่สังคมจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ก็คือ ผลประโยชน์ส่วนรวมจะต้องมาก่อนและได้รับการพิจารณาค่าของผลประโยชน์สมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน” (John Stuart Mill, 1951)

          สรุปลัทธิประโยชน์นิยมของมิลล์

            แนวคิดที่เกี่ยวกับลัทธิประโยชน์นิยมของมิลล์ที่ศึกษามาทั้งหมด สามารถสรุปได้ดังนี้

            1. ความสุขคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่น่าปรารถนา มิลล์ มีทรรศนะว่า มนุษย์นั้น ต่างปรารถนาความสุขเป็นปกติธรรมดา และเป็นสิ่งที่แน่นอนว่าความสุขเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติ  ทุกอย่างของมนุษย์ แต่ถึงอย่างไร มิลล์ก็ให้ทรรศนะที่แตกต่างเกี่ยวกับความสุขว่า ความสุขนั้นมีความแตกต่างกันทางด้านคุณภาพและปริมาณ มิลล์ กล่าวว่า คุณภาพของความสุขนั้นให้ค่าความสุขมากกว่าปริมาณของความสุข และความพอใจของมนุษย์กับสัตว์ก็เป็นคนละส่วนกัน เพราะฉะนั้น ลัทธิของเขาจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ลัทธิประโยชน์นิยมแบบอุดมคติ” เพราะให้ค่าความสุขในด้านอื่น ๆ เช่น ความรัก คุณธรรม ความเห็นใจผู้อื่นว่าเป็นส่วนประกอบของความสุขอีกอย่างหนึ่งด้วย

            2. มิลล์ มีทรรศนะว่า แรงจูงใจหรือเจตนาไม่เกี่ยวกับการกระทำ แรงจูงใจ ไม่อาจจะนำมาเป็นเครื่องตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด แต่ผลของการกระทำต่างหากที่สำคัญและใช้เป็นเครื่องตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด เพราะการกระทำไม่ได้ให้ค่าความถูกผิด ที่ตัวมันเอง แต่ว่าผลการกระทำเท่านั้นที่มีค่าความถูกผิดมากกว่า กล่าวคือ ถูก-ผิดของการกระทำนั้น ไม่แน่นอนตายตัวแต่จะแปรผันตามผลที่เกิด

              3. มิลล์ สอนว่า ไม่ควรเห็นประโยชน์ของคนอื่นมากกว่าประโยชน์ของตนและไม่ควรเห็นประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของคนอื่น มนุษย์ควรให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ตนและผู้อื่นเท่าเทียมกันในทุกหน่วยของความสุข การกล่าวเช่นนี้ถือว่า มิลล์ ได้เสนอความเป็นกลางให้แก่ลัทธิของตนเอง

            4. มิลล์ มีทรรศนะว่าความดีที่แท้จริงนั้นมิใช่การมุ่งหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่ตั้งแต่ต้องมุ่งหาประโยชน์ส่วนรวมให้มากที่สุด แล้วผลประโยชน์ส่วนตนจะติดตามมา เป็นผลพลอยได้ทีหลัง

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 109 - 115

หมายเลขบันทึก: 710645เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท