หลักจริยธรรมในปรัชญาของเจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham)


หลักจริยธรรมในปรัชญาของเจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham)

            ลัทธิประโยชน์นิยมของเบนธัม (Bentham, 1748 - 1832) เป็นนักปรัชญาศีลธรรมชาวอังกฤษและอดีตนักปฏิรูปกฎหมาย ผู้ก่อตั้งลัทธิอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) จัดอยู่ในประเภท “ประโยชน์นิยมแบบสุขนิยม” หรือ “รตินิยม” เพราะมีทรรศนะว่า แรงจูงใจที่ทำให้มนุษย์ทำการที่แท้จริงคือความพึงพอใจ (กีรติ บุญเจือ, 2512) มาตรการเช่นนี้เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ เพราะมนุษย์ มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวมาแต่กำเนิด (Kapila Vatsyayan, 1986) การที่เรากล่าวว่าจะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น เรามักคิดว่าสิ่งนั้นจะให้ประโยชน์แก่เรามากแค่ไหนด้วยกันทั้งนั้น เพราะคนเรานั้นมักจะกระทำทุกสิ่งจากแรงจูงใจของความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่มาจากอุปนิสัย (Raphael, 1981) ดังนั้น กรอบความคิดเหล่านี้จึงเป็นกรอบความคิดโดยรวมอันเป็นพื้นฐานทางปรัชญาของเบนธัม ซึ่งผู้วิจัยได้จัดแบ่งประเด็นในการศึกษาไว้ดังนี้

          1. ความเชื่อพื้นฐานทางจริยธรรม

            ก่อนที่ เบนธัม (Bentham) จะกล่าวถึงอรรถประโยชน์ เขาเริ่มต้นด้วยการยอมรับหลักการทางจิตวิทยาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่า “ธรรมชาติได้จัดให้มนุษย์ผู้อยู่ใต้บงการของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ 2 อย่าง คือ ความเจ็บปวดและความสุข ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่า เราควรทำอะไรดี  อีกแง่หนึ่ง ความสุขก็เป็นมาตรฐานตัดสินความดี และอีกแง่หนึ่ง ทั้ง 2 สิ่งนี้ เป็นแรงจูงใจให้เราทำ พูด และคิด แม้ว่าเราจะพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นอิสระจากการตกอยู่ในอำนาจของทั้ง 2 อย่างนี้ แต่กลับเป็นการพิสูจน์ว่า เรากลับเป็นทาสของความสุขและความเจ็บปวดนั้น” (Jeremy Bentham, 1984)

            จากทรรศนะดังกล่าวของเบนธัม สามารถวิเคราะห์ถึงความมุ่งหมายได้ว่า เขาได้ยอมรับหลักการทางปรัชญาอยู่ 2 ประการ คือ (Kapila Vatsyayan, 1986)

            1) หลักสุขนิยมเชิงจิตวิทยา ด้วยการกล่าวว่า มนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจของความสุขและความทุกข์ ซึ่งเป็นการยืนยันในหลักสุขนิยม

            2) หลักจริยศาสตร์แบบสุขนิยม ด้วยการกล่าวว่า ความสุขเป็นมาตรฐานของการตัดสินความดีและเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์ทำ พูด คิด การกระทำทุกอย่างต่างก็เป็นสิ่งที่ ขึ้นอยู่กับความสุขหรือความทุกข์เท่านั้น ซึ่งเป็นการยืนยันในหลักการของจริยศาสตร์แบบสุขนิยม

            นอกจาก เบนธัม จะยอมรับปรัชญาหลักการอันเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์ ที่แสดงพฤติกรรมออกมาด้วยแรงจูงใจที่สำคัญคือสุขและทุกข์แล้ว เบนธัมยังกล่าวถึงพื้นฐานของมนุษย์ว่า เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวมาแต่กำเนิดด้วย

            เบนธัมมีความคิดเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวมาแต่กำเนิด ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามก่อนที่มนุษย์จะคิดถึงคนอื่น เขาจะต้องคิดถึงตัวเองก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ การพูดหรือการคิดก็ตาม และการที่เขาคิดจะช่วยเหลือคนอื่น ก็เพียงแค่อยากจะได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือนั้น เว้นจากผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่มนุษย์จะหันไปช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ด้วยเหตุนี้ เบนธัมจึงกล่าวว่า “อย่านึกว่าใคร เขาจะกระดิกนิ้วช่วยท่าน นอกจากการช่วยนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เขา คือ เขามองเห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มนุษย์ไม่เคยจะคิดช่วยเหลือใครเปล่า ๆ ธรรมชาติของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุดิบปัจจุบันนี้เอง เขาจะช่วยท่านก็ต่อเมื่อเขาแน่ใจว่า เป็นการช่วยเหลือตัวเขาเองด้วยเท่านั้น” (Kapila Vatsyayan, 1986)

            แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า เมื่อเบนธัมเห็นว่ามนุษย์เห็นแก่ตัวเช่นนั้นแล้ว ทำอย่างไรมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวจะคิดไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ และทำอย่างไร ลัทธิหรือปรัชญาของเขา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลัทธิประโยชน์นิยม

            เบนธัมมีความคิดเห็นว่าการที่จะทำให้คนเห็นแก่ตัวหันมาเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นได้นั้นจะต้องมีความพร้อมในความต้องการของตนเองเสียก่อน เมื่อตนเอง ได้ประโยชน์เพียงพอแล้วประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง (กีรติ บุญเจือ, 2512) เช่น เมื่อรัฐบาลเข้าใจในหลักความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นี้ ก็ควรปล่อยให้ประชาชนเห็นแก่ตัวกัน ตามสบาย เพียงแต่ควบคุมไม่ให้ประชาชนเบียดเบียนกันเท่านั้นก็พอ เมื่อบุคคลคิดเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้วผลดีก็จะเกิดขึ้นมาเอง

          ความสุขในทรรศนะของเบนธัม ได้แก่ ความสุขชนิดใดก็ได้ขอเพียง มีปริมาณมากเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสุขของมนุษย์หรือสัตว์ก็มีค่าเท่ากันในด้านปริมาณ (Being equal in quantity) หมายความว่า ไม่ว่ามนุษย์กินข้าวหรือสุกรกินรำเป็นอาหาร ค่าของความสุขที่ได้ก็ไม่ต่างกัน หรือในทำนองกลับกัน โดยให้มนุษย์เปลี่ยนมากินรำข้าวและ ให้สุกรเปลี่ยนมากินข้าวแทนรำ ค่าของความสุขที่ได้ก็เท่าเทียมกัน ขอเพียงว่าความสุขที่ได้นั้น มีปริมาณมากพอ และการตัดสินว่าการกระทำใดจะถูกหรือผิดก็วัดได้จากค่าความสุขด้านปริมาณนี้เท่านั้น (Kapila Vatsyayan, 1986)

          2. หลักจริยธรรมของเบนธัม

            ความคิดหลักที่เป็นพื้นฐานทางจริยธรรม คือ การสร้างความสุขให้มากที่สุด ความสุขหมายถึง สมดุลสุทธิระหว่างความเพลิดเพลินกับความเจ็บปวด เบนธัม มองว่า การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่สร้างอรรถประโยชน์สูงสุด คำว่า “อรรถประโยชน์” ในความหมายของเขาคืออะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินหรือความสุข และอะไรก็ตามที่ป้องกันความเจ็บปวดหรือความทุกข์

              เบนธัม นิยามความหมายของ “ประโยชน์” (Utility) ในเชิงหลักอรรถประโยชน์ไว้ว่า มีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ 

            1. ประโยชน์ หมายถึง คุณสมบัติที่มีอยู่ในวัตถุที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ความได้เปรียบ ความพอใจ ความดีหรือความสุข

            2. ประโยชน์ หมายถึง คุณสมบัติที่ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ความเจ็บปวด ความชั่วร้าย ความทุกข์ มาสู่ผู้ที่จะได้รับ คือ ถ้าเป็นชุมชน ก็คือ ประโยชน์ เพื่อชุมชน ถ้าเป็นเฉพาะบุคคลก็เป็นความสุขเฉพาะบุคคลนั้น (Jeremy Bentham, 1984)

            กล่าวโดยสรุป ความหมายของหลักอรรถประโยชน์ก็คือ สิ่งที่ก่อให้เกิด ความดี ความพอใจ ความสุข เป็นต้น และอีกความหมายก็คือ สิ่งป้องกันที่ไม่ให้เกิดความเสียหาย ความเจ็บปวด หรือสิ่งที่ไม่ดีอื่น ๆ ที่เกิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 

            นอกจากนี้ เบนธัม ยังได้แบ่งประโยชน์ออกเป็น 2 ประการ คือ ประโยชน์ของชุมชนและบุคคล โดยได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึงประโยชน์ของชุมชนโดยไม่เข้าใจว่าอะไรคือประโยชน์ของบุคคล และการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ถือว่าจะเข้ากับหลักอรรถประโยชน์ได้ก็โดยที่การกระทำนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสุขของชุมชนมากกว่า มีแนวโน้มที่จะลดความสุขของชุมชนนั้น” (Jeremy Bentham, 1984)

            การที่มนุษย์แสวงหาประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น เนื่องจากมีปัจจัยผลักดัน (Sanction) ให้เกิดความเจ็บปวดและความสุข ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ 1) ปัจจัยทางกายภาพ 2) ปัจจัยทางการเมือง การปกครอง 3) ปัจจัยทางสังคมหรือศีลธรรม และ 4) ปัจจัยทางศาสนา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (Kapila Vatsyayan, 1986)

          1) ปัจจัยทางกายภาพ (physical sanction) ได้แก่ ความสุขหรือความเจ็บปวดนั้น   เกิดจากวิถีธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง หรือสิ่งที่สูงส่งเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น เช่น กรณีไฟไหม้บ้านอันเกิดจากการที่เจ้าของบ้านลืมดับเทียน ที่จุดไหว้บูชาพระ และสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านนั้นไม่ได้เป็นความตั้งใจของเจ้าบ้าน ที่จะเผาบ้านตัวเอง ความทุกข์ที่เกิดเช่นนี้ จัดเป็นความทุกข์ที่เกิดจากปัจจัยผลักดันทางกายภาพ

          2) ปัจจัยทางการเมือง การปกครอง (political sanction) ได้แก่ ถ้าความสุขหรือความเจ็บปวดนั้นเกิดจากการตัดสินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับเลือกให้ใช้อำนาจนี้โดยเฉพาะหรือตามเจตจำนงของกษัตริย์หรือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง เช่น นายเมธามีคดีความเรื่องมรดกกับญาติพี่น้อง เมื่อขึ้นศาล ศาลได้ตัดสินว่า นายเมธามีสิทธิ ในมรดก และในที่สุดนายเมธาก็ได้รับมรดกหลายพันล้าน ความสุขที่เกิดขึ้นกับนายเมธานี้ จัดว่าเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองกล่าวคือ ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้น เพราะการตัดสินของผู้พิพากษา ส่วนที่เป็นความเจ็บปวดหรือความทุกข์ก็พิจารณาจากสิ่งตรงข้ามนั้น

         3) ปัจจัยทางสังคมหรือศีลธรรม (moral sanction) ได้แก่ ถ้าความสุขหรือความเจ็บปวดเกิดจากการตัดสินกลุ่มบุคคลที่บังเอิญเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยและการตัดสินนั้น ก็เป็นการตัดสินตามอารมณ์ของแต่ละคนไม่ใช่ตามกฎที่ตกลงกันไว้ เช่น การละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎของสังคมซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นจะนำไปสู่การไม่ยอมรับในสังคมหรือบางคราวก็อาจจะถูกคว่ำบาตรทางสังคมก็ได้ ดังนั้น ผู้คนจึงไม่เห็นแก่ตัวเพราะความกลัวต่อการไม่ยอมรับของสังคมนั้น ยกตัวอย่างเช่น การที่คนในชุมชนที่นางสาวแดงเข้าไปอยู่อาศัยนั้นไม่ชอบนิสัยนินทาชาวบ้านของนางสาวแดง วันหนึ่ง เมื่อนางสาวแดงมีปัญหา ถูกเพื่อนบ้านหลายคนรุมตบ ชาวชุมชนนั้น ก็ไม่เป็นพยานให้นางสาวแดง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวแดงนี้ จัดเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางศีลธรรม กล่าวคือ การตัดสินหรือการพิพากษาทางสังคมนั้นเกิดจากความชอบหรือมิชอบของกลุ่มบุคคลที่ยึดเอาความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นเกณฑ์

          4) ปัจจัยทางศาสนา (religious sanction) ได้แก่ ถ้ามีความสุขหรือ ความเจ็บปวด เกิดจากสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติและมองไม่เห็น และไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน หรืออนาคต เช่น การลงโทษหรือให้รางวัลของพระเจ้าในศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาประเภท เทวนิยมหรืออเทวนิยมก็ตาม และความรักหรือความหวาดกลัวที่ทำให้มนุษย์เกิดความสุขหรือ ความเจ็บปวดขึ้นนี้จัดเป็นความสุข หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพราะสาเหตุหรือปัจจัยทางศาสนา (Jeremy Bentham, 1984)

            หลักการทั้ง 4 ประการนี้ มีส่วนช่วยให้ปัจเจกชนรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ลดความเห็นแก่ตัวลงได้บ้าง แต่อีกแง่หนึ่ง เบนธัม เห็นว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์แม้จะมีแรงบีบเช่นนั้นก็ยังมีความพึงพอใจส่วนตัวเป็นพื้นฐาน เพราะในการเสียสละนั้น ในส่วนลึก ๆ ก็ยังมีความพึงพอใจของตัวเองอยู่ เช่น คนทำบุญเพื่อหวังความดีในโลกหน้า ก็มีคำถามว่าที่ทำไปเช่นนั้นไม่ใช่ทำไปด้วยความพึงพอใจของตนเองหรือ หรือกรณีที่ทำเพื่อส่วนรวม ก็ไม่ใช่เป็นเพราะหวังการยอมรับจากสังคมหรือเพราะต้องการได้รับฐานะทางสังคม เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปัจจัยผลักดันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่บังคับให้มนุษย์ต้องทำเพื่อคนอื่น เพราะเมื่อไม่ทำเช่นนี้แล้วก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมก็ได้ (กีรติ บุญเจือ, 2512)

            จากการศึกษา “ลัทธิประโยชน์นิยมของเจเรมี เบนธัม มาแล้ว ในทุกประเด็นข้างต้น สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

              (1) เบนธัมมีความคิดเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวและ มักแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองเป็นหลัก แม้จะกล่าวว่าทำเพื่อผู้อื่น แต่แท้ที่จริงแล้วก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ดังนั้น การจะให้มนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นต้องให้รางวัลเป็นสิ่งล่อเพื่อเป็นแรงจูงใจ ให้คนกลับมาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะทุกคนย่อมเห็นประโยชน์ของตนเองมาก่อนเสมอ

            (2) สำหรับเบนธัม ประโยชน์สุขส่วนตัวต้องมาก่อนเสมอ เพราะว่า เมื่อมนุษย์ได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นภายหลัง อันนับได้ว่าเป็นผลพลอยได้จากการสนับสนุนเรื่องประโยชน์ของตนเอง

            (3) ความสุขที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องนั้น ต้องให้ค่าความสุข แก่สมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียม เพราะเบนธัม เห็นว่า ความสุขของสิ่งมีชีวิตเท่ากัน ในด้านปริมาณ ดังนั้น สิ่งที่ถือว่ามีประโยชน์มากที่สุดคือ สิ่งนั้นจะต้องให้ความสุขแก่ทุกคน มากที่สุดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตามก็ถือว่ามีประโยชน์ และการกระทำใดก็ตามที่ลิดรอนความสุขของสมาชิกลง การกระทำนั้นถือว่า ไม่มีประโยชน์

            (4) ความสุขในทรรศนะของเบนธัม สามารถวัดได้ ชั่งตวงได้ โดยใช้หลักการคำนวณแบบสุขนิยม (Hedonistic Calculus) โดยยึดหลักของความเข้มข้น ระยะเวลาความแน่นอน ความใกล้ไกล เป็นต้น ที่บุคคลจะสามารถได้รับความสุขนั้นเป็นเกณฑ์

            เนื่องจากความสุขและความเจ็บปวดในทรรศนะของเบนธัมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถวัดและคำนวณได้ โดยใช้หลักเกณฑ์การวัดค่าความสุขและความเจ็บปวด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 4 ประการ ดังนี้ (Jeremy Bentham, 1984)

          1) ความเข้มข้น (intensity) ของ (ความสุข) แต่ละคนว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น คนที่ชอบขนมที่มีรสหวาน ย่อมมีความสุขที่ได้รับประทานขนมที่หวานยิ่งกว่าได้รับประทานขนมที่หวานน้อย ความเข้มข้นของความหวานเป็นตัวตีค่าขนม 2 ชนิดนั้น

          2) ระยะเวลา/ความคงทนถาวร (duration) ของการมีความสุขนั้น เช่น สิ่ง 2 สิ่ง ที่นำความสุขมาให้ มีอย่างอื่นเหมือนกันหมด สิ่งที่ให้ความสุขแก่เราได้นานกว่าหรือ บ่อยกว่าย่อมถือว่ามีค่ามากกว่า

          3) ความแน่นอนหรือความไม่แน่นอน (certainty/uncertainty) คือ มีความมั่นใจว่าการกระทำนั้นจะให้ความสุขที่แน่นอน เช่น กรณีที่สิ่ง 2 สิ่ง มีความเข้มข้นเท่ากัน มีระยะเวลาที่ให้ความสุขเท่ากัน สิ่งที่เราจะหาได้หรือทำให้มีขึ้นมาได้แน่นอนกว่า ย่อมมีค่ามากกว่าเหมือนกับคำที่ว่า อย่าหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า

          4) ความใกล้หรือไกล (propinquity or remoteness) หมายถึง ความใกล้หรือไกลของการแสวงหาความสุข กล่าวคือ สิ่งที่ให้ความสุขอยู่ไม่ไกลจนเกินไปเพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ ย่อมแน่นอนกว่าสิ่งที่อยู่ไกล เช่น การเดินไปต่างจังหวัดเพื่อชื่นชมความสุขชนิดเดียวกับ การอยู่ชื่นชมที่บ้าน การชื่นชมความสุขที่บ้านย่อมมีความสุขมากกว่าเพราะอยู่ใกล้กว่า 

            อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงปัจจัยในการคำนวณความสุขหรือความทุกข์ในตัวของมันเองเท่านั้น แต่หากต้องการวัดค่าแนวโน้มของการกระทำใด ๆ ว่าจะให้ความสุขหรือทุกข์จะต้องพิจารณาปัจจัยอีก 3 ประการคือ

          1) ผลิตภาวะ/ความอุดมสมบูรณ์หรือโอกาส (fecundity or chance) ได้แก่ คำว่า ผลิต นี้เป็นลักษณะของความสุข หมายความว่า ในการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งให้ความสุข อย่างหนึ่งจะมีโอกาสเป็นแนวโน้มอันจะก่อให้เกิดความสุขอย่างอื่นอีกหรือไม่ (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องของความสุขที่เกิดขึ้น) เช่น ความสุขที่เกิดจากการคบเพื่อนในชั้นเรียนย่อมเป็นบ่อเกิดความสุขอื่น ๆ ได้ เช่น ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น

          2) ความบริสุทธิ์ (purity) หมายถึง ในการกระทำอันหนึ่งซึ่งจะนำความสุขมาให้มีโอกาส ที่จะก่อให้เกิดความทุกข์หรือไม่ ถ้าไม่มีก็บริสุทธิ์แต่ถ้ามีก็ไม่บริสุทธิ์ สำหรับคน ที่กระหายน้ำ น้ำดื่มสะอาดย่อมมีค่ามากกว่าน้ำขุ่นและไม่สะอาดซึ่งสามารถระงับความกระหายได้เช่นเดียวกัน แต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

          3) ขอบเขต (extent) ข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า เบนธัมได้แสดงทรรศนะที่เป็นการก้าวผ่านจากจุดที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว ไปสู่จุดที่แสดงถึงความไม่เห็นแก่ตัว เพราะเป็นการเน้นหรือคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนมาก เพราะคำว่า ขอบเขต ในความหมายของเบนธัม ได้แก่ การแผ่ขยายของมัน หมายถึง การกระจายความสุขไปยังคนจำนวนมากกว่า สิ่งที่ให้จำนวนความสุขแก่คนได้จำนวนมากกว่า ย่อมมีค่ามากกว่าหรือดีกว่า (Kapila Vatsyayan, 1986)

            จะเห็นได้ว่า สำหรับเบนธัมแล้ว ความเพลิดเพลินคือความเพลิดเพลิน และความเจ็บปวดก็คือความเจ็บปวด พื้นฐานเดียวที่จะตัดสินประสบการณ์ใดประสบการณ์หนึ่งว่าดีกว่าหรือแย่กว่าอีกประสบการณ์หนึ่งคือ ความเข้มข้นและระยะเวลาของความเพลิดเพลินหรือความเจ็บปวดที่มันสร้างขึ้น ความเพลิดเพลินชั้นสูงหรือคุณธรรมที่สูงส่งกว่าเป็นเพียงอะไรก็ตามที่สร้างความเพลิดเพลินที่เข้มข้นและยาวนานกว่า เบนธัมไม่แยกแยะคุณภาพของความเพลิดเพลินชนิดต่าง ๆ เขาเขียนว่า “ถ้ามันผลิตปริมาณความเพลิดเพลินเท่ากัน เกมพุชพินก็ดีพอ ๆ กับกวีนิพนธ์” (Ross Harrison, 1983)

            อรรถประโยชน์ของเบนธัมได้รับความนิยมสูงมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะมันไม่ตัดสินใคร มองรสนิยมขงคนตามความเป็นจริง ไม่ตัดสินว่าอะไรมีคุณค่าทางศีลธรรมมากกว่ากัน รสนิยมทั้งหมดล้วนมีค่าเท่าเทียมกัน เบนธัมคิดว่า การตัดสินว่าความเพลิดเพลินบางอย่างดีกว่าอย่างอื่นนั้นคือความอวดดี คนบางคนชอบฟังเพลงสากล แต่บางคนชอบฟังหมอลำ ลูกทุ่ง คนบางคนชอบเล่นบัลเลต์ แต่บางคนชอบเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล บางคนชอบอ่านหนังสือของลากอง (Jacques Lacan) แต่บางคนอาจชอบอ่านการ์ตูนโดราเอมอน เบนธัมถามว่า ใครจะตัดสินว่า ความเพลิดเพลินชนิดไหนสูงส่งกว่า มีคุณค่ามากกว่า หรือสูงส่งกว่าชนิดอื่น 

            การปฏิเสธที่จะจำแนกระหว่างความเพลิดเพลินชั้นสูงกับชั้นต่ำเชื่อมโยงกับความเชื่อของเบนธัมที่ว่า เราสามารถประเมินและเปรียบเทียบคุณค่าทั้งหมดไว้บนมาตรวัดเดียวกัน ประสบการณ์ทั้งหลายแตกต่างกันแค่ปริมาณความเพลิดเพลินหรือความเจ็บปวดที่มันสร้าง ไม่ได้แตกต่างกันในเชิงคุณภาพ จึงมีเหตุผลที่จะชั่งน้ำหนักบนมาตรวัดเดียว 

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 102-109.

หมายเลขบันทึก: 710643เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท