คุณค่าของวิชาจริยศาสตร์


คุณค่าของวิชาจริยศาสตร์

จริยศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่เรียนเอาไปทำมาหากินโดยตรงเหมือนกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น วิชาการแพทย์ นิติศาสตร์ สารสนเทศ เป็นต้น เพราะศึกษากันคนละฐานคิด คนละระดับ กล่าวคือ ปัญญามนุษย์อาจแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ (ดูแผนภาพปัญญา 3 ระดับ ประกอบ)

          1. ปัญญาระดับทำมาหากิน เป็นปัญญาพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับมนุษย์ เพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด มีความ สามารถในการแสวงหาปัจจัย 4 ตลอดทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้แก่ชีวิต มนุษย์สามารถแสวงหาปัญญา ในระดับนี้ได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้ศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ทั้งทางสายวิชาการและสายอาชีพ

          2. ปัญญาระดับเข้าใจโลกและชีวิต เป็นปัญญาในระดับสมรรถนะคิด ที่สามารถเข้าใจความเป็นจริง ความจริง ความดี ความงาม ซึ่งเป็นคุณค่าทางนามธรรมที่ลึกซึ้งและซับซ้อน บุคคลใดมีปัญญาชนิดนี้เขาย่อมอยู่ในโลกอย่างผู้เข้าใจโลก และใช้ชีวิตอย่างผู้ที่เข้าใจชีวิต ปัญญาชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเกิดความสงสัยในเรื่องของโลกและชีวิต และหาคำตอบเพื่อให้คลายสงสัยด้วยวิธีการทางปรัชญา ในทางพุทธศาสนาเรียกปัญญาประเภทนี้ว่า จินตามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการคิด)

          3. ปัญญาระดับแก้ปัญหาชีวิต เป็นปัญญาที่ประเสริฐสุดกว่าปัญญา 2 ประเภทแรก เพราะเป็นพื้นฐานทำให้เกิดปัญญาในระดับทำมาหากิน และปัญญาระดับเข้าใจโลกและชีวิต เนื่องจากการเล่าเรียนศิลปะวิทยาเพื่อการประกอบอาชีพ หรือการหาคำตอบในเรื่องของโลกและชีวิต มนุษย์ย่อมพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ ปัญญาในระดับนี้จะช่วยเป็นพลังผลักดันให้การทำมาหากินและการพยายามเข้าใจโลกและชีวิตดำเนินไปด้วยดีบนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นยึดหลักการ 3 กล้า คือ กล้าเผชิญปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ และกล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบ หลัก 3 กล้านี้เองคือ คุณค่าที่ผู้ศึกษาวิชาจริยศาสตร์จะได้รับ เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งโดยส่วนตนและโดยส่วนรวม (กีรติ  บุญเจือ, 2551, หน้า 202 - 204)

 

1. กล้าเผชิญปัญหา

 

          ตามสภาพแท้จริงของจิตใจมนุษย์ เราเกิดมามิใช่เพื่ออยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร แต่เกิดมาเพื่อเผชิญปัญหา การเผชิญปัญหาจึงเป็นการกระทำตามธรรมชาติหรือแก่นแท้ประการแรกของมนุษย์ เราจึงต้องชอบเผชิญปัญหา เห็นปัญหาเป็นอาหารอันโอชา เหมือนไก่เห็นหนอนจะรี่เข้าไปจิกกินอย่างเอร็ดอร่อย ไก่ตัวไหนเห็นหนอนแล้วกลัว ตัวสั่น เป็นไก่ผิดปกติ จะไม่เติบโตและไม่แจ่มใส ในไม่ช้าก็จะตายอย่างน่าสงสาร ผู้ที่คิดว่าเกิดบนกองเงินกองทอง มีกินมีใช้จนตลอดชีวิตก็ไม่หมด ไม่ต้องทำงานให้ลำบาก ไม่ต้องรับผิดชอบ จะได้สุขสบายดี คิดเช่นนี้ย่อมผิดพลาดและสำคัญผิดเหมือนไก่เห็นหนอนแล้วยืนตัวสั่น ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ

          สมมติมีครูใหญ่ 2 โรงเรียน นิสัยตรงกันข้าม ครูใหญ่คนที่หนึ่งกลัวปัญหา เช้าวันหนึ่ง พอมาถึงโรงเรียน ครูน้อยรายงานว่า “นักเรียนตีกันหัวแตกครับ” ครูใหญ่จะแสดงธาตุแท้ออกมาทันทีว่า “โอ้ย เอาอีกแล้ว เรื่องไม่รู้จักหมดเสียที โรงเรียนนี้ไม่รู้บ้าบอคอแตกอะไรหนักหนา เด็กดื้ออย่างวัวอย่างควาย มันไม่ได้กินนมคน กินแต่นมวัว จึงดื้ออย่างวัว อบรมเท่าไร ๆ ก็ไม่เชื่อฟัง หน้าเสาธงก็อบรม ในห้องเรียนก็อบรม โอ้ย! รำคาญเต็มทนแล้ว เป็นครูใหญ่มา 10 ปีนี่ มีแต่ปัญหาให้รำคาญทุกวัน ไม่มีว่างไม่มีเว้นให้หายใจได้ทั่วท้องเลย” ครั้นแล้วก็แสดงบทบาทของผู้ที่กลัวปัญหา ซึ่งจะแก้ปัญหาด้วยวิธีแก้ปัญหา เป็นคราวเคราะห์ร้ายของครูปัญญาที่เผอิญเดินผ่านมาพอดี จึงเป็นเหยื่อให้ครูใหญ่เลี่ยงความรับผิดชอบ โดยโยนความรับผิดชอบให้ครูปัญญาทันที “เอ้าครู! ช่วยจัดการหน่อยนะ” แล้วก็หันหลังกลับราวกับว่าไม่ยอมรับรู้อะไรต่อไปแล้ว ครูปัญญางงเป็นไก่ตาแตก “ซวยแล้วตู จะทำยังไงดีหว่า จะใช้รถของโรงเรียนได้หรือไม่ ครูใหญ่ก็ไม่บอก จะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากไหน ครูใหญ่ก็ไม่แยแส จะถามกลับไปหรือ ก็กลัวจะถูกตะเพิดออกมา” ครูปัญญาคำนึงอยู่คนเดียว ในที่สุดตัดสินใจควักกระเป๋าออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดเพื่อซื้อความรำคาญ เมื่อครูปัญญานำเด็กไปโรงพยาบาลแล้ว ครูใหญ่ของเราก็จะทิ้งตัวลงบนโซฟา โอดครวญกับตัวเองว่า “หมดไปเรื่องนึง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีกก็ไม่รู้ น่าเบื่อจริง ๆ ไม่รู้เมื่อไรจะหมดปัญหาเสียที” ก็คงไม่มีวันหรอก ถ้าลงว่าเป็นอย่างนี้ ครูใหญ่ก็ต้องมีทุกข์ไปจนตาย เป็นตัวอย่างพิสูจน์อริยสัจของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี แต่พิสูจน์ได้เพียงข้อ 1 ข้อเดียว ครูใหญ่เกิดบนกองทุกข์และจะมีทุกข์ไปจนตาย น่าสงสารคนประเภทนี้ที่เกิดมาเป็นคนทั้งทีแต่ไม่ได้ลิ้มรสความเป็นคนอย่างแท้จริงเลย

          ปัญหานี่แปลก มีลักษณะคล้ายผีหลอก สมมติเราเดินผ่านป่าช้าในเวลากลางคืนเดือนมืดมิด ได้ยินเสียงกรอกแกรกบนต้นไม้ คิดว่าผีหลอก ออกวิ่ง ยิ่งวิ่งเร็วเท่าไร ผีก็วิ่งได้เร็วเท่านั้น ยิ่งกลัวเท่าไร ผีก็ยิ่งจะตัวโต แทนที่จะกลัวผีก็ลองเผชิญหน้าผีดูสักทีจะเป็นไรไป จะได้เป็นคนโชคดี  มีประสบการณ์เห็นผีตัวจริง ฉายไฟส่องดูจะพบว่าผีนั้นเป็นเพียงกิ่งไม้แห้งยื่นมือขึ้นไปดึงลงมาทิ้งข้างทางเสีย จะได้ไม่หลอกคนอื่นต่อไปได้อีก ปัญหาก็เช่นกัน ใครยิ่งเกลียดยิ่งกลัว ปัญหาจะเป็นภาระหนักอึ้งให้แบกบนหลัง หากไม่เกลียดไม่กลัว แต่ยินดีต้อนรับเพื่อมีประสบการณ์ใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัญหาจะกลายเป็นอาหารอันโอชาทันที

          ครูใหญ่คนที่สอง เป็นคนชอบเผชิญปัญหา เพราะถือว่าปัญหาเป็นอาหารอันโอชา เป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นโอกาสใหม่ให้ได้โชว์ฝีไม้ลายมือและได้สร้างผลงาน ตื่นแต่เช้ามาโรงเรียนด้วยอารมณ์แจ่มใสกระตือรือร้น ครั้นมีคนมารายงาน “นักเรียนตีกันหัวแตกครับ” เขาจะแสดงธาตุแท้ออกมาทันทีเช่นกัน โดยอุทานว่า “เหรอ อยู่ไหน พาไปดูหน่อยซิ” ครั้นเห็นเหตุการณ์แล้วก็จะกุลีกุจรจัดการ “เร็ว ช่วยกันปฐมพยาบาล ครูประทีปช่วยไปตามคนขับรถมา ช่วยเอาเด็กไปโรงพยาบาลหน่อยนะ เอาเงินไป 5,000 บาท ไม่พอครูจ่ายสำรองไปก่นแล้วมาเบิกเอาทีหลัง หมอว่าอย่างไรอย่าลืมโทรศัพท์บอกผม” ครูใหญ่จัดการเป็นฉาก ๆ อย่างชัดเจนแนบเนียน ราวกับว่ามันในอารมณ์ ครูประทีปครั้นได้ยินเรียกใช้จะคิดอยู่ในใจว่า “โชคดีวันนี้ครูใหญ่ใช้ฉัน ครูอื่นจะอิจฉา รึเปล่าเนี่ย” ครูใหญ่อย่างนี้ใคร ๆ ก็อยากร่วมมือ เพราะร่วมมือกับคนอย่างนี้มีแต่จะได้ มีปัญหาอะไรเขาจะช่วยแก้ให้อย่างเต็มใจและพอใจ ผลงานเขาจะไม่หวงแหน ยกให้เป็นของเราด้วยร่วมมือกับเขาจะได้ทั้งประสบการณ์ ผลงาน และเกียรติประวัติ

          ผิดกับครูใหญ่คนที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย เพราะคนอย่างนั้นหาผลงานยาก หากจะมีบ้างก็หวงแหนยิ่งนัก ไม่ยอมให้คนอื่นมีส่วนร่วม เพราะกลัวจะเสียเปรียบ หากมีความผิดพลาดก็พยายามยกให้เป็นของคนอื่น มีปัญหาพยายามปัดให้คนอื่น แต่ถ้าได้หน้าได้ตาหรือมีผลงานจะหวงไว้เป็นของตนคนเดียว ร่วมงานกับคนอย่างนี้มีแต่เสีย

          ดูชีวิตใกล้ชิดของครูใหญ่คนที่สองต่อไปจะพบว่าเป็นคนร่าเริงแจ่มใสสนุกสนานอยู่เสมอ อยู่บ้านก็สนุก นั่งลงที่ไหนประเดี๋ยวเดียวจะมีคนมานั่งห้อมล้อมคับคั่ง เพราะอยู่ใกล้ชิดคนอย่างนี้สบายใจ ได้ทั้งความสุขและประสบการณ์ใหม่ ๆ เพราะเขามีความสุขที่จะแบ่งปันทุกสิ่งให้แก่ทุกคน เขาเป็นคนโชคดี ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคน และได้ลิ้มรสความเป็นคนอย่างแท้จริง ไม่เสียชาติเกิด เขาเป็นตัวอย่างพิสูจน์อริยสัจของพระพุทธเจ้าได้ทั้ง 4 ข้อ คือ เราเกิดมาบนกองทุกข์ มีทางพ้นทุกข์ เขาพบความสุข และพร้อมที่จะช่วยเหลือให้คนอื่นมีความสุข โดยถือคติว่า “การแสวงหาความสุขบนความสุขของผู้อื่น” เขาช่วยให้คนอื่นมีความสุขมากเท่าใด เขาก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีความสุขมากขึ้น เขาก็อยากให้แก่ผู้อื่นกว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้น

          การแสวงหาความสุขบนความสุขของผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน แต่เป็นของมีจริงและปฏิบัติจริงได้ด้วยหลัก 3 กล้า 

 

2. กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ

 

          คือ เมื่อเรามองดูปัญหาซึ่ง ๆ หน้าอย่างจะ ๆ แจ้ง ๆ แล้วจะเห็นว่าปัญหาไม่ใหญ่อย่างที่เราคิด แต่เมื่อปัญหาชัดเจนแล้วให้ปฏิบัติความกล้าขั้นที่ 2 คือ กล้าประเมินดูว่าปัญหาที่เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ อาจจะแก้ไขได้กี่วิธี เคยเรียนรู้มาอย่างไร เคยเห็นคนอื่นทำมาอย่างไร พ่อแม่ผู้ใหญ่เคยสอนมาอย่างไร ตำราว่าอย่างไร สำรวจดูให้หมด อาจจะหาข้อมูลเพิ่มอีกก็ได้ ให้ใช้ความพยายามสมสัดส่วนกับความสำคัญของเรื่อง ถ้าเรื่องสำคัญมากก็ต้องสืบเสาะให้มากหน่อย เมื่อได้สืบเสาะพอควรกับความสำคัญของเรื่องแล้วก็ให้ประเมินดูว่าวิธีใดใช้แก้ปัญหาได้ดีทีสุด ถ้าวิธีต่าง ๆ เท่าที่รู้ยังไม่น่าพอใจ ก็ลองคิดดูเองว่าจะหาวิธีของตนเองให้ดีกว่าได้ไหม ถ้าพบก็เอาเลย เข้าขั้นที่ 3 ต่อไป

 

3. กล้าลงมือทำด้วยความรับผิดชอบ

 

          นั่นคือ รับผิดชอบให้ดีที่สุดจริง คือ เมื่อลงมือทำไปบ้างแล้ว อาจจะพบว่า วิธีที่เราเลือกใช้โดยประเมินว่าดีที่สุดนั้นไม่ดีที่สุดจริงก็พร้อมที่จะปรับปรุงเพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุดเสมอในทุกระยะที่ลงมือทำการ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เครียดและไม่กังวลใจ ให้ทำไปอย่างคนกระตือรือร้น จิตใจสดชื่นผ่องแผ้ว เมื่อจะพบอะไรก็จะพบเองโดยไม่ต้องฝืน ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตแห่งการแสวงหาอยู่เสมอ ไม่มีคำว่า “พบแล้ว” ในชีวิตของเรามีแต่ “พบเพื่อแสวงหาต่อไป”

          จากการอธิบาย ปัญญาทั้ง 3 ระดับข้างต้น ปัญญาระดับที่หนึ่งคือ ปัญญาระดับทำมาหากิน เกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนศิลปะวิทยาทางวิชาชีพ อุปมาเหมือนลูกไก่ฝึกแสวงหาอาหารกับแม่ไก่ ปัญญาระดับนี้สามารถแสวงหาได้จากการเรียนจากสายวิชาชีพต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลและเอกชนได้จัดตั้งขึ้น ตลอดจนเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นทั้งในส่วนของครอบครัวและเครือญาติ ชุมชน สังคม เป็นต้น

          ส่วนปัญญาในระดับที่ 2 คือปัญญาระดับเข้าใจโลกและชีวิต เกิดจากการเรียนรู้วิชาปรัชญา แล้วใช้ความรู้ทางวิชาปรัชญานั้นมาแสวงหาคำตอบในเรื่องของโลกและชีวิตอย่างผู้ที่เข้าใจ ขจัดอคติและความงมงาย เพื่อเปิดใจยอมรับความหลากหลายในทุกมิติทางความคิดของมนุษย์ เป็นคน  มีน้ำใจกว้างขวาง มีสติรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความเป็นมาและความเป็นไปของโลกและชีวิต

          ปัญญาในระดับที่ 3 คือ ปัญญาระดับแก้ปัญหาชีวิต เกิดจากการเรียนรู้วิชาจริยศาสตร์แล้วนำไปปฏิบัติด้วยหลัก 3 กล้า โดยมีวิจารณญาณเป็น “วิถี” (means) นำทางสู่การแก้ปัญหาในแต่ละระดับ หากเป็นในระดับสูง คือ การพ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็จะเป็นเรื่องของศาสนา ซึ่งแต่ละศาสนาได้วางหลักการ วิธีการ และเป้าหมายแตกต่างกันไป มีทั้งส่วนทฤษฎีและส่วนปฏิบัติ และจำเป็นต้องปฏิบัติเพราะเป็นเรื่องของศาสนา หากไม่มีการลงมือปฏิบัติด้วยความทุ่มเท (commitment) ก็ไม่เรียกว่าศาสนา เพราะขาดศรัทธา (faith) หากศรัทธาก็ต้องทุ่มเท หากไม่ทุ่มเท ไม่ลงมือปฏิบัติ ก็เป็นเพียงเรื่องวิชาการหรือการศึกษาทางด้านปรัชญาเท่านั้น

          ดังนั้น ปัญญาในระดับแก้ปัญหาชีวิตจึงเป็นคุณค่าของวิชาจริยศาสตร์โดยแท้ คนมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดก็มีเยอะ เพราะขาดปัญญาประเภทนี้ ข้อเท็จจริงที่เราพบเห็นกันในสังคมหรือสื่อต่าง ๆ เป็นตัวอย่างและคติสอนใจได้เป็นอย่างดี คนที่ได้ชื่อว่าปัญญาชนของสังคม เรียนจบสูงตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีขึ้นไป แต่กลับมีความประพฤติผิดที่เลว ใช้ความรู้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น  คนเรียนจบสาขาเคมี แต่กลับเอาความรู้ไปผลิตยาบ้าหรือยาเสพติดชนิดใหม่ ๆ เพื่อมอมเมาคนในสังคม โดยหวังกอบโกยผลประโยชน์อันมิชอบ สุดท้ายก็โดนจับเข้าคุกเพราะทำผิดกฎหมาย โดนสังคมประณามเพราะทำผิดจริยธรรม ศีลธรรม ตลอดทั้งสร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงศ์ตระกูลและสถาบันที่ตนศึกษา สถานที่ที่ตนเองทำงาน กลุ่มเพื่อนในสังคมที่ตนเองคบหา เป็นต้น 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 53 - 57.

หมายเลขบันทึก: 710640เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท