ความหมายของจริยธรรม


ความหมายของจริยธรรม

 

          จากการศึกษาแนวคิดของนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนา ปรัชญา และจริยศาสตร์ พบว่า ได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม ไว้ดังนี้

          ราชบัณฑิตยสถาน (2540) มีมติร่วมกันว่า หลักจริยธรรม หมายถึง “ประมวลข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับธรรมจรรยาของสังคม” หรือ “การศึกษาว่าการกระทำอย่างไรถือว่าเป็นความประพฤติที่ถูกหรือผิด”

          สุชีพ  ปุญญานุภาพ (2524) ให้ความหมายว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่ควรประพฤติ ได้แก่ พฤติกรรมหรือการกระทำทางกาย วาจา ใจอันดีงามที่ควรประพฤติปฏิบัติตรงข้ามกับสิ่งที่ควรงดเว้น

          กีรติ  บุญเจือ (2551) ให้คำนิยามไว้ว่า จริยธรรม หมายถึง ประมวลข้อธรรมที่ทำให้คน ๆ หนึ่งหรือคนประเภทหนึ่งเป็นคนดี

          วศิน  อินทสระ (2541) อธิบายและให้ความหมายว่า จริยธรรม แปลว่า ธรรมที่ควรประพฤติ ตามคำแปลนี้ เล็งไปทางฝ่ายดีคือบุญหรือกุศลธรรม จริยธรรม หมายถึง จริยศาสตร์นั่นเอง จริยธรรมหรือศีลธรรมนั้นจะมีความหมายคล้ายคลึงกันกับความเกี่ยวกัน จะเรียกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ได้ โดยทั่วไป ศีล หมายถึง การเว้นสิ่งที่ควรเว้น ธรรม หมายถึง การประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ การที่คนเรารู้แล้วเว้นสิ่งที่ควรเว้นและทำสิ่งที่ควรทำได้นั้น นับว่าเป็นประโยชน์ด้วยตนเองและสังคมอย่างใหญ่หลวง

          ชัยวัฒน์  อัตพัฒน์ (2534) อธิบายว่า จริยธรรม ตรงกับภาษาละตินว่า มอเรส (mores) ซึ่งหมายถึง ระเบียบแบบแผนหรือข้อปฏิบัติ

          เดือน  คำดี (2534) กล่าวว่า จริยธรรมเป็นหลักความประพฤติเพื่อละการกระทำชั่ว เลือกกระทำแต่กรรมดีนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่ควรปฏิบัติให้ได้

          ทองหล่อ  วงษ์ธรรมา (2538) อธิบายไว้ว่า “จริยธรรม” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “จริยะ” แปลว่า ความประพฤติ พฤติกรรม และคำว่า “ธรรม” แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ หมายถึง คุ้มครอง รักษาผู้ประพฤติไว้มิให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เมื่อนำเอาคำว่า “จริยะ” มารวมกับคำว่า “ธรรม” เป็นจริยธรรม จึงแปลตามรูปศัพท์ว่า หน้าที่ที่ควรประพฤติหรือธรรมอันเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

          วิทย์ วิศเวทย์ และ เสฐียร  วรรณปก (2529) ให้ทัศนะว่า จริยธรรม มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต แยกศัพท์เป็น 2 คำ คือ จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ การปฏิบัติ พฤติกรรม การกระทำทางกายกรรม คำว่า ธรรม หมายถึง คำสั่งสอนในศาสนา ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ โดยมีลักษณะดังนี้

          1) ธรรม หมายถึง สภาวะที่เป็นไปอย่างนั้นเอง เช่น ธรรมชาติ ธรรมดา กฎธรรมชาติ

          2) ธรรม หมายถึง ความถูกต้องดีงาม เช่น ความชอบธรรม ความยุติธรรม มีความหมายตรงกันข้ามกับอธรรม

          3) ธรรม หมายถึง สิ่ง หรือปรากฏการณ์ เช่น สังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากสิ่งอื่นหลาย ๆ สิ่ง ทั้งอสังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ปราศจากการปรุงแต่ง เป็นต้น

          4) ธรรม หมายถึง หลักคำสอนโดยทั่วไปของพระศาสดา เจ้าของศาสนาต่าง ๆ เช่น พุทธธรรมเป็นหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คริสตธรรมเป็นหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ เป็นต้น

          เจษฎา ทองรุ่งโรจน์ (2547) นิยามไว้ว่า จริยธรรม หมายถึง ระบบเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณค่าทางศีลธรรม

          วีระ  สมใจ (2535) กล่าวว่า จริยธรรม หมายถึง หลักคำสอนว่าด้วยความประพฤติ เป็นหลักสำหรับให้บุคคลยึดถือในการปฏิบัติตน

          พุทธทาส อินทปญฺโญ (2514) ชี้แจงว่า จริยธรรม ได้แก่ ระเบียบ ซึ่งมุ่งปฏิบัติให้เกิดความผาสุก ความสงบสุข เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ซึ่งมนุษย์ได้ทำขึ้น

          พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต, 2543) ให้ความหมายว่า จริยะ เป็นคำกลาง ๆ แปลว่า การดำเนินชีวิต มาจากคำว่า จร (จะระ) แปลว่า เที่ยวไป คือ เดินไป หรือเดินทาง แล้วทำตามหลักไวยากรณ์ให้เปลี่ยนจากตัวกริยาเป็นนาม ก็เติม อิ และ ยะ เข้าไป (จร + อิ + ณย) จร ก็เป็น จริยะ คือ การเดินทาง จริยธรรมในความหมายของพุทธศาสนากับความหมายที่ใช้อยู่มาจากบัญญัติของนักปราชญ์ชาวตะวันตกไม่เหมือนกัน จริยธรรมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่มบัญญัติขึ้นมาประมาณ 30 กว่าปีมานี้ โดยบัญญัติให้ตรงกับคำว่า Ethic เมื่อก่อนนั้นยังไม่มีคำนี้ มักใช้คำว่าศีลธรรม ในเวลานี้คำว่า ศีลธรรม ค่อย ๆ เลือนหายไป อย่างไรก็ตามคำว่า จริยธรรมไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร เป็นเรื่องศีลธรรมนั่นเอง เป็นแต่เพียงได้มีผู้พยายามให้ความหมายว่าทำไมจึงเรียกจริยธรรม ทำไมไม่เรียกศีลธรรม เพราะคำว่า ศีลธรรมเป็นหลักความประพฤติดีงามที่อิงคำสอนของศาสนา ส่วนจริยธรรมเป็นหลักความประพฤติ ความดีงามที่เป็นกลางไม่อิงศาสนาใด

          พระมหามฆวินทร์  ปุริสุตฺตโม (2544) อธิบายว่า จริยธรรมนี้ เมื่อกล่าวถึงความหมายโดยกว้าง ๆ ก็คือศีลธรรมหรือธรรมที่ควรประพฤตินั่นเอง ส่วนในพระไตรปิฎกได้มีการกล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องและเหมาะสมไว้เหมือนกัน แต่ในพระไตรปิฎกใช้ศัพท์ว่า “ธรรมจริยา” เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการกล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องและเหมาะสม

          Jean Piaget (1960) กล่าวว่า จริยธรรมเป็นลักษณะประสบการณ์ของมนุษย์และหน้าที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการให้ความร่วมมือกันในรูปของสิ่งที่ควรกระทำ

          นอกจากนี้ ท่านยังได้สรุปไว้ว่า จริยธรรม หมายถึง กฎเกณฑ์หรือหลักแห่งการประพฤติปฏิบัติที่แต่ละสังคมสร้างขึ้นและต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคนในสังคมนั้นด้วย (2544)

          จากการให้ความหมายของนักวิชาการ สรุปได้ว่า จริยธรรมเป็นเนื้อหา (detail) ของวิชา                              จริยศาสตร์ ที่ว่าด้วยประมวลข้อธรรมที่ควรและไม่ควรประพฤติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี มีความสุขจากความประพฤติดี ซึ่งเป็นการทำดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีทั้งส่วนจริยธรรมสากลและจริยธรรมทางศาสนา

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป. (2565). ผศ. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาปรัชญาและจริยศาสตร์สมัยใหม่ (PHE 8107). สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า 22 - 25.

หมายเลขบันทึก: 710635เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2022 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท