กระบวนทรรศน์ทางปรัชญา


กระบวนทรรศน์ทางปรัชญา

         การศึกษาปรัชญาตามกระบวนทรรศน์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เป็นการศึกษาที่แตกต่างจากยุคก่อน ๆ ที่เน้นศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ปรัชญา การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ปรัชญาเหมือนกับการศึกษา สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ตายไปแล้วตามประวัติศาสตร์นั้น ๆ แต่การศึกษากระบวนทรรศน์ทางปรัชญา เป็นการศึกษาถึงความเชื่อส่วนลึกทั้งในส่วนอภิปรัชญา(ว่าด้วยความเป็นจริง) และญาณปรัชญา(ว่าด้วยความจริงและเกณฑ์ค้ำประกันความจริง) ซึ่งมีผลต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของผู้ถือกระบวนทรรศน์นั้น ๆ 

          กระบวนทรรศน์เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่ เพื่อแปลคำภาษาอังกฤษว่า paradigm ซึ่งแผลงมาจากคำภาษาละตินว่า paradigma และแผลงมาจากภาษากรีกอีกต่อหนึ่งว่า paradeigma อันเป็นคำนามในภาษากรีก แผลงมาจากคำกริยาว่า paradiknynai (รูป infinitive) ประกอบด้วยคำว่า para หมายถึง ข้างเคียง คู่ขนาน รวมกับคำว่า deiknynai หมายถึง ชี้ให้ดู แสดง พิสูจน์ 

          paradiknynai คำกริยาจึงแปลว่า แสดงให้เห็นคู่เคียงกันไป

          paradeigma คำนามจึงแปลว่า แม่แบบ รูปแบบ (pattern, model) 

          ประมาณปี ค.ศ. ๑๔๗๕ มีผู้ริเริ่มใช้คำว่า paradigm ให้มีความหมายว่า รูปแบบหรือแบบแผน ผู้ที่ริเริ่มใช้คำนี้เป็นคนแรกในวงการวิทยาศาสตร์ ก็คือ Thomas Kuhn (1970) ในหนังสือปรัชญาเชิงประวัติศาสตร์เรื่อง “The Structure of Scientific Revolution” โดยพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ (พิมพ์อีกหลายครั้งในเวลาต่อมา) 

          กีรติ บุญเจือ นิยามไว้ว่า “กระบวนทรรศน์ คือ ความเชื่อพื้นฐานในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ วัย สิ่งแวดล้อม การศึกษาอบรม และการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล กระบวนทรรศน์ไม่ใช่สมรรถนะตัดสินใจ เพราะสมรรถนะตัดสินใจ คือ เจตจำนง แต่เป็นสมรรถนะเข้าใจ และเชิญชวนให้เจตจำนงตัดสินใจ” ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ กระบวนทรรศน์ ดังนี้ 

          กระบวนทรรศน์ที่ ๑ : กระบวนทรรศน์ยุคดึกดำบรรพ์

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่ เชื่อว่า โลก จักรวาล และธรรมชาติไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอน ดังนั้น หากใครหาทางสื่อน้ำพระทัยจากเบื้องบนที่ควบคุมปรากฏการณ์ของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้ ชีวิตจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยและได้เปรียบคนอื่น ครอบครัวอื่น 

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ อำนาจลึกลับจากเบื้องบน

          กระบวนทรรศน์ที่ ๒ : กระบวนทรรศน์ยุคโบราณ

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่ เชื่อว่า โลก จักรวาล และธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ตายตัว แน่นอน ดังนั้น ผู้ใดรู้กฎเกณฑ์ดีที่สุดจะสามารถแสวงหาความสุขในโลกนี้ได้มากที่สุด

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ เจ้าสำนัก เจ้าลัทธิ หรือนักปราชญ์ ที่มีความรอบรู้ในกฎเกณฑ์ของโลก จักรวาล และธรรมชาติ

          กระบวนทรรศน์ที่ ๓ : กระบวนทรรศน์ยุคกลาง

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่ เชื่อว่า โลกหน้ามีอยู่จริง ความสุขในโลกหน้ามีอยู่จริง นอกจากนี้ ความสุขในโลกหน้ายังมีความยั่งยืนกว่าความสุขในโลกนี้ ความสุขในโลกนี้เป็นเพียงความสุขชั่วคราวเท่านั้น

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ คำสอนในศาสนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโลกหน้าและความสุขในโลกหน้า หรือความสุขที่พ้นจากโลกนี้

          กระบวนทรรศน์ที่ ๔ : กระบวนทรรศน์ยุคใหม่หรือนวยุค

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่ ความเชื่อพื้นฐาน ๔ ประการ คือ

          ๑) เชื่อว่า ความเป็นจริง ได้แก่ โลก จักรวาล และธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ตายตัว

          ๒) เชื่อว่า ปัญญามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงที่ตรงกับความเป็นจริงของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้

          ๓) เชื่อว่า ภาษาอุดมการณ์ (ภาษาวิชาการ) ของมนุษย์สามารถสื่อความจริงจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ตรงตามความเป็นจริงของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้

          ๔) ทั้ง ๓ ระบบตรงกัน คือ ความเป็นจริง ปัญญา และภาษา

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ กระบวนการหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ๕ ขั้นตอน คือ 

          ๑) การสังเกตและกำหนดปัญหา

          ๒) การตั้งสมมติฐาน

          ๓) การทดสอบสมมติฐาน

          ๔) การวิเคราะห์ข้อมูล

          ๕) การสรุปผลและนำไปใช้

          กระบวนทรรศน์ที่ ๕ : กระบวนทรรศน์ยุคหลังสมัยใหม่หรือหลังนวยุค

          กระบวนทรรศน์ที่ ๕ แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ สายสุดขั้ว กับ สายกลาง 

          ๑) หลังนวยุคสายสุดขั้ว

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่ ล้มล้างความเชื่อพื้นฐาน ๔ ประการของกระบวนทรรศน์นวยุค คือ

          (๑) ไม่เชื่อว่า ความเป็นจริง ได้แก่ โลก จักรวาล และธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ตายตัว เป็นสากล

          (๒) ไม่เชื่อว่า ปัญญามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงที่ตรงกับความเป็นจริงของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้

          (๓) ไม่เชื่อว่า ภาษาอุดมการณ์ (ภาษาวิชาการ) ของมนุษย์สามารถสื่อความจริงจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ตรงตามความเป็นจริงของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้

          (๔) ไม่เชื่อว่า ทั้ง ๓ ระบบตรงกัน คือ ความเป็นจริง ปัญญา และภาษา

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ เกณฑ์เฉพาะส่วนบุคคลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

          ๒) หลังนวยุคสายกลาง

          ความเชื่อพื้นฐาน ได้แก่

          (๑) ความเป็นจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ 

          (๒) ไม่เชื่อว่าปัญญาของมนุษย์โดยทั่วไปสามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้ทั้งหมด ควรเปิดพื้นที่ให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในส่วนความจริงสากล (universal) และความจริงเฉพาะ (individual) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต 

          (๓) ไม่เชื่อว่า ภาษาอุดมการณ์ (ภาษาวิชาการ) ของมนุษย์สามารถสื่อความจริงจากบุคคลหนึ่ง สู่อีกบุคคลหนึ่งได้ตรงตามความเป็นจริงของโลก จักรวาล และธรรมชาติได้ทั้งหมด ควรเปิดพื้นที่ให้กับภาษาสามัญได้ทำหน้าที่ในการสื่อความจริงสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

          เกณฑ์ค้ำประกันความจริง ได้แก่ การตีความด้วยหลักอรรถปริวรรตศาสตร์อย่างมีวิจารณญาณ

          ส่วนหลักการ วิธีการ และเป้าหมายของกระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้

          ก. หลักการของปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง สามารถสรุปได้เป็น ๔ ประเด็น คือ

          ๑) ไม่ยึดมั่นถือมั่น หมายความว่า การวางท่าทีด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ยึดมั่นถือมั่น (detachment) ว่าสิ่งที่ตนเชื่อเท่านั้นถูกต้องทั้งหมด คนอื่นที่มีเชื่อต่างไปจากตนถือว่าผิดหมด ในทำนองที่ว่า “อิทะ เมวะ สัจจัง โมฆะมัญญัง” (ของฉันนี้เท่านั้นจริง ของคนอื่นที่เห็นต่างไปจากนี้ ถือว่าผิดหมด) เพียงแต่ให้ “ยึดเหนี่ยว แต่ไม่ยึดติด” มีใจเปิดกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รับฟังความคิดของผู้อื่น ไม่ด่วนตัดสิน แต่ให้เกียรติ ให้การยอมรับ ทำความเข้าใจในความรู้และความสามารถที่หลากหลายของมนุษย์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้กับตนเองและผู้อื่นได้ตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ เพื่อจะได้พิสูจน์ความจริงในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ว่าสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตได้                  จริงหรือไม่ เพียงใด และในขณะเดียวกัน ก็พิจารณาในส่วนดีของทุก ๆ ทางเพื่อนำไปประยุกต์ใช้

          ๒) แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง หมายความว่า สิ่งใดที่เห็นร่วมกันก็นำมาปฏิบัติร่วมกัน ส่วนใดที่เห็นต่างกันก็ให้ถือว่าเป็นพรสรรค์ของแต่ละฝ่าย

          เมื่อใดก็ตามที่พลังสร้างสรรค์ของเราไปกระทบคุณภาพชีวิตของคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน พลังที่สำคัญจึงได้แก่ พลังปรับตัว เพื่อปรับและเปลี่ยนวิถีบางอย่างให้เกิดเหมาะสมและสมดุลกับทุก ๆ ฝ่าย ก็จะสามารถทำให้เกิดพลังร่วมมือขึ้นมาได้ 

          ความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่ายที่จะหันหน้าเข้าหากัน โดยใช้วิธีเสวนา (dialogue) โดยเปิดโอกาสให้พิจารณารับส่วนดีได้จากทุกทาง บนฐานแนวคิดที่ว่า “แสวงหาจุดร่วม” ในสิ่งที่เห็นร่วมกัน เพื่อนำมาปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตัวและส่วนรวม และ “สงวนจุดต่าง” ในสิ่งที่เห็นต่างกัน โดยให้ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละฝ่าย เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ๓) ย้อนอ่านใหม่หมด ไม่ทิ้งสิ่งใด หมายความว่า การเปิดใจกว้างเพื่อย้อนอ่านความคิดของมนุษย์ทั้งโลกทุกวัฒนธรรมและทุกลัทธิความเชื่อ โดยถือนโยบายว่า “ย้อนอ่านใหม่หมด ไม่ทิ้งสิ่งใด” (reread all, reject non) ดังนั้น เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็จะย้อนอ่าน (re-read) ทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อเลือกประเด็นที่สนใจมาคิดใหม่ (re-think) และเสนอเพื่อการนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม

          ๔) มององค์รวม ไม่แยกส่วน หมายถึง การมองด้วยโลกทัศน์แบบเชื่อมต่อ (connect) ไม่แยกส่วน เป็นมุมมองที่เชื่อว่าโลก ระบบจักรวาล ทุกสรรพสิ่ง รวมทั้งพลังงานเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว เชื่อว่ารูปแบบพื้นฐานของการรวมตัวของทุกสรรพสิ่งจะทำให้เกิดการแตกตัวขยายไปไม่มีที่สิ้นสุด

          ข. วิธีการของหลังนวยุคนิยมสายกลาง ก็คือ การตีความภาษาด้วยหลักอรรถปริวรรตบนพื้นฐานของกระบวนทรรศน์ ๕ ด้วยวิธีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) 

          การใช้วิจารณญาณ (critical mind) ในภาษาอังกฤษประกอบด้วย “หลัก 3A” ในภาษาไทย ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิต ได้กำหนดเป็น “หลัก ๓ วิ” เพื่อให้ล้อกับหลัก 3A ได้แก่ ๑) วิเคราะห์ (analytic) คือ การจำแนกแจกแจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาให้ตรงประเด็น ๒) วิจักษ์ (appreciative) คือ ประเมินค่าแต่ละประเด็นที่แจกแจงออกมา ๓) วิธาน (applicative) คือ การประยุกต์ใช้ เป็นการลงมือทำการอย่างมีวิธี โดยเลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่าจะเป็นคุณมาใช้ตามเป้าหมาย 

          ค. เป้าหมายของหลังนวยุคนิยมสายกลาง ก็คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ การพัฒนา “สัญชาตญาณปัญญา” ให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งโดยส่วนตนและส่วนรวม สัญชาตญาณปัญญานี้มีพลังทำการอยู่ ๔ อย่าง คือ พลังสร้างสรรค์ พลังปรับตัว พลังร่วมมือ และพลังแสวงหา

          กล่าวโดยสรุปได้ว่า กระบวนทรรศน์ที่ ๕ ไม่ใช่ลัทธิปรัชญาลัทธิหนึ่ง เช่นเดียวกับกระบวนทรรศน์ทั้งหลายล้วนแต่ไม่ใช่ลัทธิปรัชญา แต่เป็นกรอบกำหนดขอบเขตของกลุ่มลัทธิปรัชญาที่มีความเชื่อพื้นฐานแบบเดียวกัน ลัทธิหลังนวยุคเป็นเพียงลัทธิหนึ่ง แม้แต่ลัทธิหลังนวยุคเองก็แตกสาขาออกไปมากมาย ความคิดและเนื้อหาที่น่าสนใจก็มีหลากหลาย แต่ก็ถือว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ แบ่งส่วนกันค้นคว้าวิจัย โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ สันติภาพของโลก และการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรต่อกันระหว่างมวลมนุษย์ บนพื้นฐานแห่งการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ นี่คือความแปลกใหม่ของกระบวนทรรศน์ที่ ๕ 

 

แหล่งอ้างอิง

เมธา หริมเทพาธิป, รวิช ตาแก้ว และคณะ. (๒๕๖๔). “สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน”. รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : ศปป.๕ กอ.รมน. และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. หน้า ๑๔-๑๘.

หมายเลขบันทึก: 710604เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2022 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2022 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กระจ่างแจ้งสำหรับผมในเรื่อง paradigm ขอบคุณครับ….วิโรจน์ ครับ

ขอบคุณครับ ดีใจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท