กิจกรรมบำบัดสู่เป้าหมายการมีงานทำในกลุ่มเปราะบางทางสังคม


สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดลนะคะ จากบันทึกที่ผ่านมาดิฉันได้ลงบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในการประเมินและจัดกิจกรรมรายบุคคลให้กับผู้รับบริการในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งการจัดกิจกรรมก็ได้จบลงไปแล้ว แต่ดิฉันยังมี Mission ที่จะออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานให้กับผู้รับบริการที่ได้ไปประเมินด้วย ก่อนอื่นเราไปดูข้อมูลเกี่ยวกับกรณีศึกษากันก่อนนะคะ

ผู้รับบริการชื่อ: คุณอาภา (นามสมมติ) อายุ 24 ปี 

Dx Schizophrenia (F20) 

ประวัติผู้รับบริการ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ามาใช้บริการที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรีเมื่อเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2564 ปัจจุบันผู้รับบริการทานยาจิตเวชวันละ 5 เม็ด (เช้า-เย็น) และยาถ่าย 2 เม็ด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย มีอาการทางจิตทุเลาลง สามารถดูแลตนเองได้ พูดคุยได้รู้เรื่อง 

       จากการประเมินภาวะเปราะบาง โดยใช้แบบประเมิน PFFS-T พบว่าผู้รับบริการมีความเปราะบางระดับน้อยในด้านจำนวนยาที่รับประทาน การมองเห็น และการได้ยิน และจากการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความต้องการของผู้รับบริการจากการประเมินในครั้งแรก และครั้งที่สอง ผู้รับบริการบอกว่า ต้องการทำงาน เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่มีรายได้ มีความคิดอยากจะไปทำงานซักผ้า-รีดผ้าในโรงพยาบาลกับเพื่อน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ไปทำหรือไม่ และผู้รับบริการยังได้รับรายได้จากการทำหน้าที่ในการทำความสะอาดเสื้อผ้าให้กับคนในหอพักร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน 

       ดิฉันจึงได้ออกแบบกิจกรรมการรีดผ้า เพื่อเป็นการฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผู้รับบริการสนใจ ซึ่งการรีดผ้านี้ ดิฉันได้เลือกการรีดเสื้อยืดที่ทำจากผ้าฝ้าย เนื่องจากผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่สามารถรีดให้เรียบง่าย จึงเหมาะที่จะนำมาให้ผู้รับบริการได้ฝึกในช่วงแรก

วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้

  • เตารีดไฟฟ้าธรรมดา 
  • เสื้อยืดผ้าฝ้าย 
  • กระบอกฉีดน้ำ
  • น้ำเปล่า หรือน้ำยารีดผ้า
  • ไม้แขวน

ขั้นตอนในการทำกิจกรรม (ใช้เวลาทั้งหมด 10 นาที)

  1. เตรียมไม้แขวนสำหรับแขวนเสื้อหลังรีด
  2. พรมน้ำให้ทั่วเสื้อยืดเตรียมไว้เพื่อประหยัดเวลาขณะรีดผ้า
  3. สำหรับการรีดเสื้อยืดผ้าฝ้าย ปรับอุณหภูมิเตารีดไปที่ความร้อนระดับปานกลาง 
  4. เริ่มรีดจากด้านในบริเวณตะเข็บเสื้อด้านข้าง รีดตัวเสื้อ ยกเว้นบริเวณคอเสื้อเพื่อไม่ให้เกิดรอยขอบคอเสื้อบนผ้า โดยรีดด้านหน้าก่อนจากนั้นจึงรีดด้านหลัง และสุดท้ายรีดที่บริเวณแขนเสื้อทั้งสองข้าง
  5. กลับตะเข็บเสื้อออกด้านนอก รีดซ้ำอีกครั้งโดยเริ่มรีดจากตะเข็บเสื้อด้านข้าง ตัวเสื้อด้านหน้า ด้านหลัง และแขนเสื้อตามลำดับ
     

ในการปรับกิจกรรมรีดผ้าให้สอดคล้องกับผลการประเมิน มีรายละเอียดดังนี้

  1. จัดสิ่งแวดล้อมในที่ที่เงียบ เพื่อให้ผู้รับบริการคงความสนใจในการทำกิจกรรมได้นาน เนื่องจากผู้รับบริการวอกแวกง่าย มีความไวต่อสิ่งเร้าทางเสียง
  2. สังเกตระดับการตื่นตัวของผู้รับบริการก่อนการทำกิจกรรมที่ใช้ความร้อนเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากผู้รับบริการมีการทานยาจิตเวช อาจส่งผลให้ผู้รับบริการมีอาการง่วงซึม 
  3. ผู้บำบัดจะต้องสื่อสารให้เสียงดัง ฟังชัด เนื่องจากผู้รับบริการบอกว่าไม่ค่อยได้ยินเสียงหากพูดในความดังระดับปกติ
  4. มีการติดเทปสีในตำแหน่งแกนหมุนเตารีดที่แสดงถึงอุณหภูมิความร้อนแต่ละระดับให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้รับบริการมองเห็นภาพซ้อน อาจเกิดความสับสนเมื่อมองสัญลักษณ์บนเตารีดที่มีลักษณะเป็นจุดเหมือนกัน
  5. มีการพูดให้คิดก่อนตัดสินใจลงมือทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้รับบริการวางแผนการทำงาน เพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้ความร้อน หากไม่วางแผนการทำงานอาจทำให้เสื้อเสียหายจากความร้อนได้

       สุดท้ายนี้ดิฉันก็ขอขอบพระคุณผู้รับบริการที่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมทั้ง 3 ครั้งเป็นอย่างดี เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ดิฉันได้มีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมในผู้รับบริการกลุ่มจิตสังคมแบบรายบุคคล และแบบกลุ่ม ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการประเมิน การจัดกิจกรรม จัดหาสถานที่ในการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 710580เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท