สังคมสูงวัยในกลุ่มชาติพันธุ์ : เราจะไปกันในทิศทางใด (ข้อเสนอเชิงนโยบายจากแม่ฮ่องสอน)


“ป้ารู้แต่ในพื้นที่ของป้าน่ะนะ ให้ช่วยทำช่วยปฏิบัตินี่ได้ แต่จะให้ไปไกลกว่านั้นก็ไม่ถนัด” ป้าเทพินทร์ แกนนำภาคประชาชนคนเก่าคนแก่ที่นั่งติดผมว่า

“ไม่เป็นไรครับป้า ป้าน่ะเหมาะแล้ว เป็นตัวแทนสภาพลเมือง เป็นตัวแทนผู้สูงอายุแม่ฮ่องสอนได้ด้วย ป้าพูดปัญหาเท่าที่ป้าเห็นก็ได้ เดี๋ยวผมเสริมให้เป็นวิชาการ แล้วป้าขึ้นยื่นหนังสือมอบกรรมาธิการต่อเลยนะครับ” ผมคุยเบาๆบอกป้าเตรียมตัวไว้

เวทีคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร วานนี้ (15-11-65) ลงพื้นที่มาในประเด็น ผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน เข้าถึงยาก แถมมาฟังความคิดเห็นกันนี้ ก็มาอย่างยากลำบากเพราะไฟลท์บินดันยกเลิกกระทันหัน เหล่า สส. และคณะกรรมาธิการชุดนี้ ต้องนั่งรถตู้จากเชียงใหม่มากันแทน นั่งยาวๆห้าหกชั่วโมง โค้งเยอะเป็นพัน ถ้าใจไม่ถึงก็คงกลับไปแล้ว อันนี้ทางเราก็รู้สึกซึ้งใจ

แต่ถึงเวทีนี้จะจัดในตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จัดที่วัดบ้านนอก มีห้องประชุมเล็กติดพัดลม ตามประสา อย่างวัดแม่สะงา  แต่ก็เป็นเวทีระดับจังหวัดจังหวัดกรรมาธิการฯ เองก็จำต้องได้รับข้อมูลภาพสะท้อนปัญหาและข้อเสนอในการแก้ไขจากคนทั้งจังหวัด ทีนี้จะทำอย่างไร ในเมื่อเวลาแสนจะจำกัด แถมชุมชนเองก็อยากนำเสนอปัญหาสารพัด ทั้งที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง และไม่เกี่ยวโดยตรง

ผมกับป้าเทพินทร์มาในนามเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งจริงๆก็ทำงานหลายข่ายซ้อนกันอยู่ แต่ถ้าเป็นข่ายใหญ่รวมกันก็ใช้ชื่อ “สภาพลเมือง” วันนี้จริงๆตั้งใจจะให้ประธาน คือ อาจารย์เก ประเสริฐ ประดิษฐ์ เป็นคนยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย พร้อมเอกสารที่ผมเตรียมมาให้คณะฯชุดนี้ แต่ อาจารย์เก ติดเวทีสภาชนเผ่าพื้นเมืองอีกที่ งานนี้ ผมก็เลยต้องเป็นมวยแทนมา ก็ดีใจที่ได้เห็นป้าเทพินทร์ได้มานั่งเก้าอี้ติดกันข้างๆ เลยได้การ เราก็เตรียมส่งประเด็น ส่งพลังต่อกัน

ป้าขออนุญาตเวทีนี้ ให้ประชาชนได้พูดก่อนหน่วยราชการ ซึ่งกรรมาธิการก็เห็นดีด้วย ป้าก็เลยพูดถึงปัญหาในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนเฒ่าคนแก่ หลายอย่าง อันนี้ก็กระทบกับผู้สูงอายุโดยตรงเพราะแม่ฮ่องสอนเราขาดความพร้อมในเรื่องนี้หลายด้านตั้งแต่ เครื่องไม้เครื่องมือ อุปสรรคในการเดินทาง คุณภาพการรับบริการ พอป้าพูดเสร็จ ผมก็ต่อตามข้อเสนอที่เราเตรียมไว้ ซึ่งสกัดจากงานวิจัย และการขับเคลื่อนงาน “สังคมสูงวัย” ร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะโครงการ หรือเรียกง่ายๆว่า “Active Aging” (พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน) ที่ทำร่วมกับพยาบาลศาสตร์ มช.  สป.สว. สสส.  สช. (ตัวย่อเยอะ :-)  ค้นคำแปลเพิ่มเอาทีหลังได้นะครับ)  เป็นเสมือนเจ้าภาพในการบูรณาการเรื่อยมา

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาวะสังคมสูงวัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 5 ข้อดังนี้ครับ

ขอให้คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี  ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ  สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนทุกภาคส่วน......
1.สนับสนุนการนำชุดความรู้และสื่อเรียนรู้สุขภาวะผู้สูงอายุจาก รายงานการศึกษาระบบและกลไกรองรับสังคมผู้สูงวัยเพื่อผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี (Active Aging)ในเขตสุขภาพที่ 1 , คู่มือแนวทางการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยระดับตำบล (ดูเอกสารประกอบ)  รวมถึงเอกสารการถอดบทเรียนพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะสังคมสูงวัยในกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ โดยจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565) ไปใช้ขยายผลและพัฒนาต่อยอด


2.เปิดพื้นที่ให้มีการนำเสนอความเคลื่อนไหวและสนับสนุนการบูรณาการงานสุขภาวะผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับอำเภอ (โดยเฉพาะกลไก พชอ. และ พชต.)โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายผู้สูงอายุ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ตลอดจนแกนนำที่ขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัย เข้าร่วมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น


3.สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตร ชุดความรู้ คู่มือ สื่อการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักพัฒนาชุมชน ในการเสริมสร้างระบบและกลไกสุขภาวะสังคมสูงวัยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการมีพื้นฐานทำงานกับผู้สูงอายุและชุมชนชาติพันธุ์ อย่างสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น


4.สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เข้าถึงผู้สูงอายุ และละเอียดอ่อนต่อความเป็นชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาล่ามชุมชนชาติพันธุ์ นักสื่อสารสุขภาวะชาติพันธุ์ 


5.ผลักดัน สนับสนุนการศึกษา วิจัย การพัฒนาฐานข้อมูลผู้สูงอายุโดยมีมิติแยกความเป็นชาติพันธุ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยหลากหลายชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ทั้งนิ้ ทางเราก็ได้มอบเอกสาร รายงานการศึกษาระบบและกลไกรองรับสังคมผู้สูงวัยเพื่อผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี (Active Aging)ในเขตสุขภาพที่ 1 (เฟสแรก พ.ศ.2562-63) และคู่มือแนวทางการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยระดับตำบล ที่ อาจารย์กรรณิการ์ จาก สำนักงานประสานงานนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ไปพร้อมกับรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาสุขภาวะสังคมสูงวัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ต้องขอบคุณทั้งผู้อยู่เบื้องหน้า และเบื้องหลังการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงเอกสารประกอบดังกล่าวทุกท่าน โดยเฉพาะพี่สุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษา และเลขาอนุกรรมาธิการที่ดูแลกิจการในส่วนงานผู้สูงอายุในชุดนี้ ที่ทักมาทางเฟสบุ๊ค เรื่องเชิญขวนให้เราได้ร่วมนำเสนอ จนกลายเป็นภาพประทับใจในวันนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงเอกสารข้อมูลประกอบจะหายเข้ากลีบเมฆ หรือเป็นแค่ไฟไหม้ฟางไหมผมคิดว่าไม่ ส่วนหนึ่ง คณะกรรมาธิการ (ซึ่งรวมถึงผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆที่อยู่ในคณะฯชุดนี้) จะนำไปสานต่อ อาจจะเป็นข้อเสนอต่อสภา หรือต่อนโยบายพรรคการเมืองของแต่ละพรรคที่มา ซึ่งผมรู้สึกได้ว่า กมธ.ชุดนี้มีความตั้งใจใช้ได้ สส.สัดส่วนชาติพันธุ์ก็มา แกนนำภาคประชาสังคมที่ทำงานชาติพันธุ์ก็อยู่ใน กมธ.ชุดนี้ ก็น่าจะมีความหวังได้บ้าง นั่นก็เป็นส่วนกลาง อำนาจระดับประเทศที่ต้องตามเสริมหนุนกันไป แต่ในระดับพื้นที่ของเรา แม่ฮ่องสอน ก็จะใช้โอกาสนี้ส่งพลัง และใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการตามฝันเพื่อสุขภาวะสังคมสูงวัยร่วมกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 710366เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2022 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท