ทิศทางงานพัฒนาสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (ท้องถิ่น +Global Citizen & Generation Next)


ประชุมเครือข่ายงานสังคมสูงวัย 8 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับคณะพยาบาล มช. เมื่อ 4-5 พ.ย.65 ที่ผ่านมา

เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ เห็นมิตรภาพ สายใย
เห็นการสืบสานของคนรุ่นใหม่ ทีมจังหวัดที่มีคนหลากหลายประสบการณ์ หลากหลายที่มา เพศ วัย 
ได้รู้ทิศทางกระแสใหญ่ที่ประเทศ และโลกกำลังก้าวไป
แล้วโน้มกลับมาดีไซน์งานระดับท้องถิ่นที่เราพอทำไหว

ภาพท้องถิ่น ณ วันนี้ ถ้าทำระดับจังหวัด ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่ใหญ่ มีความซับซ้อนสูงมากตามไป และทำในเชิงคุณภาพก็ลำบาก จึงหันหัวเรือมุ่งไประดับตำบล และ Scale up เป็นอำเภอ เพื่อให้เห็นพื้นที่ที่กว้างขึ้น โดยมี พชอ. หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นกลไกแกนกลาง

แต่อย่างว่า อำเภอแต่ละที่ ศักยภาพก็ไม่เท่ากัน ก็เลือกอำเภอที่มีความพร้อมก่อน เป็น โมเดลพื้นที่ ภาพฝันของที่ประชุมเราเห็นร่วมกันตรงนี้

ช่วงท้าย มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางถึงประเด็นที่อาจมองข้ามไป ในส่วนผมก็ได้เสนอเพิ่มเติมในกลุ่มผู้สูงอายุชายขอบ เช่น การคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนเร่ร่อน ไร้บ้าน กลุ่มพระสงฆ์ที่สูงอายุ ผู้สูงอายุในห้องขัง ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลากหลายทางเพศ ที่อาจจะไม่สะดวกหรือไม่เข้าวงกับงานพัฒนาผู้สูงอายุกระแสหลัก เพราะในกลุ่มผู้สูงอายุเองก็มีช่องว่างกันอยู่ หรือมากกว่านั้นคือความขัดแย้ง อคติ ความเห็นต่างในกลุ่มผู้สูงอายุ (ซึ่งมักไม่มีการพูดในเวที) ตรงนี้อาจจะต้องหาแกนกลางที่เชื่อมได้กับทุกฝ่าย เพื่อหลอมใจเข้าหากัน

นอกจากนี้ ก็อย่ามั่นใจกับฐานข้อมูลเดิมมากนัก เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และคงต้องใช้แผนที่หลายๆอย่างมาซ้อนทับกันเพื่อวิเคราะห์ เช่น เอาแผนที่ทางกายภาพ ทาบกับแผนที่ทางวัฒนธรรม แผนที่ทางเศรษฐกิจ จะทำให้เราเข้าใจพลวัตของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความซับซ้อนและหลากหลายสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

มี 3 เรื่องที่อยากพูด แต่ยังไม่ได้พูดในเวที ก็เลยพิมพ์เอาไว้ตรงนี้

1.พลังสร้างสรรค์ของปัจเจก 
อีกปัจจัยที่ในวงประชุมไม่ค่อยนึกถึง หรืออาจจะมองข้ามไป คือพอเราเอา Area Based เราก็มักจะมองข้ามพลังของ individual หรือผู้สูงอายุที่เป็นปัจเจก อย่าลืมว่าในยุคดิจิตัล และ Disruption การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆหลายเรื่องก็เริ่มมาจากคน หรือคนกลุ่มเล็กๆที่มีพลัง มีเทคโนโลยี มีทุน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงเงินเสมอไป) 

ปัจเจกชนแบบนี้ ได้จุดประกายและขับเคลื่อนด้วย Passion ในตัวเองมาก่อน จากนั้นจึงค่อยมีองค์กร หน่วยงานท้องถิ่นมาแจม และผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำงานข้ามพื้นที่ ข้ามพรมแดนความรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น Post-Structural เป็นคนที่เล่นวินเซิร์ฟบนกระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้อาจจะไม่สนใจยึดติดกับพื้นที่ท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง เพราะเขาละลายตนเองไปกับ Global Citizenship หรือมองตัวเองเชื่อมโยงกับความเป็นพลเมืองโลกมากกว่าเรามาก ในขณะที่เรายังใช้กรอบพื้นที่ชุดเดิมๆ แต่ไม่เป็นไร มันก็มีทางออกที่ใช้ร่วมกันได้ คำถามคือ ทำอย่างไร เราจะเชื่อมกลุ่มคนแบบนี้เข้ามา ในแบบ “Win-Win” Solution

ส่วนตัวคิดว่า จะดู Self Health Care อันเป็น Trend ที่ WHO พูดถึงในปีนี้ ก็ต้องไปดูในระดับปัจเจกให้มากขึ้น จึงจะเห็นของแท้ แล้วค่อยเลาะไปดูชุมชน หรือ Community of Practice ที่ก่อรูปขึ้น ดูแต่ Community of State ไม่พอและอาจจะผิดจุด จะวน Loop การพัฒนาแบบเดิม ทำให้ไม่ไปถึงไหน

 

2.ทุกท่านในที่ประชุมล้วนเห็นพ้องว่า เรามีความจำเป็นต้องชวนเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่เด็กปฐมวัย มาเรียนรู้และขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัยเพิ่มขึ้น เพราะงานสังคมสูงวัยจะทำเฉพาะแต่คนชราไม่ได้ ไปไม่รอด ที่นี้ก็ต้องย้อนกลับมาสำรวจวิธีคิด ทัศนคติของตัวเรา หรือคนอาวุโสทั้งหลายว่า โอเค หรือไม่โอเคกับเด็กวันนี้ในเรื่องไหนบ้าง เพราะเรามักมีแนวโน้มเอา Gen เราเป็นศูนย์กลางอาจจะไม่เรียกถึงขั้นว่า Bias แต่แนวโน้ม รวมถึงเท่าที่เห็นทุกวันนี้มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ 

การจะทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน ไม่ใช่จู่ๆมีใจก็ลงไปเลย เด็ก Gen นี้ โดยเฉพาะ Gen Alpha ซึ่งเป็น Digital Native โดยแท้ ก็มีบริบทอีกอย่าง มีไลฟ์สไตล์ การสื่อสาร วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มเขาอีกอย่าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเปลี่ยนตัวตนมาเพื่อคนรุ่นเรา หรือรุ่นอาวุโส หรือรุ่นใดๆ (ตรงนี้ ต้องระวังความหวังดีของคนรุ่นเก่าไว้ ให่รู้เท่าทัน) ทำอย่างไร เราจะเชื่อมประสานกับเขาโดยที่เขาเองก็มีความสุข มีความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวตนของเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนสูงวัย 

 

ตรงนี้ อาจจะเริ่มที่การปรับจูนวิธีคิด โดยเริ่มจากขบวนของเราก่อน แล้วไปเชื่อมกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่มีความสนใจ มีความพร้อมเข้ามา แล้วออกแบบกันต่อไป อย่างอิสระ ตามบริบท ภูมิสังคม ปัจจัย อาจจะเป็นสามสี่ห้ารูปแบบก็ได้

เพราะคงไม่มีการพัฒนาหรือแผนงาน โครงการแบบไหนที่ดีที่สุด หรือใช้ได้ไปตลอด มันต้องเปลี่ยน และวงรอบการเปลี่ยนมันก็เร็วขึ้น ฉะนั้นการทำทางเลือกเอาไว้ ก็จำเป็น

 

3.อีกสิ่งที่อยากจะพูดในเวที แต่เวลาน้อย เลยยังไม่ได้พูดก็คือ การกลับมาที่ Self-Management การจัดการตนเอง ไม่ว่าจะ Re-skill , up-skill ในเรื่องต่างๆ การทำ Work -Life Balance การเติมความรู้ และประสบการณ์ที่หลากหลาย และไม่ลืมที่จะมีวิธีสร้างความสุขที่ง่ายและงามยิ่งขึ้น

 

ทั้งหมดนี้คือการ After Action Review : AAR เวทีพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัย 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้คณะพยาบาลศาสตร์ มช. กับ สสส.มาสนับสนุน รอบนี้มีทาง สปสว.มาเป็นวิทยากรถือว่าครบเครื่อง ผมก็ถือโอกาสนี้พิมพ์ AAR พร้อมเสนอประเด็นเติมเต็มกันมาพอสมควร ถือว่าน่าจะครบถ้วนที่ตนเองเก็บความมาได้ รวมถึงที่สะท้อนกลับออกไปก็ได้นำมาพิจารณา 

 

แน่นอนว่า หลายเรื่องคงต้องทำเป็น R&D หรือวิจัยเชิงพัฒนา จะด่วนเอาต้นทุน กลไกเก่ามาปัดฝุ่น ปรับใช้ก็อาจจะลวกๆเกินไป อย่างว่าครับ โลกหมุนเร็ว อะไรที่ไม่แน่นอนมากมาย หลายอย่างสูญสลายอย่างไม่น่าเชื่อ หลายอย่างอุบัติใหม่อย่างที่คาดไม่ถึง สิ่งเหล่านี้ เราต้องการองค์ความรู้ และการออกแบบการจัดการ การขับเคลื่อนที่สอดรับกับความผันผวน และซับซ้อน ลื่นไหล   หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อไปแก่เครือข่าย ตลอดจนผู้ที่สนใจครับ

หมายเลขบันทึก: 710281เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2022 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2022 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท