สะท้อนคิดเรื่องโรงเรียนสาธิต


 

เป็นที่รู้และยอมรับกันทั่วไปว่า โรงเรียนสาธิตในประเทศไทย ไม่ได้ทำหน้าที่ตามชื่อ demonstration school    เพราะไม่ได้ทำงานสาธิตรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้แก่วงการศึกษาของประเทศ   

แต่เมื่อผมใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องโรงเรียนสาธิต ซึ่งสังกัดคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น    ผมก็ยิ่งตระหนักในความย้อนแย้งในวิธีคิดหรือหลักการของ “โรงเรียนสาธิต”    โดยผมไม่รับรองว่าข้อสะท้อนคิดที่เสนอในบันทึกนี้จะเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง     จัดเป็นการคิดสร้างสรรค์แบบฟุ้ง (divergent thinking)   

ผมตั้งข้อสงสัยว่า แนวคิดเรื่อง “โรงเรียนสาธิต” น่าจะเป็นแนวคิดที่ผิด     คือเป็นแนวคิดว่าโรงเรียนสาธิตทดลองรูปแบบการจัดการเรียนรู้    ให้โรงเรียนอื่นๆ นำรูปแบบนั้นไปใช้    ผมมีความเห็นว่า แนวคิดนี้อาจจะถูกต้องเหมาะสมเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว    แต่ไม่น่าจะถูกต้องในสภาพปัจจุบันและอนาคต     ที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ในลักษณะ VUCA/BANI   

ในยุคนี้ ไม่ว่าทำงานอะไร    การทำตามรูปแบบมาตรฐานตายตัว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ     กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีมาตรฐาน    แต่ไม่ควรยึดมาตรฐานตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานด้านวิธีการ   ผู้ปฏิบัติควรยึดมาตรฐานผลลัพธ์   แต่หาทางปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสมต่อบริบทของตน โดยไม่ยึดมาตรฐานวิธีการแบบตายตัว   

ที่จริงแม้มาตรฐานผลลัพธ์ ก็น่าจะใช้เป็นข้อท้าทาย    และหากมีโอกาส ก็หาทางทำให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่กำหนดในมาตรฐาน   โดยมีคำอธิบายอย่างชัดเจน

ผมมีข้อเตือนใจว่า มาตรฐานผลลัพธ์ และมาตรฐานวิธีการหรือกระบวนการ อาจชักจูงให้เรามี Fixed Mindset    เป็นการทำลายหรือลดทอน Growth Mindset    หากเรายึดถือมาตรฐานเหล่านั้น แบบตายตัว   

แนวคิดเรื่องโรงเรียนสาธิต จึงอาจก่อ Fixed Mindset โดยเราไม่รู้ตัว

ข้อย้อนแย้ง อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่อง Education Equity 

กระบวนทัศน์เรื่องโรงเรียนสาธิตในประเทศไทยคือ เป็นโรงเรียนชั้นยอด สำหรับครอบครัวที่โชคดีลูกหลานได้มีโอกาสเข้าเรียน   ผมก็เคยคิดแบบนี้เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว เมื่อลูกสาวคนที่สอง ที่อยู่กับป้าที่กรุงเทพ สอบเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตประถม ของจุฬาฯ ได้   เห็นได้ชัดเจนว่าลูกสาวคนนี้ได้รับการศึกษาที่ยอดเยี่ยมติดตัวมาจนปัจจุบัน       

แนวคิดดังกล่าว ตรงกันข้ามกับหลักการความเสมอภาคทางการศึกษา     เพราะเป็นแนวคิดว่า เป็นโรงเรียนที่ดีกว่าโรงเรียนอื่นๆ   อยู่ในกลุ่มโรงเรียนเกรด เอ (ซึ่งมักเป็นความจริง)    แนวคิดว่า ระบบการศึกษาของประเทศย่อมต้องมีโรงเรียนเกรด เอ บี  ซี เป็นปกติธรรมดา     เป็นแนวคิดที่เชื่อในความไม่เสมอภาคทางการศึกษา     ระบบการศึกษาไทยเดินตามแนวคิดนี้    และเข้าใจว่า สหรัฐอเมริกา ก็เดินตามแนวคิดนี้

ประเทศฟินแลนด์ มีระบบการศึกษาที่ใช้แนวคิดที่ต่าง   คือดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนทั่วทั้งประเทศมีคุณภาพเท่าเทียมกันหมด    เป็นโรงเรียนเกรด เอ ทั้งประเทศ  รวมทั้งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล    ซึ่งมีราวๆ ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ    

 จะเห็นว่า แนวคิดโรงเรียนสาธิตของไทย กลายเป็นตัวแพร่เชื้อ การยอมรับความไม่เสมอภาคทางการศึกษา     โดยเราไม่รู้ตัว    ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของไทย จึงมีรากเหง้าที่ลึกมาก   มีรากเหง้าอยู่ร่วมกับกระบวนทัศน์ว่า เป็นปกติที่สังคมต้องมีความเหลื่อมล้ำ   เพราะคนเราเกิดมาแตกต่างกัน    และคนเราแต่ละคนต้องตะเกียกตะกายหาทางยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง   พ่อแม่ต้องหาทางปูทางชีวิตสู่อนาคตที่ดีให้แก่ลูก   โดยหาทางให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพสูง     โดยคนไทยไม่มีแนวคิดเรื่องร่วมแรงร่วมใจกันทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพสม่ำเสมอกัน    ผมเองก็อยู่ในกลุ่มนี้   จนมาสนใจเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้    จึงตระหนักในการบวนทัศน์ที่ผิดของตนเอง   

หนังสือ Prepared : What Kids Need for a Fulfilled Life ที่แปลเป็นหนังสือแปลในชื่อ เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’  โรงเรียนเตรียมคนพร้อมสู้อนาคต  บอกผมว่า โรงเรียนในเครือ ‘ซัมมิต’ ตามที่อธิบายในหนังสือ คือโรงเรียนสาธิตในความหมายที่ผมเข้าใจ     

สำหรับในประเทศไทย โรงเรียนสาธิตในความหมายที่แท้ที่ผมรู้จักคือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา   โรงเรียนรุ่งอนุณ  โรงเรียนเพลินพัฒนา     โรงเรียนเหล่านี้ มุ่งทำหน้าที่เรียนรู้จากการทำงานของตน และแสวงหาเพื่อนร่วมเรียนรู้จากโรงเรียนอื่นๆ    เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิดและรูปแบบของการดำเนินการโรงเรียน    สู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ที่ครบด้าน และคุณภาพสูง    โดยไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง     

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๖๕ วันมหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 710249เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2022 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2022 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท