อาวุธปืนกับการกราดยิง


                             อาวุธปืนกับการกราดยิง

                                                                                                                                               นัทธี จิตสว่าง 

จากเหตุการณ์การกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานับเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่ไม่สมควรจะให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีก

เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาการกราดยิงที่ผ่านมา ในกรณีต่างๆทั้งที่เกิดในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของการกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองโคราช หรือกรณีของเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น จากปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยด้านจิตใจของผู้ก่อเหตุที่ได้รับความกดดัน คับแค้นใจ หาทางออกไม่ได้ จนระเบิดออกมาโดยไม่สามารถควบคุมสติอยู่ได้ จะด้วยเหตุของการถูกกดดัน หรือน้อยเนื้อต่ำใจ จากการไม่ได้รับการยอมรับและถูกปฏิเสธในสังคมรอบข้างทั้งที่ทำงานและละแวกบ้าน แต่ปัจจัยอีกด้านที่จำเป็นต้องหยิบมาวิเคราะห์คือ การครอบครองและการเข้าถึงอาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพและอนุภาพสูง ขณะที่ผู้ก่อเหตุก็มีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนนั้นๆ เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นตัวแปลที่ทำให้ผู้ก่อเหตุมีความมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการระบายความกดดัน แค้นใจ และ แก้แค้นสังคม แม้ผู้ก่อเหตุจะไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุทั้งหมด แต่เลือกที่จะใช้มีดกับเป้าหมายที่ง่ายต่อการก่อเหตุและระบายความกดดัน โดยมีอาวุธปืนเป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและหลบหนี รวมถึงการจัดการกับผู้อยู่ในเส้นทางแบบไร้สติ

แต่ทุกครั้งที่เกิดมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะมีการเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืน แต่ก็เกิดขึ้นได้ไม่นานก่อนจะมีการแก้ต่างให้กับการเข้าถึงและการใช้อาวุธปืน โดยมักจะมีคำพูดว่า “ทำอย่างไรไม่ให้ปืนตกไปอยู่ในมือของคนไม่ดีหรือคนขาดสติ” มากกว่าจะลดหรือควบคุมการมีไว้ในครอบครองหรือใช้อาวุธปืน

ผู้ร้ายมักตกเป็นของยาเสพติด หรือความบกพร่องด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ก่อเหตุ ทั้งๆที่ผู้ที่หลอนยา หรือคลั่งยา หรือคับแค้นใจ ถูกกดดันด้านจิตใจในสังคม มีอยู่มากมายแต่ไม่สามารถก่อเหตุกราดยิงได้ เพราะไม่มีอาวุธร้ายแรงที่จะทำเช่นนั้นได้ อย่างมากก็ฆ่าตัวตายหรือยิงคนรอบข้าง 2 - 3 คน การจะกราดยิงหรือทำร้ายคนได้จำนวนมากๆต้องมีปืนที่มีอนุภาพร้ายแรงยิงได้ต่อเนื่อง

ในขณะที่บทเรียนจากประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการกราดยิงและยุตติความรุนแรงจากอาชญากรรม โดยการควบคุมอาวุธปืนอย่างเคร่งครัด ก็มิปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เช่น สก๊อตแลนด์ ซึ่งมีเหตุการณ์กราดยิงครั้งแรกและครั้งเดียวในปี 2539 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่มีการกราดยิงในโรงยิมของโรงเรียนประถม เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต 16 คน และครู 1 คน มีผู้บาดเจ็บ 17 คน และตัวผู้ก่อเหตุฆ่าตัวตาย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่เศร้าโศกของคนในสังคมจนเกิดแรงพลักดันให้มีการพลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมอาวุธปืน โดยเฉพาะการซื้อขายและการขอใบอนุญาตครอบครองและพกปืนที่เข้มงวดแทบจะทำไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ส่งคืนปืนพกกว่า 160,000 กระบอก และนับแต่นั้นมาก็ไม่เกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้นในสก๊อตแลนด์อีกเลย รวมทั้งอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงขึ้นอีก นับเป็นเวลากว่า 26 ปีจนถึงปัจจุบัน นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาและลดความสูญเสียจากอาวุธปืน

นอกจากสก๊อตแลนด์แล้ว นิวซีแลนด์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการยุติการกราดยิง โดยการควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจัง โดยภายหลังจากเหตุการณ์การกราดยิงที่เมืองไครสต์เชิร์ช ที่เคยเป็นเมืองเงียบสงบ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 51 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 50 ราย รัฐบาลนิวซีแลนด์ภายใต้ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีหญิงได้จัดการกับปัญหานี้ที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 2 วัน หลังจากการกราดยิงคณะรัฐมนตรีก็ลงมติเสนอให้มีการควบคุมอาวุธปืนและ1 เดือนต่อมา รัฐสภาของนิวซีแลนด์ก็ออกเสียง 119 ต่อ 1 เสียง ออกกฎหมายห้ามมีการครอบครองหรือมีไว้ซึ่งปืนอัตโนมัติและปืนไรเฟิล ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ ประกาศให้คนที่มีปืนดังกล่าวนำมามอบคืนให้กับทางราชการหรือขายคืนให้ทางราชการก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ รวมถึงปรับกฎหมายให้มีการเข้มงวดกับการออกใบอนุญาตในการพกอาวุธ แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น ยังประกาศไม่ให้ราคากับผู้ก่อเหตุ โดยจะไม่มีการเอ่ยชื่อหรือเผยแพร่ภาพรุนแรงที่เกิดขึ้น “ฉันจะไม่มีวันเอ่ยชื่อของฆาตกรอย่างเด็ดขาด เราจะไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ แต่จะต้องได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมายของนิวซีแลนด์” นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่เกิดมีเหตุการณ์กราดยิงขึ้นในนิวซีแลนด์อีกเลย

นอกเหนือจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันเหตุกาดยิงโดยการควบคุมอาวุธปืนที่มีอนุญาตร้ายแรงอย่างเคร่งครัดที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีประเทศอีกหลายประเทศที่มีการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวดมากๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยการจะมีหรือครอบครองอาวุธปืนในประเทศเหล่านี้จะทำได้ยากมาก และมีโทษสูงถึงประหารชีวิต ประเทศเหล่านี้จึงไม่เคยมีเหตุการณ์กราดยิงหมู่เกิดขึ้นเลยสักครั้งเดียว

ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงและครอบครองอาวุธปืนไม่เข้มงวด  จึงเป็นประเทศที่มีเหตุการณ์กราดยิงหมู่เกิดขึ้นมากมาย แม้ทลายครั้งที่มีเหตุกราดยิงหมู่ได้ นักเรียน หรือผู้ปกครอง และประชาชนส่วนหนึ่ง ออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืนแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะธุรกิจอาวุธปืนในสหรัฐฯมีอิทธิพลมาก แม้จะมีงานวิจัยที่พบว่าการมีปืนอยู่ในครอบครองที่มีปัญหาการทะเลาะไม่ลงรอยกันจะทำให้มีโอกาสเกิดเหตุฆ่ากันตายในครอบครองสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีอาวุธปืนถึง 500 เท่า (National Statistics Domestics Violence Fact Sheet) และเมื่อเร็วๆนี้ รัฐสภาอเมริกันก็ได้ออกกฎหมายให้ผู้ที่จะขออนุญาตมีไว้ซึ่งอาวุธปืนจะต้องไม่มีประวัติก่อความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน (The Guardian, 12 March 2022) รวมถึงการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามใกฎหมาย Bipartisan gun  bill เพื่อป้องกันมิให้บุคคลอันตรายเข้าถึงอาวุธปืนและพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้มีปัญหาทางจิตใจให้เข้มงวดขึ้น ยิ่งนับเป็นความพยายามบางส่วนที่ทำได้ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการควบคุมอาวุธปืนของผู้เสียผลประโยชน์สำคัญในสังคมอเมริกัน

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจะยอมรับความจริง โดยควบคุมการมีอาวุธปืนที่ใครๆก็ชอบใช้ในการก่อเหตุ จนปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ไม่เว้นแต่ละวัน ในขณะที่สถิติการมีอาวุธปืนในประเทศไทยมีถึง 10 ล้านกระบอก ทั้งที่จดทะเบียนถูกต้องและไม่ถูกต้องเป็นปืนเถื่อน

ทำอย่างไรจึงจะควบคุมมิให้เพิ่มขึ้นอีก และทำอย่างไรจึงจะลดลงมาเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ แม้ว่าที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการกวาดล้างอาวุธปืนเถื่อนกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปราบปรามการค้าอาวุธปืนออนไลน์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุอาชญากรรมรุนแรงหลายคดีมาจากอาวุธปืนมีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมาจากปืนสวัสดิการ หรือปืนที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนอย่างถูกต้องก็ตาม

คำถามจึงมาอยู่ที่ว่า ?...............

ทำอย่างไรจึงจะทำให้การขอมีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนทำได้ยากขึ้น มีขั้นตอนการคัดกรองเฉพาะผู้ที่จำเป็นจริงๆ และจะต้องมีการต่ออายุพร้อมชำระภาษีและตรวจสภาพความพร้อมของผู้ครอบครองทุก 2 ปี

ทำอย่างไรจึงจะทำให้การพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ในการมีอาวุธปืนเป็นในรูปคณะกรรมการ

ทำอย่างไรจึงจะเลิกระบบปืนสวัสดิการ โดยรัฐเข้ามาช่วยจัดสรรจัดหาและเรียกคืนกรณีหมดความจำเป็น

ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มโทษหรือปรับนโยบายในการลงโทษผู้พกพาอาวุธปืน หรือยิงปืนในที่สาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรให้สูงขึ้นและมีการบังคับใช้กฎหมายลงโทษอย่างจริงจัง

และทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เสียผลประโยชน์จากการจำกัดและควบคุมอาวุธปืนได้เห็นความจำเป็นในการที่จะลดการสูญเสียจากอาวุธปืน และทำให้สังคมไทยมีความสงบสุข ไร้ความรุนแรง โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้สูญเสียคนต่อไป เป็นญาติ พี่น้อง หรือผู้เสียผลประโยชน์เอง

                                    --------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 710200เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2022 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2022 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท