ชวนเด็ก (สถานพินิจฯ)ดูหนัง สร้างพลังเปลี่ยนตัวตน


มูลเหตุของการคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ก็เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากการได้อ่านเฟสบุ๊คของป้ามล ทิชา ณ นคร เกี่ยวกับกิจกรรมในบ้านกาญจนาภิเษกเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็กที่กระทำความผิดว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และได้ผลค่อนข้างดี กอปรกับการที่ตนเองกับครอบครัวชอบดูหนังร่วมกันเป็นประจำ โดยหนังที่เลือกดูในบ้านก็มักมาจากลูกวัยรุ่นทั้งสองคนช่วยกันเลือกแล้วเปิดดูพร้อมกับพ่อแม่ ก็เห็นว่าหนังหลายเรื่องที่ลูกเสนอมานี่ใช้ได้เลย ในแง่สอนใจและดูได้อรรถรสดี ก็มานึกว่า ถ้าเด็กเยาวชนในสถานพินิจได้ดูหนังที่แฝงข้อคิดดีๆอย่างนี้บ้างก็น่าจะมีส่วนช่วยสร้างการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แก่พวกเขาได้ อย่ากระนั้นเลย ลองเสนอเป็นไอเดียแก่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในนามผู้พิพากษาสมทบซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการอบรมเด็กตรงนี้ท่าจะดี

ทีแรกเสนอไปแบบคุยไม่เป็นทางการดูก่อน ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับจากทั้งฝั่ง ผอ.สถานพินิจฯและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนฯแม่ฮ่องสอนเป็นที่น่าพอใจ พอได้จังหวะเวลาในการประชุมทำแผนกิจกรรมประจำปีงบประมาณ ก็บรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งโครงการ กลายมาเป็นกิจกรรมที่เห็นกันในวันนี้ (31 ต.ค.65)

หนังที่เลือกมาประเดิมเลยคือเรื่อง 4 Kings อาชีวะยุค 90 คิดว่าได้ครบรส คือ ดุเด็ดเผ็ดมัน มีฉากซึ้งๆ กระทบลึกถึงก้นบึ้งหัวใจหลายฉาก ตัวละครมีความใกล้เคียงกับตัวตนของเด็กเยาวชนในสถานพินิจ น่าจะเหมาะกับการที่เด็กเยาวชนจะย้อนกลับไปมองตัวเอง เป็น Active Learning ที่เราออกแบบไว้ลึกๆ ให้เด็กคิดไปถึงตัวเองโดยที่เราไม่ต้องสอนหรือสั่ง ซึ่งก็สะท้อนในช่วงที่เด็กแบ่งกลุ่มตอบคำถามถึงความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากหนังอย่างอิสระ ว่า มันทำให้เขา “เข้าใจในสิ่งที่คนในบ้านไม่ได้พูด” (เพราะหนังได้พูดแทนเขาออกมา)

 

คำถามที่ใช้ให้เด็กๆแสดงความรู้สึกนึกคิด ก็เป็นคำถามง่ายๆ ผมดีไซน์ให้ตอบคำถามที่เอาความรู้สึกออกมาก่อน จากนั้นจึงไล่เรียงไปหาคำถามที่ค่อยๆเอาเหตุผลออกมา
เริ่มตั้งแต่

1.ความรู้สึกตอนดูหนังจบแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้าง ทำไมจึงรู้สึกอย่างนั้น?
2.ชอบตัวละครไหนมากที่สุด เพราะอะไร ?
3.ชอบฉากไหนมากที่สุด เพราะอะไร ?
4.หนังเรื่องนี้ ให้แง่คิดอะไรกับเราบ้าง ?

เป็นกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่เอามาประยุกต์ใช้กับเด็กๆในสถานพินิจและเยาวชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงเวลาเตรียมทีมจะน้อยนิด แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งการประเมินโดยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและจากแบบประเมินที่เด็กเยาวชนส่งมาก็สะท้อนถึงประสิทธิภาพในงานรวมถึงความสุข ความชื่นใจ

 

 

ต้องขอบคุณพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้พิพากษาสมทบทั้งหลาย ที่มาสร้างบรรยากาศเหมือนลุงเหมือนป้า ดึงความเป็นผู้ใหญ่ใจดีออกมา ชวนคิดชวนคุย ทำให้เด็กๆไม่เกร็งและพูดแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตอบให้ดีเพื่อเอาใจใคร

รวมถึงต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ร่วมกันจับมือสร้างกิจกรรมการเรียนรู้อย่างนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ และคาดว่าจะมีครั้งต่อๆไป

อ่อ อยากเพิ่มเติมเคล็ดลับในการจัดกิจกรรมชวนเด็กดูหนังแบบนี้สักนิดครับ


1)ท่าที วิธีคิดของวิทยากร พี่เลี้ยง หรือกระบวนกร (Facilitator) ที่มีต่อเด็ก เยาวชน สำคัญมาก เพราะถึงไม่พูดอะไรมาก เด็กก็รับรู้ได้ ความเมตตากรุณานี่ต้องบ่มเพาะมาเต็มที่
 

 


 

2)อีกส่วนคือวิธีคิดในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งผมได้ย้ำลงในกลุ่มคณะทำงานก่อนวันจัดว่าเราต้องศรัทธาว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง (เราเองก็ไม่รู้ไปทุกอย่าง หลายอย่างก็รู้มาผิดๆก็มี การเปิดใจฟังเด็กในสถานพินิจฯบางทีก็เป็นความรู้ มุมมองใหม่ที่เราเรียนรู้จากเด็กๆได้ด้วย)

ถึงแม้เด็กจะดูเหมือนไม่รู้ หรือเป็นเด็กที่กระทำความผิดมาเลวทรามแค่ไหน เราต้องมีศรัทธาตรงนี้ไว้ โดยที่เราไม่จำต้องไปแทรกแซงเกินจำเป็น

วิทยากร กระบวนกรแบบ Active Learning จึงต้อง สอนให้น้อย ฟังให้มาก สังเกตให้มาก อย่าด่วนตัดสินและแทรกแซงความคิดของเขา วิทยากร ทีมพี่เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตภาษา และอวัจนภาษาของเด็กๆ ว่าสะท้อนความรู้สึก สนใจ มีความสุข หรือเบื่อหน่ายในการเรียนรู้ รู้จักจับจังหวะและรันกระบวนการโดยเอาเด้กเป็นศูนย์กลาง กระบวนการจึงปรับเปลี่ยนไปได้ตามความพร้อมและความสนใจของผู้เรียน ไม่จำต้องตามกำหนดการเป๊ะๆ ซึ่งจะต่างจากการอบรมทั่วไปค่อนข้างมาก ตรงนี้ ต้องระวัง ไม่งั้นจะหลุด


 

อันนี้รวมถึงการจัดกระบวนการแบบสุนทรียสนทนา (dialogue) นับตั้งแต่การจัดเก้าอี้เป็นวงล้อมเพื่อให้เกิดสนามพลัง การฟังโดยไม่ขัดคอ ฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน , การสร้างบรรยากาศให้อยู่กับปัจจุบัน (Be present) ----ในวันนี้ผมใช้วิธีให้เด็กชมและฟังคลิปคลื่นกระทบฝั่ง นิ่งๆ สี่นาที แทนการหลับตาตามดูลมหายใจ ก็นับว่าได้ผลดีเหมือนกัน

3)จบด้วยความประทับใจ ทีแรกก็ไม่ได้คิดตรงนี้เอาไว้ครับ เพราะเราไปโฟกัสตอนต้นในเรื่องสร้างความกระจ่างในบริบท , ความตั้งใจ , และจิตใจที่มีสติแจ่มกระจ่างพร้อมเรียนรู้ (Clarify Context , Clarify Intention, and Mindfunessl) เผอิญ น้องเจ้าหน้าที่ศาลมาหารือว่า มีลูกฟุตซอลที่เตรียมมาจะมอบให้เด็กๆตอนไหนดี ผมก็เลยเอาไว้ตอนท้าย เป็นการขอบใจเด็กๆที่ให้ความร่วมมือ จริงๆอยากเข้าไปกอด หรือสัมผัสเด็กๆด้วยครับ เพราะจะส่งผ่านความรู้สึกดีๆ และพลังจากตัวเรา ทีมพี่เลี้ยงไปสู่พวกเขาได้มาก หากแต่สถานการณ์ COVID 19 ยังอยู่ก็คงต้องรอไปสักระยะ

รู้สึกดีใจ ว่าในที่สุดก็ผลักดันเรื่องนี้ ไปจัดเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆที่เด็กในสถานพินิจซึ่งเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอีกกลุ่มที่เหมือนกับอยู่นอกความสนใจของสังคม ได้เรียนรู้ และเราเองก็ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขไปพร้อมกับพวกเขา

บันทึกไว้ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ ที่จะเป็นต้นทุน ทบทวน พัฒนา งานเด็ก เยาวชน สื่อสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน

หมายเลขบันทึก: 710186เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2022 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2022 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท