อมยิ้ม ไม่เหมือน อมทุกข์


งูตัวเล็กๆเป็นอาหารของเป็ด แต่งูเหลือมตัวใหญ่เท่าโคนขาเป็ดกลายเป็นอาหารของงู

จะ อมยิ้ม หรือ จะ อมทุกข์

 เรื่องนี้สำคัญนะครับ บางสถานการณ์ก็เลือกไม่ได้เสียด้วย  อมทุกข์ไม่ต้องฝืน ทำได้อย่างมากก็แค่หน้าชื่นอกตรม แต่ถ้าฝืนอมยิ้มมันจะเฝื่อนจนบอกไม่ถูก มันไม่เหมือนกับอมฮอลย์หรืออมแฮ๊กแน่นอน บางสภาพการมันเลือกไม่ได้เสียด้วย แต่ช่วงนี้คนไทยจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า โดยเฉพาะลูกข่ายจัดการความรู้พวกผม หลายคนโดนน้ำท่วมหนักเป็นเดือน พืชผลต่างๆเสียหายอย่างหนัก ต้นกล้วยที่ปลูกไว้อวดใครต่อใครมาหลายปีดีดัก มาปีนี้หมอบราบคาบแก้ว ปลาที่เลี้ยงไว้ก็ว่ายออกไปเพ่นพ่านกลายเป็นปลาสายพันธุ์เศรษฐกิจพอเพียง ไม่รอง้ออาหารเช่นที่ผ่านมา ไปหากินเองแบบบุปเฟ่ต์ แต่ก็ไม่ใช่จะเลวร้ายเสียทีเดียว มีปลาจากบ่อคนอื่นและปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาอยู่แทน กลายเป็นปลานานาชนิดขึ้นมา  หมูเห็ดเป็ดไก่มีปัญหามาก ทุกอย่างนัดกันลงราคาแบบไม่เกรงใจคนเลี้ยงแม้แต่น้อย  นอกจากนี้รำข้าวที่เป็นอาหารหลักเสียด้วย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจับหมูชำแหละ ใส่รถมอเตอร์ไซด์เร่ขายในหมูบ้าน ตั้งสติแก้ปัญหาไปทีละเปลาะๆ

          

  บางเรื่องก็เกินความคาดหมาย ในช่วงน้ำท่วมมีงูนานาชนิดมาอาศัยอยู่ตามกอกล้วย งูตัวเล็กๆเป็นอาหารของเป็ด แต่งูเหลือมตัวใหญ่เท่าโคนขากินเป็ดเป็นอาหาร เรื่องนี้แกนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะไม่กล้าที่จะทำร้ายงู ปัญหาอื่นแก้ได้หมด คนเราบางทีก็จนแต้มในบางเรื่องเหมือนกัน คนที่ไม่มีความเมตตาก็อาจจะบอกว่าไม่มีปัญหา ทำบ่วงคล้องลากออกมาก็จบแล้ว แต่ผู้เฒ่าใจดีคนนี้กลับมานอนก่ายหน้าผากไปหลายคืน
 
 โจทย์ในชีวิตจริงเช่นนี้ละครับ  เราเอาหลักการKM.เข้าไปเอ็กซเรย์หัวใจและวางแผนการฟื้นฟูกิจกรรมขึ้นมาใหม่  หนูกุ๊ก นักศึกษาจากจุฬาฯที่มาปักหลักทำวิทยานิพนธ์ ได้ถามสารทุกข์สุกดิบรวมทั้งความในใจว่า
 “พ่อทอง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานี้ อย่างแรกที่ทำอันดับแรกคืออะไร”
 “ทำใจ” เป็นคำตอบ
 “ทำด้วยใจ” เป็นคำตอบ
 “ทำอย่างมั่นใจ” เป็นคำตอบ
 “ทำอย่างสุดจิตสุดใจ” เป็นคำตอบ 

 พ่อเฒ่าสู้ชีวิต ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมา68ปี ในขั้นตอนการแก้ไขปัญหา สิ่งแรกที่ทำก็คือสำรวจความเสียหาย ดูว่าอะไรที่เสียแล้วเสียไป อะไรที่พอฟื้นฟูได้ ก็จะประคับประคองดูแลอย่างเอาใจใส่ เช่นการตัดต้นกล้วยทิ้ง แล้วมาทะนุบำรุงหน่อกล้วยรุ่นใหม่ ส่วนไม้ผลไม้ยืนต้นที่จะรอดมาบ้าง แกก็เอาไม้มาค้ำพยุงต้นไว้ บางต้นที่เป็นแผลด้านข้าง ได้ขูดผิวที่เน่าออกแล้วดูแลส่วนที่ดีไว้

 เห็นว่าสภาพโดยรวมเหมาะที่จะเลี้ยงเป็ด เพราะมีอาหารในธรรมชาติ จึงเลี้ยงเป็ด20ตัว ส่วนหญ้าแพงโกล่าที่ปลูกไว้เลี้ยงวัว บังเอิญว่าทนน้ำท่วมได้ดีจึงไม่เสียหาย ได้อาศัยเกี่ยวหญ้าที่ว่านี้เลี้ยงวัว7ตัว ส่วนมะพร้าว มะม่วง มะกอกน้ำ มะขามเทศ ฝรั่ง จำพวกไม้ยืนต้นไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ส่วนคันนาขนาดใหญ่ได้ปรับปรุงปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ขึ้นมาใหม่ คาดว่าสภาพการณ์ทั้งหมดจะฟื้นตัวเกือบเป็นปกติได้ภายใน1ปี ถ้ามองว่าทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการความรู้  พ่อทองก็จะได้ความรู้จากประสบการณ์ตรงหลายเรื่อง เช่น
1. ความสูงต่ำของพื้นที่ทำกินเวลาน้ำหลาก
2. ชนิดของพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่
3. การเลือกกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
4. วิธีดูแลพืชและสัตว์หลังน้ำท่วม
5. การวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้าในคราวต่อไป
6. ได้ประเมินศักยภาพของตนเองว่าควรจะทำได้พอดีในระดับใด
7. ได้ทบทวนความรู้ความสามารถของตนเอง
8. ได้คำตอบว่า ตนเองยังขาดความรู้ในเรื่องไหนอย่างไร
9. ได้วิธีต่อสู้กับภัยธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยง
10. ได้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น


KM.ภาคสนามเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า
“ถึงเราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอมยิ้มหรืออมทุกข์” แต่เราสามารถวางแผนบรรเทาทุกข์ให้ชื่นสุขเกษมศานต์ได้ ถ้าเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นว่ามนุษย์พันธุ์KM.นั้น ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นมาจะมีภูมิคุ้มกัน สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยความรู้ความสามารถของตนเอง ไม่ต้องไปร้องขอกระจองอแงเหมือนสายพันธุ์เอื้ออาทร นอกจากนี้เราจะเห็นว่า เกษตรกรคือพลทหารในสงครามเศรษฐกิจ ท่านว่าจริงไม๊! 

หมายเลขบันทึก: 70955เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน ครูบาสุทธินันท์

  • การจัดการความรู้ในอาชีพ ในการดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลานั้นจะทำให้เราสามารถ จัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ สุดท้ายก็จะอมยิ้มได้ตลอดครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

เรียน ครูบาสุทธินันท์

  • ไม่ทราบว่าได้กำหนดวันที่เปิดศูนย์เรียนรู้ฯ ที่แน่นอนหรือยังครับ จะได้ประสานงานต่อไปครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

  • ในความทุกข์ยากมีเรื่องดีๆอยู่เสมอ
  • เหรียญมาสองด้านนะครับ
  • เอาดอกขจร มาฝากปลูกเองครับครูบา

    http://gotoknow.org/blog/yahoo/70978

     

อ.อุทัยครับ

วันเปิดอาคารกำหนดแน่นอนแล้วครับ

วันที่  2 กพ.2550

  1. ศ.ดร.อภิชัย พันธะเสน

 ทราบแล้ว ท่านจะมานอนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.

  1. ศ.ดร.จีระ หงศ์ระดารมณ์ จะมาร่วมด้วย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท