ศิษย์เก่านักกิจกรรม (13) วรายุทธ ประสพสิน (ครูฟาราดาผู้บ้าพลัง)


การขานชื่อนักเรียนผ่านความฝันของเด็กๆ ผมมองว่า เป็นการจัดการเรียนรู้ในแบบ “ผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือที่เรียกอีกมิติว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” อันหมายถึง การหยิบยกเรื่องราวที่เป็นต้นทุนชีวิต (ความฝัน) ของนักเรียนมาสร้างเป็นโจทย์การเรียนรู้ แม้นต้นทุนที่ว่านั้น จะเป็นเพียง “ความฝันที่ยังยาวไกล” ซึ่งไม่อาจรู้ได้เลยว่าในอนาคตอันแสนไกลนั้น ความฝันจะเป็นจริงได้หรือไม่

ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา “ครูฟาราดา” หรือ “นายวรายุทธ ประสพสิน” ดูเหมือนจะเป็นศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งที่ปรากฏโฉมและสร้างปรากฏการณ์อยู่ในสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ มากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ “ขานชื่อนักเรียน” ผ่านวาทกรรมอันเป็น “ความฝัน” ของนักเรียนแต่ละคน 





การขานชื่อนักเรียนผ่านความฝันของเด็กๆ ผมมองว่า เป็นการจัดการเรียนรู้ในแบบ “ผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือที่เรียกอีกมิติว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” อันหมายถึง การหยิบยกเรื่องราวที่เป็นต้นทุนชีวิต (ความฝัน) ของนักเรียนมาสร้างเป็นโจทย์การเรียนรู้  แม้นต้นทุนที่ว่านั้น จะเป็นเพียง “ความฝันที่ยังยาวไกล” ซึ่งไม่อาจรู้ได้เลยว่าในอนาคตอันแสนไกลนั้น ความฝันจะเป็นจริงได้หรือไม่ -

 

หรือนักเรียนจะละทิ้งความฝันนั้นหรือเปล่า  หรือกระทั่งว่า นักเรียนจะเปลี่ยนทิศทางความฝันจากเดิมหรือไม่  รวมถึงการมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้นเป็นเพียงเรื่องสมมุติเท่านั้นก็เถอะ  แต่ผมกลับมองว่า เป็นกระบวนการที่น่าชื่นชม  เพราะสะท้อนให้เห็นว่า “ครู”  ให้ความสำคัญกับ “ความคิด-ความฝัน”  ของผู้เรียน และกล้าที่จะหยิบเอาความฝันของแต่ละคนมาสร้างสรรค์เป็นบรรยากาศที่ชวนเรียนรู้





การขานชื่อเช่นนั้น ไม่เพียงสร้างสีสันในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” เท่านั้น  แต่มีนัยยะที่สื่อให้นักเรียนได้รับรู้ว่าคุณครูให้ความสำคัญและเคารพต่อความฝันของนักเรียนเป็นที่สุด และพร้อมเสมอกับการเป็นเรือจ้างที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ฝั่งฝัน 

นั่นคือมุมที่ผมมองและชื่นชม ดูคลิปทีไรก็ยิ้มและสุขใจไปด้วยทุกครั้ง 






ด้วยวิธีคิดและกระบวนการเช่นนั้น  จึงไม่แปลกที่สื่อโทรทัศน์หลายสำนักได้หันมาให้ความสนใจและหยิบยกออกไปเผยแพร่อย่างคึกคักและขยายกว้างขวาง จนกลายเป็นอีกหนึ่ง “ไวรัล” ในแวดวงการศึกษาผ่านทีวีช่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 ช่องเวิร์คพอยท์ ช่องไทยรัฐทีวี  จนพ่วงพาให้เจ้าตัวถูกรับเชิญไปออกรายการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น 

  • Can See Your Voice Thailand  
  • Who is my chef 

     





ครูฟาราดา มีชื่อจริงว่า “นายวรายุทธ ประสพสิน”  เป็นศิษย์เก่ารุ่น “มฤคมาศ 10” จบการศึกษาจากสาขาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2561 

เดิม ครูฟาราดา มีชื่อเล่นจริงๆ ว่า “ปาล์ม” แต่เมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงสถาปนาชื่อเล่นขึ้นใหม่ว่า “ฟาราดา”  และชื่อๆ นี้ก็กลายเป็นที่รู้จักกว้างขวางในมหาวิทยาลัย –

ผมยืนยันว่า “ชื่อๆ นี้ ไม่ใช่รู้จักแพร่หลายแต่ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์เท่านั้น”  ทว่า “เป็นรู้จักแพร่หลายในมหาวิทยาลัย” เพราะเจ้าตัวโลดแล่นอยู่ในถนนสายกิจกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ผงาดขึ้นเป็นนายกสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2559 

จากนั้นในแวดวงนักกิจกรรมของ “มมสง”  ก็เรียกเจ้าตัวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “นายกฟาราดา”




โดยส่วนตัวที่รู้จักครับครูฟาราดา  ผมเห็นตัวตนของเขาชัดเจน ทั้งในด้านการเรียน การใช้ชีวิต และการเป็นผู้นำนิสิต เรียกได้ว่าเป็นคนประเภท “อยู่ไม่นิ่ง”
 

อยู่ไม่นิ่ง - ในที่นี้หมายถึง เป็นคน “จริงจัง-ใส่ใจ” ต่อทุกกระบวนการของชีวิต  ถึงแม้จะมีปัญหาสุขภาพมารุกเร้าก็เถอะ แต่เจ้าตัวก็ไม่เคยใส่เกียร์ถอยต่อหน้าที่ของตนเอง เรียกได้ว่า “มีกิจกรรมที่ไหน ย่อมจะมีครูฟาราดาอยู่ที่นั่นเสมอ”  

คล้ายๆ คนชอบดูหมอลำนั่นแหล่ะ แค่รู้ว่าจะมีวงหมอลำมาเปิดแสดงวันไหน-ที่ไหน ก็เตรียมตัวล่วงหน้าในแบบ “พลาดไม่ได้”

ความที่ว่า “อยู่ไม่นิ่ง” ทำให้ครูฟาราดาปรากฏตัวอยู่ในองค์กรกิจกรรมและกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมในสังกัดคณะและมหาวิทยาลัย 





รวมถึงการเป็นคนประเภท “กล้าคิด กล้าพูดกล้าทำ กล้ารับผิดชอบ” โดยเฉพาะเรื่องพูดบอกได้เลยว่า อย่าเผลอให้เจ้าตัวจับไมค์เป็นอันขาด มิเช่นนั้นจะ “จบไม่ลง” เพราะเจ้าตัวสามารถพูดได้ต่อเนื่อง พูดแบบไม่รู้สึกเหนื่อย พูดต่อยหอยไปเรื่อย หรือพูดในแบบ “ลิงหลับ” นั่นเอง

แต่ทั้งปวงนั้นมิได้หมายความว่า ครูฟาราดาจะเป็นการพูดในแบบ “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง”  นะครับ แต่ผมกำลังหมายถึงว่าพูดในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  -

และด้วยตัวตนเช่นนั้น  ผมจึงเปรียบเปรยด้วยความชื่นชมปนหยิกแซวเสมอมาว่า “ฟาราดาผู้บ้าพลัง” 





ในเส้นทางนักกิจกรรม –  ผมกล้ายืนยันว่า “ฟาราดา” คือคนทำกิจกรรมคนหนึ่งที่รักในการเรียนรู้และรักสถาบันไม่แพ้คนอื่นๆ  อีกทั้งยังเป็นคนประเภทไม่ยอมกักขังตัวเองไว้แต่เฉพาะคณะ- ไม่จองจำตัวเองไว้กับชมรมใดชมรมหนึ่ง หรือแม้แต่พรรคใดพรรคหนึ่งเสียทั้งหมด แต่พยายามแสวงหาโอกาสและเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอๆ 

ด้วยเหตุฉะนี้  จึงพบอยู่เนืองๆ ว่า ครูฟาราดา ได้ท่องทะยานออกสู่เส้นทางการเรียนรู้ในสายต่างๆ อย่างไม่ลดละ 
 

การท่องทะยานเช่นนั้นช่วยให้เจ้าตัวเติบโตในบริบทของสังคม  หรือองค์กรที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่นการผันตัวเองเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงานจิตอาสาที่ท้องสนามหลวงในห้วงการสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ 9 การเป็นสตาฟหลักฝ่ายสันทนาการในเทา-งามสัมพันธ์ครั้งที่ 20  การเป็นพิธีกรในเวทีต่างๆ หรือแม้แต่การพยายามที่จะขับเคลื่อน “ชมรมรากแก้ว” แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ อย่างทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้





จะว่าไปแล้ว “ครูฟาราดา” ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานทีมสันทนาการแห่งคณะศึกษาศาสตร์เลยก็ว่าได้  ซึ่งเจ้าตัวจับมือกับแกนนำ “ชมรมครูอาสา” ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ออกท่องยุทธภพสร้างการเรียนรู้บนฐานคิด “บันเทิงเริงปัญญา” ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ


ท้ายที่สุดแล้ว  ผลพวงของการเป็น “คนไม่นิ่ง”  ที่ปรากฏตัวตนอยู่ในเวทีกิจกรรมอันต่อเนื่องและหลากหลาย ส่งผลให้เจ้าตัวได้รับการเชิดชูเกียรติในสมัยเป็นนิสิตหลากหลายรางวัล  เช่น 

  • รางวัลช่อราชพฤกษ์ ผู้บริหารองค์กรนิสิตดีเด่น ระดับพิเศษ
  • รางวัล คนดีศรีมมส. เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปี2560
  • นิสิตทุนภูมิพล ประเภทผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบัน รับพระราชทานรางวัลกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

 

 

หลายต่อหลายครั้งที่ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับครูฟาราดาทั้งเมื่อครั้งเป็นนิสิต หรือแม้แต่ปัจจุบัน เจ้าตัวจะยืนยันหนักแน่นว่ายังคงเป็นคนประเภท “อยู่ไม่นิ่ง” หรือ “บ้าพลัง” อย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคง “ทำทุกอย่างด้วยใจรักและศรัทธา รวมถึงรู้จักเรียนรู้คุณค่าในสิ่งที่ทำ” 
 

เช่นเดียวกับการลงมือทำในแบบ “จริงจัง-ใส่ใจ”  มิใช่ทำในแบบ “เอาสนุก-คลายเครียด”


และถ้าผมจำไม่ผิด  ครูฟาราดา  ยังมีความฝันของตนเองอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการคิดการเขียน การสร้างหนังสั้น หรือแม้แต่การรับบทนักแสดงอย่างเป็นทางการในเวทีใดเวทีหนึ่ง ซึ่งผมก็เชื่อว่าวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างปรากฏเป็นรูปร่างบ้างแล้ว จะโดยเป็นตัวละครที่ตัวเองสร้างขึ้นเอง  หรือแม้แต่การเป็นตัวละครที่คนอื่นปั้นแต่งให้ ดังที่เราได้พบเห็นแล้วในสื่อต่างๆ นั่นแหละ


 

ปัจจุบัน ครูฟาราดา รับราชการครู ณ โรงเรียนวัดบ้านนาบุญราษฎร์บำรุง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยล่าสุในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ครูฟาราดา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จากการประกวดสื่อนวัตกรรมทางการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่ สพป.ระยอง 2

 

รวมถึงการได้รับเกียรติร่วมเวทีเสวนากับ ทาง ก.ค.ศ. สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในฐานะ “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้านการประเมิน” ซึ่งทั้งปวงนั้นก็มาจากการถูกยอมรับว่าเป็นครูผู้สร้างสรรค์การเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างแสนสนุก (ห้องเรียนในฝัน :  ห้องเรียนอารมณ์ดี) ครบรสทั้งความสุขและความรู้

 



ไม่ง่ายเลยครับสำหรับคนๆ หนึ่งที่เดินทางไกลจากแผ่นดินที่ราบสูงไปสู่ท้องทะเลเช่นนี้แล้วจะปรับตัวได้เร็วและยังคงเต็มไปด้วยพลังในการที่จะสร้าง (นวัตกรรม)  การเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนก่อเกิดมรรคผลที่แตะต้องสัมผัสได้

 

ไม่ผิดใช่ไหมครับที่ผมเคยเรียกเจ้าตัวว่า “ฟาราดาผู้บ้าพลัง”

 

และถ้าวันนี้จะเรียกอีกครั้งว่า “ฟาราดา : ครูผู้บ้าพลัง” ก็คงไม่ผิดกระมัง ครับ





เรื่อง : พนัส  ปรีวาสนา
ภาพ : วรายุทธ ประสพสิน

หมายเลขบันทึก: 709040เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2022 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2022 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใช้ชีวิตได้มีคุณค่าและมีความหมายยิ่ง ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท