ปรเมศวร์ กุมารบุญ


ปรเมศวร์ กุมารบุญ เป็นลูกนายช่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้ชีวิตในต่างจังหวัดแถบภาคอิสาน เติบโตจากบ้านพักในรั้วชุมสายโทรศัพท์ เริ่มจำความได้ในห้องเครื่องชุมสายที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตนเองนอนดูดนมอยู่ในเปลมองดูพ่อติดตั้งอุปกรณ์อยู่ข้างๆ ตรงนั้น และปีนเสาไมโครเวฟสูงหลายสิบเมตรตรงหน้าบ้านเล่นตามปะสา บางครั้งติดตามพ่อนั่งรถกระบะสีส้มมีบันไดไม้ไผ่พาดหลังคาไปดูเขาปีนเสาเดินสาย ส่วนคุณแม่เป็นพยาบาลที่อุทิศตนเพื่อคนเจ็บคนป่วยเข้มงวดแต่ใจดีที่สุด

ส่วนตัวไม่ได้สนใจเรียนทำพ่อแม่ผิดหวังมาเรื่อย เพราะตั้งใจว่าถ้าโตมา อยากเป็นคนขับสิบล้อ เคยนั่งรถทัวร์โคราช-กรุงเทพ ช่วงขึ้นเขาลำตะคลองรถขับช้าๆ ตีคู่กับรถสิบล้อได้มองเห็นบรรยากาศห้องคนขับ ดูอิสระ สันโดษ ผจญภัย และได้ท่องเที่ยวไปเรื่อย ไม่มีเจ้านาย เปิดเพลงฟังทั้งวัน รู้สึกดีจังนี่ล่ะงานในฝัน ถ้าว่างก็อยากจะหาเวลาฝึกซ้อมกีฬาอยากเป็นนักสนุ๊กเกอร์

แต่พอโตมา พ่อกลับชี้แนะว่า ต้องเรียนวิศวกรรมโทรคมนาคม ก็ต้องติวต้องแก้ไขตนเองพอสมควรจากเด็กต่างจังหวัดที่เรียนอ่อน จนในที่สุดก็จบปริญญาตรีใบแรกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ได้เป็นวิศวกรโทรคมนาคมสมใจพ่อ 

 

จำได้ว่าพ่อไม่ค่อยยิ้มให้ เพราะคงตั้งความหวังไว้มาก ปรเมศวร์ กุมารบุญ ชอบการใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไปมากกว่า คบหาเพื่อนหลากหลาย เที่ยวเตร่ และเล่นดนตรีไม่ค่อยสนใจเรียนเหมือนเคย จะสนใจเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่ในวันรับปริญญา เดินถือใบปริญญาวิศวกรรมไปให้พ่อแล้วบอกว่า “นี่ของพ่อนะ” ก็ได้เห็นรอยยิ้มพ่อ พ่อเป็นนายช่างที่เก่งมาก แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเป็นวิศวกร เลยถือว่าทำแทนพ่อ

 

แล้วก็ได้ทำงานด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมมากกว่ายี่สิบปี ตั้งแต่เป็นวิศวกรบริษัทแบรนด์ เกาหลีและญี่ปุ่น จนมาทำงานภาครัฐ ในที่สุดได้รับการยอมรับจากสภาวิศวกรผ่านเกณฑ์มหาโหด จากภาคีวิศวกร เป็น สามัญวิศวกร และได้เป็น 1 ในไม่ถึง 100 คนที่ได้เป็น “วุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร” ในรอบ 61 ปี ปัจจุบันน่าจะมีวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสารที่ยังมีลมหายใจอยู่ไม่ถึงยี่สิบคนโดยประมาณ

 

เลยมาฉุกคิดได้ว่า การเรียนหนังสือนี่แปลกดีนะ เป็นการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้แบบง่ายที่สุดแล้วสำหรับวัยรุ่น ท่านก็ส่งเรียนด้วยไม่ต้องไปฝ่าฟันทำงานเอง มันสัมผัสรอยยิ้ม ความภูมิใจ และความสุขของท่านได้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และยังเป็นประโยชน์กับตนเองอีก ถ้าคิดได้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เด็กๆ คงเก่งกว่านี้เยอะ

 

ส่วนแม่นั้น เคยพูดให้ได้ยินตอนเด็กๆ ว่า “อยากมีลูกสักคนจบ นิติจุฬา” แม่เป็นสาวบุรีรัมย์เคยมางานรับพระราชทานปริญญาของคนรู้จักที่จบนิติ จุฬา คงรู้สึกว่า จุฬา ชั่งงดงามยิ่งนัก เมื่อหันไปดูน้องชาย จบรัฐศาสตร์ ม.เกษตร แล้ว คงไม่น่าจะหวนกลับมาเข้าเรียน นิติ จุฬา ได้ หน้าที่อันนั้นจึงแอบเก็บไว้ในใจแล้วลองเขียนแผนที่การเดินทางว่าจะทำอย่างไรบ้าง จะสอบเข้าอย่างไร จะต้องเข้าเรียนอย่างไร หาค่าเทอมที่ไหน แบ่งเวลาอย่างไร จนในที่สุดก็เข้ามาเรียนได้ ทำงานไปหาเงินส่งตัวเองเรียนไป ล่วงเข้าสู่ตอนเรียนปีที่ 3 พิจารณาดูแล้วว่า หากปล่อยตัวเองให้เรียนจนถึงปีที่ 4 ไม่มีค่าเทอมจ่ายแน่ จึงไปขออาจารย์ลงทะเบียนเทอมละ 10 วิชา ราว 30 หน่วยกิต ด้วยเหตุผลไม่มีค่าเทอม ตารางสอบนั้น ทั้งมิดเทอม และไฟนัล 5 วันติด จันทร์ถึงศุกร์ เช้า-บ่าย เช้า-บ่าย นอนวันละไม่ถึง 4 ชั่วโมง จนวิชาสุดท้ายใช้ผ้าเช็ดหน้าพันมือกับปากกาไว้จับไม่ไหว ข้อสอบกฎหมายต้องเขียนเอานะ พอเดินออกจากห้องสอบรู้สึกว่าเหลือเชื่อจังเลย ในที่สุดก็ทำได้ มานั่งเล่นใต้ต้นจามจุรีแถวศาลาพระเกี้ยว แล้วเดินไปหยอดเหรียญโทรศัพท์ไปหาแม่ที่โคราช ถามแม่ว่า “จำได้ไหม ที่เคยพูดว่าอยากมีลูกสักคนจบ นิติ จุฬา” แม่ตอบว่า “จำได้” เลยบอกแม่ว่าเตรียมตัวมางานรับพระราชทานปริญญาด้วยนะ มีลูกชายจบนิติจุฬาแล้ว แม่ก็แปลกใจนึกว่าพูดเล่น เพราะไม่เคยบอกว่าแอบมาเรียน

 

จริงๆ แล้วเรื่องบ้าคลั่งที่สุดของคุณปรเมศวร์ คือ นอกจากทำงานหนักทั้งงานประจำและงานพิเศษแล้ว เขาเรียนนิติศาสตร์ จุฬา ควบคู่ไปกับเรียน ปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการบริหารเทคโนโลยี (การจัดการงานโทรคมนาคม) ซึ่งต้องทำวิทยานิพนธ์อย่างหนักหน่วงด้านเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคม ได้ปรมาจารย์จาก เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ทำให้มีพื้นความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดี ได้เป็นนักลงทุน เป็นนักธุรกิจ เป็นที่ปรึกษา ในเวลาต่อมา 

 

ในช่วงอายุสามสิบถึงสี่สิบกว่าได้ทำงานด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเของชาติ ที่สำนักงาน กทช. และ สำนักงาน กสทช.  เคยรักษาการผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการส่วนงานวิชาการด้านการกำกับดูแลและพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม จนเป็น พนักงานปฏิบัติการระดับสูง ประจำฝ่ายเลขาฯ รองประธาน กสทช. ก่อนจะลาออกมามาก่อตั้ง บริษัท Cyberry music ค่ายเพลงออนไลน์แห่งแรกของไทย

ในขณะทำงานที่ สำนักงาน กสทช. นั้นได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงหลายแห่ง ได้ทำงานวิชาการด้านอาชญากรรมไซเบอร์ รู้ว่าตนยังความรู้ไม่พอ อนาคตอันใกล้ยังมีหายนะจากโลกไซเบอร์รอประเทศไทยอยู่มากมาย จึงคิดเรียนต่อ ได้ไปทดลองเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็รู้สึกยังไม่ใช่ แค่เขียนซอฟต์แวร์หรือทำวิจัย คงไม่พอต่อการรับมือหรือกำหนดนโยบายของชาติ ในที่สุดก็หาสาขาที่กว้างขวางครอบคลุมมาลงตัวที่ สำเร็จปริญญาเอก ด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ด้วยผลการเรียนระดับสูงสุดและดุษฎีนิพนธ์ระดับดีมาก (คะแนนเต็มเอกฉันท์จากคณะกรรมการสอบ) ด้าน อาชญากรรมไซเบอร์และทฤษฎีเกม จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งผลงานวิจัยเข้าชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งชาติ

โชคดีที่สำเร็จปริญญาเอกทันขณะที่พ่ออยู่โรงพยาบาลด้วยการป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ช่วยให้พ่อมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง พ่อคงรู้สึกตลกดีที่ลูกชายไม่เอาไหนคนนี้เป็น ด็อกเตอร์ จากจุฬา หลังจากพ่อเสีย มีเงินตกทอดจากการเคยเป็นจ่าสิบโททหารสื่อสารโอนมาเก้าหมื่นบาท เป็นมรดกชิ้นเดียวที่พ่อมีให้ พ่อเป็นนักเรียนนายสิบทหารบก เหล่าสื่อสาร ฝันอยากจะเข้าเรียนนายร้อย จปร. แต่เกิดเหตุวุ่นวาย และสุดท้ายต้องเลือกมาเข้าทำงานองค์การโทรศัพท์เพราะรายได้ดีกว่า ต้องส่งเงินไปให้แม่และน้องเรียนหนังสือ ความฝันเรื่อง จปร. ของพ่อก็จบไป

คุณปรเมศวร์ คิดอยู่แว๊บหนึ่งว่าจะเอาเงินก้อนนั้นไปทำอะไรที่เกิดประโยชน์และสานฝันพ่อ ก็ไม่พ้นเรื่องการเรียน ความฝันของพ่อนอกจากเข้า จปร. แล้วก็คงอยากให้ลูกจบวิศวะ จุฬา ตอนเด็กๆ พ่อมักจะชี้ให้ดูนั่นพี่คนนั้นจบวิศวะ จุฬา มีรถประจำตำแหน่งด้วย นั้นพี่คนนี้จบ วิศวะ จุฬา ได้เป็นผู้อำนวยการ ฯลฯ 

 

คุณปรเมศวร์ จึงตัดสินใจเข้าศึกษา โครงการความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรปริญญาโท วิศวกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้สานฝันให้พ่อทั้ง วิศวะ จุฬา และ จปร.

นอกจากนั้นก็ยัง จบหลักสูตรประกาศนียบัตร ทั้ง offline และ online จากสถาบันชั้นนำหลายแห่ง เช่น หลักสูตร Financial Market จาก มหาวิทยาลัย เยลล์ (ได้รับทุนจาก coursera ผลการเรียน With Honors) หลักสูตร Intellectual Property จาก มหาวิทยาลัย เพนซิลวาเนีย หลักสูตร Bitcoin and Crypto currencies จาก มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย, เบิร์กเลย์ หลักสูตร Cybersecurity for Critical Urban Infrastructure จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (M.I.T.) หลักสูตร Religion, Conflict and Peace จากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด หลักสูตร การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่10 (พตส.10) หลักสูตร Policy and Regulation in ICT Development for Mobile and Broadband Diffusion มหาวิทยาลัย วาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น หลักสูตร Wholesales and Regulatory Strategies จากมหาวิทยาลัย Aachen University of Applied Science ประเทศ เยอรมนี หลักสูตร Welcome to Game Theory จากมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียว หลักสูตร PolicyandRegulationConvergingTelecommunicationsEnvironment จาก ITU หลักสูตร  Telecommunication Policy and Regulation for Competition จาก ITU หลักสูตร เศรษฐศาสตร์โทรคมนาคมจากศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตร Techniques for Effective Public Participation Awarded จาก International Association for Public Participation

 

ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ และวิทยากร ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อาชญากรรมไซเบอร์ นโยบาย และกฎหมายไซเบอร์ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่ง และทำงานหลากหลาย อาทิ

  • กรรมการวิศวกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • Expert ศูนย์ศึกษา Cyber crime คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.chulacriminology.com/center-for-cyber-crimes-study.html) 
  • บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  • คณะนิติวิทยาศาสตร์ และคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 
  • คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • สถาบัน IMC 
  • วิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง Crypto currencies และ Cybercrime ให้กับหลายหน่วยงานของรัฐ อาทิ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย วิทยาลัยการตำรวจ (หลักสูตรผู้การ หลักสูตรผู้กำกับ) กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น 
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Cyberry Music จำกัด (ค่ายเพลงออนไลน์แห่งแรกของไทย) 
  • คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแห่งชาติ 
  • กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (กสทช.) 
  • กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (E - Platform Tax) 
  • กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และรถไฟฟ้า (บีทีเอส) (มูลค่าโครงการรวม 1.37 แสนล้านบาท) 
  • กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) 
  • รองประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
  • ที่ปรึกษามูลนิธิประชาปลอดภัย

 

 

เรื่องย่อชีวิตสนุกของ วศ.ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ นักอาชญาวิทยาไซเบอร์ นักกฎหมายเทคโนโลยี และวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร ที่นิยมการใช้ชีวิตปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

 

 

หมายเลขบันทึก: 708361เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2022 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2022 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท