ทำไมคิดบวกแล้วชีวิตยังติดลบ?


วันนี้ ฟังพอดแคสต์ ปลดล็อคกับหมอเวช ตอนเพิ่มพลังชีวิตให้คิดบวก 
น่าสนใจ เลยเอามาเป็นประเด็นให้ตัวเองคิดตาม

คุณหมอบอกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ “คิดบวก” จะมีผลบวกกับตัวเราได้ ต้องวางอยู่บนวิธีคิดสามอย่าง

อย่างแรก มองว่าจะเรื่องจะร้ายแค่ไหน ท้ายสุดมันก็จะผ่านไป

อย่างที่สอง มองว่าบางทีเราก็แก้ไขอะไรตอนนี้ไม่ได้ ก็ไปทำอย่างอื่นที่มันใช่ก่อน และเรื่องที่เราทำนี้บางทีมันก็อาจเข้าไปแก้ปัญหานั้นโดยอ้อม

อย่างที่สาม คือ มองว่าความเลวร้ายนั้น คือสิ่งที่ผ่านมาให้เราเรียนรู้ ทบทวน และถอดบทเรียน เพื่อก้าวต่อไปในเจอสิ่งใหม่ วันใหม่ที่ดีกว่า

อ้อ แล้วยังมีอีกอย่าง คือ มองสิ่งต่างๆไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ด้วยความขอบคุณ ความรู้สึกขอบคุณตรงนี้มาจากการเห็นคุณค่า ที่เชื่อมโยงกับการมีชีวิตอยู่ของเรา เช่น เห็นว่า หนอนก็มีคุณค่าต่อเรา ถ้าโลกนี้ไม่มีหนอน เราจะอยู่กันอย่างไร พอเข้าใจความเชื่อมโยงแบบนี้ เราก็รู้สึกขอบคุณ

หมอบอกว่า วิธีมอง สามอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ คือ ทำจนเป็นนิสัย  เป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวของคนๆนั้น ไม่ใช่มาจากการนั่งขบคิด

อย่างนี้เป็นคิดบวกแบบ Optimism คือลึกกว่า Positive Thinking ที่เป็นคิดบวกแบบผิวๆ เพื่อปลอบประโลมใจทั่วไป

คิดบวกแบบ Optimism นี้ มีพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองมาก 
หากจะคิดบวกแบบได้บวกกับตัวเราด้านในจริงๆ คือแบบ Optimistm นี่จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยพื้นฐานทางชีวภาพด้วย

พูดง่ายๆ เราจะคิดอย่างมีคุณภาพได้ ก็ต้องมีปัจจัยทางชีวภาพเป็นพื้นฐานด้วย เช่น คุณภาพของการกินอยู่ การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย การมีสภาวะจิตใจที่สงบ มีสติ สมาธิ

........................................................................................................

มาถึงตรงนี้ ผมเลยเข้าใจว่า คิดบวก ซึ่งไม่ใช่อย่างที่ใครมองผิวๆว่า “โลกสวย”
โอเค  เขาอาจจะว่าเรา เพราะเขาไม่เข้าใจ ว่าการคิดบวกนั้น มันมีความเชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่างภายในอันลึกซึ้ง 


และก็ไม่ใช่แค่คิดแล้วทำๆๆ เพราะตราบที่คุณภาพของการคิด เรายังไม่ได้ ทำไปก็อาจจะไม่ได้ดีไปกว่าเดิม 
หลายคนจึงท้อ ตัดพ้อว่า คิดบวกแล้ว ลงมือทำแล้ว ทำไมมันไม่เห็นผลบวกเลย
ที่ไม่ได้ผลบวกนั้น ทั้งนี้ เพราะเขาไม่เข้าใจรากฐานของการคิดอย่างที่ว่าข้างต้น

คิดบวก จะให้ได้ผลนั้น ต้องมีวิธีคิดสี่ข้อข้างต้น ทั้งต้องมาจากคุณภาพการคิดที่ดีพอ ซึ่งมันสัมพันธ์กับคุณภาพของการกินอยู่ การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย การมีสภาวะจิตใจที่สงบ มีสติ สมาธิ ตลอดจนเห็นคุณค่าของทุกสรรพสิ่ง รู้สึกดีที่เราได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการโอบอุ้มของสรรพสิ่งต่างๆมากมาย ทั้งน้อยใหญ่ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ประเด็นคือ แล้วเราจะพัฒนาวิธีคิดทั้งสี่ข้อให้ติดเป็นนิสัยได้อย่างไร แรกสุดก็อาจจะต้องให้เวลามาใคร่ครวญตรึกตรอง พูดง่ายๆคือ ทำในรูปแบบไปก่อน นานๆไปก็เป็นทักษะการคิดที่อยู่ในเนื้อในตัว เกิดเหตุอะไรมากระทบ เราก็คิดได้โดยอัตโนมัติ

แต่ก็ต้องทำคู่ไปกับการสร้างปัจจัยทางชีวภาพให้เพียงพอต่อการบ่มเพาะวิธีคิดเชิงบวกแบบนี้ 
ปัจจัยชีวภาพที่ว่าก็ได้แก่ ปัจจัยสี่ที่ดีเพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกาย การพักผ่อน

ส่วนตัวผมนี่ จริงๆเราค้นพบเส้นทางแห่งการคิดบวกแบบนี้ แบบคลำทางมา ก็ใช้เวลาสะสมมาเรื่อยๆ พอมาเจอพอดแคสต์ตอนนี้ ก็เห็นเป็นระบบขึ้นมาแบบว่า ใช่เลย ก็หันมาย้อนรอยทบทวนกระบวนการได้มาซึ่งการคิดบวกของตัวเอง

เอ้อ ปัจจัยสี่ เราก็พอมี ไม่ถึงกับลำบาก ร่างกายก็แข็งแรง ออกกำลังกายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการฝึกไอคิโดนี่ก็ได้สุขภาวะองค์รวมไปโดยปริยาย 

 

แต่ที่ต้องปรับปรุงคือปริมาณและคุณภาพการนอนที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในวันธรรมดาที่ภารกิจหลักที่กินเวลา 50 % ของงานในแต่ละวัน คืองานบ้าน และการดูแลลูกที่ยังเรียนชั้นประถมและมัธยมปลาย งานนอกบ้านส่วนใหญ่เป็นงานแนววิชาการที่ต้องใช้การเขียน การคิด วิเคราะห์มาก 

ว่างจากงานบ้าน พอมาทำงานวิชาการ เราก็มักจะลากยาวเผลอไปจนดึกดื่น กินเวลานอนเวลาตื่นหลับน้อย แถมไม่ค่อยเป็นเวลา ตรงนี้จำต้องปรับ และก็พยายามปรับอยู่

กลับมาที่การคิดบวก ที่เป็น Optimism ไม่ใช่แค่ระดับ Positive Thinking ที่พบในหนังสือสร้างแรงบันดาลใจทั่วไป เราจะเห็นว่าการคิดบวกอย่างที่ว่านี้ มันเป็นกระบวนการเชิงคุณภาพ   ซึ่งคุณภาพของการคิดนี่มันซับซ้อนกว่าที่เราเคยคิดไว้

แต่ถ้าเราต้องการให้ชีวิตรุ่งเรือง ก้าวหน้า เพิ่มพลังให้กับชีวิต ไม่ว่าจะวันนี้ วันไหน จะเจอเหตุดีหรือร้าย การหันกลับมาใส่ใจ และปรับปรุงกระบวนการและพื้นฐานของการคิดของตัวเราเองนี้ นี่เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องเข้าใจ และฝึกฝนต่อเนื่องจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 706780เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2022 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2022 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท