ชีวิตที่พอเพียง  4298. สะท้อนคิดเรื่องคุณค่าของการปฏิเสธต่อชีวิตของผม


 

ในชีวิตของผมได้ปฏิเสธโอกาสดีๆ ไปมากมาย   จึงได้โอกาสตอนแก่เอามาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ปฏิเสธเหล่านั้น    ดีหรือไม่ดีต่อชีวิตของผมอย่างไรบ้าง

ครั้งแรกที่ปฏิเสธ คือทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศ     โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ระบุชื่อนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งให้ไปสอบสัมภาษณ์     มีชื่อผมอยู่ด้วย     ตอนนั้นปี ๒๕๐๔ ผมเรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ปี ๒   ตอนสอบปลายปีปี ๑ ผมสอบได้คะแนนสูงสุด ได้รับพระราชทานเหรียญทองแดงในฐานะสอบได้ที่ ๑ ของนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ปี ๑ ทั้งหมด   ผมไปสอบสัมภาษณ์โดยไม่รู้จักว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร    และไปบอกผู้สัมภาษณ์ว่า หากส่งไปเรียนหมอผมเอา    แต่หากส่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์ผมไม่เอา    เพราะพ่อแม่อยากให้เรียนหมอ   ครั้งนี้ผมปฏิเสธโอกาสทองในชีวิตเพราะความเขลา     

    ปฏิเสธใหญ่ครั้งที่ ๒ คือปฏิเสธการเรียนปริญญาเอก    ตอนเรียนแพทย์ปี ๔ อาจารย์หมอประเวศชวนผมไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ที่อเมริกา     โดยท่านจะหาทุนให้    ในที่สุดได้ทุน China Medical Board ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่เมือง Ann Arbor    เรียนที่ Department of Human Genetics    มี Professor James V. Neel เป็นหัวหน้าภาควิชา   เป็นภาควิชาด้านมนุษยพันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก    ผมเรียนปี ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑ ก็ตัดสินใจรับแค่ปริญญาโทแล้วเดินทางกลับด้วยความสับสนในชีวิต    โชคดีที่อาจารย์ไม่โกรธ   กลับสนับสนุนให้ผมทำวิจัยได้อย่างอิสระ    ผมเลือกทำเรื่อง G6PD deficiency    มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมากพอที่จะให้ได้เป็นศาสตราจารย์ในเวลาต่อมา     การปฏิเสธครั้งนี้ ทำให้ผมเป็นคนรู้วิชาการไม่ลึก   ในที่สุดกลายเป็นคนทำงานวิชาการแนวกว้าง   

ปฏิเสธใหญ่ครั้งที่ ๓ คือปฏิเสธการเข้าขบวนการแสวงประโยชน์จากงานก่อสร้าง  ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วงปี ๒๕๑๙ - ๒๕๒๑   ที่เป็นขบวนการแฝงตัวแบบแยบยล    ผมปฏิเสธด้วยความขยะแขยงสิ่งที่เรียกว่าคอร์รับชั่น    ที่นำสู่การปฏิเสธครั้งต่อมาคือปฏิเสธตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยโดยการลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีในปี ๒๕๒๑    และต่อมาในปี ๒๕๒๓ ท่านอธิการบดีท่านใหม่ชวนให้เป็นรองอธิการบดี ผมก็ปฏิเสธอีก   แต่เมื่อท่านขอให้เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ตอนปลายปี ๒๕๒๔ ผมไม่ปฏิเสธ   

ปฏิเสธครั้งต่อมาเกิดขึ้นในปี ๒๕๓๒   เป็นการปฏิเสธตำแหน่งคณบดีสมัยที่สอง    หลังจากผลการสรรหาผมได้ที่ ๓  แต่สองท่านแรกไม่รับ   เขาก็มาขอให้ผมรับ   แต่ผมเห็นว่าในช่วง ๔ ปีแรก (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๓๒) การทำงานของผมก่อความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง    ว่าผมเน้นสนับสนุนงานวิชาการ และงานด้านคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร   สนับสนุนงานด้านคลินิกน้อยไป   การรับทำหน้าที่สมัยที่สอง คงจะทำงานยาก จึงไม่รับ    การปฏิเสธครั้งนี้ น่าจะส่งสัญญาณบอกคนในคณะรุนแรงทีเดียว    ทำให้แม้ผมไม่มีตำแหน่งบริหารใดๆ แต่ผู้คนก็แสดงความรักและนับถือมาก    ว่าผมไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง   

ในปี ๒๕๓๔ ผมเป็นแคนดิเดท อธิการบดี    หนึ่งในสามคน โดยผมอายุน้อยที่สุด    เมื่อมีคนมาถามว่าทำไมไม่หาเสียง    ผมบอกว่า ผมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นนักวิชาการ ไม่มีเป้าหมายแสวงหาตำแหน่ง    หากจะต้องรับตำแหน่งก็เป็นการรับเพื่อรับใช้องค์กร รับใช้สังคม   หากหาเสียงก็เท่ากับอยากเป็นเพื่อตนเอง   ผู้ถามตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นคุณหมอก็จะไม่มีวันได้เป็น”    คำพูดนั้นเป็นความจริง   

แต่ในปี ๒๕๓๘ ขณะผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สกว. และมีชื่อเสียงขึ้นมาก    มีการสรรหาอธิการบดีวาระใหม่ของ มอ.   ท่านนายกสภาบอกผมว่า “คราวนี้ถ้าหมอรับ หมอได้เป็นแน่”    ผมเรียนท่านว่า ผมจะรับได้อย่างไร ในเมื่องานที่ สกว. ยังติดพันอยู่    ประกอบกับท่านอธิการบดีก็ยังต้องการเป็นสมัยที่สอง     ผมบอกตัวเองว่า ได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่าจะไม่ทำงานที่ สกว. เพื่อเป็น stepping stone สู่ตำแหน่งใหญ่ขึ้น    และผมจะทรยศต่อตนเองได้อย่างไร   

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 706755เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2022 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2022 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านมาทั้งหมด อาจารย์ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง น่ายกย่องมากมายค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท