สานพลังกับความขัดแย้งและหลากหลาย : บทเรียนจากเวทีประชุมบนพื้นฐาน Aikido philosophy & style


วันก่อนที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถามผมว่ามีคลิปเก่าๆที่สมัยอบรมโปรแกรม Leaders by heart แล้วมีท่าที่อาจารย์ใช้วิชาไอคิโดทุ่มผมลอยตัวไปไหม ผมลองไปค้นดูในคอมก็ปรากฏว่ามี ก็ปรับสี ปรับภาพ เสียงให้คมชัดขึ้น แล้วส่งให้อาจารย์ไป แต่ผมก็นึกในใจว่า อาจารย์จะเอาคลิปเมื่อห้าหกปีก่อนนั้น ไปทำไม ผมเดาเอาว่าน่าจะเอาไปใช้ประกอบการอธิบายหลักคิดอะไรบางอย่างให้แกนนำนักปฏิบัติการทางสังคมในกลุ่มไลน์ได้อ่านกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ผมมีประเด็นเพิ่มเติมนิดหน่อยครับ แต่ก็เขียนเป็นเรื่องเล่าหกเจ็ดหน้า ถือเป็น Self-talk ที่กินเวลาหลายชั่วโมงในรอบสัปดาห์ แต่เป็นการกินเวลาที่จะทำให้ผมมีเวลาเชิงคุณภาพมากขึ้นในวันหน้า ใครสนใจก็ค่อยๆทยอยอ่านนะครับ อาจจะยาว เพราะเป็นการอธิบายในสิ่งที่เป็นนามธรรม เข้าใจได้ยากโดยยกตัวอย่างประกอบ   นอกจากจะได้ตอบอาจารย์ ผมเองก็ได้ทบทวนตัวเองอีกรอบ และน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจอยู่บ้าง


Part 1 ปูพื้นฐานแนวคิด

  • เรื่องแรก คือ เรื่องการสานพลังกับจักรวาล

ถ้าดูคลิปการสาธิตไอคิโดที่อาจารย์รับมือผมด้วยการทุ่มกลับแล้ว ในส่วนของการอธิบายแรงที่หลอมรวมจากภายใน หรือบูรณาการกาย ใจ จากนั้นดูดซับแรงของผู้จู่โจมเข้ามาแล้วเบนทิศทางแรงนั้นออกไป จุดนี้อาจารย์อธิบายได้ชัดแล้วครับ แต่คนจะเข้าใจแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นปัญญาปฏิบัติ ต้องมาฝึกบ่อยๆถึงจะพอคลำทางได้  

เพียงแต่ถ้าผมจะเสริม ก็เสริมในเรื่อง “พลังจักรวาล” เข้าไป เพราะในคลิป รวมถึงในชีวิตการงานเราไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยแรงจากตัวเองหรือการยืมแรงจากคู่ต่อสู้เท่านั้น แต่ยังมีแรงหรือพลังที่มองไม่เห็นอีกหลายอย่างที่มากระทำกับเรา แรงที่พูดถึงมากในวิชาไอคิโด คือ “พลังจักรวาล”

สภาวะจิตที่นุ่มนวล ว่างจากความคิด เคลื่อนไหวดั่งสายน้ำ สภาวะจิตและกายที่ดูจากตานอกเห็นเป็นการเคลื่อนไหวของนักไอคิโดแบบนี้ ในอีกด้านจึงเป็นการเชื่อมหรือดูดซับพลังจากจักรวาลแล้วสะท้อนออกไปในรูปลักษณ์ของเทคนิคการทุ่ม การบิดหักข้อ ล็อคข้อต่อส่วนต่างๆ

อายุมากขึ้น ผมลดการทุ่มลง แล้วหันไปฝึกเน้นที่การล็อคข้อต่อมากขึ้น เป็นการล็อคด้วยแรงย้อนกลับของเขาเอง ซึ่งจริงๆก็มีแรงจากจักรวาลส่งผ่านไปในนั้นครับ

  • เรื่องที่สองคือ Balancing , Centering (and Harmony Reflection) in Movement

สำหรับผม และนักไอคิโดทั้งหลาย หลายคนตระหนักดีครับว่า การฝึกไม่ได้มีแค่บนเบาะหรือในโดโจ หากเราสามารถฝึกไอคิโดได้ในทุกวัน ถ้าเราเข้าใจ ปรัชญา หลักการ หรือแก่นของวิชานี้

หรือที่อาจารย์ชัยวัฒน์นิยามไอคิโดว่าเป็น  Philosophy of Action ซึ่งผมก็นำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ทั้งการงาน ครอบครัว สังคม เพื่อนฝูง จะว่าไป ก็เป็น Micro Mastery ที่ผมทำทุกวัน สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ก็ทำไปเรื่อยๆเป็นวิถี

เกี่ยวกับการนำหลักการของไอคิโดมาใช้ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม ที่เห็นเป็นรูปธรรมของผมเอง ก็มีสมัยที่ทำสโมสรเยาวชนเล็กๆอยู่ที่ปางมะผ้าเมื่อปี 48-54 ตอนนั้นจำได้ว่ามีรายการชื่อมดคันไฟ ของ Thai PBS มาถ่ายทำเรื่องไอคิโดในฐานะหลักคิดเบื้องหลังงานพัฒนาเด็กเยาวชนชายขอบด้วย ซึ่งในตอนนั้น ผมพูดถึงหลักการไม่ปะทะ ไม่ต่อสู้ หากแต่เปิดทางให้แรงปะทะ หรือความขัดแย้งไปในทิศทางที่ลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย โดยที่เรามีสติ ไม่ตอบโต้ด้วยกาย วาจา ใจที่รุนแรงกลับ ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่าผมยังไม่ได้พูดเรื่อง Balance & Centering

จะว่าไปก็เป็นเรื่อง Mindset ที่ไม่ตั้งแง่กับความขัดแย้ง มองความขัดแย้งอย่างเข้าใจธรรมชาติของมัน เฝ้ารู้ เฝ้าดู และแทรกแซงเท่าที่จำเป็น การแทรกแซงก็เป็นไปโดยการสะท้อนแรงออกไปอย่างเข้าจังหวะ กลมกลืน โดยมีจิตใจที่เมตตาปราณีเป็นที่ตั้ง--- น่าจะใช้คำว่า Hamony Reflection ผมลองบัญญัติศัพท์เล่นๆนะครับ

อาจจะพอบอกได้ว่า ในช่วงนั้น ผมเล่าถึง Harmony Reflection ในงานเยาวชนที่ปางมะผ้าเป็นหลัก มาถึงตอนนี้ นึกได้ว่านี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของไอคิโด นอกเหนือจาก Balance & Centering ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เกริ่นไว้ ซึ่งก็ดีครับ ช่วยย้ำให้ตระหนักในแก่นของวิชาเหล่านี้มากขึ้น

ผมก็ฝึกไอคิโดทั้งบนเบาะ และนอกเบาะ หมายถึงในวิถีชีวิตเรื่อยมา แบบเงียบๆ เพราะรู้ว่ามันอธิบายยาก แต่ถ้าใครทำงานกับผม ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเลือกทำงานกับกลุ่มเล็กๆเพื่อง่ายในการบ่มเพาะ Touch - Point Leadership คือเหนี่ยวนำพลังความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆได้ ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ผมจะย้ำเสมอๆ ก็คือเรื่อง สมดุล (Balancing) ชีวิต-การงาน และมิติอื่นๆ ซึ่งก็คือ Balancing in everydaylife ซึ่งก็คือ movement แบบหนึ่ง

ส่วน Centering in Movement นั้น ในความเข้าใจผมมีสองโหมด

Centering โหมดแรก คือการกลับมารู้สึกเนื้อรู้สึกตัว  อยู่กับปัจจุบันขณะ  ถ้าเป็นไอคิโดก็รู้ถึงพลังของศูนย์กลางที่อยู่ภายในร่างกาย คือ จุด “คิ” ที่ต่ำลงกว่าสะดือประมาณนิ้วสองนิ้ว , ถ้าเป็นไทเก็ก หรือไทฉี ก็จะเรียกว่า “ชี่”  ในอาณาปาณสติแบบพุทธ ก็เรียกว่าหน้าท้อง เวลาหายใจเข้าออก ก็รับรู้ เอาจิตไปตระหนักรู้ตรงนั้น ก็แล้วแต่จะเรียกแบบไหน ฝึกแบบไหนก็ตามจริตและความถนัด

ในสมัยที่หมอสุพัฒน์ ยังเป็น ผอ.รพ.ที่ปางมะผ้า ก็ได้หมอมาช่วยนำกระบวนการ Centering ภายในจิตใจอยู่ตลอด แต่พอหมอย้ายไปนี่ ไม่รู้ว่ากลุ่มต่างๆจะใช้อยู่ไหม แต่ผมใช้กับตัวเองมาตลอดโดยนอกจากจากฝึกผ่านไอคิโดแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีก เช่น นั่งสมาธิ  , ฝึกกระบองสองท่อน , ฝึกชักดาบเก็บดาบแบบอิไอโด

ส่วน Centering ในอีกโหมด  คือ การโฟกัสที่จุดศูนย์กลางการเรียนรู้ หรือ โฟกัสที่กระบวนการ ณ ปัจจุบันนั้น ปล่อยวางเป้าหมายไว้ชั่วคราว เพราะโดยทั่วไป เรามักจะหมกมุ่นไปที่เป้าหมาย ซึ่งหลายๆครั้งกลับทำให้ความคิดเราติดกับดัก เพราะไปตอกตรึงตัวเองกับการเรียนรู้แบบหยุดนิ่ง (Static Learning) คือไปคิดว่าถ้าทำตามแบบแผนเป็นขั้นๆ ตามที่ออกแบบหรือเขากำหนดเอาไว้แล้วมันจะได้ความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อโลกอันซับซ้อน คลุมเครือ ลื่นไหล แบบ VUCA อย่างยุคสมัยนี้

โอเค ความสำเร็จอาจจะมา แต่เราพลาดสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าความสำเร็จปลายทางไปแล้ว นั่นคือเราพลาดที่จะยกระดับการเรียนรู้ระหว่างทาง เพราะเรามุ่งเป้าหมายมากเกินไป จึงไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ที่เป็น Static Learning

การไม่ออกจากการเรียนรู้แบบหยุดนิ่งนี่ทำให้เราติดนิสัยมองอะไรแบบฉาบฉวย ลวกๆขอให้เสร็จๆเป็นพอ ซึ่งจะส่งผลต่ออะไรต่อมิอะไรทั้งในงานและชีวิตเราในวงกว้าง


ยิ่งกว่านั้น ในโลกอภิผันผวน (VUCA World) การเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล (Dynamic Learning) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราปรับตัวได้ แต่เราจะทำอย่างไรในเมื่องาน เมื่อโครงการ อะไรมากมายบีบให้เราติดกรอบการมองว่ามุ่งเป้าหมายซึ่งต้องทำตามแผนที่วางไว้เป็นสำคัญ


เป้าหมายนั้นมีแน่ เพราะเราตั้งไว้แต่ต้น แต่สิ่งที่น่าติดคือในระหว่างที่เราเดินไปสู่เป้าหมายนั้น เรากำลังโฟกัสอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพลาดตรงจุดนี้


ถ้าเป็น การเรียนรู้แบบหยุดนิ่ง (Static Learning) ก็จะโฟกัสโครงสร้าง ข้อมูล ขั้นตอนต่างๆที่ต้องทำตามลำดับ แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล (Dynamic Learning) จะโฟกัสที่ “จุดศูนย์กลาง” หรือจุดเชื่อมประสานที่ทำให้องค์ประกอบต่างๆในงานนั้นเกิดความสมดุล
ในความเข้าใจของผม ตรงนี้เป็น Centeringในอีกโหมดที่ต้องทำควบคุ่ไปกับโหมดแรก

สำหรับ Harmony Reflection ผมใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเวทีต่างๆที่ผมดูแลเป็นประจำ ซึ่งบางครั้งในเวทีมีเวลาจำกัด ก็ต้องอาศัยทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ , ในเวลาประชุม และนอกเวลาประชุม ควบคู่กันไป แล้วแต่จังหวะ ซึ่งตรงนี้ตัวเราต้องมี Sensing อ่านให้ออก รู้สึกให้ได้ว่าจังหวะที่ใช่มันน่าจะอยู่ตรงไหน

การฝึกไอคิโด ซึ่งต้องใช้สัมผัสในการอ่านทิศทางแรง น้ำหนักแรงของผู้จู่โจม รวมถึงการรับรู้ถึงพลังจักรวาลที่ส่งผ่านเข้ามา ช่วยเสริมทักษะและพัฒนา Sensing ในจุดนี้ได้มาก


 

ถามว่า แล้วผมได้สร้างชุมชนเรียนรู้และขับเคลื่อน Philosophy of Action แบบนี้แค่ไหน ก็ตอบได้ว่ายังน้อยมาก แต่ก็เป็นน้อยที่ต่อเนื่องอย่างลูกศิษย์ที่มาเรียนไอคิโดกับผมก็จะได้รับแนวคิดนี้ไปโดยผมจะสอดแทรกไว้ในการฝึก เพื่อให้พวกเขาได้นำไปใช้โดยอิสระต่อไป 

หากสำหรับภาคประชาสังคมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือแม้แต่ในภาคเหนือแล้ว กระบวนคิด กระบวนขับเคลื่อนก็ยังไม่ลึกถึงเรื่องนี้ ดูจังหวะแล้วยังพูดอะไรยาก ผมก็อาศัยเล่าผ่านบล็อกและเฟสบุ๊คเป็นส่วนใหญ่ ก็พบว่าเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น แต่ก็เป็นคนนอกจังหวัดซะส่วนใหญ่ จนกระทั่งมาเจออาจารย์ชัยวัฒน์พูดถึงเรื่องนี้ และเปิดโอกาสให้ไอคิโดได้ทำหน้าที่ทางสังคมผ่านตัวผมในหลายๆเวทีที่อาจารย์เป็นวิทยากรผู้สรรค์สร้าง จนบางครั้งผมก็รู้สึกว่าจะเกินหน้าคนอื่นไปไหมนะ 555 เวลาอาจารย์อาจารย์หรือใครยกตัวอย่างมาที่ผม ก็รู้สึกเกรงใจคนอื่นอยู่ลึกๆ ว่าเขาจะหมั่นไส้เอารึเปล่าที่อาจารย์พูดถึงบ่อยๆ

จริงๆ ผมชอบทำงานอยู่เงียบๆใช้ชีวิตสงบๆ สันโดษอยู่เบื้องหลังมากกว่า แต่ถ้าจำต้องปรากฏตัว หรือพูดง่ายๆ คือ ออกไปรบ ไปเจอสมรภูมิความขัดแย้งที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน ก็สามารถออกไปโดยไม่กริ่งเกรงอะไร เหมือนมันเป็นอัตโนมัติไป อันนี้ รู้สึกกับตัวเองหลายครั้งเหมือนกัน จะเรียกว่าเป็น “Actionable knowledge in the field of paradox” ก็น่าจะได้ แต่มันเป็น Tacit knowledge หรือความรู้แฝงเร้นที่อยู่ในเนื้อในตัว ไม่ใช่ explicit knowledge ที่จะเขียนออกมา หรืออธิบายผ่านสื่อต่างๆให้เข้าใจได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม การสื่ออย่างที่อาจารย์พยายามบอกครั้งแล้วครั้งเล่าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ เพราะเป็นพื้นฐานที่จะสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ เป็นสะพานไปสู่ความรู้ในระดับ Tacit ที่ปราณีตลึกซึ้งขึ้น ทั้ง Tacit knowledge และ Explicit knowledge สองสิ่งนี้ มันไม่ได้แยกจากกัน แต่มันส่งเสริมกันและกันได้ อันนี้ ก็เป็นมุมมอง หรือปรัชญาที่ผมคิดว่าได้รับมาจากการฝึกไอคิโด และการอ่านงานหนังสือแนว “เซน” และ “เต๋า” ของหลายท่าน โดยเฉพาะท่านติช นัท ฮันท์

เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นการปูพื้นฐานความคิดก่อนที่ผมจะพูดถึงการใช้หลัก Balancing , Centering and Harmony Reflection in Movement อันเป็น Aikido : Philosophy of Action ในเวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดการทรัพยากรน้ำภาคเหนือเมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมาครับ

............................................................................................................................
Part 2

การประยุกต์ใช้หลัก Balancing , Centering and Harmony Reflection in Movement ในเวที

เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในระดับภาคเหนือ เมื่อ 2 กันยา 2565 ที่ผ่านมา ดูเผินๆจะไม่มีความตึงเครียด หรือขัดแย้ง แต่จริงๆไม่ใช่  

ความขัดแย้ง ความตึงเครียด ปรากฏอยู่ในห้องย่อย ซึ่งจริงๆ มันถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่จากด้านนอกก่อนแล้ว ในชีวิตการงาน วิธีคิด การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเชื่อ ประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายองค์กร หลายกหลายพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้มีพื้นที่นำเสนอออกมา

ผมสานพลังกับจักรวาลแต่เช้า ด้วยการทำสมาธิเล็กน้อย ภาวนา อธิษฐานจิตก่อนเข้าร่วมเวที ปล่อยจิตว่างๆ แล้วนึกถึงครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพ อันเป็นธรรมเนียมเดียวกันกับการฝึกไอคิโด และศาสตร์การต่อสู้แบบอื่นๆ จากนั้นก็เข้าสู่ห้องประชุม พบปะและแลกเปลี่ยนพลังกับผู้คนมากมาย ผมได้พลังจากอาจารย์ และมิตรสหายตั้งแต่เช้า ก็รู้สึกอุ่นใจ แต่ในใจก็ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับความแรงในห้องประชุม กับผู้คนที่ผมไม่คุ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะประเด็นลุ่มน้ำ เป็นประเด็นที่ผมไม่คุ้น ไม่มีพื้นมาเท่าไรเลย

แต่ถึงไม่มีพื้นฐานเราก็มีใจ มีสติกับเนื้อตัว ลมหายใจ ตระหนักรู้ในสิ่งที่เรากำลังจะทำ ว่าจะก่อให้เกิดคุณูประการ และเชื่อมั่น จดจ่อ โฟกัสกับกระบวนการ ผมคิดว่านี่เป็น Centering แบบที่ผมไม่รู้ตัว ก็ทำอยู่เป็นธรรมชาติ

Centering ทำให้มีความกล้าหาญ  เป็นกล้าหาญที่มีความสงบอยู่ภายใน มันทำให้ใจมีบ้าน ผมรู้สึกอย่างนั้น

ตัดเข้ามาในห้องย่อยที่ผมรับผิดชอบร่วมกับพี่ขุน มนตรี อิ่มเอก คือ ลุ่มน้ำปิง  ห้องลุ่มน้ำปิงนี้มีผู้เข้าร่วมอยู่มากกว่าทุกกลุ่มเพราะเป็นลุ่มน้ำใหญ่ของภาค เราพบว่า พอเปิดห้อง เปิดฟลอร์ในโจทย์ข้อแรก ผู้เข้าร่วมต่างก็พรั่งพรูข้อมูลและความรู้สึกออกมาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ ผมมองผู้เข้าร่วม มองพี่ขุนซึ่งเป็น Fa ประจำห้อง ผมก็ส่งสายตาบอกพี่ขุนไปว่า นี่ Sensing เลยว่า จังหวะนี้ คนอึดอักต้องการระบายออก ช่วงเช้าอาจจะได้โจทย์แค่ข้อเดียวก็ไม่เป็นไร อ่านแรงตรงนี้ แล้วสังเกตก่อนโอยอุ้มและฟูมฟักสนามพลังที่มีชีวิตนี้สู่ช่วงบ่ายต่อไป ค่อยเชื้อเชิญให้เขาค้นหาคำตอบที่เหลือร่วมกัน เราเป็น Fa เป็น Note ก็ต้องจับจังหวะ ดูดซับพลังที่เขาปลดปล่อยออกมา แล้วถักทอ ไปสู่คำตอบร่วม

แน่นอนครับว่า ในวงแลกเปลี่ยนไม่ได้มีคนเห็นเหมือนกันไปทุกเรื่อง ผมรู้สึกว่านี่เป็นสนามพลังที่มีพลังมากมายไหลวนกันไปมา มีรวมกันบ้าง มีกระทบกันบ้าง พลังเหล่านี้วิ่งกันสะเปะสะปะ เราเองที่ Centering อยู่ตรงกลาง

ถามว่าเวลาเจอ ผู้ประชุมนำเสนอแนวคิดที่เราไม่เห็นด้วย เราทำอย่างไร อันนี้ก็เจอครับ มีผู้แทนบางคนจากภาคธุรกิจบอกสนับสนุนการสร้างเขื่อนในบางพื้นที่  ทีแรกผมก็นึกสะดุ้ง เอาละหวา แกนั่งติดกับพี่น้องปกาเกอะญอสายอนุรักษ์ซะด้วย ผมก็นิ่งๆอยู่ ในขณะที่แอบกังวล แต่ก็รู้สึกด้วยว่าลึกๆตัวตนเก่า เรากำลังค้านอยู่ภายใน แต่ตัวตนใหม่ในปัจจุบันขณะมันตระหนักว่าเรากำลัง Centering & Balancing อืมม....อันนี้ ภายในเราก็รู้เท่าทันความคิดปรุงแต่งของตน พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันก็ Slow Down ลงได้ ไม่ด่วนสรุปไม่ตัดสินพลังชนิดใดว่าสูงหรือต่ำ ดีหรือด้อย เราเป็นพื้นที่รองรับให้พลังเหล่านั้นมาจัด Balance เป็นระบบ  ซึ่งผมก็สังเกตก่อนว่า ผู้เข้าประชุม เมื่อมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เขาจะทำอย่างไรกันบ้าง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ของผู้พูดและวงสนทนาในขณะนั้นเป็นอย่างไร  จะว่าไปก็เป็น System thinking of Human Faces

ถ้าเป็นไอคิโด ก็คือ การอ่านทิศทางแรง และพลังที่อยู่โดยรอบ ถ้าพลังมันหักล้าง หรือหลอมรวมจัดการกันเองได้ เราก็วางๆ อันไหนดูท่าทางจะบานปลาย เราก็แทรกแซงเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ ท้ายสุด หลังสนามพลังแบบนี้ ทุกคนต้องรู้สึกปลอดภัย เป็นเพื่อนกัน นี่ก็หลักการสำคัญที่ได้มาจากไอคิโดเลย คือ ท้ายสุดผู้โจมตี รวมถึงเราที่ถูกโจมตีต้องปลอดภัยไปด้วยกัน นำพาความสงบกลับเข้ามา ซึ่งผมก็ดีใจที่หลังจบเวทีในห้องย่อยนี้มีกลิ่นไอของมิตรภาพแบบนั้น

Case ที่เขาคิดต่าง ไปๆมาๆ คนในห้องก็ช่วยกันอธิบาย แถมยังมีการชื่นชมกันและกันโดยที่ Fa กับ Note Taker อย่างเรา ไม่ต้องแทรกอะไรมากมายเลย อันนี้ก็เป็นความชื่นใจของผม และผมก็ไม่รีรอที่จะบอกความรู้สึกนี้แก่พวกเขา

ทีนี้มาถึงโจทย์ Design Thinking ในจัดการพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่มากๆ เคยไปร่วมบางหน่วยงานที่ชวนผมไปแลกเปลี่ยน แต่ดูๆไปเหมือนเขามี agenda อยู่แล้ว ผมก็เลยไม่ได้เล่าอะไรเปิดอกแบบนี้

ในจัดการพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร แม้คำตอบจะยังไม่ชัด แต่อย่างน้อย เราก็เห็นว่า วิธีคิด ตลอดจนอุดมการณ์ทางสังคมแบบเดิม ทฤษฎีการปฎิวัติ หลักวิชาการพัฒนาสังคมแบบเดิมๆ มันไปต่อไปไม่ได้ ความคิด นิยามพลังที่แยกออกเป็นขั้ว เป็นก้อน เป็นส่วนๆ อย่างหยุดนิ่ง ตายตัว มันมีปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นในโลกเสรี โลกสังคมนิยม หรือในประเทศไหนๆ เพราะนี่ไม่ใช่วิฤตเฉพาะสังคมไทย หากแต่เป็นทั้งโลก ที่ต้องทบทวน และเข้าสู่สมรภูมิทางความคิดแบบใหม่ที่เราอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ผมไม่รู้ทางออกของทั้งระบบหรอกครับ ไม่มีปัญญาไปถึงขนาดนั้น แต่ผมรู้ว่าเบื้องแรกสุดเราต้องตระหนักในวิกฤตตรงนี้ก่อน หมายถึงจุดมืดบอด หรือที่อาจารยชัยวัฒน์เรียกว่า “ความพิการในการเรียนรู้ของตัวเราเอง” และพิจารณา ทบทวน บทเรียนของตนเอง ครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วออกแบบตัวเองใหม่ ให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถเชื่อมสานกับพลังมากมายทั้งภายในและภายนอก พัฒนาทักษะในการเล่นกับพลัง  ทักษะการประหยัดพลัง รวมถึงฟื้นฟูพลังอีกด้วย

อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่า ถ้าผมมี Balance , Centering , Harmony Reflection ซึ่งเป็นหลักที่ผมใช้ฝึกทุกวันทั้งในการฝึกไอคิโด , การทำงาน การใช้ชีวิตทุกมิติ  ไปจนถึงเวทีล่าสุดนี้  ถึงมรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะถาโถม และยากจะคาดเดาแค่ไหน เราก็ล้มและลุกขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาได้เสมอ และขอบเขตของการขับเคลื่อนพลังแบบนี้ จะเหนี่ยวนำออกไปดังข่ายใยของระบบนิเวศ ซึ่งถ้าเราเชื่อว่า เราเองก็เป็นภาพสะท้อนของพลังทางสังคมมากมาย รวมทั้งพลังจักรวาล

เมื่อเราเปลี่ยนแปลง พลังงานของเราย่อมส่งผลต่อสนามพลังทางสังคมที่ข้างในเต็มไปด้วยโครงสร้าง ระบบ อันซับซ้อนมากมาย และส่งผลต่อพลังจักรวาลในรูปแบบต่างๆได้โดยไม่ต้องสงสัย และเราก็สร้างพื้นที่ทางสังคม ให้ผู้คนที่คิด เชื่อ ทำ สมาทานในแนวทางอย่างเรานี้ ได้มาพบเจอกันเพื่อสานพลังและยกระดับการเหนี่ยวนำขึ้นไป นี่เป็นสิ่งที่คนธรรมดาอย่างผม คิดว่าเป็นทางออกที่พอเป็นไปได้

ขอบคุณสำหรับคำถามเริ่มต้นจากท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และขอให้กำลังใจในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับวิธีคิด และกระบวนการ สำหรับผู้ที่อ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 706660เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2022 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2022 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท