กองทุนเพื่อคนพิการกับการสื่อสารและบริการที่เป็นมิตรในยุคเศรษฐกิจถดถอย (Great Recession)


29 ส.ค.65 ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาวาระการประชุม

คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จ.แม่ฮ่องสอน

นัดสุดท้ายของปีงบประมาณ รอบนี้มีโครงการส่งเสริมอาชีพของคนพิการ/ผู้ดูแล มาให้กลั่นกรองถึง 49 โครงการ และก็มีของศูนย์บริการคนพิการจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ครอบคลุมศูนย์บริการคนพิการทั่วไป 31 ศูนย์ในแม่ฮ่องสอน อีกหนึ่งโครงการ

เป็นอีกการประชุมที่เข้มข้น ที่คณะทำงานนั่งคุยแลกเปลี่ยน หาวิธีที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ ภายใต้ข้อจำกัดและความคลุมเครือต่างๆ

มีประเด็นเรื่องของการค้างชำระหลายงวด และอภิปรายในที่ประชุมว่า เราจะจัดการกันอย่างไรต่อ โอเคว่า วินัยการเงินนั้นสำคัญมากในการใช้เครดิตนั้นกู้ต่อเป็นรอบ 2 รอบ 3 แต่ผู้ดูแลกองทุนก็ไม่ควรใช้ไม้บรรทัดไปวัดเสียทีเดียว เพราะเราไม่ใช่แบงค์ แต่เราเป็นกองทุนทางสังคม หลักคิด วิธีปฏิบัติย่อมต่างไปบ้าง

ยิ่งยุคปัจจุบัน Great Recession เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ไม่รวมถึง Disruption , COVID-19 และ Climate Change ย่อมส่งผลต่อภาวะต้นทุนการผลิต การจ้างงาน ขนาดว่าคนสภาพร่างกายครบสามสิบสองอย่างเรายังแทบเอาตัวไม่รอด แล้วครอบครัวที่มีคนพิการล่ะ มีหรือจะไม่กระทบกว่า

ตรงนี้คือความเห็นอกเห็นใจ (Emphathy) ยิ่งคนพิการบางคนอาจจะรู้สึกด้อยค่าตนเองอยู่แล้ว เจอความผิดหวังทับถมลงไป เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า ลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีก

การบริหารจัดการจำต้องมีวินัยแต่ก็ต้องควบคู่ไปกับมี Emphathy คือนึกถึงใจเขาใจเรานะ ลองคิดดูว่าถ้าตัวเราไปอยู่ในสภาวะการณ์แบบนั้น เเขนขาไม่ดี ตาบอด หูไม่ได้ยิน เราจะทำงานแต่ละชิ้นได้ยากลำบากแค่ไหน ถึงจะมีผู้อื่นมากู้โดยใช้สิทธิแทน แต่ก็เป็นชื่อของคนพิการ เป็นตัวตนของเขา

ทีแรกผมก็คิดว่านี่มันจะลึกไปไหม แต่มองดูสีหน้าแววตาผู้เข้าประชุมที่มีคนพิการหลายท่านนั่งอยู่ด้วย อืม... บางทีการสะท้อนของเราน่าจะมีประโยชน์ น่าจะเปิดใขเรียนรู้ร่วมกันไปได้...โอเค ก็เลยอภิปรายเพิ่มเข้าไป

ชอบใจที่ท่านหัวหน้า พมจ. มองทะลุเจตจำนงข้อนิ้ และได้เสริมถึงเหตปัจจัยที่บางทีคนพิการผู้กู้ก็ไม่สามารถชำระได้ตามนัด พอทางฝ่ายติดตามของ พมจ. ไปตรวจสอบก็พอว่า เขาป่วยหนัก เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายก็มี ซึ่งก็ได้ทำเรื่องให้ได้สิทธิสงเคราะห์ในช่องทางอื่นเสริมเข้าไป

วันนี้ ประชุมตั้งแต่บ่ายโมงยันห้าโมงครึ่ง แต่ก็ถือได้ว่าน่าจะได้พูดแทนใจผู้แทนคนพิการจากสมาคมต่างๆที่เข้าร่วม และได้ให้ข้อเสนอเรื่องการสื่อสารเรื่องสิทธิการกู้ยืม การติดตาม (หนุนเสริม) การผ่อนชำระ ให้ครอบคลุมถึงการสื่อสารในเชิงฟื้นฟู เยียวยา ผู้กู้ที่เป็นคนพิการ/ผู้ดูแลที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพตามที่กู้ด้วย

เป็นการสื่อสารด้วยหัวใจ ซึ่งบางทีถ้าเราโฟกัสที่ตัวเลขเกินไปก็อาจจะมองไม่เห็น

รวมถึงเรื่องการออกแบบที่ทำงาน ให้คนพิการสามารถทำงานได้โดยสะดวก หรือหากคนพิการไม่ได้กู้มาทำอาชีพเองเพราะไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานนั้นได้ แต่อย่างน้อยสถานประกอบการก็อาจจะมีพื้นที่ให้คนพิการได้เข้ามาเยี่ยมเยือน

เพราะจริงๆแล้ว สิทธิการกู้นี้มาจากคนพิการ คนพิการเขาก็ควรมีสิทธิในการเยี่ยมชมกิจการด้วย ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการพอสมควร

ตรงนี้ ทาง พมจ. ทั้งที่วางแผนพัฒนาโครงการมาแต่ต้น และที่ลงติดตามก็แนะนำได้

เพราะหากคนพิการได้มีส่วนร่วมในงานที่กู้เงินมาแล้วด้วยนั้น จะร่วมได้มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่สภาพการณ์ (แต่เราควรส่งเสริมหรือให้แนวทางประกอบให้คนพิการ/ผู้กู้ คิดตาม) เขาน่าจะเกิดความภาคภูมิใจ มีความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองชัดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่คนอื่นมาใช้สิทธิตนในการกู้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอาชีวอนามัยของคนพิการอีก เช่น การสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตร การเก็บของเก่าที่อาจเจอขยะปนเปื้อน ฯลฯ เหล่านี้ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อยากให้ทางคณะผู้พัฒนา ติดตาม หนุนเสริมโครงการเพื่อคนพิการเหล่านี้ คิด วิเคราะห์ร่วมไปกับคนพิการ /ผู้ดูแล/ญาติ มากขึ้น และอนาคตอาจจะต้องเชิญฝั่งแพทย์ สาธารณสุขมาร่วมให้ความเห็นตรงนี้

cr. ภาพจากคมชัดลึกดอทคอม

 

ทั้งหมด ดูจะเป็นงานที่หนักหนาสาหัสพอสมควรกับคณะทำงานของ พมจ. แต่ก็เป็นแนวทางที่ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในฐานะคณะทำงานอย่างผมสะท้อน และอยากให้กำลังใจ

อนึ่ง หลักคิดแบบนี้ น่าจะเอาไปปรับใช้ได้กับหลายๆกองทุนที่ทำงานด้านสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรพิเศษ หรือกลุ่มเปราะบางต่างๆ

ผมเดาเอาว่า กองทุนสังคมรายย่อย กองทุนชุมชนหลายที่อาจจะทำแบบนี้รุดหน้าไปไกลแล้ว บางที่ก็เป็นต้นแบบ มีหน่วยงานต่างๆมาทัศนศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อันนี้ ตัวเจ้าหน้าที่ ข้าราชการทุกระดับของหน่วยงาน พม. และกระทรวงอื่นๆก็อาจจะไปเรียนรู้กับพื้นที่ต้นแบบ ข้ามองค์กรแล้วเอามาปรับระเบียบหรือแนวปฏิบัติภายในก็ได้

ผมเองแม้อยู่กับงานพัฒนาชุมชนมานานพอสมควร แต่ก็ถือว่ามือใหม่สำหรับวงการกองทุนแบบนี้ ก็อยากฝากแชร์แนวคิดไว้ เผื่อทบทวน และเป็นประโยชน์ต่อไปครับ

 

หมายเลขบันทึก: 706192เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2022 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2022 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท