แบบประเมิน PSQI กับคุณภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุ


            สวัสดีค่ะทุก ๆ ท่าน  ดิฉันดีใจมากที่พวกเราได้มาเจอกันอีกครั้งในบทความนี้นะคะ ดิฉันชื่อพิมพ์ณดา รุ่งสิริวัฒนะชัย เป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางนักศึกษากิจกรรมบำบัดปี 3 ได้เรียนวิชาใหม่ต้อนรับช่วงเดือนแรกของการเปิดเทอม ก็คือวิชากิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุค่ะ ซึ่งปัจจุบันนี้นั้น ผู้สูงอายุในประเทศไทยก็นับว่ามีจำนวนมากขึ้นในทุกปี ดังนั้น ในวิชาเรียนคาบที่ผ่านมา พวกเราจึงได้มีเรียนวิธีการประเมินคุณภาพการนอนหลับสำหรับผู้สูงอายุ แล้วได้รับมอบหมายงานให้ลองสัมภาษณ์เพื่อประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณตาคุณยายของตนเองค่ะ ซึ่งในวันนี้ดิฉันจะสัมภาษณ์คุณตาของดิฉัน ซึ่งท่านอายุ 73 ปีค่ะ 

      โดยการบันทึกการประเมินจะแนบไฟล์ไว้ด้านล่างดังนี้ค่ะ

20220824201856.pdf

       และหลังจากทำการสัมภาษณ์ละพูดคุยเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ก็จะนำบันทึกการประเมินมาแปลผลตามแบบฟอร์มที่แนบไว้ด้านล่างนี้ค่ะ เพื่อที่จะได้ดูว่า คุณภาพการนอนหลับของคุณตาของดิฉันอยู่ในเกณฑ์ไหนนะคะ

20220824201915.pdf

       ก่อนที่จะกล่าวถึงคะแนนรวมและการแปลผลคุณภาพการนอนของคุณตาดิฉันนะคะ ดิฉันจะขออธิบายการแปลผลคะแนนก่อนค่ะ ซึ่งในการแปลผลคะแนนทั้ง 7 องค์ประกอบของแบบประเมิน PSQI นั้น จะมีช่วงคะแนนรวมตั้งแต่ 0-21 คะแนน โดยถ้าคะแนนรวมทั้ง 7 องค์ประกอบน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 คะแนน จะถือว่ามีคุณภาพการนอนหลับที่ดี และถ้ามีคะแนนรวมมากกว่า 5  คะแนนขึ้นไป จะถือว่ามีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีค่ะ 

        ซึ่งคะแนนรวมคุณภาพการนอนของคุณตาดิฉัน มีคะแนนรวมเท่ากับ 3 คะแนน เมื่อเทียบเกณฑ์แล้วนั้น จึงถือว่าคุณตาของดิฉันมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีค่ะ 😊

 

การใช้หลัก SEA กับการ Self-reflection 

S : Spotting

    สิ่งที่ดิฉันได้มองเห็นจุดแข็งของตนเองขณะทำการสัมภาษณ์ คือดิฉันเป็นคนที่สามารถอธิบายบางคำถามให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นเพื่อที่คุณตาของฉันจะได้ตอบคำถามได้ตรงจุด เช่น มีคำถามนึงที่ถามว่า “ท่านนอนหลับได้จริงเป็นเวลากี่ชั่วโมงต่อคืน” ตอนแรกคุณตาของดิฉันไม่เข้าใจความหมายของคำถามนี้ เพราะท่านเข้าใจว่า คำถามนี้ก็เหมือนคำถามที่ว่า นอนกี่โมงถึงกี่โมง จนฉันได้ทำการคิดคำอธิบายที่ดูง่ายขึ้น โดยถามว่า “ปกติแล้วคุณตาต้องมีไปเข้าห้องน้ำใช่มั้ยคะ แล้วหลังเข้าห้องน้ำก็ต้องมีช่วงเวลาที่อยู่บนเตียงก่อนจะหลับต่ออีก ใช้เวลาประมาณกี่นาทีคะ” พอคุณตาฉันได้ยินแบบนี้จึงสามารถเข้าใจคำถามมากขึ้น แล้วได้บอกว่าตนเองนั้นมีลุกไปเข้าห้องน้ำบ้าง หนึ่ง-สองครั้ง รวม ๆ แล้วจึงใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงต่อคืนในการเข้าห้องน้ำรวมถึงช่วงเวลาก่อนจะหลับต่อไปในคืนนั้น ๆ และฉันยังมองว่าตนเองสามารถพูดถามคำถามได้ชัดเจน ฟังได้ง่ายสำหรับผู้สูงอายุโดยเป็นเสียงที่ดัง ฟังชัด แต่ไม่ได้เป็นการตะคอกหรือตะโกนใส่ และยังสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณตาต้องการจะสื่อในบางคำถามได้ เช่น ตอนที่ดิฉันถามเรื่องการฝันร้าย ตาดิฉันถามว่าถ้าฝันถึงคนที่ไม่ชอบหรือเรื่องที่ไม่น่านึกถึง โดยไม่ได้ฝันเรื่องผีนี่นับเป็นฝันร้ายมั้ย  ดิฉันเลยบอกไปว่า ถ้าฝันไหนที่ทำให้คุณตารู้สึกไม่สบายใจหรือทุกข์ใจก็นับว่าเป็นฝันร้ายทั้งหมดค่ะ

E : Explain

          จากผลการประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณตาของดิฉัน ถือได้ว่าเป็นคุณภาพการนอนหลับที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ แต่จะมีบางหัวข้อที่คุณตาของฉันจะเป็นประจำแทบทุกวัน ก็คือการนอนฝันร้าย การกรนเสียงดัง การลุกไปเข้าห้องน้ำ และเนื่องจากคุณตาของดิฉัน มีโรคประจำตัวคือโรคพาร์กินสัน ซึ่งคุณตาของดิฉันได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ กินยาตามที่แพทย์สั่งทุกวัน และออกกำลังกายเป็นประจำ จนทำให้อาการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก แต่ตัวโรคนั้น ก็อาจจะยังส่งผลต่อเรื่องการปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ อยู่ 

ในส่วนของการลุกมาเข้าห้องน้ำนั้น ดิฉันยังมีความกังวลกับอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับคุณตาของดิฉันอย่างการหกล้มอยู่บ้าง เพราะในห้องนอนคุณตา มีสุนัขที่เลี้ยงไว้อยู่หนึ่งตัว และยังเป็นห้องที่มืดเนื่องจากการปิดไฟนอน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก ในฐานะของนักศึกษากิจกรรมบำบัด ดิฉันเลยแนะนำคุณตาและลุงของดิฉันที่นอนห้องเดียวกันในส่วนของการหาโคมไฟที่หัวเตียงไว้ เมื่อคุณตารู้สึกอยากเข้าห้องน้ำก็ทำการเปิดโคมไฟก่อน เพื่อที่จะได้สามารถมองเห็นสุนัขที่นอนอยู่ได้ แนะนำให้มีการจัดวางแผ่นกันลื่นในห้องน้ำและหน้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันการสะดุดหรือการลื่นล้มที่อาจจะเกิดขึ้น และมีการแนะนำให้คุณตาปัสสาวะก่อนที่จะเข้านอน จะได้ลดการตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน

ในเรื่องของอาการนอนฝันร้ายและอาการกรน ก็จะแนะนำในเรื่องของดูเรื่องการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดตารางยาที่สามารถมองเห็นตัวอักษรวัน ช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน และมีการแนะนำลุงซึ่งอยู่ร่วมห้องเดียวกันกับคุณตาในการคอยดูแลเรื่องการกินยาให้ครบถ้วน เพื่อที่จะสามารถประคับประคองอาการให้คงที่ และมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้น

  A : Appreciate

          จากการได้สัมภาษณ์คุณตาในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุแบบจริงจังเป็นครั้งแรกนั้น ดิฉันรู้สึกดีใจและเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ แม้จะเป็นผู้สูงอายุที่เป็นครอบครัวเดียวกันก็ตาม แต่ก็นับเป็นก้าวแรกของการฝึกการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่ดีและมีความหมายต่อดิฉันที่ยังเป็นนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการได้ฝึกวิธีการพูดที่เข้าใจง่าย สั้น กระชับ ได้ใจความ ฝึกการอธิบายให้ผู้สูงอายุได้ฟังอย่างใจเย็น ฝึกการฟังสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการจะสื่อ และมีการใช้แนวคิดทางกิจกรรมบำบัดในการให้คำแนะนำตามหลักการที่ได้เรียนมา เพื่อที่จะช่วยให้คุณตามีคุณภาพการนอนหลับที่ดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ 

          นอกจากนี้แล้วนั้น ยังรู้สึกดีใจที่ได้คุยเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของคุณตาอีกด้วยค่ะเนื่องจากปกติแล้วนั้น คุณตามักจะถามเรื่องการเป็นอยู่ของดิฉันด้วยความเป็นห่วงตามแบบผู้หลักผู้ใหญ่มากกว่า พอครั้งนี้ดิฉันได้ลองถามคุณตากลับบ้างเลยรู้สึกดีใจที่ได้ทำเป็นอย่างมากเลยค่ะ 😊

.

.

.

                ทุกท่านคะ ในบทความนี้ก็ได้จบลงไปแล้วนะคะ เกี่ยวกับการบันทึกการประเมินคุณภาพการนอนหลับและการแปลผลคุณภาพการนอนหลับตามแบบประเมินของ PSQI ของคุณตาของดิฉัน และการสะท้อนของตัวดิฉันเองหลังจากการได้ฝึกการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ เพื่อหาจุดแข็งของตนเอง เพิ่มความมั่นใจและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ โดยดิฉันหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของทุกท่านได้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ <3

พิมพ์ณดา รุ่งสิริวัฒนะชัย รหัส 6323026 เลขที่ 21

 

หมายเลขบันทึก: 705984เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2022 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2022 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท