คุณย่านอนดี Happy ถ้วนหน้ากับการใช้ T-PSQI ประเมินคุณภาพการนอนหลับผู้สูงอายุในครอบครัว


เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ก็ได้เริ่มเรียนวิชาเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เริ่มเข้มข้นขึ้นจากสัปดาห์แรก ซึ่งถือว่าเป็นวิชาที่มีความสำคัญวิชาหนึ่งเลยค่ะ เพราะว่าในปี 2565 นี้ประเทศไทยก็ได้เป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว รูปแบบการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดจึงให้ความสำคัญกับงานบริการในผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย

       สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ ปัทมา บัวทิม นะคะ ปัจจุบันก็กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้เรียนเกี่ยวกับปัญหาที่พบได้บ่อยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งมีเรื่องการนอนไม่หลับด้วย จึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้ เพราะดิฉันได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ ซึ่งท่านเป็นคุณย่าของดิฉันเอง ปีนี้ท่านก็อายุ 79 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังแข็งแรง ชอบไปทำบุญ ขึ้นรถโดยสารประจำทางได้ การสัมภาษณ์นี้ใช้เวลาราว 30 นาทีผ่านทางโทรศัพท์ หลังจากสัมภาษณ์แล้วก็เป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไปตามประสาย่าหลาน สนุกมากเลยค่ะ ปกติดิฉันกับคุณย่าก็จะมีการโทรศัพท์หากันอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการนอนหลับของท่านเลย การสัมภาษณ์ก็ได้ใช้แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของพิตส์เบิร์กฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นการให้คะแนนแบบที่ให้คุณย่าประเมินตนเอง มีข้อมูลดังเอกสารแนบนี้ 20220823221900.pdf

และจากการแปลผลคะแนนทั้ง 7 องค์ประกอบ พบว่าคุณย่าได้คะแนนรวมทั้งหมด 5 คะแนน ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่มีคุณภาพการนอนหลับดี มีข้อมูลดังเอกสารแนบนี้ 20220823221940.pdf

หลังจากที่ได้สัมภาษณ์แล้วก็ได้นึกทบทวนเพื่อ Feedback ตนเองแบบ SEA ขณะทำการประเมิน โดย

S-Spotting 

       ขณะที่ทำการประเมิน คุณย่าท่านจะเล่าเหตุการณ์ในอดีตให้ฟัง ซึ่งบางเหตุการณ์ที่ถูกถามถึงในแบบประเมินก็เคยเกิดขึ้น แต่มีระยะเวลานานกว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ดิฉันก็มีการทบทวนสิ่งที่คุณย่าเล่า และถามอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และข้อมูลที่คุณย่าเล่ามาก็เป็นคำตอบของแบบประเมินในข้ออื่น ๆ ทำให้ดิฉันสามารถจับประเด็นสำคัญนำไปเติมในแบบประเมินโดยที่ไม่ต้องถามคำถามซ้ำ แต่ใช้การถามคำถามเพื่อขอให้เล่ารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น คุณย่าท่านเล่าว่าเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งในตอนกลางคืน ประมาณ 5-6 รอบ ดิฉันจึงถามเพิ่มเติมว่าเป็นทุกวันหรือไม่ ซึ่งคุณย่าก็ตอบว่าทุกวัน แต่ถ้าวันไหนได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะเข้าห้องน้ำเพียงแค่ 3 รอบ นอนหลับสบายมาก ทำให้การเล่าเรื่องมีความลื่นไหล

E-Explain 

       ในบริบทของนักศึกษากิจกรรมบำบัด ดิฉันได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพของคุณย่าว่ามีโรคประจำตัว และกำลังทานยาอะไรอยู่หรือไม่ ซึ่งคุณย่าก็ให้ข้อมูลว่าเมื่อ 2 ปีก่อนได้ทำบอลลูนหัวใจ คุณหมอบอกว่าใส่ขดลวดให้คุณย่าแล้วนะ เพราะคุณย่ามีไขมันในหลอดเลือดสูง ปัจจุบันก็มีการทานยากลุ่มที่ช่วยลดไขมันในหลอดเลือดวันละครั้งในตอนเช้า มีการทานแคลเซียม และยาธาตุเหล็กเสริมเป็นประจำทุกวัน และคุณย่าท่านก็ชงยาหอมดื่มวันละครั้งด้วย บางวันก็ดื่มตอนเช้า บางวันก็ดื่มตอนเย็น ท่านบอกดื่มแล้วทำให้รู้สึกสบาย นอนหลับดี ดิฉันจึงได้ถามอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์ว่ายาหอมที่คุณย่าดื่ม มีอันตรายไหม ควรดื่มมากน้อยเท่าไรถึงจะดี อาจารย์ก็แนะนำว่าถ้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผลิตตามมาตรฐาน ได้รับการรับรองตามพ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็มีความปลอดภัย การดื่มวันละครั้งก็อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และถ้าคุณหมอแนะนำว่าไม่มีผลกับยาที่ใช้ปัจจุบันก็สามารถใช้ได้ ดิฉันจึงได้นำข้อมูลไปบอกคุณย่าว่าท่านดื่มได้ และได้บอกผลการประเมินให้คุณย่าทราบด้วยว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้ามากกว่า 5 จะไม่ดีแล้วนะคะ ท่านก็บอกว่าเห็นจะมีแต่เรื่องเข้าห้องน้ำบ่อย ถามเพื่อน ๆ เขาก็เป็นเหมือนกัน (หัวเราะ) ยกกระโถนตอนเช้าทีแทบยกไม่ไหว ดิฉันจึงได้อธิบายว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุที่กระเพาะปัสสาวะจะมีความจุลดลง จะปัสสาวะบ่อยขึ้น และแนะนำให้คุณย่าเข้าห้องน้ำก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อลดจำนวนรอบในการตื่นขึ้นมาในกลางดึก

A-Appreciate 

       หลังจากที่ได้ทำการสัมภาษณ์แล้ว ดิฉันรู้สึกดีมาก เพราะปกติไม่เคยได้ถามเรื่องเกี่ยวกับการนอนของคุณย่าเลย และคุณย่าก็เล่าเรื่องให้ฟังหลายเรื่อง ได้สังเกตเห็นว่าคุณย่ายังสามารถจดจำวันที่ ปีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง ท่านสามารถดูแลตนเอง จัดการยา เตรียมอาหาร และยังสามารถออกไปทำกิจกรรมที่ท่านชอบได้ ตอนที่โทรไปบอกผลการประเมินอีกรอบท่านก็พูดคุยหัวเราะ มีความสุขที่หลานโทรหา และดิฉันรู้สึกได้รับพลังบวกเพราะคุณย่าจะอวยพรให้ทุกครั้ง แถมครั้งนี้ยังได้นำความรู้ที่เรียนมามาดูแลคนที่เรารักได้ด้วย ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็ต้องคอยโทรสอบถามติดตามกันต่อไปค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 705892เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2022 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2022 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท