แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ (Pittsburgh Sleep Quality Index: PSQI)


          หากพูดถึงคุณภาพของการนอนหลับ ในผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านอาจยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อย เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การขาดความรู้หรือข้อมูลของการนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างไม่ครบถ้วน วันนี้ดิฉันนางสาวปุณยวีร์ นุ้ยฉิม นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มีวิธีการประเมินคุณภาพการนอนหลับโดยใช้แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ (Pittsburgh Sleep Quality Index: PSQI)  คือ แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับและความผิดปกติในช่วงเวลา 1 เดือน โดยเน้นพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับใน 7 องค์ประกอบสำคัญ และดิฉันได้มีโอกาสประเมินคุณภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุวัย 65 ปี โดยใช้แบบประเมิน PSQI ตามไฟล์ PDF ที่แนบมาด้านล่างนี้ค่ะ

20220822171413.pdf20220822171413.pdf

เมื่อดิฉันได้บันทึกข้อมูลตามข้อคำถามของแบบประเมินอย่างครบถ้วนแล้ว จากนั้นจึงนำมาแปลผลคะแนนรวมในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ 

- คุณภาพการนอนหลับ (Subjective Sleep Quality)
- ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนถึงเริ่มหลับ (Sleep Latency)
- ระยะเวลาการนอนหลับ (Sleep Duration)
- ประสิทธิภาพการนอนหลับตามปกติ (Habitual Sleep Efficiency)
- สิ่งรบกวนการนอนหลับ (Sleep Disturbances)
- การใช้ยานอนหลับ (Use of Sleeping Medication)
- ความผิดปกติด้านการนอนหลับในช่วงกลางวัน (Daytime Dysfunction)

          ซึ่งหากได้คะแนนรวมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 คะแนน หมายถึง การมีคุณภาพการนอนหลับที่ดี และหากคะแนนรวมมากกว่า 5 คะแนน หมายถึง การมีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และจากการทำการประเมินผู้สูงอายุวัย 65 ปี ได้ผลคะแนนรวมเท่ากับ 3 คะแนน นั่นหมายถึงผู้สูงอายุท่านนี้มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี สามารถดูตัวอย่างการแปลผลคะแนนตามไฟล์ PDF ที่แนบมาด้านล่างนี้ค่ะ

20220822171540.pdf20220822171540.pdf

          และหลังจากดิฉันได้สัมภาษณ์เพิ่อประเมินคุณภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุท่านนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้และเกิด Self-reflection แบบ SEA เพื่อเป็นการสะท้อนคิดให้แก่ตัวเอง

          S= Spotting : จากการทำการสัมภาษณ์พบว่าการพูดเชื่อมโยงเรื่องราวให้ต่อเนื่องกันและครบถ้วนตามประเด็นที่ต้องการนั้นไม่ง่ายเลย ต้องใช้เทคนิควิธีการในการถามผู้รับบริการให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามแบบประเมิน และสิ่งที่ประทับใจคือการสัมภาษณ์โดยใช้ภาษาถิ่น เนื่องด้วยผู้รับบริการพูดภาษาถิ่น ดิฉันจึงพูดตอบโต้กลับด้วยภาษาถิ่น ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์รู้สึกได้ถึงความเป็นกันเองและการใช้น้ำเสียง ท่าทางที่ตั้งใจฟัง ทำให้ผู้รับบริการเห็นถึงความจริงใจและให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน มีการพูดทวนคำตอบของผู้รับบริการทุกครั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าดิฉันใส่ใจในสิ่งที่เขากำลังพูด

          E= Explain : ในขณะที่ทำการประเมินดิฉันได้สังเกตลักษณะการตอบคำถาม บุคลิกท่าทาง และน้ำเสียงของผู้รับบริการ พบว่าผู้รับบริการสามารถมีหน้าตาที่สดใจ ยิ้มแย้มขณะพูด ตอบคำถามได้ตรงประเด็นและตอบอย่างชัดเจน แต่อาจมีบางคำถามที่ต้องใช้การอธิบายอย่างสั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินของผู้รับบริการ คือ ผู้รับบริการมีคุณภาพการนอนหลับที่ ส่งผลให้สุขภาวะภายนอกและจิตใจดีตามไปด้วย สำหรับคำแนะนำที่ดิฉันได้แนะนำผู้รับบริการ คือ แนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ ที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การทำโยคะก่อนเข้านอน การเดินออกกำลังกายรอบ ๆ บริเวณใกล้บ้านในช่วงเวลาตอนเย็น และเนื่องจากผู้รับบริการมีปัญหาการนอนกรน ดิฉันจึงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนท่านอน เพราะผู้รับบริการให้ข้อมูลว่าชอบนอนหงาย ซึ่งการนอนหงายจะเพิ่มความทำให้นอนกรน เนื่องจากเพิ่มโอกาสที่กล้ามเนื้อภายในช่องปากหย่อนคล้อยจนปิดกั้นทางเดินหายใจ ท่านอนที่แนะนำคือ ท่าตะแคง และอีกหนึ่งข้อมูลคือ ผู้รับบริการมักจะดื่มชาก่อนนอนซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ ซึ่งนำไปสู่ภาวะนอนกรน จึงแนะนำให้งดดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน

          A = Appreciate : หลังการเสร็จสิ้นการประเมิน ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถสร้างสัมพันธภาพได้ดีในระดับหนึ่ง และสามารถปรับตัวไปกับเรื่องราวที่ผู้รับบริการกำลังถ่ายทอดได้อย่างรวดเร็วและจับประเด็นได้ดี และประทับผู้รับบริการที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตลอดการประเมิน ทำให้รู้ถึงคุณภาพการนอนหลับของคนใกล้ตัว สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้จริงแก่ผู้รับบริการ และสิ่งที่ดิฉันอยากพัฒนาตัวเองเพิ่มเติมคือการพูดอธิบายให้กระชับ เข้าใจง่าย และลดความตื่นเต้นให้น้อยลงค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 705789เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2022 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2022 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท