ผู้สูงอายุกับการนอนหลับ


สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ทุกท่านคงเคยได้ยินมาว่าตอนนี้สังคมไทยของเรานั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้สูงอายุนับเป็นบุคคลที่สังคมต้องให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ จิตใจ หรือคุณภาพชีวิต หนึ่งในสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญและเป็นกิจวัตรประจำวันที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้สูงอายุ คือ การนอนหลับ การนอนหลับนับเป็นกิจวัตรที่สำคัญของผู้สูงอายุเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก เป็นต้น ในวันนี้ดิฉันจึงอยากแนะนำแบบประเมินการนอนที่สามารถนำมาประเมินดูคุณภาพการนอนได้นั้นคือ

  แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ หรือ PSQI(Pittsburgh Sleep Quality Index) คือ แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับและความผิดปกติในช่วงเวลา 1 เดือน แบ่งรูปแบบของแบบสอบถามออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบประเมินตนเอง จำนวน 19 คำถามและแบบประเมินโดยผู้ที่นอนพักร่วมห้องนอน จำนวน 5 คำถาม โดยเน้นพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับใน 7 องค์ประกอบสำคัญ 

โดยวันนี้ดิฉันได้นำแบบประเมินนี้ไปประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณป้าของดิฉัน

คุณป้าชื่อคุณป้าลอ อายุ 78 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหอบหืด

ทุกท่านสามารถกดดูบันทึกผลการประเมินได้ที่ไฟล์ด้านล่างที่แนบมาได้เลยค่ะ จะเห็นได้ว่าแบบประเมินเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย คำถามเข้าใจง่าย มีความครอบคลุม 

20220822135754.pdf

เมื่อประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็ต้องนำมาแปลผล โดยดิฉันได้แนบไฟล์การแปลผลการประเมินคุณภาพการนอนหลับไว้ด้านล่างทุกท่านสามารถคลิกดูได้เลยค่ะ วิธีการแปลผลจะนำผลจากที่ทำแบบประเมินมาเทียบคะแนนตามตารางในแต่ละข้อ และแบ่งคะแนนออกเป็น 7 องค์ประกอบจากนั้นจึงนำคะแนนในแต่ละองค์ประกอบมาบวกกันแล้วนำไปแปลผลรวมว่ามีคุณภาพการนอนหลับที่ดีหรือไม่

20220822135900.pdf

จากการประเมินคุณภาพการนอนหลับจะเห็นว่าคุณป้าของดิฉันได้คะแนนรวมทั้ง 7 องค์ประกอบ(Global PSQI Score) เท่ากับ 6 คะแนน อาจจะดูเป็นคะแนนที่ดีแต่ตามหลักการแปลผลของแบบประเมินPSQI จะมีคะแนนรวมทั้ง 7 องค์ประกอบ ซึ่งมีคะแนนรวมตั้งแต่ 0 – 21 คะแนน โดยหากมีคะแนนรวม น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 คะแนน หมายถึง คุณภาพการนอนหลับดี แต่หากมีคะแนนรวม มากกว่า 5 คะแนนขึ้นไป หมายถึง คุณภาพการนอนหลับไม่ดี ดังนั้นจากผลการประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณป้าของดิฉันที่ได้คะแนนรวม เท่ากับ 6 คะแนนนั่นหมายถึงยังมีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีนั่นเองค่ะ

จากการที่ดิฉันได้สัมภาษณ์และประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณป้าทำให้ดิฉันได้ลองคิด ทบทวนและสะท้อนตัวเองโดยใช้หลักการง่าย ๆ คือ SEA ดังนี้

S (Spotting) จากการที่ได้สัมภาษณ์ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่สามารถพูดคุยกับผู้สูงอายุได้ง่าย ทำให้ตอนที่สัมภาษณ์คุณป้าไม่รู้สึกกดดันหรืออึดอัด สามารถเล่าเรื่องขณะสัมภาษณ์ได้อย่างเป็นกันเอง บงรรยากาศระหว่างการสัมภาษณ์ผ่อนคลาย รวมถึงดิฉันสามารถใช้ภาษาในการพูดคุย สื่อสารได้เหมาะสม และสามารถสื่อสาร แปลความหมายคำถามจากการประเมินให้คุณป้าฟังได้อย่างเข้าใจง่าย สามารถเรียบเรียงคำพูดจากคำถามที่มีความเข้าใจยากในบางข้อให้คุณป้าเข้าใจได้ ดิฉันเป็นผู้ฟังที่ดี ให้ความสนใจตั้งใจฟังขณะคุณป้าพูด มีการใช้ภาษาท่าทางที่เหมาะสม มีการพูดคุยตอบโต้ ทวนคำตอบที่คุณป้าตอบมาเพื่อให้คุณป้าได้รับรู้ถึงคำตอบของตนเอง และเป็นการยืนยันในคำตอบของคุณป้าอีกหนึ่งรอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ดิฉันมีการถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับของคุณป้าเพิ่มเติมทำให้ได้รู้ถึงสาเหตุการนอนหลับที่รบกวนการนอนหลับเพิ่มเติม รวมถึงมีการให้คำแนะนำในเรื่องของการนอนเพิ่มเติม เช่น เรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมในการนอน การรับประทานอาหาร

E (Explain) ขณะที่ประเมินรู้สึกได้ถึงอารมณ์ผ่อนคลายของคุณป้า คุณป้ามีความผ่อนคลายในการสัมภาษณ์ สามารถเล่าเรื่องเกี่ยวกับการนอนหลับไปได้อย่างลื่นไหลทำให้ดิฉันมีความผ่อนคลายตามไปด้วย มีบางช่วงที่คุณป้าเล่าถึงเรื่องแปลก ๆ ระหว่างการนอนหลับที่มีความตลกขำขัน คุณป้าก็หัวเราะออกมาดิฉันเมื่อได้ฟังแล้วก็มีความสนุกตามไปด้วย มีการหัวเราะยิ้มแย้มตลอดการสนทนา สามารถรักษาบรรยากาศอย่างนั้นไปได้จนจบการประเมิน แต่มีบางครั้งที่คุณป้ามีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนหลับของตนเองและมีความกังวลเมื่อได้ทราบผลการประเมินของตนเอง ซึ่งดิฉันสามารถรับรู้ได้จึงพยายามตั้งใจฟัง รับฟังถึงปัญหาอย่างตั้งใจ จากนั้นจึงพูดคุยถึงวิธีการแก้ไข ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม อย่างเช่น คุณป้ามีอาการนอนไม่หลับเวลารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนจึงแนะนำให้คุณป้าลดการรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน แนะนำการปรับสิ่งแวดล้อมเพราะคุณป้ามีปัญหาการเดินไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน จึงแนะนำให้เพิ่มแสงสว่างโดยการติดไฟอัตโนมัติเพื่มบริเวณทางเดิน ทำให้คุณป้ารู้สึกดีขึ้นและลดความกังวลลง รวมถึงทำให้คุณป้ามองถึงสาเหตุ วิธีการแก้ไขปัญหาจึงทำให้คุณป้ามีกำลังใจมากขึ้นว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้  

A (Appreciate) หลังจากได้ทำแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณป้าทำให้เรารู้สึกมีความสุข เนื่องจากเราได้พูดคุย สื่อสารกับคุณป้ามากขึ้นทำให้เราได้เข้าใจ เห็นมุมมองในเรื่องของการนอนหลับของคุณป้ามากขึ้น และมีความรู้สึกดีที่ตัวเองได้ดูแล พูดคุยสื่อสาร ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับแก่คุณป้าและแนะนำในเรื่องอื่นเพิ่มเติม เช่น การลดอาการปวดเพราะคุณป้ามีอาการปวดขา ปวดตัว รู้สึกภูมิใจในตนเองที่สามารถทำการประเมินไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง และสามารถแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาในเรื่องการนอนของคุณป้าได้ จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการประเมินนี้ไปใช้ในการทำงานในอนาคต นำสิ่งที่เราทำผิดพลาดไปแก้ไข คือ ในเรื่องของการพูดมีบางช่วงที่เรามีการสอบถามโดยพูดเร็วเกินไปทำให้คุณป้าฟังไม่ทันและไม่เข้าใจคำถาม จึงจะนำตรงจุดนี้ไปแก้ไข และนำสิ่งที่เราทำได้ดีแล้วไปใช้ ไปพัฒนามากขึ้นทั้งในเรื่องของการทำงานในอนาคตหรือการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การตั้งใจฟังผู้พูดขณะพูด การแสดงอารมณ์ร่วมขณะสนทนา เป็นต้น 

ตอนนี้ทุกท่านก็ได้รู้จักกับแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ หรือ PSQI(Pittsburgh Sleep Quality Index) จะเห็นว่าแบบประเมินเป็นแบบประเมินที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้ได้สะดวก ค้นหาได้ง่าย เป็นการประเมินที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งตอนนี้ยังมีเวอร์ชั่นภาษาไทยออกมาทำให้คนไทยสามารถนำมาใช้ได้ง่าย ทุกท่านก็สามารถนำไปประเมินดูคุณภาพการนอนหลับของตัวเองหรือดูให้กับคนที่ท่านรักได้ เพราะการนอนหลับไม่ใช่เพียงแค่การนอนแต่ต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพเพื่อให้สุขภาพที่ดี

นางสาวอรุณี ดอกมะลิ รหัสนักศึกษา 6323032 นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 705782เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2022 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2022 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท