PSQI กิจกรรมบำบัดกับ "คุณภาพการนอนหลับ" ในผู้สูงอายุ


    สวัสดีค่ะ วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีได้กลับมาเขียนกระทู้อีกครั้ง สิ่งที่พิเศษไปมากกว่านั้นคือ……เจ้าของกระทู้ขึ้นปี 3 แล้วค่ะ เย้ๆ ดีใจๆ 

และนี้ก็เป็นอีกบทความหนึ่งที่น่าสนใจแน่นอนค่ะ หลังจากที่ได้เรียนรูัในรายวิชา PTOT กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ อาจารย์ก็ได้มอบหมายงานให้สัมภาษณ์ปู่ย่าตายาย เกี่ยวกับคุณภาพการนอนหลับ โดยใช้แบบประเมิน PSQI พร้อมทั้งระบุ SEA ได้เเก่ Spotting,Explain,Appreciate ซึ่งดิฉันได้สัมภาษณ์คุณยายของดิฉันเอง ซึ่งท่านมีอายุ 63 ปี ได้ข้อมูลและแปลผลตามลิงค์ไฟล์ PDF ที่เเนบมานี้ค่ะ 20220821161638.pdf 

          อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อเลยว่าท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า SEA คืออะไรกันนะ ? ก่อนอื่นเลยเราไปทำความรู้จักกับ SEA กันก่อนเลยค่ะ SEA ประกอบไปด้วย

  • S คือ Spotting มองเห็นจุดแข็งเชื่อมโยงกับความรู้สึกภาพจำขณะทำแบบประเมินฯ
  • E คือ Explain อธิบายสิ่งที่เราเห็นเหตุการณ์กับบริบทในบทบาทนักศึกษากิจกรรมบำบัดกับผู้สูงอายุว่า มีการแปลผลคุณภาพการนอนหลับพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง และ 
  • A คือ Appreciate ชื่นชมสื่อสารความรู้สึกบวกกับตนเอง

      แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ (The Pittsburgh Quality Index : PSQI) 

            ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 

  1. คุณภาพการนอนหลับเชิงอัตนัย 
  2. ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนกระทั่งหลับ 
  3. ระยะเวลาในการนอนหลับในแต่ละคืน 
  4. ประสิทธิผลการนอนหลับโดยปกติวิสัย 
  5. การรบกวนการนอนหลับ 
  6. การใช้ยานอนหลับ 
  7. ผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในเวลากลางวัน

        โดยการประเมินตนเองถึงคุณภาพการนอนหลับช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ละข้อและองค์ประกอบมีการแบ่งคะแนนเป็น 4 ระดับการแปลผลคะแนนรวมทั้ง 7 องค์ประกอบของแบบประเมิน อยู่ระหว่างคะแนน 0 - 21 คะแนน โดยคะแนนรวมที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 หมายถึง มีคุณภาพการนอนที่ดี คะแนนรวมที่มากกว่า 5 คะแนน หมายถึง มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี

         จากการที่ดิฉันได้สัมภาษณ์คุณภาพการนอนหลับของคุณยายของดิฉันวัย 63 ปี สามารถแปลผลคุณภาพการนอนหลับได้ว่า ผลรวมของคะเเนน 7 องค์ประกอบ (Global PSQI Score) เท่ากับ 14 คะเเนน ซึ่งแปลผลได้ว่าคุณภาพการนอนหลับของคุณยายไม่ดี (Poor sleep quality) เนื่องจากมีคะเเนนรวมมากกว่า 5 คะเเนน เพราะคุณภาพการนอนหลับที่ดีคะเเนนรวมต้องไม่เกิน 5 คะเเนนค่ะ

 ในข้อความถัดไปต่อจากนี้ จากการที่ดิฉันได้สัมภาษณ์และประเมินคุณภาพการนอนหลับองคุณยาย ทำให้ตัวของดิฉันเองเกด Self-Reflection ตามที่จะระบุแบบ SEA ดังต่อไปนี้

  • Spotting : เนื่องจากยายเป็นคนอีสาน ใช้การสื่อสารฟังและพูดภาษาอีสานเป็นหลัก ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีจุดแข็งในการที่จะแปลภาษาเขียนจากแบบประเมินซึ่งเป็นภาษากลางทั้งหมด ให้เป็นภาษาอีสานที่เข้าใจง่าย ทำให้คุณยายได้ตอบแบบประเมินได้อย่างชัดเจน ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และนึกภาพออกขณะที่สัมภาษณ์ในแต่ละคำถาม และในขณะเดียวกันขณะสัมภาษณ์คุณยายก็จะบอกเล่าความรู้สึกตลอดการทำแบบประเมิน รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่พูดแทรกในขณะที่คุณยายพูดแสดงความรู้สึกออกมา และเป็นคนชอบชวนคุย โต้ตอบแบบที่เข้าใจความรู้สึกของคุณยาย เนื่องจากว่า เคยอาศัยอยู่ด้วยกันมาก่อน และมีความสนิทสนมกัน ซึ่งทำให้ตลอดการสัมภาษณ์บรรยากาศในการพูดคุยกันจึงไม่เคร่งเครียด รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ ดิฉันเป็นคนที่มีความอดทนสูง เนื่องจาก บางช่วงในการสัมภาษณ์คุณยายก็จะมักชวนคุยออกนอกเรื่องที่จะสัมภาษณ์อยู่บ่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้คุยกันนาน คุณยายจึงมีเรื่องเล่ามาเล่าให้ฟังมากมาย ดิฉันก็เข้าใจและพยายามพูดคุยและแสดงออกความรู้สึกที่ตรงกับเรื่องที่คุณยาเล่า และคอยหาช่วงที่จะดึงคุณยายกลับมาที่แบบประเมินที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ 
  • Explain : ขณะทำการสัมภาษณ์คุณยายให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี มีการถามดิฉันกลับในบางข้อคำถาม ได้ยินเสียงหัวเราะ เเละมีการพูดแสดงความคิดถึงห่วงใยดิฉันตลอดการประเมิน เมื่อดิฉันได้บอกว่าคุณภาพการนอนของคุณยายไม่ดี คุณยายก็ได้พูดถึงความรู้สึกว่าเมื่ออายุเยอะขึ้นปัญหาทั้งการนอนและปัญหาสุขภาพก็จะมีเยอะขึ้น ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ก็หวังให้ลูกหลานคอยดูเเลยามเจ็บป่วย จากการสัมภาษณ์คุณยายได้ข้อมูลในเรื่องของคุณภาพการนอนดังนี้ ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา คุณยายมักจะเข้านอนในเวลา 2 ทุ่ม แต่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะนอนหลับเนื่องจากคุณยายนอนคิดเรื่องลูกหลาน การเป็นอยู่ของลูกหลาน คิดไปเรื่อยเปื่อย จนนอนหลับไปเอง แต่เมื่อนอนหลับไปได้ไม่ถึง 5 ชั่วโมงก็รู้สึกตัวตื่น แต่ก็ยังนอนอยู่แต่นอนไม่หลับ เนื่องจากมีอาการปวดตามตัว มีบางคืนที่คุณยายนอนไม่หลับทั้งคืน เมื่อตื่นเช้ามาส่งผลให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย หงุดหงิด ฉุนเฉียว นั่งทำงานบางทีก็มีการนั่งหลับในบางวัน ซึ่งดิฉันได้มองเห็นปัญหาใหญ่ๆ ของคุณยายอยู่ 2 เรื่องคือ การคิดมากเกี่ยวกับลูกหลาน และ อาการปวดตามร่างกายของคุณยายที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ดิฉันได้เเนะนำในเรื่องการคิดมากก่อนการนอนของคุณ ช่วยห้ามไม่ให้คุณยายหมกมุ่นกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น การไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องลูกหลาน หลังเวลาสองทุ่มเพื่อไม่ให้มารบกวนเวลานอนหลับของคุณยาย สำหรับเรื่องอาการปวดมาก ๆ จนนอนไม่ได้ เนื่องจากคุณยายเคยเข้ารับการรักษากับนักกายภาพบำบัดแล้ว นักกายภาพบำบัดได้เเนะนำให้ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อในทุกๆวัน แต่เนื่องจากคุณยายก็ปฎิบัตอยู่บ้าง เเต่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากคุณยายรู้สึกเหงาที่ต้องทำอยู่คนเดียว ดิฉันจึงเเนะนำให้คุณยายออกกำลังกายกับบุคคลอื่นๆข้างนอกบ้าน เช่น การชวนคุณตามาออกกำลังกายด้วยกันที่สวนสาธารณะ การไปเต้นแอโรบิกกับสมาชิกในหมู่บ้าน เพราะในหมู่บ้านมีการออกมาเต้นแอโรบิกกันทุกวัน เพื่อให้คุณยายรู้สึกไม่เบื่อ มีเพื่อนออกกำลังกายด้วยกัน และเเนะนำให้คุณยายทำงานที่หนักๆให้น้อยลง เนื่องจากเมื่ออาการปวดเริ่มหายคุณยายก็ชอบกลับไปทำงานที่หนักอีก เพราะคุณยายไม่ชอบการอยู่เฉยๆ ให้ข้อมูลข้อดี-ข้อเสีย ถ้าหากคุณยายปฎิบัติตามจะส่งผลดีต่อตัวคุณยายอย่างไร
  • Appreciate : รู้สึกดีมากๆ ที่ได้ลองทำแบบประเมินนี้กับคุณยาย เนื่องจากปกติก็จะไม่ค่อยได้โทรคุยกัน นานทีถึงจะโทรคุยกัน ทำให้รู้สึกว่าได้คุยกับคุณยายมากขึ้น ได้เห็นปัญหาสุขภาพของคนที่เรารัก และรู้สึกอยากใส่ใจและดูเเลเขาให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งก่อนที่เราจะเรียนเพื่อไปบำบัดรักษาคนอื่น เราต้องใส่ใจดูแลคนรอบข้างที่เรารักให้ได้ก่อน สิ่งที่ต้องนำไปปรับปรุงเเละพัฒนาตนเองเพื่อที่จะได้เป็นนักกิจกรรมบำบัดที่ดีในอนาคตคือน้ำเสียงในการพูดและความหนักเเน่นของเสียง เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่พูดเสียงเบา บางครั้งที่ถามคุณยายไปคุณยายไม่ค่อยได้ยินคำถาม ในอนาคตถ้าได้มีโอกาสทำงานหรือพูดคุยกับผู้สูงอายุที่หูไม่ค่อยได้ยิน อาจจะเป็นปัญหาในการสื่อสารกัน ถ้าหากยังไม่เเก้ไขปรับปรุงตนเอง และอยากพัฒนาในเรื่องความรู้ของตนเอง เพราะมีบางคำถามที่คุณยายถามมาแล้วเราตอบไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจในคำตอบและข้อมูลที่ตนเองเข้าใจเท่าไหร่ เพราะการที่เราจะให้ข้อมูลใดๆ เราต้องมีที่มาหรือข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

นางสาวอัญชลี กุมภาศรี

รหัสนักศึกษา 6323008

นักศึกษาคณะกายภาพบำบัด สาขากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 705729เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2022 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2022 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท