Mindset , Skill Set , Tool Set และอิทธิบาทสี่ : จากประสบการณ์ชีวิตสู่บทบาทการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีครอบครัว


แต่ไหนแต่ไร ผมเป็นคนไม่ชอบเจอความขัดแย้ง
ไม่ชอบเห็นคนทะเลาะกัน ไม่ชอบรับฟังเวลาคนใช้อารมณ์ใส่กัน

อาจเป็นเพราะ ที่บ้าน พ่อแม่ทะเลาะกันมาตลอด บางครั้งก็รุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือ สุดท้ายปลายทางต้องหย่าขาด แต่ถึงจะแยกกัน ก็ยังมีปากเสียงใส่กันอยู่เนืองๆ โดยมีลูกๆอย่างผมคอยเป็นกำแพง

ชีวิตจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ เดินตามทางฝันไป ก็ใช่จะราบรื่นเหมือนโรยด้วยกุหลาบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อ  การงาน ความรัก ก็หักเห เลี้ยวลดไปมา เจอแรงเสียดทานและการกระทบกระทั่งมาพอสมควร แต่ก็นั่นแหละ เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง หลบได้เป็นหลบ ไม่อยากสบตากับความขัดแย้งที่ไหน อาจจะเพราะเรายังไม่มีหลักอะไรมาใช้แก้ปัญหา ก็แก้ไปตามความเข้าใจ เอาความจริงใจเข้าว่า หลักวิชาเรื่องการจัดการความขัดแย้งก็ยังไม่เป็น แม้จะอ่านธรรมมะมาบ้าง แต่ก็ดูเหมือนจะเน้นไปที่การปล่อยวาง หรือเราอ่านไม่ตรง ไม่เจอ ตีความไม่เป็น ก็ไม่แน่ใจ

ใครจะรู้ว่า มาวันนี้ต้องกลายมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดีครอบครัวประจำศาลเยาวชนและครอบครัว แถมยังต้องมาเป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งที่เป็นคดี และไม่เป็นคดี ให้แกนนำชุมชนฟัง

6 มิ.ย.65 เวที “ร่วมใจไกล่เกลี่ย” ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้นำชุมชนในเขตตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

 

ภาคเช้าก็เป็นในส่วนกฏหมายที่ควรรู้ ส่วนภาคบ่ายก็เน้นไปที่การเล่าสู่ประสบการณ์ ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่นับว่าผ่านการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยจากที่ศาลมามากนัก ส่วนหนึ่งเพราะปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลฯที่นี่มีไม่มาก  สำหรับตัวเองแล้ว ที่รับมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ก็น่าจะมีราวๆ 5-6 คดีในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา โดยมากก็เป็นคดีฟ้องหย่า แบ่งสินสมรส กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ,  คดีชดใช้ค่าเสียหายกรณีล่วงละเมิดทางเพศ แต่บางคดีก็เป็นคดีที่พิพาทรุนแรง เช่น การเรียกค่าชดเชยจากคู่กรณีที่รุมทำร้ายลูกชายเสียชีวิต

ไม่อยากให้ผู้เข้าอบรมหลับ เพราะช่วงบ่ายฝนตกพรำ กินข้าวลำ (อร่อย) นี่ใครเป็นวิทยากรได้นี่ถือว่าเป็นช่วง “ปราบเซียน” ผมก็เลยเริ่มจากเรื่องเล่าว่า ตนเองอยู่กับความขัดแย้งในบ้านคือพ่อแม่ทะเลาะกันมาแต่เด็ก พบเห็นความสะเทือนใจ อันนี้ก็ใช้เป็นแรงบันดาลใจ ให้คิดได้ว่า ถ้ามีใครมาช่วยไกล่เกลี่ยได้ ตอนนั้น เผลอๆครอบครัวจะกลับมาดีกัน แต่เรื่องตัวเองนั้นผ่านไปนานแล้ว แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็มีแต่ว่า เราจะเอาประสบการณ์ตรงนั้น บวกกับวิชาการที่เรียนมา มาแปลงเป็นงานที่มีคุณค่ากับคนอื่นได้อย่างไร อันนี้ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นสารตั้งต้นที่เชื่อมตัวตนของตัวเองเข้ากับงาน เอาสิ่งที่ทำกับสิ่งที่เป็นเชื่อมเข้าหากัน มันก็เกิดเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจ เอาหลักอิทธิบาทสี่ไปจับ ก็คือ มีฉันทะ มาก่อน

ที่เอาเรื่อง “อิทธิบาทสี่” มาจับเป็นแนวคิด (Concept) ในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนี่ก็เพราะมองว่าชุมชนนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวพุทธ เราเอาหลักคิดแบบพุทธไปอธิบายก็น่าจะเอื้อต่อความเข้าใจ สร้างความสนใจได้ง่ายขึ้น

หลักอิทธิบาทสี่ ก็ไล่จาก ฉันทะ (ความยินดี)  วิริยะ (มีความพากเพียร) จิตตะ (มีจิตใจฝักใฝ่ต่อการไกล่เกลี่ย) ไปจนถึงวิมังสา คือ หมั่นตริตรอง ทบทวน พิจารณากระบวนการและผลที่เกิดขึ้นมาอย่างแยบคาย เพื่อพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อันที่ยากสุด และทำกันน้อยคือ วิมังสา อันนี้สำคัญ ต้องมีวินัย มีเวลา มีกัลยาณมิตรมาช่วยด้วย ไม่งั้นเราอาจจะเอียงเข้าข้างตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใดไป

เสียดาย เวลาหมดก่อน ผมจึงไม่ได้เล่าถึงองค์ประกอบสำคัญที่ผู้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ควรมี ที่ผมใช้เรื่อยมา และยังต้องฝึกฝน ทบทวน พัฒนาตัวเองต่อไป จึงขอยกนำมาเล่าไว้ในที่นี้ เผื่อเป็นประโยชน์ในวันหน้าทั้งต่อตนเองและผู้ที่สนใจ

 

นอกจากอิทธิบาทสี่ ข้างต้น ผมคิดว่า ผู้ไกล่เกลี่ยที่ดี ต้องมี 3 set คือ Mindset , Skill Set , และ Tool Set

Mindset คือชุดความคิด ที่เรามี ตรงนี้ต้องตรวจสอบตนเอง ถ้าไม่มีหรือมีไม่พอก็ต้องพัฒนาขึ้นมาเช่น 
- การตระหนักว่าเราเป็นเพียงคนกลางในการดำรงความยุติธรรม เป็นผู้ช่วยให้คู่พิพาทเห็นปัญหาและทางแก้ได้ชัดเจน มีสติ มีธรรมมะต่อกัน เราอาจเสนอทางเลือกเพิ่มหลายๆแบบ แต่การเลือกนั้นต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของคู่พิพาท ไม่ใช่เรา ต้องวางตัวตนตรงนี้ลง 
- มองความขัดแย้ง มองข้อพิพาทในมุมที่สร้างสรรค์ได้ คือนำไปสู่การเรียนรู้ คลี่คลาย ปรับความสัมพันธ์ สร้างความเมตตา การให้อภัยต่อกัน หรือนำไปสู่การทำสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม อันนี้เป็น Growth Mindset ที่ต่างจาก Fix Mindset ที่มองปัญหาด้วยการเอาขนะแบบเดิมๆซึ่งแก้ไม่ได้ หรือแก้แล้วไม่จบ มีผลพวงสารพัดตามมา
-ใช้หลัก “พรหมวิหารสี่” คือ มีเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา โดยเมตตาในที่นี้ คือมีใจแบบ Emphathy เเป็นการมองจากสายตา มุมมองของคู่พิพาทแต่ละฝ่าย ไม่เอามุมมองจากตัวผู้ไกล่เกลี่ยเป็นตัวตั้ง ทั้งยังเป็นเมตตาที่มาจากความเข้าใจอันลึกซึ้ง หรือมีปัญญามองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสรรพสิ่ง ทั้งระหว่างคู่พิพาท กับตัวผู้ไกล่เกลี่ย รวมถึงผู้คนในสังคมทั้งใกล้ไกล , ส่วนอุเบกขา นี่คือ ความเป็นกลาง คือ ไม่รับสิ่งของ/ผลตอบแทนจากคู่พิพาท ทั้งก่อนและหลังไกล่เกลี่ย , วางตัวเป็นกลาง ให้เวลา ให้ความสนใจกับคู่พิพาททั้งสองฝ่ายเท่าๆกัน , ตลอดจนรักษาหน้า รักษาความลับ ของคู่พิพาทตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง , และเมื่อไกล่เกลี่ยแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ก็ให้ถือว่าทำเต็มที่แล้ว ก็ไม่เอาไปสื่อสารต่อ ไม่นำพามาเป็นเรื่องให้หนักใจอันจะมีผลต่อต่อไป

ในส่วน กรุณา (อยากให้คู่พิพาทพ้นทุกขฺ) กับ มุฑิตา (พลอยชื่นชม ยินดี เมื่อเขามีความสุข หรือเมื่อเห็นเขาทำในสิ่งที่ดีงาม ) เข้าใจได้ไม่ยาก จึงขอข้ามไปนะครับ เดี๋ยวจะยาว


ที่นี้มาสู่องค์ประกอบที่สอง คือ Skill Set

-Skill ก็แปลว่าทักษะ มีชุดทักษะหลายอย่างที่เราต้องนำมาใช้ระหว่างไกล่เกลี่ย โอเคว่า ทั่วไป เราจะพูดถึงทักษะภายนอก เช่น การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาท ทำการบ้านมาล่วงหน้า , การเป็นผู้ฟังที่ดี การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) , การพูดสะท้อนกลับเพื่อให้คู่พิพาทได้ทบทวนและร่วมหาทางออกอย่างมีสติ , การพูดสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ , การมีศิลปะในการอ่านคน , การใช้น้ำเสียง ภาษาท่าทาง บุคลิกภาพในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย , ทักษะในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของคู่พิพาท , ทักษะในการแยกคุยแต่ละฝ่ายเมื่อมีการโต้เถียงบานปลาย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ก็เป็น ทักษะภายนอก ที่มักมีการพูดถึงอยู่บ่อยๆเวลาอบรมผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่ทักษะอีกด้านที่มีการพูดถึงน้อยมาก คือ ทักษะการจัดการภายในจิตใจของผู้ไกล่เกลี่ยเอง ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า หรืออาจจะมากกว่า เพราะ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

การจัดการสภาวะจิตด้านในของผู้ไกล่เกลี่ยทั้งก่อนและหลังการไกล่เกลี่ยเป็นทักษะในการจัดการตนเอง (Self-mamagement) ก็ทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่การฝึกสติ สมาธิภาวนา ในแบบที่ตรงกับจริตกับตน , ไปจนถึงการจินตนาการว่าตนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ทอดกิ่งก้านใบให้ร่มเงาไปสร้างความเย็นสบายให้กับคู่พิพาทที่มาขอคำปรึกษา , การตระหนักในคุณค่าของตนเองและเชื่อมพลังกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพศรัทธามาแปลงเป็นพลังในการจัดกระบวนการ เป็นต้น

ทั้ง Outside และ Inside นี้ถ้าทำได้อย่างสอดประสานกัน จะช่วยให้การไกล่เกลี่ยมีความลื่นไหล (Flow) ตัวผู้ไกล่เกลี่ยเองก็จะมีสัมผัสพิเศษ ที่สามารถจับจังหวะ (Sensing)ในการสร้างแรงเสริมให้บรรลุข้อตกลงในเรื่องต่างได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายคือ Tool Set หรือชุดเครื่องมือ ซึ่งก็คือ เอกสาร พยานหลักฐานต่างๆที่คู่พิพาทนำมาประกอบในสำนวน รวมถึงเอกสารสัญญาบันทึกข้อตกลงที่ทางผู้ไกล่เกลี่ยต้องช่วยจัดทำขึ้น เหล่านี้ก็ต้องศึกษา และเตรียมไว้ไม่ให้ติดขัด อ้อ ถ้าเป็นไปได้ เราก็อาจจะเตรียมกระดาน หรือกระดาษฟลิปชาร์ต ปากกา มาช่วยเขียนสิ่งที่พูดคุยกัน เพื่อสรุปเป็นระยะๆ ให้คู่พิพาท เข้าใจและตามข้อสรุปทีละเรื่องๆได้ง่ายขึ้น

ทั้ง Mindset , Skill Set , Tool Set 3 สิ่งนี้เราต้องหมั่น update รวมถึง จัดระบบ (Defragment) ตลอดจน ทบทวนและพัฒนาอยู่เสมอ จึงจะใช้งานได้ไม่ติดขัด ไม่วน Loop กับปัญหาเก่าๆ

ในส่วนอุปสรรค ปัญหาในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จากประสบการณ์ตรงของผมนั้น ดูเวลาและหน้ากระดาษแล้วน่าจะยาว กลัวคนอ่านจะเบื่อเสียก่อน และน่าจะยกเป็นหัวข้อใหม่ได้ จึงขอยกยอดไปเป็นบันทึกใหม่ในตอนหน้าละกันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 705538เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2022 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2022 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท