๙๙๖. การมีมารยาทและกาลเทศะ


การมีมารยาทและกาลเทศะ

ผู้เขียนยังจำได้ว่า ในสมัยก่อนหลักสูตรการสอนของผู้เขียนได้เรียนรู้ในเรื่องของการมีมารยาทและรู้จักกาลเทศะต่อผู้ใหญ่ และผู้อื่น โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะสังคมใด ๆ ที่เป็นสังคมในการอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เพราะการมีมารยาท และการรู้จักกาลเทศะ จะเป็นพฤติกรรมที่ฝ่ายหนึ่งกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งด้วยกิริยาที่นอบน้อม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดจา การแสดงพฤติกรรมที่ควร-ไม่ควรกระทำต่อกัน รวมทั้งการพูดจาไม่ควรกระทบกระทั่ง เสียดสีซึ่งกันและกัน มิบังควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดการบาดหมางใจกันได้

ผู้เขียนยังคิดต่อว่า อาจเป็นกุสโลบายในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่จะทำให้สังคมมีความสงบ ไม่ทำให้สังคมเกิดความรุนแรงทางด้านพฤติกรรมใส่กัน…แต่หากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว การที่สอนให้กระทำในการมีมารยาท การพูดจา การให้เกียรติซึ่งกันและกันนั้น ทำให้สังคมที่อยู่ร่วมกัน ลดความขัดแย้ง ความมีอคติต่อกัน จะทำให้สังคมเกิดสุขได้อีกเรื่องหนึ่ง…ซึ่งในสมัยก่อนผู้เขียนจะถูกสอนให้เป็นคนที่มีกิริยา มารยาทงดงาม อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักก้มหลังให้กับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่อาวุโสกว่า พบกันที่ใดก็ให้ความเคารพ แสดงความคารวะต่อกันด้วยการไหว้ และกล่าวคำว่า “สวัสดี” เป็นการทักทายต่อกัน แม้ว่าจะเป็นเด็กกว่า หรืออาวุโสเท่ากัน เพราะนั่นคือ “มารยาท” ในสังคม

หากมองในทางกลับกัน ถ้าเราไม่กล่าวดังเช่นว่าข้างต้น อาจขาดส่วนหัว คือ การจะพูดเรื่องอะไร เรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไปนั้น ดูแปลก ๆ ที่ส่วนต้นไม่ได้กล่าวคำทักทายกันก่อนที่จะพูดถึงเรื่องต่อไปก็เป็นได้…สมัยก่อน ในการสอนของครู อาจารย์ในสมัยนั้น จะสอนให้ลูกศิษย์มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพ เกรงใจ ผู้ที่อาวุโส หรือผู้ใหญ่กว่า สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่อาวุโสกว่า ก็จะมีแต่ความรัก ความเมตตาให้กับผู้ที่เยาว์วัยกว่าตนเอง เป็นการเอื้ออาทร เอ็นดู เมตตา สงสารผู้ที่ยังเยาว์วัยกว่าตนเอง…แต่มายุคสมัยนี้ กลับกลายเป็นว่าการมีมารยาท ขาดหายไปในสังคม โดยเฉพาะสังคมของคนทำงาน ดูเหมือนรุนแรง แข็งกร่าว หยาบกระด้างมากยิ่งขึ้น…หากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว แม้ว่าคนเราหากไม่มีอคติที่ไม่ดีต่อกัน ก็ควรที่จะทราบว่า เราอยู่ด้วยกันด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อกันมากกว่า ด้วยการใช้มารยาทที่ดีต่อกันในสังคม เด็กก็ควรให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ๆ ก็ควรให้ความรัก เมตตาต่อผู้ที่อ่อนกว่า พึ่งพาซึ่งกันและกันให้มากขึ้นกับสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน เพราะมนุษย์เกิดมา มิได้เกิดมาเพื่ออยู่ด้วยตน ๆ เดียว เราเกิดมาเพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้สังคมมีความสุขมากกว่าการทะเลาะเบาะแว้งกัน

กาละเทศะ ก็เช่นกัน หากการแสดงออกเรารู้จักเวลาไหนควร เวลาไหนไม่ควรกระทำ จะเป็นการแสดงออกว่า ไม่ควรพร่ำเพรื่อที่จะทำตลอดเวลา หากเรารู้จักใช้ เช่น การใช้คำพูดในที่ประชุมว่าควรใช้คำใด ภาษาใดต่อในที่ประชุม เพราะการพูดในที่ประชุม ก็ควรต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน มิใช่ใช้คำที่ไม่สุภาพ ไม่ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น ซึ่งสมัยนี้ขาดการระมัดระวังในการใช้การให้เกียรติกันมากขึ้น เช่น เห็นได้จากคนที่เป็นเด็กกว่าใช้คำพูดที่รุนแรงต่อผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็ใช้คำพูด คำจาที่ไม่ให้เกียรติต่อผู้ที่เยาว์วัยกว่า ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน…การใช้คำพูดต่อกัน มีมากมายสำนวนในการพูด ที่จะมาใช้ต่อกันว่าจะใช้อย่างไรต่อกันให้ดูเบาลง อ่อนลง เพราะการพูดมิใช่นึกจะพูดก็พูด ควรคิดถึงใจเขาใจเราให้มากขึ้น คิดก่อน มิใช่พูดแล้วจึงมาคิดได้ อย่าลืมว่า!!! คำพูดจะเป็นนายเราเสมอ หากไม่คิดให้ดี ๆ ก่อนที่จะพูด…เพราะสุดท้ายสิ่งที่พูดจะกลับมาเป็นนายของเราเอง และจะทำให้คนอื่นคิดได้ว่า เราที่พูดออกไปแล้วนั้นเป็นคนเช่นไร?

การมีมารยาทและกาลเทศะนั้น ในสังคมมนุษย์ทุกคน ควรมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน…การมีสัมมาคารวะ…การรู้จักกาลเทศะ…การให้เกียรติผู้อื่น…การคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมก่อนที่จะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง สิ่งดังกล่าวข้างต้น หากทุกคนฝึกที่จะเรียนรู้และนำลงสู่การปฏิบัติจริงให้ได้และให้เป็นจริง ๆ แล้ว จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น…แม้กระทั่งรู้ว่า สังคมมีมนุษย์ที่หลากหลาย แต่ขอให้พึงนึกถึงว่า ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ควรฝึกให้ได้และให้เป็น ทุกคนไม่พ้นเรื่องของการฝึกให้ดี ไม่เคยทำ ก็ควรที่จะลองฝึกหัดทำ เพราะไม่มีใครเป็นกันมาตั้งแต่เกิดหรอก…เว้นเสียแต่ว่า มีความอคติในใจที่ดำมืด ไม่เปิดใจที่จะยอมรับในการเรียนรู้ว่า สังคมที่ดีนั้นเขาควรทำกันอย่างไรมากกว่า…เรื่องสำคัญ คือ หลักสูตรเรื่องของการมีมารยาทและกาลเทศะ…กระบวนการสอน…และการที่ทุกคนนำไปปฏิบัติให้ได้จริงนั้นมีส่วนสำคัญมากในการที่ทำให้เกิดสังคมที่ดี และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

********************************

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาในบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๗ สิงหาคม ๒๕๖๕

หมายเลขบันทึก: 705022เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2022 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2022 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท