สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑-๒๕๖๒


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไป ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑-๒๕๖๒ 

ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ ความว่า 

... เกียรติและความสำเร็จที่บัณฑิตได้รับนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า 
บัณฑิตได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความวิริยอุตสาหะ จึงนับว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนอย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว 

อย่างไรก็ตาม บัณฑิตทุกคนยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อันพึงระลึกไว้เป็นนิตย์ คือหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ อันได้แก่ 

การดำรงตนเป็นพลเมืองดี ผู้ที่เป็นพลเมืองดีนั้น หมายถึงผู้ที่ประพฤติตนปฏิบัติงาน เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม 

การจะทำให้ได้ดังที่กล่าวต้องอาศัยคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับ ความคิดจิตใจ ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม 

คารวธรรม หมายถึงความเคารพ คือต้องรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่น เคารพกฎกติกาของสังคม และเคารพสิ่งที่ดีงามถูกต้อง 

สามัคคีธรรม หมายถึง ความพร้อมเพรียงปรองดองกัน คือต้องรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติสิ่งที่พิจารณาแล้วว่านำมาซึ่งความดี

ความเจริญ ปัญญาธรรม หมายถึง ความรู้ความฉลาด คือต้องรู้จักคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ด้วยใจเที่ยงตรงเป็นกลางปราศจากอคติ อันจะช่วยให้การประพฤติตนปฏิบัติงานทุกอย่าง เป็นประโยชน์และเป็นธรรมอย่างแท้จริง 

หากบัณฑิตดำรงตนโดยยึดถือคุณธรรม ทั้งสามประการนี้ แต่ละคนก็จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ สามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมืองได้พร้อมทุกส่วน ...


ในภาคบ่าย พระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ และพระราชทานพระราโชวาทความว่า 

... ความสุขความเจริญอันแท้จริงในชีวิตและหน้าที่การงานนั้น จะเกิดมีขึ้นได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม 

ไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดบังส่วนรวม กล่าวได้ว่า ความสุขความเจริญที่แท้ ย่อมเกิดจากการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ มิใช่การทำลาย 

บัณฑิตทุกคนไม่ว่าจะทำการใด จึงต้องคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แล้วมุ่งประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ และเป็นธรรมเท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน ก็ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวัง หมั่นทบทวนความรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แล้วนำความรู้ความสามารถมาใช้ปรับปรุงส่วนที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น และส่งเสริมส่วนที่ควรส่งเสริมให้บริบูรณ์ 

ถ้าทำได้ดังนี้ บัณฑิตก็จะเป็นผู้ประพฤติตนปฏิบัติงานแต่ในทางสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถป้องกันความผิดพลาดและเสื่อมเสียทั้งปวงได้อย่างดีที่สุด 

แต่ละคนก็จะมีความสุขความเจริญที่แท้จริง ทั้งในชีวิตและกิจการงานอย่างไม่ต้องสงสัย จึงขอให้บัณฑิตนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เข้าใจ และยึดถือปฏิบัติให้ได้ประโยชน์ ...
 

นำมาจากเพจ


 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid028u1KF7GfpSHxJBpfxnmRAxphKZfSBRocwnBUBn9drGAfZxh47pp68NMLZx5v1tQ5l&id=100044720760918

พีระพงศ์ วาระเสน บ๊อบบี้             ผู้บันทึก 

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท