ทุนทางสังคมในการจัดการโรงเรียน


ทุนทางสังคม/การศึกษา/สมาคมผู้ปกครอง/การจัดการศึกษาสมัยใหม่

ในยุคสมัยที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการส่งทอดข้อมูลจากผุ้ส่งสารไปยังผู้รับสารมีหลายรูปแบบวิธี การศึกษาในระบบโรงเรียนต้องผจญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวด ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวเป็นการผสมผสานการปฏิบัติจริงลงในหลักสูตร ด้วยความรวดเร็วยุคดิจิตอลนี้เอง ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงแย่งชิงผู้บริโภคด้วยการนำเสนอสื่อที่เร้าและกระตุ้นให้เยาวชนมีการเสพเพื่อความบันเทิง หรือสร้างตัวตนที่หลอกลวงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ท และบางครั้งนำไปสู่ปัญหาทางสังคมได้ เช่นดังที่เราเห็นได้จากปัญหาเด็กหญิงที่ต้องการซื้อสินค้าตามแฟชั่น เมื่อไม่มีเงินก็ไปทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือการที่เด็กปัจจุบันมีแนวโน้มติดเกมอย่างงอมแงม ไม่อยากไปโรงเรียน หรือหนีเรียน เป็นต้น 

ในมุมมองของผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การสื่อสารที่รวดเร็วขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัฒน์เป็นเพียงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ขณะที่สถาบันที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนไม่สามารถปรับตัวได้ทันการณ์ เจมส์ เอส โคลแมน ได้ทำการวิจัยและพบว่า โรงเรียนที่มีเครือข่ายผู้ปกครองดูแลบุตรร่วมกัน จะมีอัตราเด็กกระโดดเรียนน้อยกว่าโรงเรียนที่ไมมีเครือข่ายผู้ปกครองดูแล หมายถึงโรงเรียนแรกมีทุนทางสังคมมากกว่าโรงเรียนที่สอง

เนื่องจากในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องออกไปเป็นพนักงานทำงานนอกบ้าน บางคนก็ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานชั่วคราว ทำให้ไม่ค่อยได้มีเวลาดูแลครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นปัจเจกสูง ไม่มีเวลาพูดคุยกัน และปัจจุบันมีแนวโน้มครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (มีพ่อหรือแม่คนเดียว) อันเกิดจากการหย่าร้างสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งมีจิตใจอ่อนไหว ในด้านโรงเรียนก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องการเรียนและปัจจัยทางสังคม อีกทั้งในสังคมปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุให้เกิดการหลงผิดมากมาย ซึ่งอาจเป้นเหตุให้เยาวชนรู้ไม่เท่าทันและดำเนินชีวิตผิดพลาด

ด้วยแนวคิดของเจมส์ โคลแมน เราจะเห็นได้ว่าในบริบทสังคมอเมริกันที่เป็นทุนนิยมเต็มขั้น ประชาชนมีความเป็นปัจเจกสูง สายใยระหว่างครอบครัวเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด เจมส์ โคลแมน ได้เล็งเห็นถึงการสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง หรือกล่าวได้ว่าเป็น "โครงสร้างทางสังคมอันใหม่" เพื่อดูแลเยาวชนของพวกเขาร่วมกัน

จากการศึกษาและเปรียบเทียบแนวคิดของเจมส์โคลแมน ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการจัดโครงสร้างชนิดนี้ขึ้นแล้วในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในรูปแบบของเครือข่ายผู้ปกครองและคณะกรรมการโรงเรียน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น แต่ในส่วนของเครือข่ายยังไม่มีประสิทธิผลมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่เป็นที่คุ้นชินในระบบการศึกษาไทย และระบบการศึกษาของเรากำลังอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลง

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7036เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท