เดินทางไปวัดป่ากันตพงษ์


ที่ไปที่มาของการเดินทางไปวัดป่ากันตพงษ์

 

บางเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย เราอาจไม่สะดวกในการทำหน้าที่ ผมจึงรับธุระจากน้องเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่ไม่คุ้นเคยต่อการประสานนิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์กับวัดและพระสงฆ์มาจำนวนหนึ่ง การรับธุระจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลมากนัก 

วัดที่เจ้าหน้าที่เลือกในการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์คือวัดป่ากันตพงษ์ ผมจึงเดินทางไปวัดป่ากันตพงษ์ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา 

ทางเข้า บริเวณวัดป่าฯ และวิถีชุมชนสงฆ์

ทางเข้าวัดป่าฯเป็นป่าทึบ แต่มีถนนให้เข้าไปได้สะดวก เมื่อไปถึงลานวัด จะพบลานทรายที่สะอาด และต้นไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นตระหง่าน เป็นที่เจริญหูเจริญตา จากนั้นเดินไปที่สำนักงานเจ้าอาวาส แต่ไม่พบใคร เห็นพระรูปหนึ่งเดินมาจึงสอบถาม “ผมจะมานิมนต์พระครับ ไม่ทราบว่าจะนิมนต์ได้ที่ไหน” ท่านตอบมาว่า “ต้องนิมนต์กับอาจารย์เจ้าอาวาส แต่ไม่รู้ว่าท่านอยู่หรือไม่ อาจจะออกไปข้างนอกหรือเปล่าไม่แน่ใจ” “ครับๆ ถ้างั้นเดี๋ยวผมรอก่อนก็แล้วกัน” 

ผมสังเกตว่า พระแต่ละรูปกำลังเร่งรีบทำอะไรบางอย่างทางทิศเหนือ ไม่นานมีพระอีกรูปหนึ่งเดินมา ผมได้สอบถามในทำนองเดียวกัน ข้อความที่พระรูปนั้นสื่อสารให้ฟังคือ “ไม่รู้เหมือนกันโยม น่าจะออกไปข้างนอกหรือเปล่าไม่แน่ใจ ไม่เห็นรองเท้าท่านหน้าสำนักงาน” จากนั้นท่านรีบเร่งไปหาอุปกรณ์บางอย่าง ผมกลับมานั่งอยู่ที่ลานใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่หน้าสำนักงาน ไม่นานจึงเดินชมนกชมไม้ผ่อนคลายความรู้สึกภายในวัดที่ร่มรื่นสะอาดตาเจริญใจ มองเห็นน้าผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งเดินมา จึงสอบถาม “พอจะทราบไหมครับ เจ้าอาวาสท่านไปไหน” น้าผู้หญิงตอบว่า “เจ้าอาวาสอยู่ในสำนักงานนั่นแหละ รองเท้าท่านอยู่ข้างๆ ไม่ได้วางข้างหน้าสำนักงาน” จากนั้นน้าผู้หญิงได้นำผมไปที่หน้าสำนักงานและบอกให้ผมร้องเรียกเจ้าอาวาส ผมไม่ลืมขอบคุณน้าผู้หญิงที่หน้าตาขึ้ริ้วขี้เหร่เมื่อเทียบกับความสวยงามของผู้หญิงที่สังคมยอมรับ แต่หน้าตากับอัธยาศัยไม่ได้สอดคล้องกันเลย

มีข้อสังเกตที่ผุดขึ้นในใจบางประการระหว่างเดินที่ลานวัด (๑) พระแต่ละรูปจะเอาใจใส่และคิดเองทำเองในการบูรณะปฏิสังขรณ์ (การซ่อมแซมวัสดุ/อุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย) (๒) เมื่อมุ่งแต่จะบูรณปฏิสังขรณ์ จึงลืมเรื่องการต้อนรับขับสู้ญาติโยมที่มาธุระ (๓) ญาติโยมที่มาธุระสามารถติดต่อเจ้าอาวาสโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเลขา (๔) ไม่พบพระเลขาที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการสัมพันธ์กับเจ้าอาวาส (๕) มองไม่เห็นความโดดเด่นของเจ้าอาวาสในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดการวัด ดังนั้น เมื่อสมาชิกของวัดมองเห็นสิ่งใดชำรุด จะรู้สึกว่าวัดเป็นของตนไม่ใช่ของเจ้าอาวาส จึงสามารถจัดการที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง (๖) วัดแห่งนี้คือรมณียสถานและ/หรืออาราม 

พบเจ้าอาวาส

ผมยืนอยู่พักใหญ่ด้วยความ “ไม่กล้าเรียก” แน่นอนว่า หากเป็นชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นก็จะร้องเรียกเป็นเรื่องปกติ แต่ผมรู้สึกยำเกรง ความยำเกรงมาจากการได้รับการอบรมในอดีต ระหว่างนั้นนึกได้ว่า น้องสะใภ้มีความเป็นญาติสายโลหิตกับเจ้าอาวาส น่าจะมีเบอร์โทรศัพท์ จึงไลน์ไปขอเบอร์โทรศัพท์ ระหว่างที่น้องสะใภ้กำลังหาเบอร์โทรศัพท์อยู่นั้น ผมเหลือบไปเห็นเบอร์โทรเจ้าอาวาสที่ติดอยู่ที่ฝาผนังเขียนว่า “ติดต่อเจ้าอาวาส โทร……….” จึงใช้โทรศัพท์กดเลขหมายโทรหาท่าน เมื่อได้รับการตอบรับ จึงแจ้งให้ท่านทราบว่า “ผมมานิมนต์พระครับ ตอนนี้ผมอยู่หน้ากุฏิครับ” เมื่อทราบแน่ชัดว่าท่านน่าจะรู้แล้ว จึงวางสายและนั่งรอ ไม่นานท่านจึงเดินออกมาจากกุฏิ

ผมแจ้งให้ท่านทราบว่า ทางหน่วยงานจะทำบุญหน่วยงาน และต้องการนิมนต์พระ ๙ รูป เพื่อไปเจริญพุทธมนต์ ท่านนั่งนิ่งอยู่พักใหญ่ จากนั้นสอบถามถึงหน่วยงานอะไร อยู่ตรงไหน ฯลฯ แต่ท่านก็ยังไม่ตอบรับ “มีแต่พระใหม่ น่าจะสวดกันไม่ได้” ผมตอบท่านว่า “ให้พระใหม่ไปนั่งเฉยๆก็ได้…หรือถ้า ๙ รูปไม่ได้ จะ ๕ รูปก็ได้ครับ" ท่านก็ยังไม่ตอบรับ มีความคิดผุดขึ้นว่า “เหมือนท่านจะไม่รับนิมนต์” จึงบอกให้ทราบว่า “เป็นหน่วยงานเล็กๆ มีบุคลากรสิบกว่าคน งานไม่ใหญ่ ทำบุญหน่วยงาน เหมือนกับทำบุญบ้าน และตั้งแต่ผมอยู่มา ยังไม่เคยเห็นหน่วยงานทำบุญหน่วยงาน การทำบุญหน่วยงานเป็นโครงการที่บุคลากรคิดขึ้นนานแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ เห็นว่าวันที่ ๑๑ กรกฎาคมนี้ เป็นวัดหยุด ทุกคนว่างเว้นภาระหน้าที่อื่นใด ทางผู้อำนวยการเห็นควรจัดวันดังกล่าว จึงรีบมานิมนต์พระนี่แหละครับ” อีกความคิดหนึ่งผุดขึ้นว่า “อย่าสร้างความลำบากใจให้พระ” จึงพูดกับท่านว่า “อาจารย์อย่าได้กังวลใจนะครับ หากไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสะดวกจะ ๕ รูปก็ได้ครับ” สักพักใหญ่ “เอ้า ลองไปสักทีหลาว” คือคำที่ท่านพูดขึ้น “ดูแล้วไม่ใช่วันพระ แต่ดูก่อนเหมือนจะตรงกับหมอนัดหรือไม่” จากนั้นท่านจึงเดินไปในกุฎิและนำบัตรนัดมาอ่าน ท่านพยายามอ่านและใช้ไฟจากโทรศัพท์ส่องดูอยู่นาน “อ้อ หมอนัดเดือนสิงหา ถ้าอย่างนั้นน่าจะไปได้” เมื่อได้ฟังอย่างนั้น ผมจึงเข้าสู่เรื่องถัดมา “พอจะได้สักกี่รูปครับ ๕ รูปไหมครับ” ท่านนั่งคิดอยู่พักใหญ่ “ที่ประจำก็มีอยู่ ๘ รูป แต่อีกสองสามวันจะมีพระใหม่ ๕ รูปดูห้วนเกินไป น่าจะได้สัก ๗ รูปนะโยม" เมื่อได้คำตอบอย่างนั้น ผมจึงย้ำว่า “ตกลงได้ ๗ รูปนะครับ” ผมจึงก้มหน้าเขียนลงในเอกสารที่เตรียมมา โดยแก้ไขจาก ๙ รูปเป็น ๗ รูป จากนั้นจึงถามท่านหลายเรื่อง

ธุระของการมาวัด

๑. พิธีการทางศาสนา จะเป็นการเจริญพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเช้า (ฉันมื้อเดียว) รถสถาบันจะรับพระเวลา ๐๗.๐๐ น. และจะถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรมเวลา ๐๘.๐๐ น. ถัดจากนั้นเป็นการไหว้พระสวดมนต์ พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพุทธมนต์ ถวายสังฆทานและบริวารที่สอดคล้องกับการเข้าพรรษา กรวดน้ำ รับพร

๒. การทำบุญสถาบัน ท่านแนะนำว่า "ถวายมตกภัตตาหาร" เพราะเป็นการอุทิศต่อสรรพชีวิต โดยเฉพาะในหน่วยงานที่เคยมีคนตายไปแล้ว เช่นมีคนงานเสียชีวิตเป็นต้น 

พูดคุยกับพระ

๑. ทางน้องเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการต้องการถวายเทียนพรรษาไปด้วย ผมได้แนะนำน้องเขาว่า ควรเปลี่ยนเป็นหลอดไฟดีกว่า เพราะเดี๋ยวนี้วัดใช้ไฟฟ้าแทนเทียนพรรษาแล้ว และอาจรักษาประเพณีโดยถวายเทียนเล่มเล็กที่จุดบนเชิงเทียนเวลาสวดมนต์ไหว้พระ ในเรื่องนี้ ท่าน (เจ้าอาวาส) เล่าให้ฟังว่า “เคยเสนอความคิดนี้ต่อผู้นำชาวบ้านเหมือนกัน ปรากฎว่า ผู้นำชาวบ้านและชาวบ้านไม่พอใจหาว่าไม่รักษาประเพณี กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต อาตมาจึงเลิกเสนอความเห็นเรื่องนั้นไป ปล่อยให้ชาวบ้านเขาทำตามที่อยากทำ” ท่านพูดไปและมีเสียงหัวเราะในลำคอแบบขำๆ และแนะนำว่า “หากโยมจะถวายเทียนก็ถวายขนาดกลางก็พอ ไม่ต้องใหญ่โตหรือสูงยาวมาก ไม่เกินศอกก็พอ” 

๒. ผมถามท่านว่า "ทางวัดมีความต้องการหรือขาดอุปกรณ์อะไรบ้างหรือไม่ ขอได้บอกกล่าว" อันเป็นการปวารณาให้ท่านบอกกล่าว (ปวารณา = ยินดีให้ท่านบอกความต้องการมาได้เลย / ถ้าไม่ปวารณา พระจะแสดงความต้องการไม่ได้ หากแสดงความต้องการต่อคนที่ไม่ได้ปวารณาจะอาบัติ (ผิดวินัย) จะบอกเลียบเคียงก็ไม่ได้) ท่านได้เล่าให้ฟังว่า "เคยมีโยมซื้อไม้ถูพื้นที่มีขนาดเล็กมาให้ แต่ศาลาขนาดใหญ่ พระและโยมถูทำความสะอาดกันทุกวัน ไม้ถูพื้นดังกล่าวไม่สะดวก แต่มีไม้ถูพื้นบางอันที่มีช่วงของการถูกว้าง อันนั้นสะดวกมากๆ และสามารถถอดผ้าออกไปซักได้ … สายไฟก็มีความจำเป็น บางทีชำรุดแล้ว ก็ต้องซื้อมาซ่อมแซม…" จากคำบอกเล่าของท่าน ผมรับจดทันทีคือ (๑) ไม้ถูกพื้นที่มีแผ่นถูแบบกว้าง ซึ่งผมเคยเห็น (๒) สายไฟ อันนี้เคยซื้อมาต่อไฟเองที่ขนำ

๓. มีอยู่เรื่องหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟัง ถึงรถตู้ใช้แล้วของมหาวิทยาลัยที่บริจาคให้…(จำไม่ได้แต่ไม่ใช่วัด ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่สถานพยาบาล) ดูแล้วยังดีอยู่เลย ฯลฯ ผมสรุปเอาเองว่า ถ้าหน่วยงานใดต้องการจำหน่วยรถตู้/พัสดุเก่าๆออกจากสารระบบ ถ้าวัดได้รถตู้นั้นมาจะมีประโยชน์ทีเดียว และได้เสนอท่านว่า ถ้าทางวัดทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอรับรถตู้ใช้แล้ว อาจจะมีต้นเรื่องในการที่หน่วยงานนั้นๆจะจำหน่ายพัสดุออกจากหน่วยงาน เมื่อมองดูหน้าท่าน ดูแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะท่านจะไม่ขอต่อผู้ไม่ปวารณา อันเนื่องด้วยวินัยของพระสงฆ์ เกี่ยวกับรถใช้แล้ว หลายคนอาจมองว่าเป็นปัจจัยเกินจำเป็นของวัด นึกถึงสมัยอยู่กับวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร ทาง ส.ส.ขอให้ทางวัดทำโครงการที่ทางวัดต้องการ ผมได้รับธุระจากเจ้าอาวาสให้ทำโครงการขอรถ ๖ ล้อ คำถามคือ วัดเอารถ ๖ ล้อไปไหน คำตอบคือ ส่งพระเณรไปเรียนหนังสืออีกวัดหนึ่ง แต่เมื่อทำโครงการไปแล้วไม่ได้ พระเณรจึงคงใช้รถสองแถวประจำทางไปเรียนหนังสือต่อไป 

๔. อาหารที่จะจัดถวายพระ ไม่ต้องทำเป็นสำรับ ไม่ต้องใส่ภาชนะหลายชนิด แต่จัดเป็นหม้อแกง หม้อข้าว ถาดผลไม้ โดยพระตามลำดับพรรษา จะตักใส่บาตรแต่พอฉัน อนุโลมขนมหวานที่มีน้ำอาจใส่ภาชนะได้

๕. ไม่ต้องจัดชุดทาน แต่รวมเป็นชุดเดียวกันได้เลย อันนี้ผมเข้าใจ เพราะในวินัยสงฆ์ระบุถึงเรือนคลัง อันเป็นที่เก็บของส่วนกลาง เรือนคลังนี้จะมีเจ้าหน้าที่พระคอยดูแลเป็นแผนก เราเรียกว่า “เจ้าอธิการ” เช่น ดูแลสิ่งของ เรียกว่า “ภัณฑาคาริก” 

๖. ไม่รับซองใส่เงิน/ไม่รับเงิน ท่านเล่าให้ฟังว่า บางทีก็ไม่อยากทำลายศรัทธาชาวบ้าน เวลาที่เขาถวายซองข้างในบรรจุเงิน ก็จะชักมือออกก่อนที่เขาถวาย แต่มันไม่ดีตรงที่ว่า เหมือนกับหลอกว่าเรารับแล้ว มีความคิดผุดในใจของผมว่า เหมือนกับเราตะขิดตะขวงใจ หากใจไม่บริสุทธิ์และสงสัยว่าผิดศีลหรือไม่ ทำให้ใจไม่พร้อมในการบำเพ็ญภาวนา จึงต้องแสดงอาบัติต่อหน้าสงฆ์ ผมบอกท่านว่า "วันงานจะบอกเจ้าหน้าที่ไม่ถวายเจาะจงนะครับ แต่จะรวมเป็นชุดเดียวกันถวายเป็นการสงฆ์/ถวายวัดเพื่อเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้สอยอื่นๆที่เป็นการสงฆ์นะครับ"

กรรมฐาน

ช่วงหนึ่ง ผมถามท่านว่า “อาจารย์ใช้อะไรบริกรรมภาวนา” ท่านบอกว่า “ไม่ได้ใช้อะไรบริกรรม แต่รับรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น บางคนใช้คำว่า “พุทโธ” หายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ ทำให้นึกถึงว่า สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าใช้อะไรภาวนา ไม่ใช่พุทโธแน่นอน เพราะพุทโธคือพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าใช้คือการรับรู้/ที่ลมหายใจ… ตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าพูดถึงอสุภกรรมฐาน ก่อนที่จะปลีกตัวไปอยู่ป่า ๓ เดือน โดยขอไม่พบใคร หลังจากออกจากป่า พบว่า พระที่อยู่ในอารามหายไปเยอะมาก จึงสอบถาม ทราบว่าพระฆ่าตัวตายกัน เพราะเบื่อหน่ายในร่างกายจากการพิจารณาความสกปรกของร่างกาย/อสุภกรรมฐาน พระพุทธเจ้าเห็นว่า การทำแบบนั้นไม่ควร จึงให้ภิกษุกำหนดลมหายใจเข้าออกแทนอสุภกรรมฐาน … จริงๆแล้ว ไม่ว่าเราจะใช้อะไรบริกรรม สุดท้ายก็ทิ้งคำเหล่านั้นอยู่ดี เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีความนิ่ง ไม่มีคำบริกรรมใดๆ แม้แต่ลมหายใจเข้าออกที่รับรู้…” มาถึงตรงนี้ความคิดผุดขึ้นในใจของผมทันที เพราะสิ่งที่ท่านพูดออกมาคือ “เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ทิ้งบริกรรม” สอดคล้องกับที่เคยได้ยินหลวงพ่อพุธ ฐานิโยพูด (เข้าใจว่ามีศานุศิษย์นำมาลงทางช่องยูทูป) ท่านสาธิตให้ผมเห็นเกี่ยวกับการรับรู้ลมหายใจโดย หากเราจับลมหรือรับรู้ลมไม่ได้ก็หายใจเข้าแรงๆ ก็จะจับได้ หรือหายใจออกแรงๆ ก็จะจับลมได้ 
 

ความประทับใจ

ผมมองว่า ความประทับคือบุญ ช่วงหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า “ทางมหาวิทยาลัยมีโครงการบวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเมื่อหลายปีก่อน มีผู้มาบวชเยอะทั้งหญิงชาย เขารู้สึกประทับใจกัน และท่านก็รู้สึกประทับใจจนถึงทุกวันนี้ที่เห็นคนเข้ามาบวชกันเยอะและมาปฏิบัติธรรมกัน”

ขอตัวกลับ

ผมพูดคุยกับท่านหลายเรื่อง สุดท้ายจึงขอตัวกลับบ้าน น่าจะเลย ๕ โมงเย็นแล้ว ผมเดินออกจากหน้ากุฏิ/อาคารสำนักงาน แล้วไปที่รถรีบส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ เปลี่ยนจากพระสงฆ์ ๙ รูป เป็น ๗ รูป พิธีกรรมทางศาสนาเริ่ม ๐๘.๐๐ น. ไม่ใช่ ๐๗.๐๐ น. ตามที่คุยกัน ตลอดถึงสิ่งของจำเป็นเท่าที่สอบถามจากทางวัด ๒ อย่างคือ ไม้ถูพื้นและสายไฟ ยังไม่ทันจบ เจ้าวาสเดินออกมาจากกุฏิไม่ได้ใส่รองเท้า และนำหนังสืออนุสรณ์การบวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลมาให้ดู ได้กล่าวถึงชื่อรองอธิการที่ท่านพูดถึงบ่อยอยู่ท่านหนึ่ง 

 

คำสำคัญ (Tags): #บริกรรมภาวนา
หมายเลขบันทึก: 703480เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2022 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2022 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท