บ้านในป่าจาก: ตีผังและขุดหลุม


ข้อจำกัด

๑. ผมไม่ใช่วิศวกร ดังนั้น จึงไม่มีหลักการในการสร้างตามแบบการเรียนรู้ที่วิศกรก่อสร้างเรียนมา แต่เนื่องจากสนใจการสร้างบ้าน จากการสังเกตลุง อา พ่อ คนงานก่อสร้างบ้าง เรียนรู้ผ่านออนไลน์บ้างเท่าที่เวลาจะมี สำหรับกฎหมายเบื้องต้นในการสร้างบ้าน เท่าที่ค้นคว้า (๑) ในพื้นที่ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ต้องเหลือพื้นที่ไว้ประมาณ ๓๐ เปอร์เซนต์ จะสร้างเต็มพื้นที่ไม่ได้ (๒) สร้างบ้านให้ห่างจากถนนสาธารณะ ๓ เมตร (๓) ต้องขออนุญาตสร้างบ้าน (๔) ถอยห่างลำคลอง ๓ เมตร ฯลฯ
๒. มีเพื่อนบ้านที่คอยดูว่าเราจะทำผิดกฎหมายอยู่ ก่อนนั้นเมื่อผมกลับไปบ้าน ผมจะกางเตนท์นอน เพื่อปล่อยหัวใจให้อิสระจากเครื่องพันธนาการ สิ่งหนึ่งที่เราจะได้ยินคือ “เราได้ยินความเงียบ” และ “เงียบจริงๆ” แม่มักเตือนว่า "ระวังจะมีคนมาเจาะคอนั่น" ผมได้แต่บอกว่า “ก็ตามนั้น” สาเหตุที่เขาไม่พอใจเกิดจาก ผมถมดินและถมคูน้ำข้างถนนด้วย ทำให้น้ำจากบ้านของเขาไม่สามารถระบายลงคูน้ำริมถนนก่อนไหลลงคลองสาธารณะได้ จริงๆแล้วผมอยากได้คูน้ำหรือบ่อน้ำหรือแอ่งน้ำมากๆ แต่จำใจถมเพราะเป็นที่รับน้ำสกปรกของแต่ละบ้านและสร้างกลิ่นเหม็น สำหรับกลิ่นเหม็นนั้นผมรับได้ แต่ที่รับไม่ได้คือการส่งน้ำเสียลงคลองสาธารณะ แน่นอนถ้าผมอยู่บ้านจนชิน ผมคงไม่ตระหนักเรื่องนี้ เพราะชีวิตชาวบ้านริมคลองกับน้ำในคลองเป็นของคู่กัน แต่เพราะเราเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความคิดที่ถูกข้อมูลใหม่ใส่เข้าแทนที่ข้อมูลเก่าอย่างมีเหตุผล ผนวกกับการได้ออกไปเจอสิ่งต่างๆ ต่างพื้นที่ เช่นคลองในกรุงเทพฯ เป็นคลองที่มีน้ำดำ อาบไม่ได้ เป็นต้น จึงทำให้เราปฏิเสธการถ่ายเทของเสียลงลำคลอง จึงสร้างความไม่พอใจให้เพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านคนหนึ่งไปร้องเรียนผู้ใหญ่และร้องขอให้ผู้ใหญ่บ้านนำแบคโฮมาขุดที่ที่ผมถม ซึ่งเขาเขาใจว่าเป็นที่สาธารณะแต่ไม่ใช่รองน้ำ/คูสาธารณะเพราะ (๑) เมื่อครั้งที่มีการตัดถนนผ่านที่ดิน พ่อและป้าอนุญาตให้ตัดถนนผ่านได้โดยบริจาคที่ดินเท่าๆกัน แต่เนื่องจากไม่มีดินถมเป็นถนน ป้า/พี่สาวของพ่อไม่ยินยอมให้ขุดดินเพิ่ม พ่อจึงให้ขุดดินในที่ของพ่อขึ้นไปทำถนน แต่ถนนก็สุดแค่ที่ดินของพ่อและป้า เพราะที่ดินถัดจากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของป้าสะใภ้ที่ตกทอดมาจากพี่ชายของพ่อที่ตายไปแล้ว ป้าสะใภ้ไม่ยินยอมให้ตัดถนนจนทุกวันนี้ บ้านที่ไม่พอใจที่ผมถมดินลงคูน้ำอันเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ตกทอดมาถึงผมและเป็นคูน้ำที่พ่อให้ตักดินขึ้นไปทำถนน บ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินของป้าสะใภ้ที่ไม่ยินยอมให้ทำถนนบนที่ดินของตน (๒) บ้านที่ไปฟ้องบ้านผู้ใหญ่กรณีผมถมคูน้ำ และให้ผู้ใหญ่มาขุดลอกคูน้ำโดยที่ไม่ได้บอกผมสักคำ เป็นการขุดโดยพละการ ผมจึงโทรไปบอกว่าให้หยุดขุดในพื้นที่ดังกล่าว สุดท้ายร่องรอยการขุดก็ทิ้งไว้ให้ผมต้องไปกลบพื้นที่กันเองอีกครั้ง ช่วงหน้าฝนก็เลยเละตุ้มแป๊ะ กรณีนี้คือความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรักษาสิ่งแวดล้อมกับวิถีชาวบ้าน แน่นอนว่าถ้าเราคุยกันดีๆก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แค่เพียง บ้านที่ทิ้งน้ำเสียลงคลองขุดหลุมบำบัดน้ำก่อน ส่วนคู่น้ำก็ยังคงเดิม ไว้รองรับน้ำท่วมทุกปีได้ แต่…ไม่ได้คุย ส่วนหนึ่งเพราะผมไปบ้านปีละ ๓ หน และไม่ได้ไปพบปะหาเสียงจากใคร ทำให้ความคุ้นเคยไม่มี ปัจจุบันเราไม่ได้คุยกันแล้ว ต่างคนต่างอยู่ แต่เขาก็ทำร่องน้ำเลาะตะเข็บพื้นที่ดินของป้าสะใภ้ส่งลงในลำคลองเหมือนเดิม ดังนั้น เราอาจต้องระมัดระวังในการไม่ล้ำเขตสาธารณะเพื่อจะได้ไม่กระทบกระเทือนจิตใจเพื่อนบ้าน และส่วนหนึ่งคือการรักษาสิ่งสาธารณะไว้ให้รุ่นถัดไป เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ไปมือเปล่าเหมือนเรามา 
๓. ผมคงให้เวลาในการสร้างบ้านช่วงวันหยุดเท่านั้น โดยการเดินทางในวันศุกร์และกลับวันอาทิตย์ ถ้าสามารถกลับมาก่อนเที่ยงวันอาทิตย์ได้จะดี เพราะจะได้กินข้าวกับครอบครัวที่รอคอยเราอยู่

การเดินทาง

ก่อนนั้น ผมเกริ่นไว้กับน้อยชายคนถัดจากผมไว้หลายรอบแล้ว แต่ยังไม่ลงตัว เอาเป็นว่า แม้ขุดหลุมแล้วก็ยังขยับขยายบางอย่างเพิ่ม เข้าใจว่าสร้างความเซ็งให้กับน้องชายไม่มากก็น้อย แต่นั่นแหละ ได้บอกน้องชายว่า ไม่ได้คิดสร้างเพื่อตัวเองทั้งหมดและอาจต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาบนข้อจำกัด

ศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ผมขับรถออกจากสงขลา ถนนเส้นสงขลา-พัทลุง จะมีการบูรณะถนนตลอดเส้นทาง การเดินทางจึงล่าช้า เพราะต้องขับตามรถที่ขับช้า ก่อนออกเดินทาง ผมได้ประสานกับน้องชายแล้วว่า "วันรุ่งขึ้นคือวันเสาร์ว่างหรือไม่ ถ้าว่างจะไป" เมื่อทราบว่าว่างในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนเขาต้องไปช่วยงานศพ จึงเดินทางในวันศุกร์ เพื่อคาดหวังว่าวันเสาร์จะได้ลงมือทำ สิ่งหนึ่งที่จะต้องเตือนตัวเองตลอดคือ อายุมากแล้ว หากง่วงต้องพัก ดังนั้น ถ้าง่วงคือพัก ระยะทาง ๕๐๐ กิโลเมตรอาจไม่ไกลสำหรับคนหนุ่มสาว แต่ไม่ใกล้สำหรับคนเร่งรีบและร่างกายไม่สมบูรณ์พร้อม
พฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ผมออกจากปั๊มน้ำมันที่จอดรถงีบและ มุ่งหน้าไปปากน้ำชุมพร เพื่อคาดหวังว่าจะได้กินพอกไม้/จันลอน/แกนลอน/เพาะไม้ ที่ป้าท่านหนึ่งย่างขายในตลาดปากน้ำชุมพร เหลือจันลอน ๓ ไม้ จึงเหมาหมด พร้อมด้วยข้าวน้ำ ๒ ถุงและไข่เค็มอีก ๑ ปาท่องโก๋อีกหน่อย ฝากพี่สาวที่ชอบกินกาแฟแทนข้าวในช่วงเช้า เมื่อมาถึงพื้นที่จึงไม่รอช้า รีบใส่พลังลงท้อง จากนั้น ถอดเหล็ก ๓ หุนออกจากเสาเหล็กเก่าเพื่อทำแทนไม้ปัก สายๆ ให้น้องขับรถกระบะไปซื้อเหล็กเพื่อนำมาทำเป็นผังแทนไม้เช่นกัน จากนั้นจึงตีผัง ขึงแนว ตั้งฉาก ประมาณ บ่าย ๓ โมง ผมให้น้องชายไปทำธุระคืออาบน้ำแต่งตัวไปช่วยงานศพ ส่วนผม ลงมือขุดหลุม ช่วงเย็นมีพี่เขยมาช่วยหน่อยหนึ่ง แต่ก็จากไปเมื่อน้องชายของผมไม่อยู่ ขณะเดียวกันมีหลานสาวคนหนึ่งมาช่วยแต่ก็จากไปเพราะไม่ง่าย เนื่องจากดินที่ถมไว้นั้นเป็นหินผสมดิน และแข็งมากเพราะถมไว้นานแล้วหลายปี แต่ดีหน่อยที่มีฝนตกลงมาก่อนนั้น ไม่เช่นนั้นคงต้องหยอดน้ำแล้วขุดหลุมกันตลอดเวลา 

การขุดหลุม

การขุดหลุมนั้น ผมได้บอกกับน้องชายแล้วว่า เราจ้างแบคโฮขุดจะดีกว่า เพราะดินแข็งมาก แต่น้องชายปฏิเสธพร้อมกับบอกว่า “เดี่ยวผมขุดเอง” ผมไม่ว่าอะไร ในเมื่อตกลงจะขุดเองก็คือขุดเอง เกี่ยวกับการจ้างแบคโฮนั้น ผมได้โทรถามพี่ชายที่เคยจ้างขุดสระอีกตำบลหนึ่ง พี่บอกว่า ราคาค่าจ้างไม่น้อยนะ  แน่นอนตัวเลขที่ได้ฟัง สำหรับบางคนนั้นน้อยมากเมื่อแลกกับเวลาและกำลังที่ต้องสูญเสียไป แต่ถ้าเราคิดว่า เราจะสร้างด้วยมือของตัวเองให้มากที่สุด การขุดหลุมนั้นเราสามารถขุดได้ด้วยตัวเอง คำตอบที่ตามมาจะคือ เราควรขุดเอง ผมโทรหาน้องชายคนเล็กเพื่อคาดหวังว่าจะให้เขามาช่วยแต่เขาติดงาน ดังนั้น "ต้องช่วยตัวเอง" คือกิจที่ควรทำ

“การขุดหลุม” หรือ “การขุดดินให้เป็นหลุม” ดังนั้น ผมจึงขุดและขุด แต่พักดื่มน้ำตลอดเวลาเนื่องจากเราไม่ใช่คนใช้กำลังของร่ายกายเป็นหลักในการประกอบอาชีพ แต่เมื่อสังเกตน้าเขยที่เคยเป็นช่างก่อสร้างมานาน ปัจจุบันวางมือแล้ว น้าเขยขุดหลุมเรื่อยๆ ไม่หักโหม ค่อยขุดค่อยๆกอบดินขึ้นเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ และหลุมที่ขุดนั้นเป็นสี่เหลี่ยมชัดเจน การสังเกตดังกล่าว สะท้อนมาที่ตัวเองว่า “นี่ไง คนใช้กำลังขุด ไม่ใช้สมอง สุดท้ายก็เหนื่อยเร็ว หอบแฮก และวัสดุอุปกรณ์พักเร็ว เพราะการใช้กำลัง” พี่เขยขุดได้ลุกประมาณสองนิ้ว เป็นสี่เหลี่ยมชัดเจน พื้นหลุมเรียบ แต่เขาก็กลับบ้านและไม่แวะมาอีก ผมตั้งใจว่า ผมจะให้ค่าขุดหลุมเมื่อเขาทำเสร็จ แต่เมื่อเขาทำไม่เสร็จผมก็เลยไม่ได้ให้ แต่เลี้ยงเครื่องดื่มแทน การสังเกตของผมส่งผลให้ผมปรับเปลี่ยนวิธีการขุดหลุม โดยการขุดให้เป็นระเบียบเฉกเช่นพี่เขย ขุดทีละหน้า แต่งหลุมไปเรื่อยๆ หลุมที่ขุดลึก ๙๐ เซนติเมตร จึงออกมาสวยระดับหนึ่งแต่คงสวยไม่เท่าที่พี่เขยได้ทำร่องรอยไว้ ประมาณ ๑ ทุ่ม จึงหยุดขุด พร้อมด้วยเสื้อผ้าเลอะเทอะดินลูกรัง และเอวเคล็ดจากการยกดินจากหลุมแล้วเอี้ยวตัวผิดท่า 

เวลา ๑ วัน ได้ผัง แนว และหลุมจำนวน ๑ หลุม แน่นอนคงไม่คุ้มกับการเดินทาง แต่ที่จะมีประโยชน์คือ (๑) ผมได้ดื่มน้ำมาก (๒) ผมได้ออกกำลังกาย (๓) ผมได้ขุดหลุมด้วยตนเอง

ย้อนไปถึง ช่วงโทรศัพท์ขอให้น้องคนเล็กมาช่วยขุดหลุม ในใจของผมอยากให้เขามาขุดเพื่อจะได้เชื่อมความสัมพันธ์ทางใจต่อกันว่าเราเคยทำสิ่งนี้ร่วมกัน แต่เขาไม่ว่างก็ไม่ว่ากัน อย่างน้อยเขารับปากว่า เมื่อว่างแล้วจะไปช่วย เขาถามผมว่า "ลงเสาเอกวันไหน" ผมบอกว่า “เสาเอกทุกต้น ขุดหลุมเสร็จวันไหนก็ลงเสาเอกวันนั้น” เขางงกับคำตอบเพี้ยนๆของผม เสาเอก ในความเข้าใจของชาวบ้านคือเสาที่ทำพิธีอะไรบางอย่างตามวิถีที่สืบทอดกันมา ชาวบ้านแถวสงขลา แม้จะทำขนำในสวนหากใช้เสามากกว่าสี่ต้น จะต้องทำพิธีลงเสาเอก พิธีดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ครั้งหนึ่งมีการทำขนำในสวนยางที่สงขลา แต่ทำขนำที่ใช้เสา ๖ ต้น แม่ยายบอกให้หมอบ้านมาทำพิธีลงเสาเอก เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ ผมถามแม่ว่า “ในโฉนดเป็นชื่อของใคร” แม่ยายบอกว่า “ชื่อของแม่” ผมจึงบอกแม่ว่า “ก็ผมบอกแม่ไปแล้วว่าจะทำขนำ แม่เป็นเจ้าที่ไม่ใช่หรือ” แม่ยาย “….?”

ทบทวนตัวเองว่า บางครั้งเราเรียนสิ่งสมัยใหม่จนเราไม่รู้และไม่ยืดถือวิถีเดิมที่มีความเป็นมาและมีเหตุผลบางอย่างที่เราไม่รู้ ถึงอย่างนั้นได้แต่บอกตัวเองว่า ในเมื่อไม่รู้ก็คือไม่รู้ … ก็ไม่รู้ไง…แล้วจะให้ทำอย่างไร ทุกครั้งที่ทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองก็ได้แต่บอกว่า ทุกอย่างที่ทำนี้ ทำตามที่คิดว่าใช่ หากสิ่งใดไม่ใช่ก็ขอให้คิดไปสู่สิ่งที่ใช่ เพื่อที่จะไม่เหยียบย่ำวิถีที่มีอยู่เดิม 

เกี่ยวกับเสาเอก หากแปล “เอก” จะแปลว่า “หนึ่ง” หรือ “แรก” ดังนั้น เสาเอกคือเสาต้นแรก จำได้ว่า เสาต้นแรกนั้นหมอบ้านเขาจะผูกกับวันเดือนปีเกิดของผู้สร้างบ้าน แล้วดูทิศทีเหมาะสม ส่วนผมที่ศึกษาศาสนาพุทธมา ไม่พบว่าพระพุทธเจ้าได้แนะนำให้ภิกษุสร้างกุฏิแล้วยกเสาเอกก่อน ทั้งที่พระพุทธเจ้าศึกษาศาสตร์ต่างๆมาเยอะก่อนจะถือตนเป็นนักบวช ส่วนทิศนั้น พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ ๖ ทิศ ล้วนแต่เป็นทิศเทียบกับคุณูปการที่เรามีต่อกันเช่น พ่อ แม่ ครู ศิษย์ เป็นต้น ทิศคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เมื่อผมไม่ได้อยู่กับวิถีแบบชาวบ้าน ผมจึงไม่มีความรู้เรื่องนั้น และความรู้ที่แทรกเข้ามาอยู่ในสมองคือความรู้จากเนื้อหาในพุทธศาสนา ผมบอกกับน้องว่า “เสาเอกทุกต้น” อันนี้ยิ่งแล้วไปใหญ่ เขาคงจะคิดในใจว่า “อะไรของพี่หลวงนิ” และ “ปวดหัวกับแกจริงๆ” 

“เสาเอกทุกต้น” เกิดจากความคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” ประเด็น "ความเท่าเทียม" ถ้าเราให้เสาต้นหนึ่งเป็นเสาเอก ถ้าวิญญาณ (เรื่องวิญญาณเพื่อมีความคิดแทรกเข้ามาตอนเขียนถึงตรงนี้) ที่เสาเอกเกเร จะทำให้วิญญาณที่เสาอื่นๆเดือดร้อน แต่นั่นแหละ เสาเอกคือเสาที่มีวิญญาณที่ดีที่สุดตามการประกอบพิธี อย่างไรก็ตาม เสาก็ควรจะเท่าเทียมกัน ทุกเสาเป็นเอกโดยตัวของเสาเอก เหมือนกับทุกคนเป็นเอกของทุกคนอย่างเทียมเทียมกัน คนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษแต่เขาทำนาเก่ง ก็เป็นเอกในการทำนา คนที่เก่งภาษาเยอรมันแต่ไม่เก่งภาษาญี่ปุ่น ก็เป็นเอกภาษาเยอรมัน คนที่บริหารการเงินเก่งแต่เป็นคนฉลาดโกง ก็เป็นเอกในการบริหารการเงินไป ดังนั้น เสาเอกทุกต้น

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้ละเลยวิถีที่บรรพบุรุษสืบทอดกันมา เพียงแต่ผมไม่ได้เรียนเรื่องพิธีกรรมในการขุดหลุดตามระบบ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำได้คือ ผมเดินรอบผังทุกหลุม ทำใจให้ว่าง รับรู้ธรรมชาติ จากนั้นดูว่า บริเวณหลุมใดปรากฏในความคิดที่ว่างจากสิ่งต่างๆก่อน จากนั้นจึงเริ่มขุดหลุมนั้นก่อน พบว่า หลุมที่ปรากฏก่อนคือหลุมทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก บางครั้งก็เป็นทิศเหนือ บางครั้งก็เป็นทิศตะวันออก เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายตลอดปี 

เมื่อได้ ๑ หลุมและค่ำแล้ว จึงวางมืออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชั่วคราว จากนั้น ขับรถไปที่พักค้างคืนในตำบลท่ายาง คำถาม “ทำไมไม่พักบ้าน” คำตอบ “เกรงใจทุกคน” ค่ำนี้ต้องขอบคุณข้าวของน้องสะใภ้ ปลาของพี่สาว กับข้าวที่หลานสาวทำให้พร้อมกับบรรจุกล่องเรียบร้อยเพื่อคดห่อไปกินที่พัก 

การนอนช่วงกลางคืนต้องใช้หมอนรองหลัง เพราะอาการปวดเส้นจากการขุดหลุม ปรากฏว่า หลับๆตื่นๆทั้งคืน ตื่นเช้ามาดูหลุมที่ขุด ยืนคุยกับพี่สาวจนสาย สาวที่บ้านสงขลาดโทรมาบอกว่า "ย่าเสียชีวิตแล้ว" ผมจึงไม่รอช้ารีบขับรถกลับสงขลา พร้อมกับต้นกระท่อมที่พี่สาวให้มา ๕ ต้น ประมาณบ่ายคล้อยจึงถึงศาลาเอกประสงค์ แต่ไม่ทันรดน้ำศพ ช่วงค่ำมีสวดอภิธรรม ตามประเพณี 

กลางคืนนอนในบ้าน อาการปวดเส้นจากผลของการขุดหลุมไม่ได้หายไป ต้องทาน้ำมันมวย และเอาหมอนรองหลังนอน กว่าจะปกติประมาณ  ๓ วัน

ค่าใช้จ่าย

ค่าน้ำมันรถ สงขลา-ชุมพร เติม ๑ ครั้ง (๒๗ พ.ค.๖๕) = ๑,๗๒๐ บาท (๒.๕ บาท/กม./เครื่องดีเซล ๒.๕)

ค่าน้ำมันรถ ชุมพร-สงขลา เติม ๑ ครั้ง (๒๙ พ.ค.๕๖) = ๑,๒๑๐ บาท (๒.๕ บาท/กม.)

เหล็กกัลวาไนซ์ 2.5 มิล. จำนวน ๖ เส้น                      = ๒,๔๑๒ บาท (๔๐๒ บาท/เส้น)

อาหาร/เครื่องดื่ม (เลี้ยงหลานๆด้วย) หน้างาน             = ๖๐๐ บาท

รวม                                                                         ๕,๙๔๒ บาท

คำสำคัญ (Tags): #สร้างบ้าน
หมายเลขบันทึก: 702982เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2022 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2022 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท