เก็บตกวิทยากร (69) : บ้านหลังเรียน (สำรวจต้นทุนชีวิตผ่านภาพวาด)


จะว่าไปแล้ว เรื่องราวที่สะท้อนผ่านภาพวาด ชวนคิดตามอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะประเด็นหัวข้อ “สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน” นั้น เรียกได้ว่าไม่พบสถานที่อันเป็นสาธารณะในหมู่บ้านเลยก็ว่าได้  กล่าวคือ ภาพทั้งหมดสื่อสารอยู่ในบริบทครัวเรือนของพวกเขาเอง  ยกตัวอย่างเช่น  สวนหลังบ้าน สระน้ำข้างบ้าน  พื้นที่การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ในครัวเรือน  ท้องไร่ท้องนาของตนเอง

ผมเป็นคนเชื่อในอานุภาพของงานศิลปะเป็นอย่างมาก เป็นการเชื่อว่างานศิลปะทุกแขนงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเราได้  เพราะงานศิลปะคือสิ่งที่กลั่นกรองออกมาจากจิตใจอันละเอียดอ่อนของมนุษย์ หากไม่มีจิตใจอันละเอียดอ่อนก็คงยากที่จะเสกสร้างงานศิลปะออกมาได้

ด้วยเหตุนี้ในกิจกรรม “บ้านหลังเรียน”  ณ สวนลุงวิทย์  (บ้านหนองบัว ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์)  ผมจึงไม่ลังเลที่จะตัดสินใจใช้การ “วาดภาพ” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการ “สำรวจต้นทุนชีวิต” ของเด็กและเยาวชน



 

คำว่า “ต้นทุนชีวิต”  ในที่นี้  ผมจำกัดความเองว่า  สำรวจมุมมองความคิด  ความรู้ของเด็กและเยาวชนที่มีต่อชีวิตของตนเอง หรือแม้แต่ที่มีต่อหมู่บ้านของตนเอง  ซึ่งบางทีก็มีบ้างที่ซ่อนลึกถึงประเด็น “สังคมไทย-สังคมโลก”


ครั้งนี้ ผมให้เด็กและเยาวชนวาดภาพในหัวข้อ “สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน”  และ “ความฝันของฉัน-ครอบครัวของฉัน-ความรู้สึกดีๆของฉัน” 

 

 

 

หัวข้อแรก (สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน)  เป็นหัวข้อสำหรับกลุ่มเด็กมัธยมศึกษา  เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาโตแล้ว น่าจะสะท้อนเรื่องราวได้เป็นรูปธรรม  เพื่อให้สามารถมองทะลุได้ว่าพวกเขารัก ผูกพัน หรือรู้สึกอย่างไรกับสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านของพวกเขา –

ส่วนอีกหัวข้อ (ความฝันของฉันฯ)  ผมเจาะจงให้เด็กในระดับชั้นประถมศึกษาได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมา โดยเฝ้าฝันว่าจะได้มองเห็นถึงความฝันใฝ่ของพวกเขา  

หรือแม้แต่การอยากให้ภาพวาดเหล่านั้นเป็นเสมือนหมุดหมายเล็กๆ ที่เขาควรต้องขีดเขียนไว้บ้าง  ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามห้วงวัยของเขาเอง

เช่นเดียวกับการตั้งใจที่จะให้พวกเขานำภาพเหล่านี้กลับไปสื่อสารให้คนในครอบครัวได้รับรู้ร่วมกัน  – เสมือนการแบ่งปันเรื่องราวชีวิตต่อกันและกันนั่นเอง

 


 

 

สารภาพตรงนี้ว่า  กระบวนการเหล่านี้ ผมไม่ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ในเชิงลึกเท่าใดนัก และไม่ได้เน้นย้ำให้ได้ผลลัพธ์อันแสนวิเศษ เพราะเป็นเพียงระยะเริ่มต้นของกิจกรรม ผมอยากให้เด็กๆ ในเวทีนี้มีความสุขกับการเรียนรู้ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ให้มากที่สุด ยังไม่อยากให้แบกความรู้-วิชาการใดๆ ให้มากนัก 

หรือกระทั่งการไม่ได้เอ่ยปากบอกกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า  กระบวนการเหล่านี้ คือการฝึกทบทวนชีวิตผ่านงานศิลปะ  และฝึกสมาธิผ่านงานศิลปะ

 

 

ผมให้เวลากับกระบวนการนี้ในราว 20-30 นาที ขณะที่เด็กและเยาวชนกำลังละเมียดละไมกับการวาดภาพ  ผมก็เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของแต่ละคนไปพร้อมๆ กัน  พบว่าเกือบทั้งหมดใส่ใจ-ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการวาดภาพเป็นอย่างมาก  

หลายต่อหลายคนดูตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษ  นานๆ ทีค่อยเงยหน้าขึ้นมาพูดคุย-หยิกหยอกเพื่อนข้างๆ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า  กลุ่มมัธยมดูจะจริงจังกับการวาดภาพมากเป็นพิเศษ  ภาพวาดดูเป็นระบบระเบียบค่อนข้างมาก มีกระทั้งการหยิบยืมไม้บรรทัดไปเป็นอุปกรณ์ในการวาดภาพ  

ส่วนเด็กชั้นประถมนั้น ดูจะออกแนว “สบายๆ”  แต่ละคนไม่มีพิธีรีตองอันใดมาก  สนุกกับการละเลงสีไปเรื่อยๆ  เรียกได้ว่า “ไม่บอกให้หยุด ก็ไม่หยุดเ”  แถมมีขอ “ต่อเวลา เพิ่มเวลา”  ด้วยอีกต่างหาก

 

 

ภายหลังการวาดภาพเสร็จสิ้นลง  ผมให้ทุกคนกลับมานั่งล้อมวงสบตากัน  โดยนำภาพวาดของตนเองมาด้วย 

ถัดจากนั้นให้ทีมวิทยากรคนอื่นๆ ได้เชิญพวกเขาแต่ละคนลุกมาบอกเล่าเรื่องราวในภาพให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับรู้  เพื่อฝึกหลักการของการแบ่งปันเรื่องราวต่อกัน  ฝึกความกล้าในการแสดงออก  ฝึกทักษะในการนำเสนอเรื่องราวในแบบที่ตนเองถนัด หรือแม้แต่ฝึกการเปิดใจรับรู้และให้ความเคารพต่อเรื่องราวของกันและกัน

ฝึกกระทั่งการปรบมือให้กำลังใจต่อกันทั้งก่อนและหลังการนำเสนอเรื่องราว –

 

 

บรรยากาศภาพรวมของการนำเสนอของแต่ละคนเป็นไปอย่างเรียบง่าย  สั้นและกระชับ  มีบ้างที่ออกอาการเขินๆ อายๆ

บางคนนำเสนอผสมผสานกันทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่น สร้างสีสันให้หลายต่อหลายคนหัวเราะกันยกใหญ่  - เป็นเสียงหัวเราะที่ผมสัมผัสได้ว่า “ชื่นชม-เอ็นดู มากกว่าการเย้ยหยัน หมิ่นแคลน”

จะว่าไปแล้ว เรื่องราวที่สะท้อนผ่านภาพวาด ชวนคิดตามอยู่มิใช่น้อย  โดยเฉพาะประเด็นหัวข้อ “สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน” นั้น เรียกได้ว่าไม่พบสถานที่อันเป็นสาธารณะในหมู่บ้านเลยก็ว่าได้  กล่าวคือ ภาพทั้งหมดสื่อสารอยู่ในบริบทครัวเรือนของพวกเขาเอง  ยกตัวอย่างเช่น  สวนหลังบ้าน สระน้ำข้างบ้าน  พื้นที่การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ในครัวเรือน  ท้องไร่ท้องนาของตนเอง –

 

 

เอาจริงๆ เลยนะ ผมแปลกใจกับข้อมูลที่เด็กๆ สะท้อนผ่านภาพวาดอยู่ไม่ใช่ย่อย  เพราะไม่พบเรื่องราวข้อมูลที่เป็นพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านเลยก็ว่าได้  - 

  • ไม่พบหนองน้ำประจำหมู่บ้าน 
  • ไม่พบลานกีฬาอเนกประสงค์  
  • ไม่พบวัด 
  • ไม่พบโรงเรียน  
  • ไม่พบศาลาประชาคม 
  • ฯลฯ

ผมอดที่จะตั้งข้อสังเกตเงียบๆ  เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไม่ได้จริงๆ   เป็นการตั้งข้อสังเกตเงียบๆ  คนเดียว  เต็มทีก็สื่อสารกับทีมกระบวนกรเท่านั้นเอง

 

 

เหตุที่ตั้งข้อสังเกตเงียบๆ ก็เพราะปักหมุดชัดเจนแล้วว่า นี่เป็นระยะแรกเริ่มที่เน้นความผ่อนคลาย จึงไม่รีบร้อนที่จะชวนคิดชวนวิเคราะห์เชิงลึก และไม่ใช่เวลาที่จะนำข้อมูลจากภาพวาดเหล่านั้นมาล้อมวง “โสเหล่-แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกัน  

ไม่รู้สิ – ถ้าเป็นกลุ่มเด็กโตๆ หรือถ้ากิจกรรมนี้ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานแล้ว บางทีผมอาจหยิบประเด็นเหล่านี้มาให้เด็กและเยาวชนวิเคราะห์ร่วมกัน

หรือแม้แต่เรียนเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมาร่วมรับฟังมุมมองความคิดของลูกๆ หลานๆ ร่วมกัน บางทีมันอาจมีประเด็นที่ชวนคิดชวนสร้างสรรค์ร่วมกันก็เป็นได้

เช่นเดียวกับการยังไม่ด่วนสรุปว่าเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมเหล่านี้บ้าง  

  • เริ่มค้นพบต้นทุนชีวิตตัวเองบ้างแล้วหรือยัง  
  • เริ่มเห็นความสำคัญของงานศิลปะที่มีต่อการพัฒนาตนเองและสังคมแล้วหรือไม่ –

ใช่ครับ – ผมยังไม่รีบ ทุกอย่างยังต้องค่อยเป็นค่อยไป

 



31 พฤษภาคม 2565
มหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 702886เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2022 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2022 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับอาจารย์ฺ-กิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับเด็กๆ ผมมักจะชื่นชอบเป็นพิเศษครับ-คงเป็นเพราะเราเคยได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ตั้งแต่เด็ก-มีความสุขทุกครั้งที่ได้ส่งต่อและรับผลสะท้อนกลับมาจากเด็กๆ ครับ-หลังจากโควิดมาบ้านไร่ดูเหงาไปหลายเดือน ปีนี้ตั้งใจว่าจะเปิดให้เด็กๆ มาทำกิจกรรมอีกครั้ง-คงได้มีโอกาสนำเรื่องราวของเด็กๆ มาบันทึกในสมุดออนไลน์อีกครั้ง-ด้วยความระลึกถึง-อาจารย์สบายดีนะครับ?

Perhaps, we should tell the class stories about community environment or ecology, even basic geography (ภูมิศาสตร์, แผนที่) so that the class have broader view of the world around them. I would also have ‘leading questions’ like ‘where electricity come from?’, ‘Is there a library?’, ‘Where is the tallest/oldest/… tree?’…

These are ‘suggestive psychology’ or ways to set up ‘channels’ and ‘barriers’ to guide learners to learning targets. We can let the class learn by themselves or we can nudge them, I think ‘teachers’ are ‘nudgers’.

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

เป็นไปในทำนองเดียวกันเลยครับ เวลาที่ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้กับเด็กๆ ผ่านงานศิลปะ หรือแม้แต่ผ่านการลงมือทำในแบบฉบับของเด็กๆ ผมจะรู้สึกสุข สงบ และมีพลัง และเชื่อว่าเด็กๆ ก็จะรู้สึกคล้ายๆ กัน

ยิ่งได้เห็นพฤติกรรมที่เด็กๆ แสดงออกจากความสัตย์จริงของความรู้สึก ยิ่งตอกย้ำให้ตัวเราได้ทบทวนตัวเองไปพร้อมๆ กัน

รออ่านบันทึกดีๆ กับการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เข้าไปเรียนรู้จากอาจารย์ฯ นะครับ

สู้ๆ ครับ - เป็นกำลังใจให้เสมอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท