การได้มาซึ่งความรู้ : Learning (3)


การที่ Pavlov และ Thorndike ได้ค้นพบว่า สุนัข และ แมว ได้ความรู้มาภายหลังการเกิด  ด้วยวิธีการ"เรียนรู้"   และการเรียนรู้นี้เป็นการเรียนรู้แบบ "วางเงื่อนไข"  หรือแบบ "ลองผิดลองถูก" ตามลำดับ นั้น  ทำให้ตีความได้ว่า  สัตว์ทั้งสองเรียนรู้โดย "ไม่ได้ใช้ความคิดหรือปัญญา" หรือ "ไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า จิต (Mind) " เลย  

แต่การลงสรุปเช่นนี้ยังไม่ได้   เพราะได้รับการโต้แย้งจากนักจิตวิทยากลุ่ม "เกสตัลต์"  (Gestalt Psychologists) !

Gestalt Psychologist, Wolfgang Kohler (1927) ชาวเยอรมัน  มีความคิดว่า  การเรียนของสัตว์ที่มีสมองไม่เล็กนัก ดังเช่น แมว สุนัข ลิง จะต้อง "ใช้สมอง" เรียนรู้ หรือ "ใช้ความคิด" เรียนรู้  ไม่ใช่เรียนรู้แบบไม่ใช้สมอง ดังที่ Thorndike อ้าง 

เขาจึงทดสอบความคิดนี้กับลิง คือใช้ลิงชิมแปนซี เป็นตัวอย่างรับการทดลอง หรือเป็นผู้รับการทดลอง

Kohler จัดสร้างห้องขนาดพอเหมาะที่ลิงไม่สามารถหนีออกไปได้  เอาหีบไม้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งไม้สติ๊ก ใส่ไว้อย่างกระจัดกระจาย  แล้วเอากล้วยผูกแขวนไว้บนเพดานห้อง ที่ลิงไม่อาจจะกระโดดถึงได้  เขาจับลิงชิมแปนซีหนึ่งตัวใส่ในห้องนั้น  แล้วคอยสังเกตดูว่ามันจะกินกล้วยได้อย่าง "ลองผิดลองถูก" แบบไม่ใช้ความคิดเลย  หรือว่ามันใช้"ความคิด"  แก้ปัญหาวิธีเอากล้วยมากิน

เขาสังเกตเห็นว่า ในช่วงแรกๆลิงมีพฤติกรรมแบบ "ลองผิดลองถูก" คือ มันกระโดดจับกล้วย  มันเอาไม้สติ๊กสอยกล้วย  แต่ไม่สำเร็จ  จากนั้นมันหยุด  คล้ายกับว่ามันยอมแพ้  มันเดินแบบไม่สนใจบ้าง  นั่งลงบ้าง แต่ไม่นาน  อยู่ๆมันก็ยกหีบไม้มาวางต่อกันเข้า  แล้วปีนขึ้นไปหยิบกล้วยมากินได้สำเร็จ !

Kohler ตีความพฤติกรรมนี้ว่า  ลิงแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้ "ความคิด" หรือ "ปัญญา"  และ "ความคิด" ของลิงดังกล่าว เรียกว่า " Insight"  หรือ "การหยั่งเห็น" กล่าวคือ "เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด" ซึ่งความคิดนี้เกิดจาก "ลิงรับรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ในห้องนั้น" และใช้สิ่งที่รับรู้นั้นเป็น "ข้อมูล" ในการแก้ปัญหา

เรียกว่า "การเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็น" หรือ " Insightful Learning"

การทดลองของ Kohler เราสรุปได้ว่า (๑) ลิงชิมแปนซีตัวนั้น "ได้ความรู้" มาด้วยวิธีการ "เรียนรู้"  (๒) การเรียนรู้นี้เรียกว่า "การเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็น"  (๓) การเรียนรู้นี้ "ใช้ความคิดหรือปัญญา"

สัตว์ก็ใช้ปัญญามาเรียนรู้สิ่งต่างๆ !

นั่นคือ "ปรากฏการณ์ในช่ว่งต้นๆของ Cognitive Psychology" !

เพราะว่า ในช่วงนี้ คำ "Cognitive Psychology" ยังไม่เกิดครับ !!

คำสำคัญ (Tags): #insight#การหยั่งเห็น
หมายเลขบันทึก: 70228เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 การได้ความรู้จากการเรียนรู้ เรียกว่า  การหยั่งเห็น

ผมได้เข้าใจ  การหยั่งเห็น    หลังจากพยายามเข้าใจ

ส่วนใหญ่การอธิบายเรื่องแบบนี้ จะเข้าใจยาก (สำหรับผม)  แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วและขอบคุณท่านอาจารย์ครับ

ลิงเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยการหยั่งเห็นครับ  เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ลิงแก้ปัญหาด้วยความคิด"  เนื่องจาก Kohler ไม่เห็นด้วยกับ Thorndike ที่อธิบายว่า แมวของเขา เรียนรู้การแก้ปัญหาการออกจากกรงด้วยพฤติกรรมที่ไม่ใช้ปัญญา ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท