เอาเรื่องธรรมะมาฝาก "นกแขกเต้ากับชาวนา"


หลายวันมาแล้วที่ผู้เขียนอ่านวารสาร 50 ปี เทคนิคการแพทย์ไทย ของสมาคมเทคนิคการแพทย์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งก็มีคติเตือนใจให้ไว้ชัดเจน แต่สำหรับผู้เขียนแล้วได้มากกว่านั้นอีก เป็นต้นว่า อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น ว่ามันเป็นอย่างนั้น บางครั้งอาจจะมีเรื่องราวทั้งลึกและซึ้งได้มากยิ่งกว่าสิ่งที่เห็นและคิด อย่างเรื่องเล่านี้...

มีนกแขกเต้าฝูงหนึ่งประมาณ 500 ตัว อาศัยอยู่ในป่างิ้วบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาหากินฝูงนกแขกเต้าต่างพากันบินไปกินข้าวสาลีในนาของชาวมคธ เมื่อกินข้าวสาลีอิ่มแล้วต่างก็บินกลับรังด้วยปากเปล่า ๆ ทั้งนั้น ส่วนพญานกแขกเต้าที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินอิ่มแล้วยังต้องคาบข้าวสาลีอีก 3 รวง กลับไปด้วย ชาวนาเห็นก็แปลกใจจึงพยายามดักจับพญานกแขกเต้าให้ได้ด้วยการสังเกตที่ยืนของพญานกนั้นแล้ววางบ่วงดักไว้

วันหนึ่งพญานกถูกจับได้ชาวนาจึงถามว่า "นกเอ๋ย ท้องของท่านคงจะใหญ่กว่าท้องนกอื่น เพราะเมื่อท่านกินอิ่มแล้วยังต้องคาบรวงข้าวกลับไปอีกวันละ 3 รวง เป็นเพราะท่านมียุ้งฉาง หรือเป็นเพราะเรามีเวรต่อกันมาก่อน"

พญานกตอบว่า "ข้าพเจ้ามิได้มียุ้งฉาง และเราก็ไม่ได้มีเวรต่อกันแต่ที่คาบไป 3 รวงนั้น รวงหนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า รวงหนึ่งเอาไปให้เขา และอีกรวงหนึ่งเอาไปฝังไว้"

ชาวนาได้ฟังก็เกิดสงสัย จึงถามว่า "ท่านเอารวงข้าวไปใช้หนี้ใคร เอาไปให้ใคร และเอาไปฝังไว้ที่ไหน"

พญานกตอบว่า "รวงที่หนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า คือเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่เพราะท่านแก่แล้ว และเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก ทั้งให้กำเนิด และเลี้ยงดูข้าพเจ้าจนเติบใหญ่ นับว่าข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่านจึงสมควรเอาไปใช้หนี้ รวงที่สองเอาไปให้เขา คือเอาไปให้ลูกน้อยทั้งหลายที่ยังเล็กอยู่ ไม่สามารถหากินเองได้ เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยงเขาในตอนนี้ต่อไป ยามข้าพเจ้าแก่เฒ่าเขาก็จะเลี้ยงตอบแทนจัดเป็นการให้เขา รวงที่สามเอาไปฝังไว้ คือเอาไปทำบุญด้วยการให้ทานกับนกที่แก่ชรา นกที่พิการหรือเจ็บป่วยไม่สามารถหาอาหารกินได้เท่ากับเอาไปฝังไว้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้"

ชาวนาฟังแล้วจึงกล่าวว่า "พญานกผู้มีปัญญา ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่าท่านเป็นนกที่โลภมาก เพราะนกตัวอื่นเขาหากินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไม่คาบอะไรไป ส่วนท่านบินมาหากินแล้วก็ยังคาบรวงข้าวกลับไปอีก แต่พอฟังท่านแล้วจึงรู้ว่าท่านไม่ได้คาบไปเพราะความโลภแต่คาบไปเพราะความดี คือเอาไปเลี้ยงพ่อแม่ ลูกน้อย และเอาไปทำบุญ ท่านทำดีจริง ๆ"

ชาวนามีจิตเลื่อมใสในคุณธรรมของพญานกมากจึงแก้เครื่องผูกออกจากเท้าพญานกปล่อยให้เป็นอิสระแล้วมอบข้าวสาลีให้ พญานกรับข้าวสาลีไว้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดคะเนแล้วว่าเพียงพอแก่บริวาร จากนั้นจึงให้โอวาทแก่ชาวนาว่า "ขอให้ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญกุศลด้วยการทำทาน และเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าด้วยเถิด"

ชาวนาได้คติจากข้อปฏิบัติของพญานกจึงตั้งใจทำบุญกุศลตั้งแต่นั้นมาจนตลอดชีวิต นกแขกเต้าผู้มีปัญญารู้ว่าควรบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม นับเป็นการใช้ทรัพย์อย่างชาญฉลาดที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีความสุข ความเจริญ สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขทั้งปัจจุบันและอนาคต

จากหนังสือสันโดษ....เคล็ดลับของความสุข โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

หมายเลขบันทึก: 70103เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท