ระเบียบกฎหมายในการจัดการมูลฝอยในการกำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster)


ระเบียบกฎหมายในการจัดการมูลฝอยในการกำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster)

 27 กุมภาพันธ์ 2565

สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน

ปัจจุบันปัญหาเรื่อง “ขยะ” เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและ ร่วมมือกันแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกระดับตั้งแต่องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร รวมไปถึงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ.2560 พบว่าปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพฤติกรรม การอุปโภคบริโภคของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ เกิดขยะมูลฝอยมากขึ้นตามไปด้วย
ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน เท่าใด ? 
คนสร้างขยะ 1.1 กิโลกรัม/คน/วัน 
คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะ 11,500 ตัน/วัน 
คนไทยผลิตขยะ 73,560 ตัน/วัน

ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ท่ีเกิดขึ้นในปี 2558-2560
ปี 2556 26.77 ล้านตัน
ปี 2557 26.19 ล้านตัน
ปี 2558 26.85 ล้านตัน
ปี 2559 27.06 ล้านตัน
ปี 2560 27.40 ล้านตัน
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ, 2561

ขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal solid waste)
คือ เศษสิ่งของหรือวัสดุท่ีไม่มีผู้ใดต้องการ เช่น เศษกระดาษ เศษผ้า เศษสินค้า เศษวัสดุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ภายใน ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานประกอบการ รวมทั้งซากพืช ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดตามสถานที่สาธารณะ เช่น ถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น และนอกจากนี้ขยะชุมชนหมายความรวมถึงขยะติดเชื้อ ขยะอันตรายจาก ชุมชนหรือครัวเรือน แต่ไม่รวมวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของโรงงานซึ่งมีลักษณะและสมบัติ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

"ประเภทขยะมูลฝอยชุมชน”
แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะทางกายภาพ คือ
(1) ขยะย่อยสลาย (Compostable waste)
ขยะที่มีความชื้นสูง สามารถเกิดการย่อยสลายภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งเมื่อเกิดการ ย่อยสลายมักก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และเป็นอาหารของหนู แมลงสาบ และสัตว์ อื่นๆ เช่น เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น
(2) ขยะรีไซเคิล (Recycle waste)
ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยการนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบใน กระบวนการผลิตหรือใช้สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งขยะประเภทนี้สามารถ สร้างรายได้กลับคืนแก่เจ้าของได้ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระดาษ กล่องเครื่องดื่ม กระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น
(3) ขยะทั่วไป (General waste)
ขยะประเภทนี้มีลักษณะย่อยสลายได้ยาก และไม่คุ้มค่าในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ใหม่ เช่น ซองพลาสติกบรรจุอาหาร ขนม หรือลูกอม ถุงพลาสติก ถุงพลาสติกเปื้อน อาหาร โฟมเปื้อนอาหาร และฟอล์ยเปื้อน อาหาร เป็นต้น
(4) ขยะอันตราย (Hazardous waste)
ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อน สารที่มีสมบัติเป็นสารพิษ สารไวไฟ สารออกซิไดซ์ สารเปอร์ออกไซด์ สารระคายเคือง สารกัดกร่อน สารที่เกิด ปฏิกิริยาได้ง่าย สารที่ระเบิดได้ สารที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสารหรือสิ่งอื่นใดที่อาจก่อหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ กระป๋องสี ยาหมดอายุ ขวดเครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
ในขยะมูลฝอยชุมชน 1 กอง คิดเป็นสัดส่วนของขยะ แต่ละประเภท ดังนี้
ขยะ 1 กอง 100%
ขยะอินทรีย์ 64%
ขยะรีไซเคิล 30%
ขยะอันตราย 3%
ขยะทั่วไป 3%
จากสัดส่วนที่พบถึงแม้ขยะอันตรายจะมีปริมาณน้อยกว่า ขยะประเภทอื่น แต่ความเป็นอันตรายที่อยู่ในขยะ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้รุนแรงกว่าขยะประเภทอื่น ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักกับขยะอันตรายกันก่อน เพื่อที่จะสามารถจัดการกับขยะอันตรายเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม

หากคัดแยกขยะคุณจะได้ประโยชน์อะไร
✓ บ้านเรือนสะอาดและเป็นระเบียบ
✓ มีรายได้เสริมจากการขายขยะที่คัดแยก 
✓ ลดปริมาณขยะในระบบ
✓ ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
✓ ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ
✓ ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
✓ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
✓ ลดภาวะโลกร้อน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศนี้ และให้มีอำนาจตีความ วินิจฉัยปัญหาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้

หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 4 การจัดการมูลฝอยตามประกาศนี้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามหลักการ พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีระบบจัดการและกำจัดมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้

ข้อ 5 ราชการส่วนท้องถิ่นต้องรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึก ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณ และคัดแยกมูลฝอย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ มีความตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดมูลฝอย รวมตลอดทั้งเปิดเผยข้อมูลและรายงาน ผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ

หมวด 2 การเก็บ ขน และกําจัดมูลฝอย
ส่วนที่ 1 ข้อความทั่วไป
ข้อ 6 การเก็บ ขน และกําจัดมูลฝอยให้ดําเนินการตามความในหมวดนี้ และในกรณีที่มี กฎหมาย กฎ กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานไว้เป็นการเฉพาะ ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานนั้นด้วย

ส่วนที่ 2 การเก็บและขนมูลฝอย
ข้อ 7 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยไว้ในที่สาธารณะและ สถานสาธารณะให้เพียงพอและเหมาะสมกับประเภท ปริมาณมูลฝอย และกิจกรรมในสถานที่นั้น โดยอย่างน้อยต้องมีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน
ราชการส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เอกชนที่เปิดให้ประชาชน เข้าไปได้จัดให้มีภาชนะรองรับมลู ฝอยตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 8 ภาชนะรองรับมูลฝอยตามข้อ 7 ต้องมีลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยมีสีเฉพาะ สําหรับรองรับมูลฝอยแต่ละประเภท หรืออาจกําหนดข้อความหรือสัญลักษณ์อื่นซึ่งแสดงถึงมูลฝอย ประเภทนั้นไว้อย่างชัดแจ้งที่ภาชนะรองรับมูลฝอยแทนก็ได้
(1) สีน้ําเงิน สําหรับมูลฝอยทั่วไป
(2) สีเขียว สําหรับมูลฝอยอินทรีย์
(3) สีเหลือง สําหรับมูลฝอยนํากลับมาใช้ใหม่
(4) สีส้ม สําหรับมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เพื่อความปลอดภัยอาจจัดภาชนะรองรับมูลฝอยตามวรรคหนึ่งให้มีลักษณะโปร่งใสก็ได้
ข้อ 9 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นประกาศกําหนดวัน เวลา สถานที่ และเส้นทางการเก็บและขนมูลฝอยให้ผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ในกรณีมีเหตุผลความจําเป็นทําให้ไม่สามารถเก็บและขนมูลฝอยตามประกาศในวรรคหนึ่งได้
ให้แจ้งผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยทราบล่วงหน้าโดยวิธีหนึ่งวิธีใดภายในเวลาอันสมควร
ข้อ 10 การเก็บและขนมูลฝอยให้บรรจุไว้ในอุปกรณ์หรือยานพาหนะซึ่งกันน้ําและปิดอย่างมิดชิด รวมทั้งจัดการป้องกันไม่ให้มูลฝอย น้ํา หรือสิ่งอื่นอันเกิดจากมูลฝอยตกหล่นรั่วไหลออกจากอุปกรณ์หรือ ยานพาหนะนั้น และต้องดําเนินการอย่างรวดเร็ว โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจราจร สุขภาพ อนามัย หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน

ส่วนที่ 3 การกําจัดมูลฝอย
ข้อ 11 เพื่อประโยชน์ในการกําจัดมูลฝอย ให้คัดแยกมูลฝอยที่จัดเก็บได้ออกเป็นมูลฝอย ที่ย่อยสลายง่าย มูลฝอยที่ย่อยสลายยาก และมูลฝอยที่ไม่ย่อยสลาย ก่อนนําไปกําจัด ทั้งนี้ การกําจัด ให้ทําตามความเหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติของมูลฝอยนั้น หรือสอดคล้องกับสภาพ ภูมิสังคม และระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ราชการส่วนท้องถิ่นส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน และชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถพึ่งพาตนเองในการกําจัดมูลฝอย ณ แหล่งกําเนิด
ข้อ 12 การกําจัดมูลฝอย ให้ดําเนินการตามวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธี ดังนี้ 
(1) การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
(2) การหมักทําปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ
(3) การกําจัดด้วยพลังงานความร้อน
(4) การแปรสภาพเปน็ เชื้อเพลิงหรือพลังงาน
(5) วิธีอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด หรือคณะกรรมการจังหวัดให้คําแนะนํา การดําเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจังหวัดอาจให้คําแนะนําราชการส่วนท้องถิ่นตามที่เห็นสมควร

หมวด 3 การมอบหมายให้เก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย
ส่วนที่ 1 การมอบหมายหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย
ข้อ 13 ในกรณีที่ราชการส่วนท้องถิ่นร่วมดําเนินการกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการ ส่วนท้องถิ่นอื่นจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะดําเนินการเอง ราชการส่วนท้องถิ่นอาจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ในการดําเนินการเก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางในประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าด้วยการทําความตกลงร่วมมือกันจัดทําบริการสาธารณะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น
กรณีราชการส่วนท้องถิ่นมอบหมายหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นจะเป็นประโยชน์ แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะดําเนินการเอง ราชการส่วนท้องถิ่น อาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ในการดําเนินการเก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางในประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการทําความตกลงร่วมมือกันจัดทําบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอนุโลม
ข้อ 14 เพื่อให้มีระบบจัดการและกําจัดมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนําไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ ในการดําเนินการของราชการท้องถิ่นตามข้อ 13 ให้คณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี มีหน้าที่แนะนําและกํากับราชการส่วนท้องถิ่น ในการรวมกลุ่มของราชการส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ทั้งนี้ ตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด
กรณีราชการส่วนท้องถิ่นไม่อาจดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้ หรือกรณีมีดําเนินการข้ามเขตจังหวัด ให้ราชการส่วนท้องถิ่น โดยคําแนะนําของคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี ขอทําความตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายก่อนดําเนินการ

ส่วนที่ 2 การมอบหมายเอกชนเก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย
ข้อ 15 ราชการส่วนท้องถิ่นอาจมอบหมายให้เอกชนดําเนินการหรือร่วมดําเนินการเก็บ ขน หรือกําจัดมูลฝอย หากจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่ราชการส่วนท้องถิ่น จะดําเนินการเอง โดยคํานึงถึง
(1) ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการดําเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของราชการ ส่วนท้องถิ่น
(2) การยึดถือวินัยการเงินการคลัง
(3) ประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจจากการดําเนินการ
(4) ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง
(5) การจัดสรรความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการดําเนินการระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับเอกชน 
(6) สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
(7) การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างเอกชนที่ประสงค์จะร่วมกับราชการส่วนท้องถิ่น
ข้อ 16 การมอบหมายให้เอกชนดําเนินการหรือร่วมดําเนินการเก็บหรือขนมูลฝอยให้ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ข้อ 17 ในการมอบหมายให้เอกชนดําเนินการหรือร่วมดําเนินการกําจัดมูลฝอย
ให้คณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี ให้คําแนะนําราชการส่วนท้องถิ่น ในการจัดทําข้อเสนอเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้ ความเห็นชอบ โดยอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียดหัวข้อการศึกษาและวิเคราะห์ข้อเสนอในเรื่อง ดังนี้
(1) เหตุผล ความจําเป็น และประโยชน์ของข้อเสนอ
(2) ต้นทุนการดําเนินการในภาพรวมและมูลค่าของการดําเนินการ รวมทั้งสัดส่วนการลงทุน ของราชการส่วนท้องถิ่นและเอกชนต่อมูลค่าของการดําเนินการ
(3)รูปแบบและระยะเวลาการมอบหมายให้เอกชนดําเนินการหรือรว่มดําเนินการ
(4) ประมาณการผลตอบแทนในด้านต่างๆ ซึ่งอย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นอัตราผลตอบแทน ทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ และลักษณะการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนของการดําเนินการ
(5) ผลกระทบซึ่งครอบคลุมทั้งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากการดําเนินการ ตลอดจน วิธีการป้องกัน ลด หรือแก้ไขเยียวยาผลกระทบดังกล่าว
(6) ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและแนวทางการบริหารความเสี่ยงของการดําเนินการ
(7) ความพร้อมของราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทําข้อเสนอ ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด รวมถึงการศึกษาการดําเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการ ของราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทําข้อเสนอ
การจัดทําข้อเสนอตามวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการกําจัดมูลฝอยตามข้อ 12 (1)
ข้อ 18 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบตามข้อ 17 แล้ว ให้ราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทําข้อเสนอคัดเลือกเอกชนโดยนําหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ใช้วิธีการ ประมูลก่อนโดยพิจารณาจากผลประโยชน์ที่ราชการส่วนท้องถิ่นและประชาชนจะได้รับอย่างเป็นธรรม
ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการด้วยวิธีการประมูลตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทํา ข้อเสนออาจพิจารณาคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลก็ได้ โดยให้ขอคําแนะนําจากคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดําเนินการ เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้
(1) มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องมอบหมายให้เอกชนดําเนินการหรือร่วมดําเนินการ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประมูลอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทําให้ เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ
(2) เป็นข้อเสนอที่โดยลักษณะและขนาดของการดําเนินการแล้ว หากใช้วิธีการประมูล จะไม่คุ้มค่าสําหรับการดําเนินการ
(3) เป็นข้อเสนอที่ต้องให้เอกชนซึ่งมีคุณสมบัติทางเทคนิคเป็นการเฉพาะและเอกชนลักษณะ ดังกล่าวนั้นมีเพียงรายเดียว
ข้อ 19 เมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนแล้ว ให้ราชการส่วนท้องถิ่นผู้จัดทําข้อเสนอลงนาม ในสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสํานักงานอัยการสูงสุด
ข้อ 20 ในระหว่างดําเนินการ หากมีการแก้ไขสัญญาตามข้อ 19 ซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญา ในส่วนที่มิใช่สาระสําคัญ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นคู่สัญญาพิจารณาแล้วดําเนินการต่อไป
ในกรณีที่เป็นการแก้ไขในสาระสําคัญ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นคู่สัญญาเสนอประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไขสัญญา และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ผ่าน การตรวจพิจารณาของสํานักงานอัยการสูงสุดแล้ว ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ข้อ 21 การแก้ไขสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสําคัญตามข้อ 20 มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(1) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงลักษณะของการดําเนินการ การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของเนื้องาน การเปลี่ยนแปลงการให้บริการ หรือการเปลี่ยนแปลงการดําเนินการ โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่กําหนดไว้ในข้อนี้จะต้องทําให้ผลลัพธ์ในเชิงการให้บริการสาธารณะตามเป้าประสงค์ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน
(2) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐไม่ว่าในรูปแบบใดๆ ซึ่งรวมถึง การเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงิน หรือส่วนแบ่งรายได้ การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินของโครงการ และการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท
(3) การเปลี่ยนตัวคู่สัญญา หรือการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร อันมีผลทําให้ไม่สามารถ ดําเนินการต่อไปได้
(4) การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญา
(5) การเปลี่ยนแปลงหลักประกันสัญญา
(6) การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการ หรือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการให้บริการ

หมวด 4 การดําเนินการ ใช้ และหาประโยชน์
ข้อ 22 ให้คณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี ให้คําแนะนํา แก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการนํามูลฝอยที่จัดเก็บได้ไปดําเนินการ ใช้ หรือหาประโยชน์โดยวิธีการ จำหน่าย จ่าย โอน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงศักยภาพ ต้นทุน ความคุ้มค่า และประโยชน์ของทางราชการ เป็นสําคัญ
ข้อ 23 ราชการส่วนท้องถิ่นร่วมกับผู้ได้รับมอบหมายอาจนำมูลฝอยที่จัดเก็บได้ไปดําเนินการ ใช้ หรือหาประโยชน์โดยวิธีการจําหน่าย จ่าย โอน ตามข้อ 22 และข้อตกลงในหมวด 3

บทเฉพาะกาล
ข้อ 24 การจัดการมูลฝอยที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และยังดำเนิน กระบวนการไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดของ ท้องถิ่น ประกาศ มติ และคำสั่งที่ใช้อยู่ในขณะนั้นจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ในกรณีการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จตามวรรคหนึ่ง หากราชการส่วนท้องถิ่นเห็นว่า การดำเนินการตามประกาศนี้เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากกว่า ให้เสนอคณะกรรมการจังหวัด หรือคณะกรรมการกลาง แล้วแต่กรณี พิจารณาถึงความเหมาะสมและประโยชน์ของรัฐ และ ให้คําแนะนำราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการตามประกาศนี้ได้ ทั้งนี้ ให้การดำเนินการที่ทําไปแล้วตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดของท้องถิ่น ประกาศ มติ และคำสั่ง ให้ถือเป็นการ ดำเนินการตามประกาศนี้และให้ดำเนินการต่อไปเฉพาะในส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามประกาศนี้
ข้อ 25 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยให้เป็นไปตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2560 
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

อ้างอิงระเบียบกฎหมายแนวทางปฏิบัติสั่งการ

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 267ง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หน้า 2-8, http://www.dla.go.th/work/garbage2.PDF

หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.5/ว 3774 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง การปรับปรุงข้อมูลการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/11/20847_1_1542861326364.pdf

แนวทางการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.5/ว 0263 ลงวันที่ 16 มกราคม 2561 การจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558, ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวง, http://dn.core-website.com/public/dispatch_upload/backend/core_dispatch_161612_2.pdf

(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ.2565 – 2570), กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, กันยายน 2564, 16 ตุลาคม 2564, https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/10/pcdnew-2021-10-16_05-41-25_882141.pdf

หลักเกณฑ์และเอกสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย และขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม กลุ่มพื้นที่ขนาดกลาง 1 (Medium Cluster 1: M1) เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่และหนาแน่น, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,  http://infofile.pcd.go.th/waste/topic15.pdf?CFID=19440059&CFTOKEN=14202960

แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559, กรมควบคุมมลพิษ, 2557, http://oops.mnre.go.th/download/download05/new210958/แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน%20Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย%20ในปีงบประมาณ%202559.pdf 

เมื่อ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งในปีต่อมาได้ประกาศแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเป็นวาระเร่งด่วน มีการศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ในระบบบริหารจัดการทรัพยากร โดยการจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) ที่เรียกว่า “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม” รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ วาระปฏิรูปที่ 25 : ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตามหนังสือประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ด่วนที่สุดที่ (สปช) 3459/2558 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เรื่อง รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการอภิปรายกันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 

ส่วนที่ 6 มลพิษอื่นและของเสียอันตราย มาตรา 78-79, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109ตอนที่ 37 วันที่ 4 เมษายน 2535, http://www.onep.go.th/images/stories/file/1_NEQA1992.pdf & http://sakaeo.mnre.go.th/sk1/images/PDF/lawPDF/env_law4-6.pdf

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย, http://www.onep.go.th/eia/index.php?option=com_content&view=article&id=30&Itemid=127

คู่มือการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน, โครงการวิจัย “การบูรณาการเพื่อการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน” ภายใต้โปรแกรมวิจัยการจัดการของเสียชุมชนแบบบูรณาการ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,HSM PERDO,  2561, http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER3/DRAWER097/GENERAL/DATA0001/00001814.PDF

กฎหมายเกี่ยวข้องอื่น

- พระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560

- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

กฎหมายไทยเล่ม 27 การสาธารณสุข : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ปรับปรุงข้อมูลถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560, https://www.krisdika.go.th/data/ebook/thailaw/thailaw27.pdf

กฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เช่น

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และมาตรการในการควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2545

กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545

กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ.2551

กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ.2559

กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 6/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักอาศัยที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 7/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักของคนงานก่อสร้างที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 8/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารโรงงานที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558

หมายเลขบันทึก: 698315เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Another excellent information packet! And may I say without the packaging or wrapping to discard ;-)

28 กุมภาพันธ์ 2565

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการขยะของท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่น (Clusters) ภายใต้กติกาหรือสัญญาอย่างน้อย 20 ปี (ดร.พีรยุตม์, 2565)

ท้องถิ่นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ต้องการพัฒนาจะสามารถตอบสนองความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้จริง เช่น ในโครงการของกลุ่มท้องถิ่นที่เรียกว่า Cluster ควรครอบคลุมระบบการจัดการขยะของท้องถิ่นหรือของกลุ่มท้องถิ่นด้วย ซึ่งหมายถึงการคาดการณ์ปริมาณขยะและองค์ประกอบของขยะในอนาคต ระบบการเก็บขนในพื้นที่และการบริหารจัดการสถานีขนถ่ายของกลุ่มท้องถิ่น ในกรณีที่ต้องจัดให้มี และอัตราค่ากำจัดขยะที่ท้องถิ่นสามารถจะจ่ายได้ เป็นต้น

เช่น ตามนโยบายผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ด้วยการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษที่เรียกว่า Adders (Adders ค่าไฟฟ้าของรัฐ ปี 2550) อปท.ควรมีปริมาณขยะรายวันเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 400 ตัน และท้องถิ่นยอมที่จะจ่ายค่ากำจัดขยะตันละ 400 บาท รัฐจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษเพิ่มจากอัตรารับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย ทำให้โครงการมีระยะคุ้มทุนประมาณ 7 ปี ซึ่งปัจจุบันอัตราการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าแบบ Adders ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอัตรารับซื้อแบบ Feed in Tariff ที่สนับสนุนตลอดอายุโครงการ (เป็นเวลา 20 ปี สอดคล้องกับอายุของโครงการ) ทำให้โครงการมีรายได้หลักจากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและค่ากำจัดขยะ โดยทั่วไปสัดส่วนของรายได้ทั้งสองจะประมาณ 4 ต่อ 1 ทั้งนี้ ค่ากำจัดขยะที่กำหนดไว้ประมาณ 400 บาทต่อตัน เป็นค่าเฉลี่ยที่ท้องถิ่นโดยทั่วไปสามารถจ่ายได้

“Well begun is half done เริ่มต้นดีมีชัยกว่าครึ่ง”

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการคือ ผลการสำรวจปริมาณและองค์ประกอบของขยะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่น มีความสำคัญต่อการพิจารณาขนาดของโครงการ และการเลือกใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขนาดของโครงการก็คือปริมาณขยะที่คาดว่าจะถูกเก็บรวบรวมจากพื้นที่ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นเพื่อนำมากำจัดที่โครงการ และมีความสัมพันธ์กับการเลือกวิธีการหรือเทคโนโลยีตาม Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลภายใต้ คสช. 2557 กำหนดแนวทางการแบ่งขนาดและวิธีการกำจัดของโครงการ เช่น ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะรวมแล้วไม่เกิน 50 ตันต่อวัน จัดเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ให้เน้นการคัดแยกต้นทาง การนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยอินทรีย์ และมีระบบกำจัดแบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลรองรับ ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะรายวันมากกว่า 50 ตันแต่ไม่เกิน 300 ตัน จัดเป็นท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นขนาดกลาง ให้เน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด การนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในการทำปุ๋ย หรือผลิตก๊าซชีวภาพและพลังงานไฟฟ้า และมีระบบกำจัดแบบฝังกลบรองรับ สำหรับท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมากกว่า 300 ตันต่อวัน ควรมีระบบกำจัดแบบผสมผสานและการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและดำเนินการ

ข้อมูลการสำรวจปริมาณขยะและการคาดการณ์แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ

เป็นปัจจัยสำหรับการพิจารณาขนาดของโครงการ ส่วนข้อมูลองค์ประกอบของขยะจะใช้ในการเลือกวิธีการหรือเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่เหมาะสมของโครงการ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการประมาณการมูลค่าของโครงการ ในกรณีของโครงการขนาดใหญ่ รายงานการศึกษาความเป็นไปได้มักจะเสนอแนะทางเลือกในการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนด้วยงบประมาณของท้องถิ่น หรือการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือการให้ภาคเอกชนลงทุนและดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมลงทุนซึ่งกำหนดไว้เพื่อ “พิจารณาอัตราการคืนทุน หรือที่เรียกว่า Internal Rate of Return”

กฎหมายที่ให้อำนาจการบริหารจัดการ

คือ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

อ้างอิง

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ, มติชนออนไลน์, 9 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.matichon.co.th/article/news_3172001

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ (ตอนที่ 2) โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ, มติชนออนไลน์, 26 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.matichon.co.th/article/news_3201290

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท