หลักการให้เหตุผลทางคลินิก กับ เคสสามพี่น้อง


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน… จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ได้เรียนวิชาการสังเกตและการให้เหตุผลทางคลินิกพื้นฐานของนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งคาบนี้ก็เป็นคาบสุดท้ายแล้วค่ะ ทำให้วันนี้ผู้เขียนก็จะมาเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีศึกษา โดยใช้หลักการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัดกันค่ะ 

โดยข้อมูลของกรณีศึกษามีดังต่อไปนี้ :

กรณีศึกษา ประกอบด้วย พี่ชายคนกลาง High Function Asperger’s จบโทแคนาดาและทำงานดีมีครอบครัว น้องชายคนเล็ก Chronic Depression with Low Function Asperger’s จบโทแคนาดาตามพี่ชายแต่ปัจจุบันอยากอยู่บ้านเฉย ๆ เล่นเกมส์ ทำอาหารบ้าง ชอบนวด ไม่ชอบออกกำลังกาย พี่สาวคนโตมี OCPD ชอบคิดวางแผนสมบูรณ์แบบในการดูแลน้องชายคนเล็ก แต่ร่างกายก็ปวดเดินไม่ไหว นักกายภาพบำบัดส่งเคสสามรายนี้ปรึกษานักกิจกรรมบำบัด

“จากกรณีศึกษานี้ผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ทำการสัมภาษณ์พี่ชายคนกลางค่ะ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับผู้รับบริการที่เป็นพี่ชายคนกลางนะคะ”

Conditional Reasoning

Conditional Reasoning ที่ 1 :

นักกิจกรรมบำบัดจะทำอย่างไรให้ผู้รับบริการสามารถวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจากตอนนี้ได้ทราบแล้วว่าผู้รับบริการมีการจัดสรรแบ่งเงินส่วนนึงสำหรับเลี้ยงพี่สาวกับน้องชาย เป็นจำนวน 30% จากรายได้ทั้งหมด ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะทำการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับ และรายได้ที่จัดการตอนนี้ได้เพียงพอไหมสำหรับรายจ่ายของตนเอง รวมถึงรายจ่ายของครอบครัวด้วย โดยนักกิจกรรมบำบัดก็อยากแนะนำให้ผู้รับบริการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ลองคิดว่าถ้าได้รับรายได้มาแล้วจะเก็บไว้เป็นเงินเก็บเท่าไหร่ และผู้รับบริการควรลองสอบถามทางพี่สาวด้วยว่าเงินที่ได้ให้ไปเพียงพอต่อการใช้มากน้อยแค่ไหน

Conditional Reasoning ที่ 2 :

นักกิจกรรมบำบัดจะมีวิธีการอย่างไรให้ผู้รับบริการผ่อนคลายจากความเครียด

นักกิจกรรมบำบัดจะแนะนำเทคนิคฝึกคิดบวก พิชิตความเครียด ให้ผู้รับบริการลองทำตาม โดยมีทั้งหมด 3 ท่าด้วยกัน เริ่มจากท่าที่ 1 คือ ท่าพนมมือ โดยพนมมือให้แขนตึง หายใจเข้า-ออก ทำซ้ำ 30 รอบ ท่าที่2 คือ ท่าประกบมือเหนือศีรษะ โดยประกบมือชูขึ้นเหนือศีรษะ ข้อศอกตึก พร้อมพูด “จงเข้มแข็ง, จงให้อภัย, จงรับผิดชอบ, จงกตัญญู, จงรักตัวเอง” ทำทั้งหมด 1 รอบ และท่าที่ 3 คือ ท่ากำมือเคาะบั้นเอว โดย กำมือเคาะบั้นเอวไปเรื่อยๆ แล้วพูดว่า “ชีวิตต้องสู้” ทำทั้งหมด 1 รอบ ซึ่งเทคนิคนี้ผู้รับบริการก็สามารถนำไปใช้ได้ในเวลาที่มีความเครียด แล้วรู้สึกไม่สบายใจ ก็อยากให้ลองนั่งพักและทำตาม 3 ท่านี้ เพื่อผ่อนคลายความเครียดในจิตใจได้

(อ้างอิงจาก : https://youtu.be/rjarDDFRk0E)

Conditional Reasoning ที่ 3 :

นักกิจกรรมบำบัดจะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 3 พี่น้อง ได้อย่างไร

เริ่มจากนักกิจกรรมบำบัดจะช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแบ่งเวลาการทำงานของผู้รับบริการพี่ชายคนกลางให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยที่จากเดิมทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาว่างกลับมาหาพี่กับน้อง ผู้บำบัดก็จะแนะนำให้ผู้รับบริการแบ่งเวลาให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดยแนะนำเป็นวิธีให้ลองเขียนตารางชีวิตของตนเองไว้เลยว่าช่วงเวลานี้ทำงานนะ อีกช่วงเวลานึงก็หาเวลากลับไปเยี่ยมพี่กับน้องและทำกิจกรรมยามว่างอื่นๆบ้าง ที่สำคัญนักกิจกรรมบำบัดจะเพิ่มทักษะทางสังคมของผู้รับบริการ โดยให้ทั้ง 3 พี่น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมการทานข้าวร่วมกันภายในครอบครัว การไปทำบุญครอบครัว การทำอาหารร่วมกันไปไหว้บรรพบุรุษ

Why & Procedural Reasoning

ทำไมผู้รับบริการถึงนั่งโยกตัวไปมา ขณะที่กำลังสัมภาษณ์กับนักกิจกรรมบำบัด

เพราะว่าผู้รับบริการมีความวิตกกังวลภายในใจในการที่จะตอบคำถามของนักกิจกรรมบำบัด รวมถึงอาจเป็นอาการส่วนนึงจาก High Function Asperger’s ที่ผู้รับบริการเป็นอยู่ ซึ่งจะมีพฤติกรรมซ้ำๆ และคงรูปแบบเดิม ซึ่งก่อนที่นักกิจกรรมบำบัดจะได้เหตุผลเหล่านี้มาได้นั้น จะต้องทำการสังเกตกิริยาท่าทางต่างๆที่ผู้รับบริการแสดงออกมาเวลาที่กำลังพูดคุยสัมภาษณ์ โดยผู้บำบัดจะทำการประเมิน Allen Cognitive Level (ACL) ในเรื่องของการทรงท่าทรงตัว (Postural Actions) ให้ผู้รับบริการเดินแกว่งแขนและซอยเท้าไปข้างหน้าจดสุดห้องแล้วหมุนตัว กลับจากจังหวะช้าสลับเร็ว เพื่อประเมินว่าการนั่งโยกตัวไปมา เป็นเพราะมาจากปัญหาการทรงตัวไม่ดีหรือเปล่า แต่เมื่อทำการประเมินก็พบว่าผู้รับบริการสามารถเดินทรงท่าได้ปกติ และเมื่อได้ลองสังเกตอย่างละเอียดจะเห็นว่ามีแค่บางคำถามเท่านั้นที่จะมีการนั่งโยกตัวไปมา

ทำไมผู้รับบริการที่เป็นพี่ชายคนกลางถึงไม่ชอบการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น

เพราะว่าเป็นอาการของ High Function Asperger’s ที่มีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่ไม่ได้พบความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งจากการประเมินสัมภาษณ์พี่ชายคนกลาง โดยอ้างอิง Model of Human Occupation (MoHo) จะรับรู้ได้ว่าผู้รับบริการสามารถเข้าใจและตอบคำถามของนักกิจกรรมบำบัดได้ดี คำตอบมีความหมกมุ่นอยู่กับการทำงานอย่างมาก ผู้บำบัดมักจะได้รับคำตอบตลอดว่าแค่ทำงานก็หนักมากแล้ว ไม่มีเวลาว่างเลยที่จะออกไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคม แต่สิ่งที่ผู้รับบริการให้ความสำคัญคือเรื่องของน้องชาย จากคำตอบที่มีความเป็นห่วงน้องชาย แต่ทำไมกลับไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจากข้อสงสัยนี้ทำให้ผู้บำบัดประเมินได้ว่าหรือจริงๆแล้วเขาอยากพูดคุยกับน้องชายแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นความสัมพันธ์นี้อย่างไรดี

ทำไมผู้รับบริการถึงวาดรูปครอบครัวที่มีเพียงแค่รูปลูกสาวเพียงคนเดียวและยืนข้างกับต้นไม้

เพราะว่าผู้รับบริการอยู่ประเทศแคนาดากับลูกสาวและภรรยา ส่วนที่วาดต้นไม้หมายถึงตัวเองกับภรรยาที่จะคอยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกสาว ซึ่งการวาดรูปครอบครัวนี้เป็นกิจกรรมที่นักกิจกรรมบำบัดได้นำมาใช้ในการประเมิน เพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และรับรู้ความรู้สึกที่มีต่อครอบครัวได้ โดยผู้บำบัดจะทำการถามผู้รับบริการ เพื่อให้ทราบถึงเหตุผลที่วาดรูปนี้ออกมา แล้วผู้บำบัดจะต้องคิดวิเคราะห์ต่อไปว่าแล้วทำไมถึงไม่มีรูปพี่สาวและน้องชาย ทั้งๆที่ก็เป็นครอบครัวเดียวกัน

ทำไมผู้รับบริการถึงทำงานหนัก

เพราะว่าผู้รับบริการอยากรวย และจำเป็นต้องนำเงินส่งไปเลี้ยงพี่สาวกับน้องชาย ซึ่งจากที่นักกิจกรรมบำบัดได้ประเมินสัมภาษณ์ผู้รับบริการโดยใช้หลักอ้างอิงของ Model of Human Occupation (MoHo) ทำให้ทราบถึงเรื่องเจตจำนงของผู้รับบริการ ได้เห็นถึงอุปนิสัยส่วนตัวของผู้รับบริการที่ให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพราะคำตอบจากที่ผู้รับบริการตอบมามีแต่ความเป็นห่วงที่อยากให้น้องชายทำงาน สามารถหาเงินเลี้ยงตนเองได้ และที่เขาต้องทำงานหนักขนาดนี้ก็เพราะต้องการหาเงินส่งมาเลี้ยงพี่สาวที่เป็นซึมเศร้าและยังต้องรับหน้าที่ดูแลน้องชายอีก

ทำไมผู้รับบริการถึงไม่อยากเล่าเรื่องในวัยเด็กให้ฟัง

เพราะว่าผู้รับบริการมีความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเด็ก จากการที่นักกิจกรรมบำบัดได้ทำการสอบถามเรื่องในวัยเด็กอยู่หลายครั้งแต่ผู้รับบริการก็ไม่ยอมตอบ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจำเป็นต้องให้เวลาเขาโดยจะต้องพยายามใช้การสร้างสัมพันธภาพ เน้นใช้หลักของ Empathy ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกไว้วางใจและพร้อมที่จะเปิดใจเล่าให้ผู้บำบัดฟัง และนักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมินเพิ่มเติม ว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาการของ High Function Asperger’s ด้วยหรือไม่ ที่อาจทำให้ผู้รับบริการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆยากในวัยเด็ก

Learn How to Learn เพื่อจะเรียนและทำงาน OT อย่างมีความสุขได้อย่างไร

ก่อนอื่นเลยผู้เขียนขอยอมรับก่อนเลยว่าช่วงแรกๆที่ได้เข้ามาเรียนสาขากิจกรรมบำบัดนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่ได้เข้าใจมากนักว่า กิจกรรมบำบัด คืออะไร และนักกิจกรรมบำบัดมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง แต่พอได้เรียนไปเรื่อยๆก็ได้รู้จักวิชาชีพนักกิจกรรมบำบัดมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ยังไม่ได้เห็นเป้าหมายของตนเองมากนัก ก็ได้เริ่มเห็นเป้าหมายที่ตนเองจะเรียนไปเพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนมานี้ ทำให้ผู้รับบริการสามารถที่จะกลับมาทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมที่มีความหมายสำหรับเขาได้ ส่วนตัวเวลาที่รู้สึกเหนื่อย ท้อ ในการเรียน แต่พอเราได้นึกภาพว่าเราสามารถทำให้ผู้รับบริการคนนึงสามารถที่จะกลับไปทำกิจวัตรประจำวันของเขาได้ ได้เห็นผู้รับบริการได้กลับไปทำกิจกรรมที่ชอบได้อีกครั้ง มันก็ทำให้เรารู้สึกมีแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น และการที่เราจะเรียน ทำงาน อย่างมีความสุขได้นั้น ผู้เขียนคิดว่าเราควรเริ่มต้นจากการมองโลกในแง่บวกก่อน และไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ส่วนตัวผู้เขียนจะชอบพูดชื่นชมและพูดขอบคุณตนเองเสมอเวลาที่เรารู้สึกว่าเราทำสิ่งนี้ออกมาได้ดีนะ อย่างเช่น ขอบคุณตัวเองที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ เธอเก่งมาก!! เพราะผู้เขียนรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และมีความสุขได้ในทุกๆวัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 697020เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2022 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2022 05:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นงานที่มีคุณค่ามากค่ะ เพราะทำให้คนสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้อย่างเหมาะสม น่าสนใจเคสสามพี่น้องมากเลยค่ะ จะติดตามอ่านนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท