พิชญาอรและการบ้านสุดท้ายที่สุดท้าทาย



สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่าา พิชญาอรเอง คราวนี้กลับมาเขียนบล๊อกค่อนข้างไวห่างจากครั้งล่าสุดไม่ถึงเดือน อย่าพึ่งเบื่อกันน้าา ขึ้นปีใหม่แล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ สบายดีไหม ส่วนพิชญาอรก็สบายดีมีงานเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือวันนี้จะมาตอบคำถาม 3 ข้อใหญ่ซึ่งเป็นการบ้านสุดท้ายของรายวิชา  PTOT 229 การสังเกตและให้เหตุผลทางคลีนิคแล้วค่า เป็นคำถามที่ต่อมาจากแลปในห้องเกี่ยวกับเคสของสามพี่น้องครอบครัวหนึ่ง รายละเอียดตามด้านล่างนี้เลยค่า


 

“พี่ชายคนกลาง High Function Asperger’s จบโทแคนาดาและทํางานดีมีครอบครัว น้องชายคนเล็ก Chronic Depression with Low Function Asperger’s จบโทแคนาดาตามพี่ชายแต่ปัจจุบันอยากอยู่บ้านเฉย ๆ เล่นเกมส์ ทําอาหารบ้าง ชอบนวด ไม่ชอบออกกําลังกาย พี่สาวคนโตมี OCPD ชอบคิดวางแผนสมบูรณ์แบบในการดูแลน้องชายคนเล็ก แต่ร่างกายก็ปวดเดินไม่ไหว นักกายภาพบําบัดส่งเคสสามรายนี้ปรึกษานักกิจกรรมบําบัด”


 

เอาล่ะ ทราบข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับพี่น้องทั้งสามคนนี้แล้ว (บวกเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยจากการสัมภาษณ์ในห้องเรียน) เรามาเริ่มที่คำถามข้อแรกกันเลยค่าา


 

โจทย์ข้อ 1 จงยกตัวอย่าง Conditional Reasoning ในเคสสามพี่น้องของวันนี้ เช่น Condition ที่ 1 OT มีบทบาทประเมินและออกแบบการฟื้นคืนสุขภาวะได้อย่างไร ตอบมา 3 ตัวอย่าง


 

  • Condition ที่ 1 (น้องชายคนเล็ก): สร้างแรงจูงใจ (volition) ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

OT สร้างสัมพันธภาพเบื้องต้นเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ จากนั้นประเมินโดยตั้งคำถามเพื่อหาแรงจูงใจภายในที่ยังเหลืออยู่หรือยังไม่ชัดเจนนัก อาจจะเริ่มที่คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ทำบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันช่วงนี้ สิ่งใกล้ตัวที่ชอบอย่างการเล่นเกม ไปนวด ทำอาหาร (ตัวอย่างคำถาม เช่น คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตคุณ? ในเวลาว่างคุณทําอะไรเป็นประจํา? สิ่งที่ถูกต้องที่คุณกําลังทําคืออะไร? ความดีของคุณคืออะไร? คุณรู้สึกดีเมื่ออยากทําอะไร? เป็นต้น) เพื่อให้เห็นภาพของสิ่งที่ผู้รับบริการให้คุณค่าชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงประเมินเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับความรู้คิดบูรณาการประสาทวิทยา, ADL, IADL, Rest and sleep hygiene ด้วยแบบประเมินมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าประสงค์ วางแผนทางกิจกรรมบำบัดต่อไป ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากปรับตารางเวลากิจวัตรประจำวัน ให้พักจากหน้าจอเกมมาทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างทำอาหารที่พอทำได้บ้าง หรือช่วยงานบ้านเบา ๆ ที่สามารถทำสำเร็จได้ง่ายก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับความท้าทายของกิจกรรมเพิ่มขึ้น สอนการกายบริหารลดปวดหลังปวดคอปวดนิ้วมือเพิ่มเติม อาจจะลดความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจากการนั่งเล่นเกมท่าเดิมและมองจอเป็นเวลานาน ๆ และทำให้ผู้รับบริการรู้สึกมีคุณค่า มี self-awareness self-concept และ self-esteem ที่ดีขึ้นก่อน จากนั้นค่อยให้ผู้รับบริการลองทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น (โดยยังมีความเกี่ยวข้อง อ้างอิงกับสิ่งที่ให้คุณค่าอยู่) ทดลองหาไปจนผู้รับบริการเริ่มรู้หัวใจตัวเอง เริ่มเจอสิ่งที่ใช่ที่สามารถต่อยอดเป็นความสุขและเป็นพลังใจในการใช้ชีวิตอย่างลงตัวได้
 

  • Condition ที่ 2 (น้องชายคนเล็ก): ผู้รับบริการอยากมีงานทำ (เคยลองสมัครและเข้าทำงานในแลปแล้ว แต่ทำงานได้ไม่กี่เดือนก็ลาออกมา)

หลังจาก OT ได้สร้างสัมพันธภาพและใช้วิธีการทางกิจกรรมบำบัดตามที่กล่าวไปข้างต้น (Condition 1 สร้างแรงจูงใจ (volition) ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ) ให้เพิ่มเติมคำถามเกี่ยวกับการเรียนและการทำงาน ทั้งสาเหตุที่เลือกเรียนกับทำงานสาขานี้ การยื่นสมัครงาน จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง ปัญหาที่พบจากที่ทำงานเก่า สิ่งที่ชอบและไม่ชอบในงาน ฯลฯ และจากการสัมภาษณ์ในห้องเรียน ผู้รับบริการค่อนข้างสนใจเกี่ยวกับอาชีพหรือหนทางหารายได้จากเกม เช่น e-sport, นักแคสเกม, ขายไอเทมเกม เผยไม่เคยรู้จักอาชีพเหล่านี้มาก่อนและไม่ทราบว่าสามารถทำรายได้ได้ โดยเมื่อพูดถึงหัวข้อเรื่องเกมผู้รับบริการมีความตื่นตัว ให้ความร่วมมือในการประเมินต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงคิดว่า หากผู้รับบริการมีความสนใจในเรื่องเกมจริง ๆ ก็สามารถตั้งเป้าประสงค์เป็นการหาหนทางหารายได้จากเกม ด้วยวิธีการที่ถนัดที่สุด หากสมมุติว่าผู้รับบริการสนใจเป็นสตรีมเมอร์ ก็จะได้หาข้อมูลรวมถึงสนับสนุนได้ถูกต้อง เช่น แบ่งเวลาให้ฝึกเล่นเกมกับผู้อื่น เพื่อเสริมเรื่องทักษะการสื่อสารสนทนากับผู้อื่น ฝึกการวางแผนเล่นเป็นทีม ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับเกม แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับเกม เพื่อหามุมมองและแนวทางเกมใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับผู้รับบริการ และสามารถนำไปต่อยอดได้ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และมีความสุขกับสิ่งที่ได้ลงมือทำมากขึ้น

 

  • Condition ที่ 3 (พี่ชายคนโต): สานสัมพันธ์กับน้องชายและน้องสาว ให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น

จากการสัมภาษณ์พี่ชายคนโตเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับน้องชายและน้องสาวแล้ว พบว่าพี่ชายอยู่ต่างประเทศยังพอติดต่อกับน้องสาวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ติดต่อกับน้องชายเลย เนื่องจากรู้สึกว่าน้องชายพูดคุยด้วยไม่รู้เรื่อง และด้วยความที่พี่ชายทำงานหนักตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่มีเวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ในขั้นตอนการบำบัด หลังจากให้ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเบื้องต้นแล้ว อาจจะให้สามพี่น้องทดลองทำกิจกรรมด้วยกัน โดยกิจกรรมควรเริ่มอิงจากกิจกรรมที่สามพี่น้องมีความสนใจ มีจุดร่วมด้วยกัน (จากที่ได้จากการสัมภาษณ์) เช่น การทำอาหาร ไปนวด เป็นต้นเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยจากที่ห่างกันไปนาน ก่อนที่จะมีการลองเปิดใจจับเข่าคุยกันในครอบครัว โดยนักกิจกรรมบำบัดจัดสถานที่ให้บรรยากาศของห้องให้ดูเป็นพื้นที่ปลอดภัย โล่ง ๆ โปร่ง ๆ และเป็นส่วนตัว สลับกับกิจกรรมที่ผ่อนคลายอย่างการยืดเหยียดร่างกาย ฝึกหายใจ กายบริหารอย่างง่าย เพื่อลดระดับความตึงเครียดควบคู่ไปด้วย


 

ต่อไปนะคะ เป็นโจทย์ข้อ 2 กับ Why ที่คุ้นเคย ตามนี้เลยค่า

 

โจทย์ข้อ 2 จงตั้งคำถามด้วย Why จำนวน 5 คำถาม ที่เกี่ยวข้องกับเคสสามพี่น้อง แล้วตอบเป็น Procedural Reasoning ในแต่ละคำถาม

  1. ทำไมพี่ชายคนโตถึงรู้สึกว่าคุยกับน้องชายไม่รู้เรื่อง อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น? : เพราะพยาธิสภาพของ Asperger ซึ่งพี่ชายเป็น High Function Asperger และน้องชายเป็น Low Function Asperger’s ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถึงจะไม่มีความผิดปกติของสมรรถนะทางสมองหรือการใช้ภาษา ออกไปทางสติปัญญาสูงกว่าปกติ แต่อาจขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะทางสังคม อย่างการแสดงสีหน้าท่าทาง การเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น บางรายอาจอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ดังนั้น เมื่อพี่ชายที่เป็น High Function  Asperger’s สนทนากับน้องชายที่เป็น Low Function Asperger’s ที่อาจพูดช้ากว่า ประมวลผลช้ากว่า พี่ชายจะรู้สึกว่าได้คำตอบช้า รอนาน ไม่ทันใจจนทำให้ไม่ค่อยได้คุยกับน้องชายเนื่องจากไม่พอใจในจุดนั้น ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว
  2. ทำไมขณะน้องชายคนเล็กตอบคำถาม ถึงได้คิดคำตอบได้ช้า หรือถามคำตอบคำ? : เพราะจากการที่มีพยาธิสภาพ Low Function Asperger’s และ Chronic Depression อาจส่งผลให้เขามีปัญหาในด้านการสื่อสารสิ่งที่คิด สิ่งที่อยู่ในใจออกมา ปัญหาด้านสมาธิความจดจ่อ รวมถึงมีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจำกัดเฉพาะเรื่อง ดังนั้น หากเราไม่ได้ดึงความสนใจหรือกระตุ้นความสนใจผู้รับบริการ อาจจะทำให้หลุดโฟกัสจากคำถามได้ง่ายทำให้ตอบได้ช้าและสั้น
  3. ทำไมทั้งพี่ชายและน้องชายถึงเลือกเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสาขา Biochemistry? : เนื่องจากจบมาได้ทำงานในห้องแลป งานส่วนใหญ่อาจสามารถทำเดี่ยว ไม่มีความจำเป็นต้องสนทนากับผู้อื่นเท่าไหร่นักเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคม
  4. ทำไมพี่ชายคนโตจึงได้หมกมุ่นกับการทำงานมากเป็นหลัก? : อาจจะเพราะความกดดันจากการที่คุณพ่อคุณแม่สั่งเสียไว้ว่าให้ดูแลน้อง ๆ ความคาดหวังในครอบครัวจากการที่เป็นพี่คนโตและเป็นหัวหน้าครอบครัว ปมในวัยเด็ก รักครอบครัวและน้อง ๆ จึงมีเป้าหมายคือทำงานหาเงินให้มาก ๆ จะได้ใช้ชีวิตได้สบาย จนบางทีอาจกลายเป็นหมกมุ่นเกินไปจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการดำเนินชีวิตอื่น ๆ เช่น การพักผ่อน กลับบ้านดึก ไม่มีเวลาพอในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นต้น
  5. ทำไมจึงต้องมีการประเมินระดับการรู้คิดบูรณาการระบบประสาทจิตวิทยาระหว่างสัมภาษณ์ผู้รับบริการ? : เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวหรือผ่อนคลายผู้รับบริการเมื่อทำการสัมภาษณ์มานานประมาณหนึ่ง และเพื่อประเมินสังเกตการเคลื่อนไหวร่างกาย บันทึกผลการแสดงความสนใจจดจ่อตัวชี้นําการรับรู้สึกขณะทํางานของผู้รับบริการไปในตัว
     

 

และสุดท้าย เป็นข้อสรุปรวมหลังจากที่ได้เรียนกิจกรรมบำบัดมาทั้งหมด ถึงเวลาลองทบทวนตัวเองดูสักครั้งแล้วว

 

โจทย์ข้อ 3 จงทบทวนว่าตัวเรามี Learn How to Learn เพื่อจะเรียนและทำงาน OT อย่างมีความสุขได้อย่างไร

คิดว่าเราต้องหาวิธีการเรียนรู้ในแบบที่เราชอบและเข้ากับตัวเราเองก่อน ส่วนตัวแล้วชื่นชอบการเรียนรู้ที่เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน ได้ลองปฏิบัติ และชอบการที่เห็นความเชื่อมโยงกันของเนื้อหาต่าง ๆ จะทำให้รู้สึกคุ้นเคยและจำเนื้อหาได้แม่นมากขึ้น ดังนั้นวิธีที่เหมาะกับตัวเองก็ควรจะเป็นใฝ่หาความรู้ใหม่ให้มาก ๆ ตั้งใจเรียนเนื้อหาปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการทบทวนความรู้เดิมให้ขึ้นใจ เพื่อที่เวลาต้องการประยุกต์ใช้จะได้กู้ข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องมาจากเบื้องลึกของสมองได้ไวและตรงประเด็น สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ตรงหน้าได้ทันที เป็นการฝึกสมองไปในตัว และต้องฝึกทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน อย่างเทคนิคการสัมภาษณ์ เรียนรู้การสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการหลากหลายพยาธิสภาพ หลากหลายรูปแบบ การวางตัว สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ สรุปจับประเด็นที่ได้ บริหารเวลาให้พอดี ที่อาจต้องอาศัยประสบการณ์จากการดูงาน ฝึกงาน หรือสืบค้นเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ หากทำได้คร่าว ๆ ตามเป้านี่ คาดว่าสามารถทำให้เรียนรู้งานได้ไว ปรับตัวได้ไว และสามารถฝึกเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่มีความสุขได้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอนค่า

.

.
 

หมดแล้วค่าา เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การบ้านไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่ครั้งก็รู้สึกว่ามีความท้าทายมากทุกงานเลย หากมีข้อสงสัยหรือมีคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้เหมือนเดิมนะคะ ขอบพระคุณที่ติดตามอ่าน ขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนค่ะ วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีค่าา ~


 


 


 


 


 

หมายเลขบันทึก: 697009เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2022 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2022 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท