“รู้ลึก” หรือ “รู้รอบ” จึงจะตอบโจทย์มรสุมการเปลี่ยนแปลง


ที่มาที่ไปของบันทึกนี้ คือ ราวห้าเดือนก่อน ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้กรุณาแนะนำหนังสือหนึ่งเล่มให้ลูกศิษย์ลูกหาอ่าน ท่านว่า อ่านแล้วก็เขียนมาด้วยว่าได้อะไรบ้าง

ผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า แต่ชอบที่จะอ่านต่อเนื่อง คือวันละสามถึงสิบหน้า ตามโอกาส อ่านแบบสะสม ให้สมองค่อยคิดตามไปเรื่อยๆ แบบ “ออสโมซิส”

 

 

หนังสือ “วิชารู้รอบ”เล่มนี้ หนาเกือบสี่ร้อยหน้า นี่ก็อ่านมาห้าเดือน อ่านแล้วก็สนุกดี 
เห็นวิธีการฝึกคนสองแบบใหญ่ คือ  การฝึกแบบเคร่งและลึกอย่างนักกอล์ฟ ไทเกอร์ วู้ด คือ จับไม้กอล์ฟมาตั้งแต่สี่ห้าขวบ กำหนดชีวิตเฉพาะทางมาแต่น้อย ซึ่งต่างจากโรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ ที่เป็นนักเทนนิสแชมป์โลกจากการฝึกแบบกว้าง แบบยืดหยุ่น ที่เล่นกีฬาสารพัดแล้วมาลงลึกในเทนนิสทีหลัง

รวมถึง ตัวอย่างชีวิตคณะนักดนตรีหญิง “ฟีลเย” ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 และบุคคลชื่อเสียงก้องโลกหลายคน เช่น แวนโก๊ะ

การเล่าถึงประวัติชีวิต ผลงาน และกระบวนการการฝึกของสองคน (ไทเกอร์ วู้ด กับโรเจอร์ เฟดเดอเรอร์) สะท้อนภาพตัวแทนของยุคสมัย ระหว่าง “ลัทธิเริ่มก่อนได้เปรียบ” อันเป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคมที่มุ่งให้คนฝึกลงลึก รู้ลึก และประสบความสำเร็จแบบยิ่งเร็ว ยิ่งดี กับแนวคิด “มือตั้งใจสมัครเล่น” ที่มุ่งไปที่การพัฒนาความรู้รอบด้าน คิดนอกประสบการณ์ ละทิ้งเครื่อมือที่คุ้นเคยแล้วออกผจญภัยอย่างมีจินตนาการ


ตลอดจนได้เห็นการแก้ปัญหาเรื่องที่ความรู้ลึก แก้ไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้รอบ เช่น การเก็บคราบน้ำมันในทะเล ที่หากใช้ความรู้ในวงการเคมีแบบเดิมๆ ทุ่มเทวิศวกร นักวิทยาศาสตร์มากมายก็คิดไม่ออกสักที ยิ่งแก้ยิ่งกลุ้ม พอไปเจอพนักงานธรรมดาที่คิดถึงการดื่มโกโก้ที่ต้องคนบ่อยๆไม่ให้โกโก้มันจับตัวแข็ง ก็คิดทางออกได้ คือ ระหว่างที่ดูดคราบน้ำมันเข้าเรือก็ต้องมีเครื่องสั่นสะเทือนไม่ให้คราบมันจับตัวสร้างปัญหากับเรือได้ และยังมีอีกหลายตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการยึดติดกับข้อมูลและประสบการณ์เดิมๆขององค์กรนาซา ที่ส่งผลสำคัญทำให้เกิดโศกนาฏกรรมยานแชลเลนเจอร์และโคลัมเบียตก และอื่นๆอีกหลายตัวอย่าง

ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากคือ การดับไฟป่า ที่เมื่อไฟโหมกระพือเข้ามาจวนถึงตัวนักดับเพลิงแล้ว ท้ายสุด ก็ต้องทิ้งเครื่องมือที่แบกนั้นไว้เพื่อหนีไฟให้ทัน

 

ภาพจากภาพยนตร์ Only the brave (2017)

 

หนังสือที่บิลล์ เกตต์แนะนำให้อ่าน ประจำปี 2020 เล่มนี้ ถือว่าตอกย้ำกับแนวทางชีวิตและการงานที่ผมเลือกได้เป็นอย่างดี ที่ตนเองเลือกที่จะอยู่ในวงการรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ และใช้เวลา ใช้ชีวิตไม่หนักไปทางใดทางหนึ่งมากไป

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หลายคนพูดเรื่อง “สมดุลชีวิต” รวมถึง “การคิดนอกกรอบ”โอเค มันก็เป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ How to ล่ะ วิธีการ คุณจะไปอย่างไร ถ้าคุณมองไม่ออกว่าตัวเองถูกหล่อหลอม และแวดล้อมไปด้วยนิเวศการเรียนรู้แบบไหน (แบบลัทธิเริ่มก่อนได้เปรียบ หรือแบบมือตั้งใจสมัครเล่น) ยังไม่รู้จักตัวเองพอ ว่าปัจจุบัน ตนเองมีวิธีการเรียนรู้ และให้เวลาให้น้ำหนักกับการเรียนร้แบบใด

ถ้าไม่รู้จักวิเคราะห์บริบท พัฒนาการและการหล่อหลอมมาเป็นตัวตนของตนจนขณะนี้ จู่ๆเอาสิ่งที่เรียกว่า “สมดุลชีวิต” เข้ามาก็อาจจะสวมกันได้ไม่เข้าจังหวะ
และพอพูดถึง “คิดนอกกรอบ” มันจะคิดได้ยังไง ถ้ามันไม่มีต้นทุน “ความรู้รอบ” ที่มากพอ

มิพักต้องพูดถึงการยกระดับการเรียนรู้ของตนเอง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม

หนังสือเล่มนี้ ให้ตัวอย่าง และแรงบันดาลใจดีทีเดียว

รู้ลึกก็ยังมีความสำคัญ แต่หากจะปรับตัวในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ผันผวน รวมถึง เทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ “คนรู้ลึก” แล้ว การรู้รอบ จึงนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

หากจะถ่องแท้ว่า รู้รอบมีความหมายอย่างไร ต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นสำคัญ ไม่ใช่รู้รอบแบบเป็ด แต่ไม่ทำอะไร นั่นก็สุดโต่งไปอีกทาง

ส่วนตัว คิดว่าวางชีวิตไว้กลางๆ ระหว่างรู้ลึกกับรู้รอบ รู้ลึกไปก็ไม่รอด รู้รอบไปก็อาจจะไม่แน่น ก็ต้องหมั่นสำรวจตรวจตราความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงกระบวนการสร้างความรู้ภายในตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งลำพังตัวเองวิเคราะห์ตัวเองก็อาจจะหลง ต้องอาศัยกัลยาณมิตร ตลอดจนครูบาอาจารย์ช่วยสะท้อน แนะนำ


ทำให้นึกไปถึงสิ่งที่อาจารย์เคยสอน คือ การสำรวจพื้นที่ความรู้ 4 ด้าน โดยใช้ “หน้าต่างของ Johari”

 

 

ภาพจากอินเทอร์เน็ต

 

สิ่งที่เรารู้ว่ารู้ , สิ่งที่เรารู้ว่าไม่รู้ , สิ่งที่เราไม่รู้ว่ารู้ , และสิ่งที่เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ 
แยกแยะ เชื่อมโยง และจัดการอย่างเหมาะสม

รู้ลึกก็ต้องมี หรือ รู้รอบก็จำเป็น สำคัญคือรู้จักตัวเอง รู้จักบริบทแวดล้อม

ในทางปฏิบัติ อาจจะรวมถึง รู้กาละและเทศะ คือ “รู้ที่จะไม่รู้” 
ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้แบบอ่อนโยน (Soft  Skill) อีกด้วย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นอกจากนี้ วิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ของเรา ส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมาย หรือภาพฝันที่เรากำหนดไว้ ที่อาจจะยืดหยุ่น/ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่มีศิลปะพอ

ผมเปิดหนังสือไปหน้าที่คั่นเอาไว้ ไปเจอประโยคสะดุดใจ

“  คุณไม่ควรปักหลักกับความฝันใดในอนาคต แต่ให้ลองดูว่าปัจจุบันมีทางเลือกอะไรบ้าง แล้วเลือกทางที่จะให้ทางเลือกที่กว้างขวางและดุเป็นไปได้ที่สุดภายหลัง  ”

ตรงนี้ เป็นศิลปะแห่งการตั้งความหวัง ซึ่งสัมพันธ์กับวิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ของเรา

นอกจากการทบทวนพื้นที่การเรียนรู้ กระบวนการ และวิธีได้มาซึ่งความรู้แต่ละอย่างแล้ว เราก็ต้องหมั่นทบทวนความคาดหวัง ตลอดจนภาพฝันต่อเรื่องต่างๆของตัวเองเหมือนกัน

ซึ่งน่าจะนำไปสู่การ “รู้เท่าทันในปัจจุบัน” อันเป็นปัญญาแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ผ่านมาทางความคิดแบบลวกๆ หรือแม้แต่ความคิดในโลกกระแสหลักทั่วไป

........................................................................
ต้องขอบคุณท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่กรุณาแนะนำหนังสือเล่มนี้อีกครับ

หมายเลขบันทึก: 696958เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2022 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2022 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หยิบจับหลายครั้งแต่ไม่กล้าซื้ออ่านเห็นอาจารย์รีวิวแล้วสนใจเลย ขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท