Recovery Wellbeing ฟื้นคืนสุขภาวะ เสริมสร้างพลังชีวิตกับกรณีศึกษาในกิจกรรมบำบัดจิตสังคม


จากการเรียนการประเมินทางกิจกรรมบำบัดเพื่อสุขภาพจิตในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว และจิตเภท ได้ต่อยอดถอดบทเรียนมาสู่บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมกับ

กรณีศึกษา: นักศึกษากฎหมาย มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ติดพนัน และมีหูแว่วเล็กน้อย แต่สอบตกทุกวิชา ในบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะมีหน้าที่ Hopeful Empowerment, Skilled Life Design และ Supportive Engagement อย่างไร

       ในการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม เราจะใช้กิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีความหมาย และผู้รับบริการรู้สึกพึงพอใจ ต้องการทำมาใช้ในการฝึก เพื่อช่วยพัฒนา และคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพจิตเชิงบวก และการฟื้นฟูสุขภาวะโดยรวมให้ผู้รับบริการเกิดเป้าหมายในการดำเนินชีวิต แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุด ๆ นั้น เราจำเป็นที่จะต้องทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้รับบริการก่อนผ่านการสัมภาษณ์ บอกเล่าประสบการณ์สุขภาพจิตของตนเอง และจะต้องอาศัยสื่อในการรักษาที่สำคัญ คือ Therapeutic use of self และ Therapeutic relationship เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้บำบัด และผู้รับบริการ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาทางกิจกรรมบำบัดต่อไป

ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/photos/people'>People photo created by rawpixel.com - www.freepik.com</a>

Therapeutic relationship ที่ดีจะทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีจากผู้รับบริการ ซึ่งผู้บำบัดสามารถใช้ทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก “PERMA Theory” ในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการ 15 นาทีของการสัมภาษณ์ เปลี่ยนเรื่องลบเป็นเรื่องบวก ค้นหาสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายในชีวิต การประสบความสำเร็จที่เกิดจากการสั่งสมความสำเร็จเล็ก ๆ อย่างต่อเนื่องที่ผู้รับบริการมีความภาคภูมิใจ ผู้บำบัดจะต้องรับฟังอย่างตั้งใจ เห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินถูกผิด จับประเด็นตั้งคำถาม คอยสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเป็นระยะ ไวต่อการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้รับบริการ สังเกตสีหน้า แววตา ท่าทาง เพื่อเข้าไปถึงความต้องการที่แท้จริงที่ยังไม่ได้ถูกตอบสนอง (Unmet needs) ของผู้รับบริการ รวมถึงใช้การประเมินทางกิจกรรมบำบัดเพิ่มเติม และนำไปใช้ในการวางแผนให้บริการ Psychosocial Recovery Wellbeing โดยมีเป้าหมายให้ผู้รับบริการเกิด Lifelong learning มีการเรียนรู้ และปรับตัวตลอดชีวิต มีความอดทนต่อปัญหาอุปสรรค และมีความพยายามที่จะพาตัวเองไปถึงเป้าหมายได้

ในกรณีศึกษานี้ นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจึงมีหน้าที่ Hopeful Empowerment ช่วยเสริมสร้างพลังชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ให้ผู้รับบริการเกิดแรงบันดาลใจ มีเป้าหมาย เกิด Self-efficacy มีความรับผิดชอบที่จะกลับมาศึกษาต่อในด้านกฎหมายจนสำเร็จการศึกษา สามารถที่จะจัดการตนเองในการเล่นพนันได้ โดยไม่มุ่งเน้นไปที่การเลิก หรือหยุดเล่นเกมการพนัน แต่ใช้การบำบัดทางความคิด และพฤติกรรม (Cognitive-behavioral therapy: CBT) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทางที่ดีขึ้น ให้ผู้รับบริการรู้เท่าทันใจตนเอง ควบคุมตนเองได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน และผู้บำบัดเข้าไปมีส่วนช่วยในการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อผู้มีประสบการณ์สุขภาพจิตที่จะช่วยส่งเสริมพลังกาย พลังใจให้กับผู้รับบริการให้สามารถประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้ ในด้าน Skilled Life Design ผู้บำบัดจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาให้ผู้รับบริการได้มีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจ เกิดทักษะการออกแบบชีวิตเพื่อช่วยในการวางแผนอนาคตระยะสั้น และระยะยาวหลังเรียนจบ คอยให้คำชี้แนะในการดูแลตนเอง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับประทานยา การสร้างกิจวัตรประจำวันใหม่ ๆ มองเป้าหมายความสำเร็จทีละก้าวเพื่อไปถึงเป้าหมายใหญ่ การฝึกทักษะการจัดการความเครียด รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ฝึกมองโลกในแง่บวก การค้นหากิจกรรมที่มีความหมาย ต้องการจะทำ และช่วยผ่อนคลายตัวเอง ร่วมกับการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวให้ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้รับบริการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และ Supportive Engagement ผู้บำบัดจะต้องส่งเสริมให้ผู้รับบริการสามารถประกอบกิจกรรมการดำเนินชีวิตตามที่ตนเองต้องการได้ในหลาย ๆ บริบท ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน สถานศึกษา แหล่งชุมชน หรืออื่น ๆ โดยวิเคราะห์ปัจจัยส่งเสริม และปัจจัยขัดขวางทั้ง Personal factors และ Environmental factors เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ผู้รับบริการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตนสนใจ ส่งเสริมจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้บำบัด การได้มีส่วนร่วมภายในกิจกรรมของครอบครัว การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบำบัด (Therapeutic use of group) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้รับบริการที่มีประสบการณ์สุขภาพจิตคล้ายกัน เพื่อหาแนวทางการจัดการกับปัญหา ไปจนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน 

การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาวะที่ดี เพราะจะส่งผลต่อความคิด และพฤติกรรมให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย เห็นคุณค่าในตนเอง รู้เท่าทันตนเอง คิดบวก ทำให้เกิดความเข้มแข็งภายในจิตใจ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง และพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ดังคำกล่าวขององค์การอนามัยโลกที่ว่า “There is no health without mental health.”

เอกสารอ้างอิง

ศุภลักษณ์ เข็มทอง. (2563). กิจกรรมการดำเนินชีวิตจิตเมตตา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว.

AOTA. (2016). Occupational Therapy’s Distinct Value in Mental Health. Retrieved January 8, 2022, from https://www.aota.org/Practice/Mental-Health/distinct-value.aspx

Cara and MacRae. (2013). Psychosocial Occupational Therapy: A Clinical Practice, 3rd edition. Retrieved January 8, 2022, from https://arakmu.ac.ir/file/download/page/1601839168-cara.pdf

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 695797เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2022 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2022 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท