นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม กับ Psychosocial Rehabilitation 


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน… ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ในเรื่องของ Psychosocial Rehabilitation มาค่ะ และทำให้วันนี้ผู้เขียนก็จะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่อง 

“นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมจะมีหน้าที่ Hopeful Empowerment + Skilled Life Design + Supportive Engagement อย่างไรในนักศึกษากฎหมาย ที่ซึมเศร้าวิตกกังวล ติดพนัน และมีหูแว่วเล็กน้อย แต่สอบตกทุกวิชา” กันค่ะ

        เริ่มแรก สื่อการรักษาที่สำคัญที่นักกิจกรรมบำบัดจะใช้ในการบำบัดผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิตก็คือ Therapeutic use of self หรือ การที่ผู้บำบัดใช้ตนเองเป็นสื่อในการรักษา โดยก็จะเริ่มจากการพูดคุยสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการกันก่อน เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกถึงความผ่อนคลายสบายใจที่จะเล่าเรื่องของตนเองให้กับผู้บำบัดฟัง เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ เดินทางมายังไงคะ และจะเน้นการถามคำถามแบบปลายเปิดเป็นหลัก เพื่อให้ผู้รับบริการได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองออกมา ซึ่งขณะที่พูดคุยสัมภาษณ์กันนั้น ผู้บำบัดจะต้องแสดงออกถึง Empathy ความเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิต พร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ และมีการสื่อสารที่ดูเป็นมิตรจริงใจ เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับบริการกลุ่มนี้ได้บอกเล่าความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองออกมาให้ผู้บำบัดได้รับฟัง

      ในการสร้างสัมพันธภาพนี้ นักกิจกรรมบำบัดก็จะนำหลักของ PERMA ที่คิดค้นโดยนักจิตวิทยาเชิงบวก Martin Seligman มาประยุกต์ใช้สำหรับการตั้งคำถาม เพื่อเป้าหมายที่จะได้นำพาผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิตไปสู่สภาวะ Well-Being ได้

PERMA 

   (ขอบคุณภาพจาก : https://becommon.co/life/heart-perma-model-positive-psychology/)


 P : Positive Emotion รู้สึกดีมีอารมณ์บวก

หมายถึง อารมณ์ที่เป็นบวก เช่น รู้สึกสงบ รู้สึกพึงพอใจ รู้สึกมีแรงบันดาลใจ รู้สึกมีความหวัง หรือรู้สึกรักใคร่ ความรู้สึกเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะมันทำให้เราเพลิดเพลินกับชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดได้นำหลัก P นี้มาลองตั้งคำถามให้ผู้รับบริการได้ลองคิดถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกดีและเกิดอารมณ์ทางด้านบวก และจะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างประสบการณ์นั้นขึ้นมาอีกครั้ง

  • ตัวอย่างคำถาม เช่น เวลาที่เศร้า คุณ…จะทำอย่างไรให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นคะ?

E : Engagement เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง

หมายถึง การมีส่วนร่วมและรู้สึกผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นงาน งานอดิเรก หรือกีฬาที่ชอบ ทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่าเวลาที่ได้ทำมัน เป็นการช่วยสร้างสมาธิและความสุขใจได้ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดก็จะใช้หลัก E นี้ในการถามถึงกิจกรรมที่ผู้รับบริการชอบทำ กิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง รวมถึงผู้บำบัดสามารถใช้ถามเพื่อให้ผู้รับบริการเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับการชอบเล่นพนันของตนเองได้

  • ตัวอย่างคำถาม เช่น คุณ…ติดการพนันได้อย่างไรคะ?

R : Relationship สานสัมพันธ์ภาพ

หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การผูกพันกับใครในทางที่ดีและมีความหมาย จะทำให้มีความสุขได้มากกว่าคนที่ไม่ผูกพันกับใครหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงลบ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดได้นำหลัก R นี้มาดูในเรื่องของความสัมพันธ์ในสังคมของผู้รับบริการ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว และคนรัก ว่าเป็นอย่างไร โดยจะลองถามถึงวิธีที่ผู้รับบริการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีไหม 

  • ตัวอย่างคำถาม เช่น เวลาที่อยากจะปรึกษาเพื่อนเรื่องที่เรียนไม่เข้าใจ คุณ…จะมีวิธีการเข้าไปถามอย่างไรคะ?

M : Meaning ชีวิตเปี่ยมความหมาย

หมายถึง  การรู้สึกถึงความหมายในชีวิต แน่นอนว่าหมายถึงความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของเราเอง เป็นความหมายที่ครอบคลุมถึงเพื่อนมนุษย์และสังคมวงกว้าง ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะนำหลัก M มาใช้ในการถามให้ผู้รับบริการตระหนักว่าชีวิตของตนเองมีความหมาย อาจให้ผู้รับบริการได้ลองทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นอีกมากมาย

  • ตัวอย่างคำถาม เช่น เวลาที่ได้ทำกิจกรรมจิตอาสา คุณ…รู้สึกอย่างไรบ้างคะ?

A : Accomplishment พลังจากความสำเร็จ

หมายถึง การประสบความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งเรื่องเล็กน้อยที่ทำได้เป็นกิจวัตรยังรวมถึงการสำเร็จในทักษะ ความชำนาญ การบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่ได้ตั้งเอาไว้ที่สามารถทำให้เกิด Self-Esteem ได้อีกด้วย ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดได้นำหลัก A นี้มาตั้งคำถามกับผู้รับบริการ เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายในชีวิต เรื่องอะไรที่ผู้รับบริการอยากที่จะประสบความสำเร็จ และความต้องการที่แท้จริงของผู้รับบริการ

  • ตัวอย่างคำถาม เช่น คุณ…ได้วางเป้าหมายในชีวิตไว้ว่าอย่างไรบ้างคะ?

หลังจากที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการแล้ว ต่อไปนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมก็จะประเมินความต้องการที่แท้จริงของนักศึกษากฎหมายท่านนี้ โดยผู้บำบัดจะทำการถามคำถามพูดคุยและรับฟังถึงความต้องการของผู้รับบริการ ยกตัวอย่างคำถาม เช่น คุณ…มีความต้องการอะไรถึงมาพบผู้บำบัดในวันนี้คะ โดยผู้บำบัดจะต้องพยายามสร้างความเชื่อใจให้กับทางผู้รับบริการ แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือผู้รับบริการจากใจจริง เพื่อทำให้ผู้รับบริการมีความกล้าที่จะบอกความต้องการที่แท้จริงของตนเองให้กับผู้บำบัดได้ทราบ และนำไปประเมินต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไรให้ผู้รับบริการมีความสามารถที่จะทำตามความต้องการนี้ได้สำเร็จ

ในระหว่างที่สัมภาษณ์นักกิจกรรมบำบัดจะคอยทำการสังเกตอาการ พฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิต และนำข้อมูลที่ได้ต่างๆมาประเมินหาวิธีการช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป โดยแนวทางที่ผู้บำบัดจะใช้ในการฟื้นฟูเรียกว่า “Psychosocial Rehabilitation” 

Psychosocial Rehabilitation

เป็นการช่วยเหลือในด้านต่างๆของชีวิต ทั้งในด้านการรับประทานยา การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้าน การมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม และการสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะฟื้นฟูโดยเน้นการใช้กิจกรรมเป็นสื่อช่วยในการรักษา

เป้าหมายของ Psychosocial Rehabilitation คือการสอนทักษะทาง Emotional, Cognitive และ Social ที่ช่วยให้ผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิต สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะที่สุขสมบูรณ์ และเป็นอิสระมากที่สุด 

Components of Recovery (วงล้อฟื้นฟูสุขภาวะ)

 

- Hopeful Empowerment : 

การเพิ่มพลังบวก และช่วยให้ผู้ที่มีประสบการณ์สุขภาพจิตรู้สึกมีความหวังต่อไปในอนาคตโดยนักกิจกรรมบำบัดลองให้ผู้รับบริการนึกถึงเป้าหมายในชีวิตที่อยากจะทำ เพื่อทำให้ผู้รับบริการที่เป็นซึมเศร้าได้รู้สึกว่ายังอยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ โดยการฟื้นฟูนี้ ผู้บำบัดจะเน้นการใช้กิจกรรมมาช่วยเสริมสร้างพลังบวกให้กับผู้รับบริการ เช่น กิจกรรมยามว่างที่ชอบทำแล้วมีความสุข และลองแนะนำให้ฝึกทำกิจกรรมที่เป็นเหมือนการปูพื้นฐานเพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายได้ อย่างเช่น ถ้าผู้รับบริการมีเป้าหมายอยากสอบได้เกรด A แต่ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ ผู้บำบัดก็จะแนะนำให้ฝึกทำ To do list เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถแบ่งเวลาได้ดียิ่งขึ้น ในเรื่องปัญหาการเรียน ผู้บำบัดจะทำการพูดคุยวางแผนร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา และที่สำคัญผู้บำบัดจะใช้ทักษะการพูดให้กำลังใจ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการว่าเขาสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้ 

- Skilled Life Design : 

การสอนทักษะที่ทำให้เป็นทักษะที่จะติดตัวผู้รับบริการไปตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันในสังคมต่อไปได้อย่างอิสระ ซึ่งผู้รับบริการที่เป็นนักศึกษากฎหมายท่านนี้ นักกิจกรรมบำบัดจะสอนทักษะการคลายความวิตกกังวล โดยการให้ผู้รับบริการลองฝึกหายใจผ่อนคลายความเครียดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อแต่ละส่วนตามลำดับ พร้อมทั้งเสริมทักษะการเข้าสังคมให้แก่ผู้รับบริการ อย่างเวลาที่ผู้รับบริการพบปัญหาในด้านการเรียน ผู้รับบริการควรที่จะมีทักษะทางสังคมที่ดีในการที่จะกล้าเข้าไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงการพูดคุยปรึกษากับเพื่อน ให้เพื่อนช่วยเหลือเรื่องการเรียนได้ (Peer support) และผู้บำบัดจะช่วยวางแผนด้านการเงินของผู้รับบริการ เพราะการที่ติดพนันก็จะต้องมีปัญหาด้านการเงินตามมา ผู้บำบัดจะช่วยสอนทักษะด้านการบริหารการเงินที่ถูกต้องให้แก่ผู้รับบริการ และลองช่วยกันค้นหากิจกรรมที่สนใจอื่นๆที่ต่างจากสิ่งแวดล้อมเดิม ให้ลองทำกิจกรรมง่ายๆก่อนที่ไม่ได้เกินความสามารถของผู้รับบริการ เพื่อเป็นการสร้าง Self-Esteem ให้ผู้รับบริการเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงการช่วยกันพูดคุยร่วมกับทางครอบครัวด้วย 

ในกรณีนี้ถ้าผู้รับบริการมียาที่ต้องรับประทาน นักกิจกรรมบำบัดก็จะหมั่นชี้นำการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และบันทึกผลข้างเคียงจากยา 

- Supportive Engagement :

นักกิจกรรมบำบัดทำการสนับสนุนให้ผู้รับบริการสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างคนในสังคมได้ โดยเริ่มจากการที่ผู้บำบัดจัดกิจกรรมให้ลองมาฝึกพูดคุยกับผู้บำบัดก่อน ลองช่วยกันพูดคุยบำบัดความคิดและปรับพฤติกรรมนิสัยของผู้รับบริการ อย่างอาการหูแว่วที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากความกลัวหวาดระแวง เครียด วิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งผู้บำบัดจะมีหน้าที่ช่วยบำบัดทัศนคติความคิดให้ผู้รับบริการรู้สึกปลอดภัย และผ่อนคลายมากขึ้น โดยจะเน้นทั้งการพูดคุยและการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจากความเครียดวิตกกังวล เช่น การทำ 3 ท่า ฝึกคิดบวก พิชิตความเครียด 

รวมถึงการลองจัดกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ ให้ลองแลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยกัน เพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม และผู้บำบัดจะช่วยสนับสนุนทางใจ เสริมความคิดทางบวก เป็นการสร้างเกราะให้ผู้รับบริการมีความเข้มแข็งทางจิตใจพร้อมที่จะกลับเข้าสู่สังคมได้ ทั้งนี้ใดๆแล้วนอกจากจะได้รับการบำบัดจากนักกิจกรรมบำบัดแล้ว ทางครอบครัวก็ต้องมีส่วนช่วยให้ความร่วมมือกับการบำบัดในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

ขอบคุณอ้างอิงจาก :

Elizabeth Cara & Anne MacRae. Psychosocial Occupational Therapy:
An Evolving Practice, 3rd Edition; 2013. https://www.wellnessrecoveryactionplan.com/

https://www.verywellmind.com/psychosocial-rehabilitation-4589796

https://learninghubthailand.com/the-perma-model/

 

 

หมายเลขบันทึก: 695789เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2022 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2022 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท