อยากเป็นนักวิจัยขั้นเทพ..ทำได้ใน 10 ขั้นตอน


10 ขั้นตอนในการทำวิจัย

ฟัง อ นพ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรยายนานมากแล้ว แต่ยังทันสมัยอยู่เลยค่ะ ดิฉันอยากนำเสนอเพื่อมายืนยันว่าถ้าเราทำได้ตามขั้นตอนทั้ง 10 ในเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2 จะตามมาค่ะ

ขั้นตอนแรก  หาเรื่องที่อยากทำ

  • เราต้องหาเรื่องที่สนใจก่อนว่าอยากทำเรื่องอะไร  ชื่อเรื่องอาจจะยังไม่สละสลวยก็ช่างเถอะค่อยๆเหลาชื่อให้แหลมไปเรื่อยๆก็ได้ โดยมากเราก็ต้องคิดมาจากประเด็นปัญหาที่ทำงานนั่นเอง  ข้อสำคัญต้องคุยกันในที่ทำงานก่อนว่าเราจะทำเรื่องอะไร เพราะถ้าทำเสร็จจะได้มีคนนำผลวิจัยเรามาใช้ได้

ขั้นตอนที่ 2 ทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมา

  • เมื่อเราได้เรื่องที่จะทำวิจัยแล้ว เราต้องเริ่มการค้นคว้าว่าใครทำเรื่องทำนองนี้มาแล้ว มีทฤษฎีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ปัญหาในขั้นตอนนี้เมื่อทบทวนงานวิจัยมาได้แล้ว ถ้าเราลืมใส่ความเห็นของตัวเอง โดยเรานำเรื่องที่เราค้นหามาได้มาเรียงๆกัน  แปลว่าเรานำมาตัดแปะ (Copy& Paste) อย่าลืมขมวดความคิดเห็นของเราด้วย

ขั้นตอนที่ 3 กำหนดวัตถุประสงค์

  • ควรกระชับ ชัดเจน ไม่ต้องอยากรู้มากเกินไป สำคัญว่าเราอยากรู้อะไร จากที่รู้แล้ว อยากรู้อะไรอีก ต้องถามตัวเองเสมอว่า งานที่ทำใหญ่เกินไปไหม...

ขั้นตอนที่ 4 ตั้งคำถามวิจัย

  • ต้องเหลาคำถามวิจัยให้คมชัด ถ้าเราถามอะไร เราก็ต้องหาคำตอบให้ตรงคำถาม เพราะคำถามจะเป็นตัวกำหนดระเบียบวิธีวิจัย ปัญหาในขั้นตอนนี้คือ ขาดความเฉพาะเจาะจง ถ้าเราตั้งคำถามวิจัยแล้วได้คำตอบที่ไม่ทำให้เราฉลาดขึ้น ก็ไม่ต้องทำวิจัย คำถามวิจัยไม่ใช่คำถามที่จะใช้ถามกลุ่มตัวอย่างของเรา  แต่คำถามวิจัยมีไว้เพื่อกำหนดวิธีวิจัย ดังนั้นคำถามวิจัย ให้เราเก็บไว้ในใจตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น

ขั้นตอนที่ 5 กำหนดวิธีการวิจัย

  • การคัดเลือกวิธีวิจัยว่าจะเป็นแบบไหน  ก็ขึ้นอยู่กับคำถามวิจัย จะเป็นเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ ( วิจัยเชิงบรรยาย วิจัยเชิงทดลอง วิจัยหาความสัมพันธ์ วิจัยเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ)

ขั้นตอนที่ 6 เริ่มเก็บข้อมูล

  • เก็บข้อมูลให้เป็นระบบ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากถ้าบริหารจัดการงานวิจัยไม่ดี จะทำให้งานวิจัยล่าช้า  ถ้าเครื่องมือวิจัยดี มีการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี ผู้วิจัย ผู้ช่วยวิจัยดี บันทึกดี และมีการทบทวนกระบวนการทำวิจัยเสมอจะทำให้เราได้ข้อมูลสมบูรณ์

ขั้นตอนที่ 7  สรุปผลวิจัย

  • ผลการวิจัยหรือสิ่งที่เราค้นพบได้อะไรใหม่ๆไหม  ข้อค้นพบจะต้องสรุปให้กระชับ สร้างสรรค์และมีความสำคัญเพราะเราจะต้องนำผลจากการทำวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หัวใจที่จะทำให้ทำได้ดี จะต้องอ่านแล้วอ่านอีกและสามารถสังเคราะห์งานวิจัยให้ได้ จึงจะได้ความรู้ใหม่

ขั้นตอนที่ 8  เขียนบทคัดย่อ

  • การเขียนบทคัดย่อไว้ จะทำให้เรามองภาพรวมทั้งหมดได้ชัด เพื่อเราจะได้ไม่หลงประเด็น เดินถูกทาง ไม่เดินสะเปะสะปะ และสามารถนำข้อมูลที่จำเป็นมาใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ขั้นตอนที่ 9 เผยแพร่งานวิจัย

  • นำเสนอสิ่งที่เราค้นพบมาได้ให้มีพลัง การนำเสนอมีหลายแบบ คือ การเขียนรายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร (manuscript)ประมาณ 8-10 หน้า เราต้องตั้งเป้าหมายไปเลยว่าจะตีพิมพ์วารสารไหน เราก็เขียนตามข้อกำหนดของวารสารนั้น การทำวิจัยทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นเล่มๆให้เหนื่อยอีกต่อไป  ถ้าเราจะไปนำเสนอแบบ oral presentation หรือ Poster presentation ที่ไหน เราก็เขียนตามข้อกำหนดของที่นั้นๆ หรือนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) เราก็นำประเด็นที่น่าสนใจไป ลปรร เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 10 ทำวิจัยบ่อยๆ จะเป็นเทพแน่นอน

  • ขั้นตอนสุดท้าย ทำวิจัยบ่อยๆเราจะเป็เทพเอง ให้จำไว้ว่า ...งานวิจัยเรื่องแรกจะน่าอายเสมอ การทำวิจัยเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ เป็นเครื่องมือผลิตความรู้ (Education tool) และเสริมอำนาจ (Empowering tool)

สรุปว่า

  • การทำวิจัย ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งทำยิ่งอยากรู้ ทำเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2,3,4,5,6 จะตามมา การทำวิจัยในหน่วยงานเรา ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ ดิฉันยืนยัน ยิ่งทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย แล้วนำผลงานวิจัยมาใช้ ถ้ายังช่องว่าง (Research gap) ตรงไหนก็ทำวิจัยอีก หมุนวนไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้แนวปฏิบัติการพยาบาลที่ดีที่สุด (Clinical Nursing practice guideline)  นำไปสู่ Best practice

ผลลัพธ์สุดท้ายของการวิจัย

  • จะต้องเกิดประโยชน์กับผู้มาใช้บริการผู้ป่วยเสมอค่ะ นอกจากนี้จะลืมไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้ทำด้วย เพราะจะเกิดความภาคภูมิใจและเกิดประโยชน์กับองค์กรของเราและองค์กรอื่นๆด้วยเช่นกัน

  ขอขอบพระคุณ

  •   ท่านอาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่มาจุดประกาย ทำเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆได้ในพริบตา

  หวังว่าทุกคนที่เข้ามาอ่านจะไปเริ่มต้นทำวิจัยง่ายในหน่วยงานตนเองนะคะ เริ่มจากงานประจำของเราก่อนมาทำให้เป็นงานวิจัย (R2R)จะเริ่มได้ง่ายที่สุดค่ะ

  อ่านเพิ่มเติมที่  http://gotoknow.org/blog/nurseresearch/316905

คำสำคัญ (Tags): #วิจัย#r2r#research question
หมายเลขบันทึก: 694701เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2021 04:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2021 04:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จำภาพนี้ได้เลยครับพี่แก้ว มีแม่ต้อยและพอลล่าด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท